ถึงแม้สหรัฐฯ ทำท่าคล้ายจะล้มแผนเจรจากับเกาหลีเหนือ ในเรื่องสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทั้งสองฝ่ายแสดงท่าทีตรงกัน คือยังพร้อมพูดจากันต่อไป แสดงว่า ทั้งคู่ยังต้องการดีล เพียงแต่การต่อรองต้องใช้เวลา
ทันทีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี ยกเลิกนัดหมายการพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายน 2018 ก็เกิดคำถามตามมาว่า คาบสมุทรเกาหลีจะกลับมาตึงเครียดอีกครั้งหรือเปล่า ทั้งสองฝ่ายจะหันไปแก้วิกฤตนิวเคลียร์ด้วยวิธีทางทหารแทนการทูตหรือไม่
ฟังจากน้ำเสียงของคู่กรณี รวมทั้งพ่อสื่อพ่อชักอย่างเกาหลีใต้ คาดการณ์ได้ว่า กลองรบจะยังไม่ลั่นในเร็ววัน
โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิมจองอึน ต่างต้องการบรรลุข้อตกลง เพียงแต่ว่าจุดยืนในการเจรจายังห่างไกลกัน ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายยังมองไม่เห็นจุดบรรจบของผลประโยชน์
ในสภาพการณ์เช่นนี้ บอกเลิกนัด น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเจรจาแล้วล้มเหลว
คาดว่า การตระเตรียมหลังฉากคงจะดำเนินต่อไปในระดับเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายอาจพยายามรักษาโมเมนตัมของการเจรจา จนกว่าจะได้คำตอบสุดท้ายว่า ซัมมิททรัมป์-คิม ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงๆ
จดหมายเลิกนัด
ทรัมป์บอกเลิกนัดกับคิมในจดหมายลงวันที่ 27 พฤษภาคม อ้างเหตุผลว่า ฝ่ายเปียงยางแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ในถ้อยแถลงครั้งหลัง
ท่าทีเป็นปรปักษ์ที่ผู้นำทำเนียบขาวพูดถึงก็คือ คำพูดของรัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศของเกาหลีเหนือ โชซอนฮุย ซึ่งตอบโต้คำให้สัมภาษณ์สื่อของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์
เพนซ์พูดเมื่อวันจันทร์ที่ 21 พ.ค. ปรามรัฐบาลเปียงยางว่า อย่าเล่นกับทรัมป์ ถ้าจะลองของทรัมป์ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
ในถ้อยแถลงผ่านสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสฯ โชซอนฮุย โต้ ไมค์ เพนซ์ กลับไปว่า รู้สึกประหลาดใจที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำรอกวาจาที่งี่เง่าเบาปัญญาเช่นนี้
แหล่งข่าวทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โวหารของโชทำให้ทรัมป์ตัดสินใจยกเลิกนัดหมาย
เพิกถอนนิวเคลียร์ฝ่ายเดียว
อันที่จริง ถ้ามองให้ลึก สาเหตุหลักของการพับแผนเจรจาคงมาจากจุดยืนของฝ่ายสหรัฐฯ ที่เพนซ์ยังคงเน้นย้ำ มากกว่าเรื่องวิวาทะของผู้แทนเกาหลีเหนือข้างต้น
เพนซ์พูดถึง ‘ลิเบีย โมเดล’ เช่นเดียวกับที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงประจำทำเนียบขาว จอห์น โบลตัน อีกทั้งยังข่มขู่เปียงยางเหมือนที่ทรัมป์พูดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค. รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่า เกาหลีเหนืออาจจบเห่เหมือนลิเบีย หากว่าคิมจองอึนไม่ยอมทำข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์
