ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่กำลังจะถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แม่น้ำแซนกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญ ที่ผู้ชมทั่วโลกต่างจับตามองถึงความวิจิตรงดงามและความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศใช้สายธารแห่งนี้เป็นเส้นทางในพิธีเปิด โดยขบวนพาเหรดของแต่ละประเทศจะล่องไปตามแม่น้ำพร้อมกับเรือสำราญ เป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการปฏิวัติพิธีเปิดแบบดั้งเดิมที่มักเกิดขึ้นบนพื้นดินหรือสนามกีฬา
ไม่เพียงเท่านั้น แม่น้ำแซนยังใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬา 3 ชนิด ได้แก่ ไตรกีฬา ว่ายน้ำพาราลิมปิก และการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอน ขณะที่ผู้นำประเทศอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และแอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ต่างให้สัญญาว่า เมื่อถึงพิธีเปิดการแข่งขันพวกเขาจะว่ายน้ำในแม่น้ำแซน
ทว่าความท้าทายครั้งสำคัญของการใช้แม่น้ำแซนครั้งนี้ คือคุณภาพและความสะอาดของแม่น้ำ หลังรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศสั่งห้ามมิให้มีการใช้สอยใดๆ ตั้งแต่ปี 1923 เป็นต้นมา เพราะระดับมลพิษที่สูงกว่าปกติ
ทั้งหมดนี้สะท้อนจากการรายงานของสำนักข่าวฟรองซ์แว็งกัต (France 24) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า กลุ่ม NGO พบเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์และอุจจาระอย่างอีโคไล (E.Coli) และเอนเทอร์โรคอสคัส (Enterococcus) ในแม่น้ำแซน 2-3 เท่า ซึ่งสูงเกินมาตรฐานการวัดคุณภาพน้ำของยุโรป
แม้ชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยส่ายหน้าให้กับความคิดนี้ทันทีที่ได้ยิน เพราะความสกปรกของแม่น้ำ แต่เหตุใดรัฐบาลยังคงยืนกรานว่า แม่น้ำแซนมีความสำคัญกับพิธีเปิดเป็นอย่างมาก และย้ำว่า พวกเขามีทางออกที่ทำให้แม่น้ำใช้ได้ทันในกีฬาโอลิมปิก 2024
1
“แม่น้ำแซนทำให้ปารีสก่อกำเนิดขึ้นมา”
ประโยคข้างต้นคือคำพูดของ เอ็มมานูเอล เกรกัวร์ (Emmanuel Grégoire) รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ซึ่งสอดแทรกนัยสำคัญว่า แซนเป็นมากกว่าแม่น้ำ แต่คือจุดกำเนิดของปารีสและฝรั่งเศสในแบบทุกวันนี้
เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิถีชีวิตของชาวฝรั่งเศสเชื่อมโยงกับแม่น้ำแซนตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ก่อนที่ชาวโรมันจะเข้ามาปกครองชนเผ่ากอล (Gaul) บรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งแม่น้ำแซนได้รับการยกย่องว่าเป็นดังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยมีเทพี เซควานา (Sequana) เป็นผู้ปกปักรักษาผืนน้ำนี้
ขณะที่ด้านการค้าและพาณิชย์ แม่น้ำแซนเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก เนื่องจากการเดินทางทางบกมีความล่าช้าและราคาสูง พ่อค้าแม่ค้าจึงเลือกเดินทางผ่านแม่น้ำสายนี้ เพื่อขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ เช่น ดีบุก ตะกั่ว และธัญพืช โดยเฉพาะการส่งออกขนมปังที่เป็นอาหารหลักของชาวยุโรปไปยังช่องแคบอังกฤษ รวมถึงค้าขายกับประเทศใกล้เคียงอย่างสเปนหรืออิตาลี
และความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำแซนนำมาสู่การตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในช่วงยุคกลาง จนท้ายที่สุด ปารีสขึ้นมาเป็นเมืองท่าสำคัญที่แข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่อย่างลียง (Lyon) และมาร์เซย (Marseille) ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ในแง่ศิลปะและวัฒนธรรม ความสวยงามและทิวทัศน์อันน่าทึ่งของแม่น้ำแซน ยังนำมาสู่แรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างผลงานศิลปะแบบลัทธิประทับใจ (Impressionism) ที่ฉีกขนบธรรมเนียมเดิม ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดจากจิตรกรรมเอกระดับโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โกะห์ (Vincent Van Gough) หรือโคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) ก็ตาม
ยังไม่รวมถึงมนต์ขลังเฉพาะตัวของแม่น้ำ ที่มีสถาปัตยกรรมโด่งดังโอบล้อมทุกด้าน ตั้งแต่หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Louvre Museum) มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) และพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Orsay Museum) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่แห่งนี้ จนทำให้ กาย ซาวอย (Guy Savoy) เชฟระดับมิชลินสตาร์ 3 ดาว ยอมทุ่มเงินมากกว่า 2 ล้านยูโร (ประมาณ 79 ล้านบาท) เพื่อย้ายร้านไปที่ริมแม่น้ำแซน
“มีวิวที่สวยงามมากมายในโลก แต่ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่ ครั้งแรกที่ผมเห็น ผมรู้สึกตะลึงเหมือนถูกไฟดูด ผมคิดอย่างเดียวว่า ผมต้องมาอยู่ที่นี่” ซาวอยอธิบายสาเหตุของการตั้งร้านผ่านหนังสือ The Seine: THE RIVER THAT MADE PARIS
อาจกล่าวได้ว่า การใช้แม่น้ำแซนในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ไม่ใช่แค่เหตุผลในด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เปรียบดัง ‘สะพาน’ ที่เชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของฝรั่งเศส
แม้แต่ นโปเลียน โบนาบาร์ต (Napoleon Bonaparte) ชายธรรมดาที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสยังหลงใหลแม่น้ำแซน จนก่อนสิ้นชีวิต เขาร้องขอว่า อยากให้โปรยเถ้าอัฐิของตนลงในผืนน้ำนี้
2
แม้มีความพยายามปฏิรูปแม่น้ำแซนตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทว่าจุดกำเนิดเรื่องการ ‘ว่ายแม่น้ำแซน’ สามารถย้อนกลับไปในปี 1988 และคนเริ่มไม่ใช่ใครที่ไหนไกล นั่นคือ ฌาคส์ ชีรัก (Jacques Chirac) อดีตประธานาธิบดี นายกเทศมนตรีกรุงปารีส และรัฐบุรุษฝรั่งเศส
ในเวลานั้น เขาลงเลือกตั้งท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และพยายามคว้าใจชาวฝรั่งเศสด้วยแคมเปญ ‘ฟื้นฟูให้แม่น้ำแซน’ กลับมาว่ายได้อีกครั้ง ก่อนที่จะพ่ายแพ้ ฟรองซัว มิแตร์รอง (Francois Mitterand) ประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste)
แต่ไม่นานนัก ชีรักก็กลับมาในสนามการเมืองอีกครั้งในปี 1990 ด้วยคำพูดเดิมกลางรายการทอล์กโชว์ว่า เขาในฐานะนายกเทศมนตรีกรุงปารีสจะว่ายน้ำในแม่น้ำแซนให้ทุกคนดูใน 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ เพื่อการันตีว่ามันสะอาดจริง
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป รัฐบุรุษแห่งฝรั่งเศสก็ยอมรับตามตรงว่า เขาไม่สามารถทำตามคำสัญญาได้อีกต่อไป เพราะสภาพของแม่น้ำแซนดูไม่ดี ตั้งแต่เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ซึ่งทุกวันนี้ อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ก็ยังถูกล้อเลียนในความเล่นใหญ่ของเขาอยู่ แม้จะจากโลกนี้ไปในปี 2019 ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวถูกนำกลับรื้อฟื้นอีกครั้งด้วยในช่วงระหว่างปี 2016-2017 ด้วยฝีมือของไฮดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีสในปี 2017 ซึ่งเป็นแคมเปญส่วนหนึ่งการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024
