ครั้งแรกที่วัดในอีสานมีการเก็บใบลานที่จารคัมภีร์และนิทานต่างๆ ด้วยตัวอักษรประจำถิ่น เช่น ตัวธรรม  ตัวขอม ตัวไทยน้อยเข้ากรุคือช่วงที่มีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา เพราะต้องเรียนหนังสือไทย ใช้อักษรไทย และการศึกษาต้องกระจายผ่านวัด

ต่อมาในยุคพัฒนา ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก’ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงขั้นมีการเผาใบลานและลุกลามไปถึงการทุบทำลายโบสถ์หรือสิม ศาลาเก่า และพระไม้ใบเสมา เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของความไม่พัฒนา  โบสถ์จากกรมศิลป์ในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศก็แพร่มาในช่วงนั้น  พร้อมๆ กับที่ท่านจอมพลฯ ห้ามไม่ให้พระเทศน์เรื่องมักน้อยสันโดษ เพราะเข้าใจว่าจะทำให้ประชาชนมีสำนึกขวางทางการพัฒนาประเทศ วัดต่างๆ ก็เริ่มตัดถางต้นไม้ทิ้งให้โล่งโปร่ง เพราะมีความคิดว่าความรกคือความไม่พัฒนา

ผมโตมาในช่วงปลายสงครามเย็นซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการทุบทำลายวัตถุสถานโบราณดังที่กล่าว โบสถ์แบบกรมศิลป์ที่บ้านเกิดกำลังก่อฐานและแล้วเสร็จในหลายปีต่อมา

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังพอหลงเหลือให้ได้เห็นคือพระไม้ แต่ถูกลดสถานะจากที่เคยอยู่ในโบสถ์/สิมเก่ามาอยู่ในเพิงหรือซุ้มสรงน้ำพระในช่วงเนาสงกรานต์ ไม่ได้ขึ้นไปอยู่ในโบสถ์ใหม่หรือศาลา พระไม้เหล่านี้ได้รับการทำความสะอาดปีละครั้งเท่านั้น นั่นก็คือช่วงสรงน้ำพระ  กาลเวลาและปลวกค่อยๆ ผุกร่อนประติมากรรมจากไม้เหล่านี้ไป

ช่วงที่ผมจบป.6 และบวชเรียนอีกแปดปี ได้เดินทางไปตามวัดในหมู่บ้านอีสานที่ห่างไกลก็ยังพอพบเห็นพระไม้เหล่านี้ มีทั้งที่เป็นหิน ดินเผา และที่แกะหินอยู่ตามหน้าผาตามภูเขา แต่ยิ่งนานวันก็บางตาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีกระแสภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาในช่วงก่อนเศรษฐกิจแตกในปี 2540 พระไม้ที่หลงเหลือ (น้อยเต็มที) จึงเริ่มได้รับการดูแล เก็บเข้าโบสถ์เข้าศาลา

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นหรือแม้แต่นึกถึงประสบการณ์เชิงประจักษ์ในเรื่องนี้ก็คือ พระไม้หรือพระหินพระดินเหล่านั้น มีใบหน้าที่แตกต่างกันแทบจะร้อยทั้งร้อย ตรงนี้เป็นจุดเด่นมาก ตอนนั้นได้แต่ตั้งข้อสังเกต และลึกๆ ในใจก็รู้สึกว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไม่งาม นั่นเพราะมีภาพพระพุทธชินราชตามคติไทยกลางที่เรียนมาครอบงำความรู้สึกนึกคิดไว้ แต่ก็ยอมรับว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ (ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก) มีเสน่ห์แปลกๆ แม้ตอนนั้นจะอธิบายเสน่ห์ที่ว่านี้ไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร

กระทั่งได้อ่านได้ศึกษาอะไรมากขึ้น จึงเริ่มเข้าใจเสน่ห์แปลกๆ ที่ว่านั้น และเมื่อเริ่มเข้าใจก็ทำให้เห็นความงาม และยิ่งความงามนั้นเป็นความงามจริงๆ ที่ผูกพันเชื่อมโยงอยู่กับชีวิตธรรมดาของตัวเอง ของสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งซาบซึ้ง

และทุกครั้งเมื่อมีโอกาสผ่านทางไปยังที่ที่เคยเห็นพระพุทธรูปเหล่านั้นก็มักจะแวะเวียนไปดู ถ่ายรูปเก็บไว้  แต่ส่วนใหญ่ก็หายไปแล้ว และเมื่อพบองค์ที่เหลืออยู่ ความรู้สึกมันตื้นตันบรรยายไม่ถูก รู้แต่ว่านี่เป็นมิติทางจิตวิญญาณ

มิติทางจิตวิญญาณนี้เองเป็นรากที่หยั่งลึกหนักแน่นมั่นคงและกินอาณาเขตกว้างขวางมากของคนอีสาน และนี่อาจเป็นความลับของจุดชี้ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของนักปฏิวัติไทยของอีสานในอดีต เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ละเลยเรื่องนี้ สงครามมวลชนปฏิวัติจึงล้มเหลว และก็เป็นที่น่าสังเกตว่านักเขียนอีสานสมัยใหม่แทบไม่มีใครแตะเรื่องทางจิตวิญญาณนี้เลย ส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับปรากฏการณ์ภายนอกแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต จะต่างก็แต่รูปแบบที่นำเสนอเท่านั้น

