ฟินแลนด์อาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ยกเลิกการใช้ถ่านหินแบบถาวร

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลฟินแลนด์กำลังพิจารณาการแบนพลังงานจากถ่านหินอย่างถาวรภายในปี 2030 ตามยุทธศาสตร์ใหม่ว่าด้วยเรื่องพลังงานและสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกระดับพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) เพื่อการคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 30%

ประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแง่การปล่อยมลภาวะและสารพิษอันตรายออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำ ดิน และสร้างมลพิษทางอากาศ แม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดปริมาณการปล่อยมลพิษที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีดักจับสารพิษก็ตาม

และถ้าหากฟินแลนด์เอาจริง การขยับตัวครั้งนี้อาจส่งผลต่อนโยบายและภาพรวมของการจัดการพลังงานทั่วทั้งสหภาพยุโรปอย่างแน่นอน

ทางเว็บไซต์กระทรวงจัดหางานและเศรษฐกิจของฟินแลนด์ระบุว่า รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การจัดการพลังงานในระยะยาว เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ และบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานทางเลือกของสหสภาพยุโรปภายใน 2030 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า เช่น ยกเลิกการใช้ถ่านหิน ตัดการนำเข้าน้ำมันครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็น 10% ของยานพาหนะทั้งหมดในประเทศ

“โดยสรุปคือ ถ่านหินอาจหมดไปจากตลาดฟินแลนด์” ปีเตอร์ ลุนด์ (Peter Lund) นักวิจัยด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto University) กล่าว

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การตัดสินใจแบบเร่งด่วน เพราะสัญญาณของการยกเลิกถ่านหินนั้นปรากฏให้เห็นมาแล้วหลายปี เพื่อมุ่งสู่สังคมที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศ ชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon-Neutral Society) และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสะอาด

Photo: pixabay.com, creative commons

ในอดีต ฟินแลนด์จัดเป็นประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานจำกัด สืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและแห้งแล้ง จึงต้องพึ่งพาการผลิตและการนำเข้าพลังงานจำนวนมาก อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของผู้คน ซึ่งเป็นปริมาณและราคาที่สูงลิบ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาโดยตลอด

ประกอบกับราคาพลังงานในตลาดของกลุ่มประเทศนอร์ดิกนั้นลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2010 ยกเว้นราคาของถ่านหิน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งถูกระงับและปิดตัวลง ความนิยมของการใช้ถ่านหินในประเทศจึงลดลงตามลำดับในปี 2011 ต่อมา รัฐบาลได้ลงทุนเม็ดเงินมหาศาลไปกับการวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานลม หลังจากที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก

นอกจากนี้ รัฐบาลยังทุ่มงบประมาณเพิ่มอีก 80 ล้านยูโร ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทางเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการใช้พลังงานจากถ่านหินเหลือเพียง 8% ของพลังงานทั้งหมดเท่านั้น

Photo: pixabay.com, creative commons

หากรัฐบาลผ่านกฎหมายห้ามใช้พลังงานจากถ่านหินจริง นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานของสหภาพยุโรปชนิดถอนรากถอนโคนหรือไม่

เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ ชาติอื่นๆ จะมีมาตรการหรือนโยบายใหม่ด้านพลังงานออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เพราะสหราชอาณาจักร ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์เองได้ประกาศแผนการยกเลิกการใช้ถ่านหินภายใน 10-15 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเพิ่งประกาศว่าจะปิดตัวโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งภายในปี 2023 และถ้าหากสังเกตโร้ดแมปที่ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้วางเอาไว้ จะพบว่าผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 80-95% ภายในปี 2050

แต่ปรากฏการณ์ Brexit และกระแส Frexit ที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้โร้ดแมปของอียู ‘ล่ม’ หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลฟินแลนด์จะยังคงจับมือกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก และร่วมกันผลักดันนโยบายการผลิตพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นกลางให้ได้ภายในปี 2050 และนำพลังงานชีวภาพ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นเข้ามาทดแทนการใช้ทรัพยากรน้ำมัน

ไม่แน่ว่าความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกยังคงตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และก้าวพ้นมายาคติด้านพลังงานที่บางประเทศยังคงหลับหูหลับตาไม่ยอมรับความจริงเสียที

 

อ้างอิง: 
– http://tem.fi/en/energy-and-climate-strategy
– www.reuters.com/article/finland-energy-biofuels-idUSL8N1DP2F8
– www.newscientist.com/article/2113827-finland-set-to-become-first-country-to-ban-coal-use-for-energy

 

FACT BOX:

กลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic Countries) ประกอบด้วย ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน และเขตปกครองตนเองในสังกัดของประเทศดังกล่าว อันได้แก่ กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) หมู่เกาะแฟโร (แดนมาร์ก) และหมู่เกาะโอลันด์ (ฟินแลนด์)

ในอดีต กลุ่มประเทศนอร์ดิกส่วนใหญ่ต้องนำเข้าทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลจึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อสร้างแหล่งพลังงานทดแทนขึ้นเอง อาทิ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวภาพ และพลังงานนิวเคลียร์