เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ประเทศตุรกีและซีเรีย แผ่นดินไหวความแรงระดับ 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ บริเวณชายแดนตุรกี-ซีเรีย ประกอบกับแผ่นดินไหวระลอกเล็ก (Aftershock) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างถึง 650 ไมล์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนพังถล่ม 11,342 หลัง คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7,800 ราย ประกอบด้วย 5,894 ชีวิตในตุรกี 1,932 รายในซีเรีย และพบผู้บาดเจ็บรวม 3.2 หมื่นราย 

ขณะนี้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังระดมกำลังเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยกว่า 2.44 หมื่นนาย ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่ในซากปรักหักพังอย่างต่อเนื่อง 

ด้านรัฐบาลตุรกีออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 10 จังหวัด และองค์การอนามัยโลกเตือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงเกิน 2 หมื่นราย ส่วนสถานการณ์ในฝั่งซีเรียเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ตอนเหนือที่ได้รับผลกระทบหนักปกครองโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิง เสบียง และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีพอจะติดต่อกับผู้คนภายนอก อีกทั้งยังมีผู้คนอีกไม่ทราบจำนวนติดอยู่ในอาคารที่พังทลายท่ามกลางอากาศหนาว

โฆษกสำนักงานประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ( Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งความช่วยเหลือไปยังซีเรียว่าจำเป็นต้องหยุดลงชั่วคราวในเช้าวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ เนื่องจากความเสียหายของถนนและปัญหาด้านการขนส่งอื่นๆ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อีกครั้งในตอนไหน 

ด้านหน่วยงานจัดการภัยพิบัติของตุรกี รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ว่า มีประชาชนกว่า 8,000 ราย ได้รับการช่วยเหลือจากซากปรักหักพัง และปลอดภัยแล้วราว 3.8 แสนราย แต่ไม่สามารถอาศัยในบ้านของตนได้ กำลังกระจายตัวไปพักตามโรงแรมที่รัฐบาลจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ประสบภัย ทำให้หลายคนเลือกแสวงหาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สุเหร่า และศูนย์ชุมชนอื่นๆ 

มูรัต ฮารุน เอินโกเรน (Murat Harun Öngören) ผู้ประสานงานกับองค์กรช่วยเหลือและกู้ภัยภาคประชาสังคมที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี (AKUT) ให้ข้อมูลว่าการช่วยเหลือผู้คนมีเหตุติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาพอากาศเย็นจัดและพื้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง 

มูรัตเล่าว่าผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงที่ผ่านไป ความช่วยเหลือในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังแผ่นดินไหว จึงเกิดขึ้นล่าช้าเพราะต่อให้ทุกทีมประสานงานและวางแผนช่วยเหลืออย่างดี แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก

“เรามักนิยามแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ว่าเป็นภัยพิบัติ นี่เป็นมากกว่าแผ่นดินไหว แต่คือหายนะ

“หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ผมวิ่งไปที่บ้านแม่และเห็นอาคารถล่มลงมา ผมเสียใจมากและตั้งตารอทีมช่วยเหลือ แต่พวกเขาไม่ปรากฏตัว ผมพยายามโทรหาเจ้าหน้าที่ ทุกสายถูกตัดออก”

แต่ช่วงเวลาที่ยากลำบากของตุรกีในครั้งนี้ มีหน่วยงานจากทั่วโลกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลหลายประเทศทั่วยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ รวมถึงคูเวต อินเดีย และรัสเซีย เร่งจัดหาบุคลากร สุนัขดมกลิ่น แพทย์ พยาบาล รถดับเพลิงพิเศษ และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

ด้านยูเนสโก (UNESCO) หน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ออกประกาศว่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตุรกีและซีเรียเช่นกัน หลังจากสถานที่ 2 แห่งที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีมรดกโลกในซีเรียและตุรกีได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง อาทิ เมืองอเลปโปในซีเรีย และป้อมปราการในเมืองดิยาร์บากีร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี

อีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกเป็นห่วงในเหตุการณ์ครั้งนี้คือการที่นักโทษใน 2 ประเทศใช้โอกาสการพังทลายของเรือนจำในการหลบหนี

สื่อท้องถิ่นและสำนักข่าวเอฌองซ์ ฟรองส์ เพรสเซ่ (Agence France-Presse) รายงานว่ามีผู้หลบหนีออกจากเรือนจำอย่างน้อย 20 คน จากกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย หลังเกิดแผ่นดินไหว และความเสียหายที่เรือนจำตำรวจทหารในเมืองราโจ ใกล้กับชายแดนตุรกี ก็นำไปสู่การจลาจลและการหลบหนีของนักโทษหลายรายที่ยังระบุตัวตนไม่ได้ในตอนนี้

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2023/feb/07/turkey-syria-earthquake-conditions-rescue-efforts-death-toll 

https://www.theguardian.com/world/2023/feb/08/turkey-and-syria-earthquake-what-we-know-so-far-on-day-three 

Tags: , , , , , , , , ,