ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางขนส่งพลังงานของโลก ตามคำขู่ เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ อเมริกาอาจใช้กำลังเข้าเคลียร์

ความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านดูจะยกระดับขึ้นอีกขั้น เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม อิหร่านขู่ว่า หากอเมริกาทำให้อิหร่านขาดรายได้จากการขายน้ำมันด้วยมาตรการคว่ำบาตร รัฐบาลเตหะรานจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ

การงัดข้อระหว่างมหาอำนาจโลกกับประเทศพี่เบิ้มในอ่าวเปอร์เซียครั้งนี้ เป็นซีรีย์ภาคต่อจากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อเมริกาในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ร่วมกับมหาอำนาจอื่นๆ คือ รัสเซีย จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ลงนามกับอิหร่านเมื่อปี 2015

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งเรียกกันว่า เจซีพีโอเอ (Joint Comprehensive Plan of Action) มีความเป็นมา ความมุ่งหมาย และสาระสำคัญ อย่างไร และเหตุใดสหรัฐฯ จึงถอนตัว พร้อมกับเรียกร้องให้อิหร่านเจรจาจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ เคยเล่าไว้แล้วใน บทความ เมื่อเดือนพฤษภาคม

เวลานี้ นานาชาติกำลังหวั่นเกรงว่า ความพยายามของทรัมป์ที่จะกดดันให้เตหะรานยอมตามความต้องการของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่สงคราม

จนถึงขณะนี้ นอกจากสหรัฐฯ ซึ่งถอนตัวแต่ฝ่ายเดียวแล้ว มหาอำนาจอื่นๆ ยังคงยึดมั่นในข้อตกลงฉบับปัจจุบัน และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรอิหร่าน

ไพ่ในมือทรัมป์

ทรัมป์ประกาศถอนตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม พร้อมกับขีดเส้นตาย 180 วัน ที่จะให้อิหร่านขึ้นโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นแล้ว สหรัฐฯ จะทำให้อิหร่านไม่สามารถขายน้ำมันออกสู่ตลาดโลกได้

รัฐบาลทรัมป์ขู่ที่จะทำให้อิหร่านมีรายได้จากน้ำมันเท่ากับ 0 ดอลลาร์ฯ คือ ขายไม่ได้แม้แต่สตางค์แดงเดียว ด้วยการประกาศว่า บริษัทไหนในโลกที่ทำธุรกรรมกับอิหร่านจะไม่สามารถทำธุรกรรมกับสหรัฐฯได้

วลีเด็ดของนโยบายสหรัฐฯ ก็คือ “จงเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำธุรกรรมกับธนาคารอเมริกัน หรือทำธุรกรรมกับธนาคารของอิหร่าน คุณไม่สามารถเลือกทั้งสองอย่างได้”

มาตรการคว่ำบาตรจึงเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ทรัมป์หยิบฉวยเอามาใช้อีกครั้งเมื่ออเมริกาต้องการบังคับฝ่ายอื่นให้ยอมทำตามความมุ่งหมายของตัว  

อำนาจต่อรองที่ทรัมป์ถืออยู่ในมือนี้ จะใช้ได้ผลแค่ไหน อย่างไร ยังต้องคอยดูต่อไป เพราะจนถึงขณะนี้ นอกจากสหรัฐฯ ซึ่งถอนตัวแต่ฝ่ายเดียวแล้ว มหาอำนาจอื่นๆ ยังคงยึดมั่นในข้อตกลงฉบับปัจจุบัน และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรอิหร่าน

มาตรการคว่ำบาตรจะเริ่มมีผลในวันที่ 4 พฤศจิกายน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า มาตรการนี้จะใช้บังคับโดยไม่มีข้อยกเว้นให้แก่บริษัทไหน ประเทศใด ทั้งสิ้น เพราะถือเป็นมาตรการด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ถ้าอเมริกาทำจริง มาตรการนี้จะส่งผลสะเทือนหนักมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ

นั่นคือ นอกจากผลักอิหร่านให้กลับไปยืนในฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังสร้างความขุ่นข้องให้กับหลายฝ่าย ตั้งแต่พันธมิตรชาติตะวันตกด้วยกัน พันธมิตรในเอเชียอย่างญี่ปุ่น มิตรประเทศอย่างอินเดีย ไปจนถึงคู่แข่งอย่างจีน เนื่องจากประเทศทั้งหมดนี้ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน

 

อาวุธตอบโต้ของเตหะราน

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านออกคำขู่ว่า อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ หากสหรัฐฯ ทำให้อิหร่านไม่สามารถขายน้ำมันดิบได้

ช่องแคบฮอร์มุซตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเปอร์เซีย เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากประเทศย่านอ่าวเปอร์เซียออกสู่ตลาดโลก น้ำมันดิบราว 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1 ใน 5 ของโลกต้องขนส่งผ่านช่องทางนี้

สหรัฐฯ ตระหนักดีถึงความสำคัญของช่องแคบฮอร์มุซ ขณะนี้ ทรัมป์กำลังพูดจากับซาอุดีอาระเบีย คู่แข่งอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง มิตรประเทศของอเมริกัน ขอให้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยกับปริมาณน้ำมันดิบที่จะหายไปเพราะการคว่ำบาตรอิหร่าน

ทำเนียบขาวบอกว่า กษัตริย์ซาลมาน บิน อับดุลอาซิส ยืนยันว่า ซาอุดีอาระเบียมีกำลังผลิตสำรองวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันโลกได้

นักสังเกตการณ์มองว่า ถ้าสหรัฐฯ กับอิหร่านตกลงกันไม่ได้ในเรื่องดีลนิวเคลียร์ กำลังทางทหารอาจกลายเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย

นอกจากผลักอิหร่านให้กลับไปยืนในฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังสร้างความขุ่นข้องให้กับหลายฝ่าย ตั้งแต่พันธมิตรชาติตะวันตกด้วยกัน พันธมิตรในเอเชียอย่างญี่ปุ่น มิตรประเทศอย่างอินเดีย ไปจนถึงคู่แข่งอย่างจีน เนื่องจากประเทศทั้งหมดนี้ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน

ด้วยความที่ต้องเผชิญกับปรปักษ์ทั้งในภูมิภาค เช่น อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย และนอกภูมิภาค คือ สหรัฐฯ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลเตหะรานจึงถือคติ ‘แม้นหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ’

อิหร่านพัฒนาขีดความสามารถทางทหารมาโดยตลอด ทั้งอาวุธตามแบบ อย่างเช่น ขีปนาวุธ และอาวุธนอกแบบ อย่างเช่น นิวเคลียร์ แม้ว่าอาวุธอย่างหลังยังไม่ก้าวหน้าเหมือนของเกาหลีเหนือ

เวลานี้ อิหร่านยังไม่เผยไต๋ว่าตระเตรียมสรรพาวุธไว้ตอบโต้การคว่ำบาตรอย่างไรบ้าง แต่รองผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ฮุสนี ซาลามี เคยพูดเมื่อปี 2014 ว่า ถ้าต้องเผชิญหน้ากับอเมริกา อิหร่านอาจใช้จรวดร่อน ขีปนาวุธ โดรน กับระเบิด จนถึงเรือเร็ว

เขี้ยวเล็บพวกนี้ฟังดูไม่น่าครั่นคร้ามนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้ามองแยกเป็นรายชนิด อาวุธแต่ละอย่างไม่ค่อยมีพิษสง แต่หลักการรบของอิหร่านสำหรับยุทธบริเวณช่องแคบก็คือ นำทุกอย่างมาใช้ร่วมกัน พุ่งเป้ารวมศูนย์ไปยังเป้าหมาย กลยุทธ์แบบนี้สามารถสร้างความเสียหายแก่ข้าศึกได้

เมื่อปี 2015 กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติจัดการซ้อมรบ ออกอากาศทางทีวี แสดงให้เห็นเรือบรรทุกเครื่องบินจำลองของสหรัฐฯ ถูกทำลายด้วยจรวดและเรือเร็วติดระเบิด ขณะเดียวกัน ทหารอิหร่านยังฝึกการวางทุ่นระเบิดในช่องแคบฮอร์มุซด้วย