ในเวลานั้น ฝรั่งเศสซ้อมพิธีโอลิมปิกอย่างยิ่งใหญ่ เริ่มจากพาเหรดกีฬา 33 ชนิดบริเวณออแตลเดอวีล (Hôtel de Ville) ศาลากลางกรุงปารีส ตามมาด้วยการแข่งขันวิ่งบนสะพานปงต์อาแล็กซ็องดร์-ทรัว (Pont Alexandre-III) ขณะที่แม่น้ำแซนมีการแสดงพายเรือคายัคและแคนู ท่ามกลางนักประดาน้ำที่กระโดดลงมาแหวกว่ายให้ดู โดยมีเสียงเด็กจำนวนมากที่ร้อง La Marseillaise เพลงชาติฝรั่งเศส เป็นฉากหลังร่วมกับหอไอเฟล
แน่นอนว่าฝรั่งเศสเอาชนะสหรัฐอเมริกา ด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2024 ได้สำเร็จ การผลักดันให้แม่น้ำแซนใช้งานได้ จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมาด้วยงบประมาณถึง 1,400 ล้านยูโร (หรือ 5.4 หมื่นล้านบาท) โดยไฮดัลโกก็ให้เหตุผลว่า อันที่จริงแล้ว การทำให้แม่น้ำแซนสะอาดไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อโอลิมปิกครั้งนี้เท่านั้น แต่คือสิทธิของชาวปารีสที่จะใช้งานแม่น้ำได้อย่างรื่นรมย์
3
ทว่าภารกิจการกู้ชีพแม่น้ำแซนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความสกปรกอันเลื่องชื่อที่ผ่านการหมักหมมนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะในยุคที่ปารีสเติบโตเป็นเมืองใหญ่มากขึ้น แม่น้ำที่เคยบริสุทธิ์กลับเต็มไปด้วยของเสียจากมนุษย์และโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งขยะ สีย้อมผ้า ซากสัตว์ที่นำมาถูกล้าง สารเคมี หรือแม้แต่ซากศพที่ถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำจากสงครามด้วยซ้ำ
ที่สำคัญที่สุด ปัญหาใหญ่ที่ทำให้แม่น้ำแซนสกปรกกว่าเดิมมาจนถึงปัจจุบันคือ ท่อน้ำตัวปัญหาที่เปลี่ยนแปลงโดย ฌอร์ฌส์-เออแฌน เอวสม็อง (Georges-Eugène Haussmann) สถาปนิกประจำกายของจักรพรรดิโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) หรือหลุยส์-นโปเลียน โบนาบาร์ต (Louis-Napoléon Bonaparte) ในช่วงทศวรรษ 1860
เอวสม็องรู้จักในฐานะผู้แปรเปลี่ยนกรุงปารีสยุคใหม่ โดยเฉพาะในแง่ความโออ่าและหรูหราเปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน ซึ่งทลายภาพจำเมืองที่เต็มไปด้วยโรคระบาดและความแออัด ทว่าเขาก็ถูกโจมตีจากฝ่ายซ้ายในฐานะ ‘คนป่าเถื่อน’ เพราะนโยบายแบ่งแยกคนจน-คนรวยจากการปฏิรูปเมือง ด้วยการทำลายชุมชนสลัม ปราบปรามชนชั้นแรงงาน เพื่อปูทางให้กองทัพฝรั่งเศสเข้าไปกดขี่ข่มเหงได้ง่ายขึ้น
หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อของเขาคือการใช้ท่อระบายน้ำระบบผสม โดยมีจุดประสงค์ให้คนฝรั่งเศสมีน้ำสะอาดดื่ม ด้วยการแยกน้ำสะอาดออกจากน้ำที่ไม่ผ่านการบำบัด จนได้รับการยกย่องว่า เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่และสัญลักษณ์ความก้าวหน้าของเมือง
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การปฏิรูประบบท่อระบายน้ำถูกเปรียบเปรยว่า เป็นขั้นตอนการจำกัดชนชั้นล่างของสังคม สะท้อนจากคำอธิบายในช่วงปี 1830 ของ วิกเตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) ผู้ประพันธ์เพลง Les Misérables ว่า ท่อระบายน้ำถูกมองว่า ‘เส้นเลือดของปีศาจ’ เพราะเต็มไปด้วยคนยากจนและคนชายขอบที่เป็นภัยคุกคามต่อการคงอยู่ของรัฐ (และโลกข้างบน)
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างปัญหาครั้งใหญ่ตามมา เพราะเมื่อฝนตกหนัก น้ำในท่อใต้ดินที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลจะเอ่อล้น และท่วมไหลลงแม่น้ำแซน แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาในทศวรรษ 1980 ด้วยการควบคุมทางน้ำไหล แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งข้อมูลจากนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นประมาณ 12 ครั้งต่อปีได้
นั่นหมายความว่า เป้าหมายหลักของการรื้อฟื้นแม่น้ำแซน ไม่ใช่การทำให้สะอาด แต่มันคือ ‘การทำให้ปนเปื้อนน้อยที่สุด’ โดย ซามูเอล คอร์ลิน คาร์นิเวซ (Samuel Colin-Canivez) หัวหน้าวิศวกรโปรเจกต์นี้ออกมาให้อธิบายว่า ปารีสต้องทำให้น้ำในท่อทั้งหมดไหลสู่อุโมงค์เก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้ของเสียเอ่อล้นลงแม่น้ำแซนอีกต่อไป
อุโมงค์ที่ว่านี้อยู่บริเวณสถานีรถไฟเอาซ์สเตอร์ลิซ (Austerlitz) มีความยาวประมาณ 700 เมตร ซึ่งคาดว่า รองรับน้ำได้ถึง 13.2 ล้านแกลลอน หรือเปรียบได้กับน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 20 สระ
นอกจากสร้างอุโมงค์และเพิ่มโรงบำบัดน้ำ 2 แห่ง เจ้าหน้าที่ยังต้องลงพื้นที่ขอความร่วมมือจากประชาชน 2 หมื่นหลังคาเรือน ให้พวกเขาติดตั้งระบบท่อระบายน้ำใหม่ หลังจากวิเคราะห์ว่า มีแนวโน้มที่บ้านเหล่านี้อาจปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำแซนโดยตรง
แม้จะมีการสนับสนุนค่าปรับปรุงถึง 6,000 ยูโร (ประมาณ 2.3 แสนบาท) แต่ผลปรากฏว่ามีชาวบ้าน 5,000 คนที่เข้าร่วมเท่านั้น โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิไปบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด
ซ้ำร้ายยังมีเจ้าของเรือจำนวนหนึ่ง ประท้วงนโยบายดังกล่าวด้วยการทิ้งของเสียลงแม่น้ำแซนอีกรอบ เพราะรัฐบาลออกเงื่อนไขสำคัญในปี 2018 ว่า เรือแต่ละลำต้องเชื่อมต่อกับระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ของเมือง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2.5 หมื่นยูโร (ประมาณ 1 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 5 เท่าของเงินช่วยเหลือจากรัฐ
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการกำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียในแม่น้ำแซน โดยรายงานจากวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ช่วยให้เชื้อโรคแพร่กระจายน้อยลง ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 100 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร แต่หากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้อากาศเย็นลง แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากฝรั่งเศสไม่สามารถใช้แม่น้ำแซนได้ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็เผยทางเลือกใหม่ว่า สนามกีฬาแห่งชาติสตาร์ดเดอฟรองซ์ (State de France) เป็นตัวเลือกสำรอง หากความปลอดภัยหละหลวม และสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อเหตุก่อการร้ายยิ่งขึ้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การกู้ชีพแม่น้ำแซน สายธารแห่งปารีส ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ให้กับทั่วโลก โดยเฉพาะลอสแอนเจลิส (Los Angeles) สหรัฐฯ จุดหมายในการจัดโอลิมปิกครั้งถัดไปในปี 2028 ซึ่งมีการส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาวิธีทำงานของฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
Elaine Sciolino, The Seine: The River that Made Paris (W. W. Norton & Company, New York, 2019)
https://olympics.com/en/paris-2024/the-games/ceremonies/opening-ceremony
https://www.nytimes.com/2023/05/12/sports/olympics/paris-olympics-seine-cleanup.html
https://time.com/6261729/seine-clean-up-paris-olympics-2024/
https://www.youtube.com/watch?v=iZIGhdxplWk
http://matthewgandy.co.uk/datalive/downloadfiles/trans_Paris.pdf
Tags: กีฬาโอลิมปิก, Olympic, โอลิมปิก 2024, สหรัฐอเมริกา, Seine, เมือง, ปฏิรูปเมือง, ยุโรป, ปารีส, ฝรั่งเศส, โอลิมปิก, Urban, แซน