แล้ววันหนึ่งก็มีคนที่ศึกษาพระไม้ พระปูน พระหิน พระดินในอีสานผ่านมาที่ร้าน

ผมเห็นภาพถ่ายสไลด์ของเขาแล้วตกตะลึง เพราะรูปใบหน้าของพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายมามากกว่าที่ผมเคยพบเห็นหลายสิบเท่า คือมีใบหน้าเป็นร้อยๆ (เขายังออกตัวว่ายังไปมาไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่) แม้แต่รูปหน้าแบบอุลตร้าแมนคือหน้าผากโหนกๆ ตาโปนๆ (คนลาวอีสานเรียกตาสวด ตาโล่) นี่ก็มี (ผมได้เห็นภาพนี้ที่ร้าน ก่อนที่จะมีดราม่าภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนหลายปีมาก) ระหว่างที่ผมดูภาพทีละภาพและฟังที่เขาเล่าว่ารูปนี้ถ่ายมาจากไหน คือแม้แต่ที่หมู่บ้านใกล้ๆ กัน หน้าตาพระพุทธเจ้าก็ไม่เหมือนกัน เหมือนกับว่าผมกำลังเปิดดูและอ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีเสน่ห์น่าสนใจและสำคัญมากไปทีละหน้าๆ พอถึงหน้าสุดท้ายก็วนกลับมาดูใหม่ เรื่องราวก็ก้องอยู่ในหูและเชื่อมโยงพาผมไปสู่ความทรงจำและความรู้เรื่องอีสานและพุทธศาสนาที่สะสมมา

แล้วผมก็โพล่งคำถามขึ้นมาว่าทำไม

ทำไมใบหน้าของพระพุทธเจ้าถึงไม่เหมือนกันสักรูป พอเขาได้ยินคำถามของผมก็ยิ้ม เพราะรู้ว่าผมต้องถามคำถามนี้ซึ่งเป็นคำถามเดียวกับที่เขาก็มี และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนของเรา

บทสรุปหรือคำตอบที่ไม่เป็นทางการนักของเราก็คือ เพราะอีสานไม่มีช่างหลวง ไม่มีศูนย์กลางอำนาจหนึ่งเดียว ทุกที่ค่อนข้างมีอิสระ

แต่ที่มากกว่านั้นคือในมิติของปรัชญาหรือจิตวิญญาณแล้ว ความหลากหลายของใบหน้าของพระพุทธเจ้าที่สะท้อนออกมาผ่านพระพุทธรูปไม้ หิน ปูน ดินเผา เหล่านี้ กลับมีความลึกซึ้งและตรงกับแก่นพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

นั่นคือความเป็นพุทธะหรือหน่อเนื้อของพระพุทธเจ้านั้นมีในทุกๆ คน ทุกสิ่งมีชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้ผูกขาดกับใครหรือแบ่งชนชั้นวรรณะไหน

เมื่อเทียบกับที่ข้อเท็จจริงที่ว่าคนอีสานอยู่ที่ไหน หัวไร่ปลายนา เดินทางค้าขาย ค้าวัวควาย ฯลฯ พอมีเวลาก็แกะพระจากไม้ แกะด้วยมีดแหลมที่มีติดตัว หรือปั้นดินเหนียวเผา หรือถากไม้ หรือเจาะ กะเทาะหินตามหน้าผาเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือรูปของตัวเองหรือภาพหน้าคนที่คุ้นชินนั่นแหละ ความหลากหลายของใบหน้าพระพุทธเจ้าจึงมี คือทุกคนสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้

แต่มีสองสิ่งที่เหมือนกันคือ 1.เมื่อแกะแล้ว ปั้นแล้ว จะไม่ครอบครอง แต่จะเอาไปไว้ในวัดหรือเอาไว้ในที่ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญ 2.ไม่จารึกชื่อ เพราะเมื่อมีคนกราบไหว้ ตัวเองจะได้ไม่บาป ไม่เป็นเสนียดจัญไร เพราะตัวเองอาจมีศีลมีธรรมไม่เท่าคนที่มากราบไหว้

บทสรุปที่เราเห็นตรงกันและคิดว่าเป็นทางการที่สุดคือ ความมีอิสระนั้นสำคัญต่อการเข้าถึงพระพุทธเจ้าหรือความจริงของชีวิตของธรรมชาติหรือจักรวาล แต่ความจริงของอีสานส่วนนี้ถูกกัดกิน คุกคาม และถูกทำลายลงมาเนิ่นนานจนกระทั่งทุกวันนี้

ผมรอคอยหนังสือจากการเดินทางศึกษาของเขาคนนั้นได้ตีพิมพ์ออกมาเสียที

Tags: