เมื่อครั้ง ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 1959 นั้น สิงคโปร์ยังเป็นเกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยชุมชนของผู้คนหลากเชื้อชาติ บางพื้นที่เป็นชุมชนแออัด แน่นอนว่าเมื่อที่ตั้งของประเทศตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ก็ทำให้ประเทศสิงคโปร์อากาศร้อนชื้น-อบอ้าว ซ้ำยังไร้ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา

แต่จนถึงวันนี้ ณ ปี 2022 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยร่มเงาไม้ใหญ่ หากใครเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ช่วงเวลานี้ (เดือนสิงหาคม) จะพบแต่กับความเขียวขจี และหากนั่งรถจากสนามบินชางงีเข้าเมือง ก็จะพบกับต้นไม้ใหญ่เรียงรายกันริมถนน ให้ความร่มรื่นและความสวยงาม

นั่นคือถนน East Coast Parkway Highway จุดเริ่มต้นของวิสัยทัศน์ Garden City ที่คิดค้นขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู

ทั้งหมดเกิดจากวิสัยทัศน์ของเขา ที่ทำให้วันนี้ สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ที่เคยแห้งแล้ง มีพื้นที่สีเขียวกว่า 46.5 เปอร์เซ็นต์ และเป็นสีเขียวจากต้นไม้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ ‘เขียว’ ที่สุดในโลก และหากวัดที่จำนวนสวนสาธารณะ เกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ยังมีสวนสาธารณะมากถึง 350 แห่ง

แล้ว ลี กวนยู ทำได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1967 หรือเมื่อ 55 ปีก่อน นายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Garden City เพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ด้วยแมกไม้เขียวขจี และสภาพแวดล้อมที่สะอาดเพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอภิรมย์มากขึ้นสำหรับผู้คน

นอกจากนี้ การที่เมืองมีความเขียวขจี สิ่งแวดล้อมดี จัดการขยะได้ดี ยังบ่งบอกว่าเมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่จัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบ่งบอกว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งก็จะสามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนให้เดินทางมาเยือนสิงคโปร์มากขึ้น

เหลียง ชีชิว (Leong Chee Chiew) ประธานคณะกรรมการสวนและพื้นที่สาธารณะแห่งสิงคโปร์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ชวิสัยทัศน์ของลี กวนยู เรื่อง Garden City นั้น มาจากความเชื่อที่แน่วแน่ของเขาในการทำให้สิงคโปร์แตกต่างจากเมืองอื่นๆ

“ท่านเชื่อว่าเมืองร้อน ที่เต็มไปด้วยสวนจะทำให้เราแตกต่าง จะทำให้เราเป็นที่หนึ่ง สิ่งนี้ทำให้ท่านผลักดันให้มีมาตรฐานสูงเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง และการจะไปถึงตรงนั้นได้ ไม่เพียงแต่เราจะต้องสร้างความเขียวขจีเท่านั้น แต่ต้องดูแลรักษามันอย่างดีอีกด้วย”

เหลียงยังเสริมอีกว่า ในช่วงที่สิงคโปร์อยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษนั้น พื้นที่ที่มีสีเขียวและมีต้นไม้เป็นจำนวนมากนั้น มักจะเป็นพื้นที่ของ ‘ผู้มีอันจะกิน’ ด้วยเหตุนี้ ลี กวนยู จึงตั้งมั่นว่าจะต้องทำพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศให้จงได้

เมื่อวิสัยทัศน์เกิดขึ้นแล้ว ข้อต่อมาก็คือการลงมือทำ สิ่งที่เริ่มได้ทันทีก็คือการปลูกต้นไม้ตลอดสองข้าง เรียงเป็นแนวยาว ในเวลาเพียง 3 ปี มีการปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่มากกว่า 5.5 หมื่นต้น อีกทั้งยังเริ่มต้น ‘วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ’ ในปี 1971 โดยเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งนักเรียน ประชาชนรากหญ้า รวมถึงผู้ที่อาศัยในประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในที่พักส่วนตัว หรือเช่าที่พักจากรัฐบาลร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อรักษาโมเมนตัมของการทำให้เมืองเป็นพื้นที่สีเขียวนี้ไว้

จากนั้นอีก 4 ปี กฎหมายสวนสาธารณะและต้นไม้ก็ถูกบังคับใช้ โดยหนึ่งในข้อบัญญัติก็คือหน่วยงานรัฐอย่าง คณะกรรมการการเคหะและการพัฒนาแห่งชาติ (Housing and Development Board หรือ HDB) และกลุ่ม Jurong Town Corporation รวมถึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวในโครงการ ไม่ว่าจะโครงการก่อสร้างอาคาร สร้างถนน หรือสร้างลานจอดรถ กฎหมายฉบับดังกล่าว กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จำนวนต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 1.58 แสนต้น ในปี 1974 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านต้น ในปี 2014 หรืออีก 40 ปีให้หลัง

สวนสาธารณะที่ใช้งานได้จริง

อีกส่วนที่เข้ามาเติมเต็มวิสัยทัศน์ Garden City คือการสร้างสวนสาธารณะ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ด้วยจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นที่สาธารณะ และเป็นปอดให้กับเมืองที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โปรแกรมในการสร้างสวนซึ่งริเริ่มโดยหน่วยงานของรัฐอย่างสำนักงานสวนและพื้นที่สาธารณะแห่งชาติ (Parks and Recreation Department) ในปี 1976 นำไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจาก 879 ตารางกิโลเมตร เป็น 9,707 ตารางกิโลเมตรในปี 2014 ต้นไม้จาก 1.58 แสนต้น เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านต้น และสวนสาธารณะ 13 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 330 แห่งในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ ในปี 1996 สิงคโปร์ยังเสนอแนวคิดใหม่ต่อยอดจากการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเดิม ยกตัวอย่างเช่นการ ‘เชื่อม’ สวนสาธารณะเข้าด้วยกัน ด้วยทางเดินสีเขียว รวมถึงสร้างพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติและต้นไม้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังไม่หยุดพัฒนา แผนแม่บท 2030 ของสิงคโปร์ต่อยอดจากวิสัยทัศน์ Garden City ไปสู่แนวคิด More Land, More homes, More Greenery เพิ่มการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง แผนของสิงคโปร์คือในปี 2030 มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเกาะจะต้องเป็นพื้นที่สีเขียว อย่างน้อย โรงเรียน 20 เปอร์เซ็นต์ในสิงคโปร์จะต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ขณะเดียวกัน ผู้คนจะเดินทางด้วยวิธีที่ลดการปล่อยไอเสียมากขึ้น โดยรัฐจะสนับสนุนเส้นทางจักรยานและระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 230 กิโลเมตรในปัจจุบัน เป็น 360 กิโลเมตร

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ลี เซียนลุง ประกาศไว้ว่าสิ่งที่ต้องทำทั้งหมด ก็เพื่อส่งต่อสิงคโปร์ที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

“เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับสิงคโปร์สำหรับคนรุ่นอนาคต เราทุกคนต้องทำงานร่วมกันและทำให้สิงคโปร์เป็นประกายสีเขียวสดใสสำหรับโลก”

ขณะที่วิสัยทัศน์ของ ลี กวนยู ผู้เป็นพ่อ เมื่อ 50 ปีก่อน บอกไว้ว่า “ประเทศของเราไม่อาจปล่อยให้มีพื้นที่ที่สะอาดและเขียวขจีสำหรับคนรวยเท่านั้น แต่ทุกพื้นที่ต้องสะอาดและเขียวขจีเท่าเทียมกัน”

นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งประเทศแล้ว หลายคนยังยกย่องให้นายกรัฐมนตรี ลี กวนยู เป็นอีกตำแหน่ง นั่นคือเป็น ‘หัวหัวหน้าคนสวน’ ผู้มองเห็นประเทศแห่งนี้เขียวขจีก่อนใคร รู้ว่าต้องปลูกต้นไม้อย่างไร ปลูกอะไร ปลูกที่ไหน และวางแผนอย่างไรในการส่งมอบสิงคโปร์ให้กับคนรุ่นหลัง

นั่นเป็นวิสัยทัศน์ที่วาดไว้เมื่อหลายทศวรรษก่อน และทำให้สิงคโปร์ร่มรื่น สวยงาม มาจนถึงทุกวันนี้…

 

ที่มา

https://eresources.nlb.gov.sg/history/events/a7fac49f-9c96-4030-8709-ce160c58d15c

https://www.todayonline.com/rememberinglky/without-mr-lee-kuan-yew-there-would-be-no-garden-city

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.html

Tags: , , ,