ทอย สตอรี่, คลาวด์ แอตลาส, แคสต์ อะเวย์, เดอะ เทอมินัล, แคช มี อีฟ ยู แคน, ฟอเรสต์ กัมป์
ต่อให้พยายามนึกภาพอย่างอื่นเมื่อนึกถึงชื่อ ทอม แฮงก์ส ภาพยนตร์เหล่านี้ก็โผล่มาอยู่ดี เพราะเราต่างจดจำเขาในฐานะนักแสดงฝีมือเยี่ยมในภาพยนตร์ที่เขียนบทมาดี
แต่เมื่อถือหนังสือเล่มนี้ในมือ Uncommon Type หรือชื่อไทย พิมพ์(ไม่)นิยม เราต้องลบๆ ภาพในหัวไปก่อน แล้วทำความรู้จักแฮงก์สใหม่ ในฐานะผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเขียน ไม่ใช่การแสดงผ่านสีหน้าหรือร่างกาย
ถ้อยคำ มุมมองในการพรรณนาบรรยากาศ การกระทำยิบย่อยของตัวละครแต่ละตัวในแต่ละเรื่อง ทำให้เรามองข้ามฝีมือของแฮงก์สในบทบาทนี้ไม่ได้เลย เขาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เริ่มเป็นนักเขียนในวัย 62 ว่า “เพราะความรู้สึกคันยุบยิบมันกวนเราไม่เลิก” (จากบทความ ทอม แฮงก์ส กับบทบาทของนักเขียน ผู้มองเห็นความพิเศษในความเรียบง่าย) ซึ่งมันอาจคล้ายความรู้สึกที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มเขียนหนังสือ
แต่เขาไม่ได้เขียนเพื่อเล่าเรื่องของตัวเอง เล่าความสำเร็จที่ผ่านมา หรือเพียงปั้นตัวละครที่เป็นตัวแทนของตัวเองออกมาเฉิดฉายให้มีชีวิตอมตะในหน้ากระดาษ
แฮงก์สได้สะท้อนความคิดของตัวละครมากมายซึ่งอยู่ในหลายบริบท ทั้งคุณพ่อลูกสามที่ผ่านสงครามจนขาขาด แฟนหนุ่มไม่เอาไหนของสาวมั่นผู้ทำงานเก่ง เพื่อนเพี้ยนๆ สี่คนในอเมริกาที่ใฝ่ฝันจะสร้างยานขับไปอ้อมดวงจันทร์ นักแสดงหน้าใหม่ที่กำลังมึนไปกับการเดินสายโปรโมตภาพยนตร์รอบโลกตารางแน่นเอี๊ยด แต่กลับไม่มีใครจำเขาได้บนท้องถนน
หากในสายอาชีพนักแสดง เขาเคยรับบทบาทหลากหลายแค่ไหน เนื้อเรื่องเข้มข้นบีบคั้นหัวใจเพียงใด (ชายติดเกาะผู้ทรมานจากฟันผุ จนต้องเอาใบมีดรองเท้าสเก็ตมางัดปาก หรือชายผู้ติดอยู่ในสนามบินจนสร้างงานสร้างอาชีพในนั้น) เรื่องสั้นต่างๆ เหล่านี้คงสะท้อนมิติความคิดอันหลากหลายของผู้เขียนได้
แม้ไม่ได้ ‘เป็น’ สิ่งนั้น แต่แฮงก์สทำการบ้านจนเข้าใจว่าคนเหล่านี้น่าจะมีปัญหาอะไร แคร์เรื่องใดมากกว่ามนุษย์ปุถุชนคนอื่นๆ
พิมพ์ดีดของแฮงก์ส
สิ่งที่โดดเด่นบนหน้าปกฉบับภาษาไทยและแทบจะทุกเวอร์ชัน คือเอกลักษณ์ของเครื่องพิมพ์ดีด
เพราะในรวมเรื่องสั้นที่ดูไม่เกี่ยวกันเหล่านี้ ทอม แฮงก์ส จัดวางเครื่องพิมพ์ดีดหลากยี่ห้อ หลายรูปทรง พร้อมจุดเด่นของมันลงไปในแต่ละเรื่อง
แม้เขาจะบอกในบทสัมภาษณ์ว่า เครื่องพิมพ์ดีดเหล่านี้เป็นเสมือน ‘อีสเตอร์เอ้ก’ ลูกเล่นสนุกๆ ที่อยากชวนให้คนอ่านได้ค้นหา แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นอีสเตอร์เอ้กที่หาไม่ยากเลย โดยเฉพาะในฉากที่ดูเป็นยุคสมัยใหม่ หรือกับผู้อ่านอย่างเราที่หลุดพ้นสมัยการใช้เครื่องพิมพ์ดีดไปแล้ว (ผู้เขียนบทความเกิดยุค 1990s) อีสเตอร์เอ้กเหล่านี้ไม่มีทางรอดสายตา