หัวใจของ ‘ตัวแบบลิเบีย’ ก็คือ ล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์แต่ฝ่ายเดียว ขณะที่อีกฝ่าย คือ สหรัฐฯ ไม่ต้องลดละเลิกแต่อย่างใด ดังนั้น เหตุที่ทรัมป์ประกาศล้มโต๊ะเมื่อวันพฤหัสฯ นั่นเป็นเพราะว่า สหรัฐฯ ยังยึดในจุดยืนเดิม ที่ต้องการให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธร้ายแรงเพียงฝ่ายเดียว
ในเมื่อจุดยืนยังไม่เปลี่ยน ขณะที่รู้ทั้งรู้ว่าเกาหลีเหนือไม่มีวันยอมรับได้กับจุดยืนนี้ วอชิงตันย่อมตระหนักดีว่า หากสองผู้นำพบกันที่สิงคโปร์ ไม่มีทางจบแบบชื่นมื่น
การบอกเลิกนัดหมาย จึงเป็นการช่วยรักษาหน้าของทรัมป์ และเกียรติภูมิของอเมริกา
ลองนึกภาพดูเถิด ผู้นำประเทศมหาอำนาจกลับออกมาจากซัมมิทครั้งประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดเคยได้พบกันแบบตัวต่อตัวกับผู้นำเกาหลีเหนือมาก่อน แต่ทว่าไม่มีผลงานความสำเร็จออกมาอวดชาวโลกและคนอเมริกัน
ยังแง้มช่อง ต่างฝ่ายยังมีหวังที่จะบรรลุข้อตกลง
มองในแง่กลยุทธ์การเจรจา ท่าทีของทรัมป์ที่ประกาศเลิกนัดแต่ไม่ถึงกับตัดเป็นตัดตาย กับท่าทีของผู้แทนเปียงยางที่ตอบรับการบอกเลิกด้วยน้ำเสียงไว้ไมตรี สะท้อนว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงต้องการบรรลุข้อตกลง
ในจดหมายยกเลิกการพบหารือ ทรัมป์เปิดช่องไว้ว่า คิมจองอึนจะยกหูโทรศัพท์ หรือเขียนจดหมายติดต่อกลับมาก็ได้ หากต้องการเดินหน้าเจรจา
ข้างฝ่ายเกาหลีเหนือนั้น รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศคนที่หนึ่ง คิมแคกวาน ทอดสะพานกลับ ด้วยการบอกว่า ยินดีที่จะพบกับฝ่ายสหรัฐฯในทุกเวลา ทุกรูปแบบ
รูปการณ์แบบนี้ ภาษาการทูตเรียกว่า เปิดประตูหลัง (back door diplomacy) คือ หน้าฉากดูคล้ายไม่เออออห่อหมกกัน ไม่ข้องเกี่ยวกัน แต่หลังฉากยังติดต่อกัน หยั่งท่าทีกัน ต่อรองกัน
เกาหลีใต้ในฐานะพ่อสื่อที่เล่นบทเกลี้ยกล่อมให้ทรัมป์กับคิมพบกัน เป็นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยังไม่ละความพยายาม
รัฐบาลโซลแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พ.ค. ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ โทรศัพท์มาคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ คังคุงวา โดยบอกว่า สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ควรร่วมมือกันต่อไปเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพูดคุยกับเปียงยาง
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ โชเมียงยอน ยืนยันว่า โซลจะยังคงพูดจากับระบอบปกครองของคิมจองอึนต่อไป
ความเคลื่อนไหวอีกอย่างที่ไม่น่ามองข้าม คือ เกาหลีเหนือได้ทำลายฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันพฤหัสฯ
ถึงแม้มีแต่นักข่าวต่างชาติไปทำข่าว ไม่มีผู้เชี่ยวชาญของนานาชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ถือได้ว่า เกาหลีเหนือพยายามแสดงเจตนาอันดี นอกเหนือจากการปล่อยชาวอเมริกัน 3 คนกลับบ้านเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า
กลเม็ดต่อรอง
ที่น่าสนใจก็คือ คิมแคกวานบอกเมื่อวันศุกร์ว่า ขอชื่นชมประธานาธิบดีทรัมป์ที่ตอบรับการพบหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือ และหวังว่า “สูตรของทรัมป์” จะช่วยปัดเป่าข้อกังวลของแต่ละฝ่ายได้
ฟังแล้วนึกถึงฉากที่ผู้ขายขอให้ผู้ซื้อเสนอราคากลับมาใหม่อีกครั้งหลังจากผู้ขายบอกปัดข้อเสนอแรก เข้าทำนองว่า “ราคาเสนอซื้อของเธอครั้งก่อน ฉันรับไม่ได้จริงๆ เธอจะให้ได้เท่าไหร่ล่ะ ไหนลองว่ามาอีกทีซิ”
