หนึ่งในโลโก้ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกก็คือโลโก้ของบริษัท FedEx ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งพัสดุเจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หากไม่ได้สังเกตก็อาจจะเห็นว่าโลโก้นี้เป็นโลโก้ธรรมดาอีกอันหนึ่ง แต่สำหรับคนที่สังเกตโลโก้นี้ดูดีๆ แล้ว ก็จะเห็นว่ามีภาพลูกศรสีขาวแอบแฝงอยู่ตรงช่องว่างระหว่างตัว E และ x ซึ่งเป็นการส่งข้อความซ่อนเร้นให้ผู้ได้เห็นนึกถึงการเคลื่อนที่และความเร็วโดยไม่รู้ตัว และที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเราเห็นลูกศรนี้ครั้งหนึ่งแล้ว เราก็จะไม่สามารถ unsee หรือ ‘เลิกเห็น’ ลูกศรนี้ได้อีกเลย

ในทำนองเดียวกัน ศัพท์หลายคำในภาษาอังกฤษก็มีรากคำปรากฏเด่นหลาชัดเจนแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ยักเห็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่หากมีใครเบิกเนตรให้เห็นครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทำตัวเองให้เลิกเห็นไม่ได้อีกเลย

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูศัพท์พวกนี้และเบิกเนตรกันว่ารากคำที่แฝงตัวอยู่อย่างโต้งๆ นั้นอยู่ตรงไหนและเกี่ยวกับความหมายของคำนั้นอย่างไร

Disease

หากให้คนส่วนใหญ่แยกร่างคำว่า disease ที่หมายถึงโรคภัยไข้เจ็บนี้ หลายคนก็จะเข้าใจว่าน่าจะแยกได้เป็น di- กับ sease แต่อันที่จริงคำนี้ประกอบจาก dis- ที่แปลว่า ปราศจาก รวมกับ ease ที่แปลว่า ความง่ายหรือความสบายและรูปคำนามของคำว่า easy นั่นเอง ได้ความหมายรวมว่า ภาวะที่ไม่มีความสบาย (ใครที่เจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวน้ำมูกไหลก็คงจะจินตนาการได้ไม่ยาก) อันที่จริงแล้ว คำนี้ในยุคหนึ่งเคยเขียนว่า dis-ease ด้วยซ้ำ ซึ่งหากในยุคปัจจุบันยังเขียนเช่นนี้ ก็คงทำให้เราเห็นที่มาของคำได้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น

ทั้งนี้ เดิมทีคำนี้ไม่ได้หมายถึงโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียว แต่หมายถึงอะไรก็ตามที่ทำให้สูญเสียความสบาย เช่น ความไม่สะดวก ความอึดอัด หรือปัญหา แต่ในเวลาต่อเวลา ความหมายคำนี้ก็แคบลงจนเหลือเพียงโรคภัยไข้เจ็บอย่างในปัจจุบันเท่านั้น (ส่วนที่มาของชื่อโรคต่างๆ สามารถอ่านได้ที่นี่)

Enormous

หากเราสังเกตคำว่า enormous ที่แปลว่า ใหญ่ ให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่ามีคำว่า norm ซึ่งหมายถึง บรรทัดฐาน ซ่อนอยู่ ทั้งนี้ norm ในที่นี้เป็นคำเดียวกันกับ norm ที่เป็นที่มาของคำที่เราใช้กันโดยทั่วไปอย่าง normal ที่แปลว่า ปกติธรรมดา และ abnormal ที่แปลว่า ผิดปกติ

ส่วนที่ enormous มาแปลว่า ใหญ่ ได้นั้นก็เพราะมีส่วนเติมหน้า ex- ที่แปลว่า ออก มาแปะอยู่ข้างหน้า ทำให้ได้ใจความว่า ผิดไปจากบรรทัดฐาน ผิดไปจากปกติธรรมดา ซึ่งในที่นี้หมายถึงมีขนาดใหญ่ผิดแผกไปจากปกตินั่นเอง

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คำว่า enormity ที่เป็นรูปคำนามของคำว่า enormous ไม่ได้หมายถึงขนาดใหญ่โตมโหฬารคล้ายกับคำว่า enormous แต่เพียงอย่างเดียว (เช่น the enormity of the statue หรือ ความโอฬารของรูปปั้น) แต่ยังสามารถใช้หมายถึง การกระทำผิดอย่างร้ายแรงได้ด้วย (เช่น the enormity of his crime คือ ความร้ายแรงของอาชญากรรมของเขา) เพราะความประพฤติชั่วร้ายก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดแผกไปจากบรรทัดฐานเช่นกัน ทั้งนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่า อันที่จริงแล้ว enormity จะต้องใช้ในความหมายหลังเท่านั้น ไม่ใช้พูดถึงความใหญ่โต แต่ทุกวันนี้ก็มีคนใช้คำนี้ในทั้งสองความหมาย

Intimidate

หากมองคำนี้เผินๆ แล้วเราอาจจะไม่เห็นคำอะไรซ่อนอยู่ข้างใน แต่หากดูดีๆ เหมือนนั่งเพ่งภาพสามมิติแล้ว ก็จะเห็นว่ามีคำว่า timid ที่แปลว่า ขี้กลัว ขี้อาย อยู่ตรงกลาง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคำนี้ประกอบขึ้นจาก timid แล้วเติมด้านหน้าด้วยส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ทำให้ รวมกันจึงได้ความหมายว่า ทำให้กลัว นั่นเอง

ทั้งนี้ ส่วนเติมหน้า in- นี้ เป็นตัวเดียวกันกับ en- เช่นในคำว่า enforce (บังคับ) enrich (เสริมให้เข้มข้นหรือดีขึ้น) และ encircle (ล้อมรอบ) เพียงแต่เขียนเป็น in- เท่านั้นเอง (ซึ่งพบได้ในคำเช่น reinforce)

Opportunity

หากลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าในคำว่า opportunity มีคำว่า port ที่แปลว่า ท่าเรือ อยู่ข้างในด้วย หากเราอยากเข้าใจว่าท่าเรือและโอกาสมาเกี่ยวกันได้อย่างไร ก็จะต้องย้อนกลับไปดูเรื่องการเดินเรือในอดีต

เวลาดูหนังย้อนยุคที่ตัวละครเดินทางด้วยเรือ ฉากประจำแสนเกร่อที่เรามักเจอคือเรือเผชิญมรสุม ฝนฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ คลื่นซัดเรือโคลงเคลง ลูกเรือแทบยืนทรงตัวกันไม่ได้

แต่อันที่จริงแล้ว ปัญหาใหญ่หลวงอีกประการของการเดินเรือยุคก่อนมีเครื่องยนต์อีกอย่างคือลมไม่เป็นใจ เช่นในเรื่องสงครามทรอยในปกรณัมกรีก พอทัพกรีกรวมตัวกันได้พร้อมออกเดินทางไปบุกกรุงทรอย ลมกลับนิ่งสนิท (เพราะเทพีอาร์ทีมิสบันดาล ด้วยโกรธที่กษัตริย์อกาเมมนอนฆ่ากวางในป่าของพระองค์) ทำให้ออกเรือไม่ได้จนท้ายที่สุดต้องสังเวยอิฟิจิไนยา ลูกสาวของตัวเองเพื่อให้เทพีคลายโกรธและบันดาลให้มีลม เรือจึงจะออกจากฝั่งได้

แต่ลมไม่เป็นใจนี่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะจะออกจากฝั่งเท่านั้น (แต่มั่นใจว่าเรือเล็กของพี่ตูนออกจากฝั่งได้เพราะน่าจะมีเครื่องยนต์แล้ว) แต่เวลาจะเข้าฝั่งก็ต้องอาศัยลมเช่นกัน หากลมไม่พัดเข้าท่าเรือ ก็จะเทียบท่าขึ้นฝั่งไม่ได้ ลมที่พัดเข้าฝั่งแบบนี้ในภาษาละตินเรียก ob portum veniens มาจาก ob คือ ไปยัง รวมกับ portum คือ ท่าเรือ (เป็นที่มาของคำว่า port ในปัจจุบัน) และ veniens ซึ่งมาจาก venire แปลว่า มา ได้ใจความว่าพัดเข้าฝั่ง ท้ายที่สุดชื่อลมนี้พัฒนามาเป็นคำว่า opportune ที่แปลว่าเหมาะเหม็ง และคำว่า opportunity ที่แปลว่าโอกาส ที่ใช้กันในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คำว่า opportunity จึงมีคำว่า port ที่แปลว่า ท่าเรือ ซ่อนอยู่ในคำนั่นเอง

Alone

คำนี้เป็นอีกคำที่เราใช้กันบ่อยจนแทบไม่ได้สังเกตองค์ประกอบด้านในที่ตั้งเด่นหลาอยู่ ซึ่งก็คือคำว่า one ที่แปลว่า หนึ่ง นั่นเอง

คำว่า alone นี้มาจากคำว่า all ที่แปลว่า ทั้งหมด รวมเข้ากับ an ที่แปลว่า หนึ่ง (อันเดียวกับ an ที่เป็น article ใน an ant) ซึ่งพัฒนากลายมาเป็นคำว่า one ในที่สุด ทำให้ได้ความหมายว่า ตัวคนเดียว นั่นเอง เดิมทีเคยเขียนแยกกัน แต่ถูกใช้บ่อยจนมีการย่อเป็นคำเดียวกันและกลายมาเป็นคำว่า alone

แต่ในเวลาต่อมา คนก็เริ่มลืมเลือนว่า alone มาจาก all one ประกอบกับที่ภาษาอังกฤษมีคู่คำที่เติม a- เข้าไปด้านหน้าเพื่อทำเป็นคุณศัพท์อยู่หลายคำเช่น blaze-ablaze และ float-afloat เลยทำให้คนเข้าใจกันไปว่า alone มาจาก a- รวมเข้ากับ lone ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการสร้างคำว่า lone ขึ้นมาใช้ในความหมายว่า เดี่ยว โดด (เช่น lone wolf ก็คือ ผู้ที่ชอบอยู่ตัวคนเดียว สันโดษ) และทำให้เกิดคำว่า lonely ที่หมายว่า เหงา ตามมาด้วย