บางเรื่องพิมพ์ดีดก็เป็นวัตถุสำคัญ เช่น เป็นพิมพ์ดีดที่ผู้เล่ากำลังพิมพ์เพื่อใช้เล่าเรื่องนี้ หรือเป็นพิมพ์ดีดเครื่องที่จะเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งไป แต่บางเรื่องก็เป็นแค่อุปกรณ์ประกอบฉากที่เพียงอยากเอ่ยถึง บ้างก็เนียน บ้างก็แยงตาเหมือนชื่อแบรนด์ที่ไท-อินเข้ามา
แต่ถ้าหากมีเวลา ผู้อ่านอาจนั่งถอดรหัสความเชื่อมโยงของพิมพ์ดีดเหล่านี้ก็ได้
ในเรื่องสั้นเรื่องแรก ‘สามสัปดาห์เหนื่อยสาหัส’ พิมพ์ดีดเครื่องแรกโผล่มาในคำถามของเกมมือถือที่ชายหนุ่มเพียงเล่นเพื่อฆ่าเวลาตอนแฟนสาวออกไปทำธุระ มันเป็นคำถามว่าประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ใช้เครื่องนี้หรือไม่
แต่บทบาทอันไม่สำคัญของมันในเรื่องแรกนั้นสำคัญกับเรื่องต่อมา เพราะมันคือพิมพ์ดีดที่ประธานาธิบดีใช้ร่างสุนทรพจน์เรียกร้องเสียงสนับสนุนให้สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อกำเนิดทหารนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2
เวอร์จิล บูเยลล์ ตัวละครคุณพ่อผู้น่ารักในครอบครัวแสนอบอุ่น ผู้อิ่มเอมกับชีวิตในคืนคริสต์มาสอีฟ คือผลพวงจากการร่วมรบกับกองทัพนาซี เขามีชีวิตที่ดีแม้มีแผลจากสงคราม และมีเพื่อนอดีตทหารที่เคยแสดงความกล้าหาญบ้าระห่ำ แต่กลับไม่แยแสวาระครบรอบการรบนั้น (เรื่อง ‘คริสต์มาสอีฟ ปี 1953’)
พิมพ์ดีดเครื่องต่อมา โผล่มาในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ยุโรป ซึ่งนักแสดงชายหน้าใหม่คนหนึ่งกำลังเดินสายโปรโมตหนังใหม่ และเขาตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือโรงแรมที่มีชื่อเสียงตรงที่นาซีเคยมาพัก
ซุบซิบหลังกล้อง
นักแสดงชายคนนั้นคือตัวละครในเรื่องสั้น ‘มหกรรมสัญจรในนาครแห่งแสงไฟ’ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนชอบ เพราะมันแซะและแซวคนวงการภาพยนตร์ได้บันเทิงดี และอดคิดไม่ได้ว่าบางเหตุการณ์ต้องเคยเกิดขึ้นจริงกับใครสักคนแน่ๆ
แม้นี่จะไม่ใช่นิตยสารซุบซิบดารา แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่เราคาดหวังให้แฮงก์สเล่าเรื่องหลังกล้องของนักแสดงบ้าง และเรื่องสั้นนี้ก็เหมือนเรื่องซุบซิบที่เล่าผ่านปากนักแสดงชายหน้าใหม่คนซื่อ ที่แมวมองไปควานมาจากบทอันทื่อมะลื่อในภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก แล้วมาได้แจ๊คพ็อตแสดงคู่กับดาราหญิงชื่อดัง ในภาพยนตร์ภาคต่อภาคที่ 3 ที่คนทั่วโลกรอจะดู
รอรี่ ทอร์ป เล่าประสบการณ์ชีวิตพลิกผัน ต้องออกเดินสายสัมภาษณ์สื่อร้อยสำนักในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเขามองว่าเป็นบุญหล่นทับ เพราะได้เที่ยวต่างประเทศแบบฟรีๆ ในขณะที่พีอาร์ได้แต่ยิ้มสังเวช
