หากใครเคยไปญี่ปุ่น สิ่งแรกๆ ที่หลายคนประทับใจคือ ‘สถานีรถไฟ’ ที่แต่ละแห่งล้วนมีขนาดใหญ่โต เป็นจุดศูนย์รวมและจุดใจกลางของเมือง นอกจากเป็นศูนย์รวมชานชาลาหลายสิบชานชาลา ทั้งรถไฟชินคันเซ็น รถไฟด่วน รถไฟธรรมดา เป็นทั้งห้างสรรพสินค้า เป็นทั้งสถานีรถบัส ที่มักจะทำให้นักท่องเที่ยวเดิน ‘หลง’ ได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะไปที่สถานีโตเกียว สถานีชินจูกุ สถานีโอซาก้า สถานีนาโกย่า หรือสถานีเกียวโต

ทั้งหมดนี้เรียกว่า TOD หรือ Transit-Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้เกิดการใช้พื้นที่คุ้มค่าและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด เรียกได้ว่า ‘จบ’ ในที่เดียว

ยกตัวอย่างสถานีโตเกียวซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 1.82 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 4.5 แสนคน รองรับรถไฟกว่า 4,000 ขบวนต่อวัน โดยมีทั้งห้างสรรพสินค้าไดมารู ห้าง Ecute ห้าง Grandsta ทั้งยังเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก ศูนย์รวมราเมน หรือ Tokyo Ramen Street มีทางเดินใต้ดินเชื่อมกับอาคารสำนักงานอื่นๆ สำหรับผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมา โดยรอบสถานีถือเป็นย่านธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดของโตเกียว

ประวัติศาสตร์ของสถานีโตเกียวย้อนหลังกลับไปได้ถึงประมาณปี 1914 อาคาร Tokyo Station Marunouchi ออกแบบโดย คินโกะ ทัตสึโนะ (Kingo Tatsuno) บิดาแห่งสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในยุคเมจิ โดยในตอนแรก หลักคิด TOD อาจยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีตัวอย่างที่โอซาก้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสถานีรถไฟโตเกียวถูกระเบิดลงจนพังราบ จึงมีการสร้างสถานีโตเกียวจึงขึ้นใหม่ โดยอาศัยแบบอย่างจากสถานี ‘อูเมดะ’ ที่โอซาก้า

แล้ว TOD ในสถานีอูเมดะเริ่มต้นจากไหน? — เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1920 หรือประมาณ 100 ปีที่แล้ว นักธุรกิจญี่ปุ่น อิจิโซ โคบายาชิ (Ichizo Kobayashi) เสนอไอเดียให้สร้างกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยและสวนสนุกตามแนวเส้นทางให้แก่ธนาคารมิตซุยที่สถานีอูเมดะ โอซาก้า หลังจากธนาคารเห็นไอเดียจึงอนุมัติเงินกู้ เป็นที่มาของห้างสรรพสินค้าบนสถานี ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรอบ ไปจนถึงร้านของทีมเบสบอล และโรงละคร Takarazuka ที่นักแสดงเป็นหญิงล้วน จนโครงการนี้ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง และกลายเป็นโมเดลธุรกิจให้กับบริษัทรถไฟอื่นๆ และในเวลาต่อมา โคบายาชิก็กลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเดินรถไฟฮันคิว (Hankyu Railway) บริษัทเดินรถไฟเอกชนยักษ์ใหญ่ในย่านคันไซ

จากนั้น โมเดลดังกล่าวจึงมีการนำไปปรับใช้โดยผู้ประกอบการเอกชนอย่าง ‘โตคิวกรุ๊ป’ ในโตเกียว โดยสร้างเมืองและร้านค้ารอบสถานีเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจรถไฟเอกชน

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ TOD ขยายใหญ่ในทุกหัวเมือง ก็คือการที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีพื้นที่ภูเขากว่า 73% และมีพื้นที่ราบ 27% เมืองจึงขยายออกในแนวดิ่งแทนที่แนวราบ และเมืองไม่สามารถรองรับ ‘รถยนต์’ ได้ นั่นทำให้แต่ละหัวเมืองต้องพากันหันมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และเมื่อระบบขนส่งมวลชนกลายเป็นระบบหลักในทุกหัวเมืองใหญ่ พื้นที่ที่ทุกคนแสวงหาย่อมเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งมวลชนนั่นเอง

กระนั้นเอง เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี การที่ทุกอย่างถูกรวมอยู่ที่ TOD นั้น ทำให้ราคาที่ดินดังกล่าวสูงเกินความจำเป็น ห้องเช่าในญี่ปุ่นถูกซอยจนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และผู้ที่มีรายได้น้อยก็ต้องถูกถีบให้ไปอยู่บริเวณชานเมือง หรือสถานีไกลๆ แทน ขณะเดียวกันยังเหลืออาคารเพียงไม่กี่แห่งที่เก็บรักษาไว้ได้แบบสถานีโตเกียว อาคารประวัติศาสตร์หลายแห่งถูกเคลียร์พื้นที่ให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม ขณะที่ชุมชนดั้งเดิมโดยรอบสถานีรถไฟนั้นแทบไม่หลงเหลือ

ชิโกรุ โมริจิ (Shigoru Morichi) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน ประจำ National Graduate Institute for Policy Studies ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน บริษัทเดินรถไฟญี่ปุ่นรายใหญ่ต่างก็มีรายได้เกินครึ่งที่มาจากธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการพัฒนาเมือง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรถบัส การขายสินค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ หรือโรงเรียน และ TOD ก็เป็นความภาคภูมิใจ เพราะในเรื่องนี้ เช่นที่สหรัฐอเมริกาต้องรออีกกว่า 80 ปีให้หลัง กว่าสถานีรถไฟจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ นอกเหนือจากเป็นชานชาลารถไฟ

ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ผลิตและส่งออกรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น หากแต่ยังขายโมเดลของ TOD พ่วงไปกับระบบรถไฟความเร็วสูงที่ญี่ปุ่นจำหน่ายให้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในไต้หวันหรืออินเดีย ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองอาห์เมดาบัดในรัฐคุชราตกับเมืองมุมไบ และกลายเป็นโมเดลที่ ‘ลูกค้า’ ทั้งหลายต่างก็สนใจ เพราะแน่นอนว่าจะสามารถเติมกำลังซื้อ ขยายขนาดเศรษฐกิจ และขยายความเจริญให้กับเมืองและชุมชนรอบๆ สถานีรถไฟได้ไม่ยากนัก

หลังจากนี้ อนาคตของ TOD จะเป็นอย่างไร? — ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยตระหนักว่าพื้นที่ TOD อาจเป็นพื้นที่เพื่อ ‘การค้า’ เกินไป กลุ่มบริษัทรถไฟเอกชนจึงเพิ่มวิสัยทัศน์ให้พื้นที่ TOD เป็นพื้นที่ด้านไลฟ์สไตล์ สนับสนุนให้คนญี่ปุ่นมีพื้นที่สาธารณะเพื่อ ‘ใช้ชีวิต’ มากขึ้น

วิธีคิดแบบครบวงจร การจัดการอย่างเป็นระบบ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากจุดเดียว ลากเส้นต่อจุดไปยังจุดอื่นๆ จนครบวงจร จึงกลายเป็นการเติมเต็มระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่จวบจนถึงวันนี้

ที่มา

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/10/10/national/history/japan-railways-150-anniversary/

https://www.urbantransportnews.com/news/japan-to-provide-assistance-to-develop-tod-based-bullet-train-stations-in-india

หนังสือ Livable Japan ฝากใจไว้ในเมือง

Tags: , ,