ทั้งนี้ คำว่า one นี้ยังซ่อนตัวอยู่ในคำว่า only ด้วย พูดแบบง่ายๆ ก็คือ only คือ one รวมกับ -ly ของเราในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงได้ความหมายรวมว่า หนึ่งเดียว เดี่ยว (เช่น an only child หรือลูกโทน) หรือ เพียง (เช่น only you ก็คือ เพียงแต่เธอคนเดียว ไม่รวมถึงคนอื่น)

Atone

หลายคนอาจจะรู้จักคำนี้จากหนังสือ Atonement ของ Ian McEwan ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดย เจมส์ แมคอาวอย กับ เคียรา ไนต์ลีย์ ด้วย แต่ที่หลายคนอาจไม่สังเกตก็คือคำนี้มีคำว่า one อยู่ด้วย

อันที่จริงแล้ว คำว่า atone ที่แปลว่า ไถ่โทษ มาจากคำว่า at one หมายถึง พ้องกัน กลมเกลียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ภายหลังยุบรวบเป็นคำกริยาคำเดียวและถูกนำมาใช้ในความหมายว่า ชดใช้ต่อความผิดที่ได้กระทำ ทั้งนี้ก็เพราะการไถ่โทษเป็นการทำให้สองฝ่ายที่ระหองระแหงแตกคอกันกลับมาร่วมสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวได้ใหม่อีกครั้งนั่นเอง

Macadamia

หากเราลองเพ่งดีๆ แล้ว เราจะเห็นว่าในชื่อถั่วรสหวานมันชนิดนี้มีชื่อคนซ่อนอยู่ นั่นก็คือ Macadam นั่นเอง นั่นก็เพราะนักพฤกษศาสตร์ชาวยุโรปชื่อว่า เฟอร์ดินานด์ วอน มูลเลอร์ (Ferdinand von Mueller) ที่เป็นผู้พบถั่วชนิดนี้ตั้งชื่อถั่วเพื่อเป็นเกียรติแก่เพื่อนของตนเองนามว่า ดร. จอห์น แม็คอาดัม (Dr. John Macadam) ซึ่งเป็นสมาชิกสถาบันปรัชญาแห่งวิกตอเรียในออสเตรเลียด้วย ภายหลังนี้ถั่วนี้ก็ถูกนำไปปลูกในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในฮาวาย จนถั่วนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกดังเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ชื่อ Macadam นี้มาจาก Mac (บางทีก็สะกดว่า Mc) ซึ่งพบในนามสกุลของคนที่สืบเชื้อสายมาจากพวกไอริช มีความหมายว่า ลูกของ ปกติแล้วจะตามด้วยชื่อของพ่อ (เช่น McDonald ก็คือ ลูกของโดนัลด์) ดังนั้น ชื่อ Macadam จึงหมายถึง ลูกของอาดัม นั่นเอง

แต่อันที่จริงแล้ว macadamia ไม่ใช่คำเดียวในภาษาอังกฤษที่มีชื่อลูกของอาดัมซ่อนอยู่ หากใครที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาก็อาจจะทราบว่าภาษาอังกฤษยังมีคำว่า macadam ที่หมายถึง ถนนที่โรยด้วยกรวดเป็นชั้นๆ แล้วอัดให้แน่นด้วย ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติให้แก่วิศวกรโยธาชาวสก็อตแลนด์ชื่อ จอห์น แมคอาดัม (John L. McAdam) ที่เป็นผู้คิดค้นวิธีการนี้ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อคนเริ่มเปลี่ยนจากรถม้ามาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แทน ถนนประเภทนี้ก็เริ่มมีปัญหาตรงที่ส่งฝุ่นมากเมื่อรถขับผ่านอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมีผู้คิดแก้ปัญหาด้วยการนำน้ำมันยาง (tar) ไปพ่นลงบนถนนประเภทนี้เพื่อไม่ให้ผงฝุ่นลอยฟุ้งขึ้นมา ก่อนในไปราดบนถนน เกิดเป็นวัสดุปูถนนที่เรียกว่า tarmacadam ต่อมาภายหลัง ผู้คิดค้นนำวัสดุนี้ไปจดชื่อการค้าในชื่อ Tarmac แม้ในปัจจุบันจะมีวิทยาการในการสร้างถนนที่พัฒนาไปมากกว่าวิธีการนี้แล้ว แต่ชื่อ Tarmac ก็ยังคงอยู่ในภาษาอังกฤษ และใช้หมายถึง ลานบินราดยางในสนามบิน เช่น The minute our plane touched the tarmac, the crowd broke into applause. ก็คือ พอเครื่องบินแตะพื้น คนก็เฮลั่น

 

บรรณานุกรม

 

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Lewis, Norman. Word Power Made Easy.  Pocket Books: New York, 1978.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Wilson, Richard Middlewood, and Percy Hide Reaney. A Dictionary of English Surnames. Routledge, 1991.

Tags: ,