นักแสดงหนุ่มคนนี้ ดังตูมตามขนาดไหน ก็เอาเป็นว่าระหว่างเดินสายให้สัมภาษณ์ในยุโรป คนตามท้องถนนที่เคยวิ่งกรูมาที่นักแสดงสาววิลล่า แซ็กส์ กลับจำเขาไม่ได้เลยสักคน
มีโปสเตอร์หนังตั้งอยู่ข้างหลัง ในโปสเตอร์ วิลล่ากำลังเหม่อมองไปในอวกาศ ใบหน้างามนั้นฉายแววดุดัน … และรอรี่สวมเฮดเซตกำลังมองคอมพิวเตอร์ ดูซีเรียสสุดๆ ข้อความตัวใหญ่เป้งพิมพ์ไว้ว่า กลับมาแล้ว วิลล่า แซ็กซ์ เป็นแคสซานดรา แรมพาร์ต ส่วนชื่อของรอรี่อยู่ปนๆ ในก้อนเครดิตด้านล่างของโปสเตอร์ ขนาดตัวหนังสือเท่าชื่อคนตัดต่อหนังเรื่องนี้ (หน้า 91)
บอกรักของเก่า ชิงชังของใหม่
สายตาไล่ผ่านพิมพ์ดีดไปเครื่องแล้วเครื่องเล่า คำถามหนึ่งที่สงสัย คือ แฮงก์สกำลังสะท้อนจุดยืนของนักอ่านผู้รักกระดาษและชังอีบุ๊กหรือเปล่า แน่นอนว่านี่เป็นข้อถกเถียงที่ดูเชยสำหรับใครบางคน
เมื่อเขาพูดถึงพิมพ์ดีดสักตัว เขาจัดวางมันไว้อย่างนิ่มนวล ให้เกียรติ อธิบายยี่ห้อและข้อเด่น
เมื่อพูดถึงโกโบ (Kobo) หรือไอแพด เขาใส่มันมาในมือของตัวละครที่คนอ่านไม่น่าจะชอบเท่าไร อย่างคนที่หาว่าการอ่านหนังสือพิมพ์นั้นเปลืองกระดาษและทำลายทรัพยากร หญิงสาวหลงตัวเองที่ย้ายมาอยู่บนถนนกรีน หรือหนุ่มจืดที่ทำตัวไม่ค่อยเอาไหน
ส่วนในเรื่อง ‘บ้านเราวันนี้กับ แฮงก์ ฟิเซต’ ทอม แฮงก์ส สวมบทเป็นแฮงก์ ฟิเซต นักข่าวที่เขียนคอลัมน์ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง เล่าให้ผู้อ่านรับทราบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้กำลังจะปิดตัวในฉบับกระดาษ แต่เขาขอไว้ลาย (หรือไม่ก็ประชด?) ด้วยการพิมพ์คอลัมน์ด้วยมือถือแทน ในเมื่อผู้อ่านชอบอ่านผ่านมือถือกันนัก เล่าเรื่องพิมพ์ดีดของคุณลุงอัลนักพิสูจน์อักษรผู้ทำงานละเอียดลออ เปลี่ยนต้นฉบับเขรอะขระของนักข่าวมือสมัครเล่น ให้กลายเป็นความเรียงที่สละสลวย
แฮงก์ ฟิเซต เล่าจบ ก็จิกกัดโปรแกรมแก้คำอัตโนมัติ (auto-correct) ด้วยการใช้ให้มันอีดิตต้นฉบับแทน ‘คุณลุงอัล’ แปลงบทความที่เขาเล่ามาเสียใหม่ ให้ ‘ถูกต้อง’ ในแบบของโลกเทคโนโลยี
ผลลัพธ์กลายเป็นคอลัมน์หนังสือพิมพ์ที่คนอ่านไม่รู้เรื่อง
สไตล์การเขียนเรื่องสั้นของแฮงก์ส ในรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขานี้ ไม่ถึงกับยกยอได้ว่าบรรเจิด เพราะประเด็นที่กระจัดกระจายในแต่ละเรื่องซึ่งดูไม่เกี่ยวกัน หากไม่ได้ให้เวลาอ่านแบบละเอียด ก็คงไม่ตราตรึง
แต่ไม่ว่าจะคุณจะนิยมพิมพ์ดีดหรือไม่ พิมพ์(ไม่)นิยม ในฐานะเรื่องสั้นที่รวบรวมเอาความแตกต่างหลากหลาย มุมเพี้ยนๆ ของคนแต่ละคนซึ่งเป็นส่วนที่ ‘ไม่เหมือนใคร’ แฮงก์สก็เล่าได้อย่างใส่ใจรายละเอียด
ก็คงต้องมาตีความกัน ว่าสรุปแล้วพิมพ์ดีดเป็นมากกว่าอีสเตอร์เอ้กหรือไม่
Fact Box
หนังสือ UNCOMMON TYPE: some stories | พิมพ์ (ไม่) นิยม เขียนโดย Tom Hanks แปลโดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ สำนักพิมพ์ a book