ภาพการซ้อมรบของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติจัดการซ้อมรบ บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ (ภาพเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 โดย Hamed Jafarnejad / FARS NEWS / AFP)

ย้อนไปเมื่อครั้งสงครามอิรัก-อิหร่าน ช่วงปี 1980-1988 ทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีการส่งออกของกันและกัน กลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า สงครามเรือบรรทุกน้ำมัน (Tanker War)

อันที่จริง อิหร่านกับสหรัฐฯ เคยปะทะกันมาบ้างแล้ว เมื่อปี 1988 เรือฟริเกตของอเมริกันชนทุ่นระเบิดของอิหร่าน ตัวเรือเกิดเป็นรู โครงเรือแตกหัก สหรัฐฯ เอาคืนด้วยการทำลายท่าขนถ่ายน้ำมันของอิหร่าน 2 ท่า จมเรือรบของอิหร่าน 1 ลำ และพังเรือรบอีก 1 ลำ

 

สงครามน้ำมัน

ตอนที่สหรัฐฯ ประกาศคำขู่ที่จะเริ่มคว่ำบาตรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าหุ้นตกกันยกใหญ่ เพราะตลาดวิตกถึงผลกระทบต่อปริมาณและราคาน้ำมัน และกังวลต่อไปถึงสงครามที่อาจเกิดตามมา

ว่าตามกฎหมายแล้ว อิหร่านไม่มีสิทธิ์ปิดช่องแคบฮอร์มุซแต่ฝ่ายเดียว เพราะส่วนหนึ่งของน่านน้ำเป็นเขตแดนของประเทศโอมาน

กำลังของอิหร่านที่รับผิดชอบช่องแคบคือ กองทัพเรือ ส่วนสหรัฐฯ นั้นมีกองเรือที่ห้าประจำการอยู่ที่บาห์เรน

อเมริกาพูดไว้ชัดเจนว่า ถ้าปิดช่องแคบถือว่าล้ำเส้น สหรัฐฯ จะใช้กำลังเข้าบังคับให้เปิดเส้นทาง เพื่อรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ และเสรีภาพในการพาณิชย์

นอกจากกองเรืออเมริกันแล้ว กองทัพเรือของชาติตะวันตกก็ซ้อมรบในย่านอ่าวเปอร์เซียเป็นประจำ ขณะที่บรรดาชาติอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮ-เทคพรั่งพร้อมสำหรับยุทธนาวี

สหรัฐฯ ลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าอิหร่านวางทุ่นระเบิดปิดช่องแคบ อเมริกาจะรับมือด้วยเรือกวาดทุ่นระเบิด เรือคุ้มกัน และการโจมตีทางอากาศในกรณีจำเป็น

จนถึงขณะนี้ ระดับผู้นำของอิหร่านยังไม่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวดุดัน แต่ระดับเจ้าหน้าที่ดูจะมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คว่ำบาตรเท่ากับประกาศสงคราม อย่างนี้ต้องปิดช่องแคบตอบโต้ แต่อีกฝ่ายมองว่า ทรัมป์แค่ขู่เพื่อกดดันให้อิหร่านเจรจาใหม่ รัฐบาลเตหะรานยังมีหมากอีกหลายตาให้เดินบนกระดานการทูตระหว่างประเทศ

ทรัมป์จะได้ในสิ่งที่หวังหรือไม่ ถ้าไม่ยอมตาม อิหร่านจะตอบโต้อย่างไร เกมนี้คงสู้กันอีกหลายยก

 

อ้างอิง:

 

บรรยายภาพเปิด:

ชาวอิหร่านออกมาแสดงความไม่พอใจ หลังสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวในข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคม และตั้งท่าจะเดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกครั้ง (ภาพถ่ายเมื่อ 9 พฤศภาคม 2018 โดย ATTA KENARE / AFP)

Tags: , ,