จากนี้ไป ระดับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คงทำงานกันต่อไปตราบเท่าที่ประตูเจรจายังไม่ปิดตาย แต่ “สูตรของทรัมป์” คงตกลงไม่ง่ายอย่างแน่นอน
การบอกเลิกนัดหมาย พร้อมกับเกทับว่าอเมริกามีนิวเคลียร์ในคลังแสงใหญ่โตมโหฬาร อย่างที่ทรัมป์โอ่อวดในจดหมาย อาจเป็นแท็กติกอย่างหนึ่งของการเจรจา เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือยอม ‘ขาย’ ในราคาถูก
ดีลนิวเคลียร์เกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ มีหน้าตาอย่างไร แต่ละฝ่ายจะได้ประโยชน์ในจุดที่ตัวเองพอใจหรือไม่ นั่นย่อมขึ้นกับอำนาจต่อรอง
ทรัมป์ ผู้เป็น ‘ดีลเมกเกอร์’ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาจกำลังใช้ลีลาชิงบอกเลิกนัดเป็นกลเม็ดเสริมอำนาจต่อรอง เป็นท่วงทำนองว่า “ฉันจะจ่ายในราคาเท่านี้แหละ ถ้าเธอไม่ขาย ฉันขอเซย์กูดบาย’
ต้องไม่ลืมว่า เกาหลีเหนือกำลังถูกบีบอยู่แล้วด้วยมาตรการคว่ำบาตร เศรษฐกิจภายในย่ำแย่เพราะเหตุของการปิดประเทศและถูกนานาชาติโดดเดี่ยว แม้พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธได้อย่างน่าครั่นคร้าม แต่ผู้คนไม่สู้จะมีกินมีใช้
เทียบกับจีนหรือเวียดนามที่เคยเป็นศัตรูกับอเมริกาเช่นเดียวกัน เคยประกาศตนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และปกครองด้วยระบบพรรคเดียวเหมือนๆ กัน สองประเทศนั้นเจริญรุดหน้ากว่าเกาหลีเหนือมาก
คิมจองอึน หลานปู่ของคิมอิลซุง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเมื่อปี 1948 คนหนุ่มในวัยประมาณ 35 ย่อมมองเห็นภาพเปรียบเทียบนี้ได้ชัดเจน
ในสภาพที่ถูกแซงก์ชัน สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอที่จะยกเลิกการคว่ำบาตร ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เปิดการค้าการลงทุนกับอเมริกัน แลกกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ฝ่ายเดียว คิมจะกลืนเลือดยอมรับหรือไม่
ระบอบเปียงยางมีไพ่ต่อรองใบหนึ่งในมือ งัดออกมาใช้หลายหนแล้วเมื่อต้องการแก้ไขสถานะที่เสียเปรียบ นั่นคือ ทดสอบขีปนาวุธ ทดลองระเบิดนิวเคลียร์
เราจะได้ยินเสียงตูมตามจากฟากฝั่งคาบสมุทรเกาหลีอีกไหม ต้องคอยเงี่ยหูฟัง
เมื่อค่ำวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐฯ ตรงกับเช้าวันเสาร์ (26 พ.ค.) ในบ้านเรา ทรัมป์เปลี่ยนท่าทีแล้ว เขาโพสต์ทางทวิตเตอร์ @RealDonaldTrump ว่า การพบปะหารือกับคิมจองอึนอาจเกิดขึ้นได้ตามนัดหมายในวันและสถานที่เดิม เพราะเกาหลีเหนือพูดจาน่าฟัง แต่ถ้าจำเป็นก็อาจต้องเลื่อน
ที่ว่าพูดจาน่าฟังนั้น ผู้นำสหรัฐฯหมายถึงการแสดงออกของคิมแคกวาน รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศคนที่หนึ่งของเกาหลีเหนือ ที่บอกว่าพร้อมเจรจากับวอชิงตันทุกรูปแบบ ทุกเวลา นั่นเอง
ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ ก่อนถึงวันที่ 12 มิถุนายน การทูตที่สลับโหมดไปมาระหว่างประตูหน้ากับประตูหลัง คงเข้มข้นด้วยการต่อรอง
อ้างอิง:
ที่มาภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji
Tags: โดนัลด์ ทรัมป์, เกาหลีเหนือ, นิวเคลียร์, คิม จอง อึน, เกาหลี, คาบสมุทรเกาหลี