นักภูเขาไฟวิทยาเตือน ‘ตันกูราฮัว (Tungurahua)’ ภูเขาไฟโบราณ ในเมืองตันกูราฮัว ของเอกวาดอร์ ส่งสัญญาณถล่มครั้งใหญ่ เนื่องจากภาวะไม่สมดุลระหว่างแมกมาที่เข้ามาในภูเขาไฟกับแมกมาที่พ่นออกไป
ตันกูราฮัวในภาษาของชาวเคชัวแปลว่า ‘ทวารแห่งไฟ’ นอกจากนี้ มันยังมีชื่อเล่นตามปากปล่องขนาดใหญ่อีกว่า ‘ยักษ์สีดำ’
ในปี 1999 ตันกูราฮัวได้ปะทุขึ้น ส่งฝุ่นและหมอกควันสีดำปกคลุมทั่วท้องฟ้า ชาวเมืองกว่า 25,000 คน ต้องอพยพไปหาที่หลบภัย หลังจากนั้น มันยังคงส่งสัญญาณเตือนถึงการปะทุอยู่หลายครั้ง กระทั่งในปี 2014 มันก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้มันปล่อยแมกมาไหลออกมาปิดถนนเข้าเมืองบานอส จนทางการต้องยกระดับการเตือนภัยถึงระดับส้ม หรือเกือบร้ายแรงที่สุด
เจมส์ ฮิกกี้ นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์กล่าวว่า “ข้อมูลดาวเทียมชี้ว่าเกิดการทรุดตัวอย่างรวดเร็วทางตะวันตกของภูเขาไฟตันกูราฮัว เนื่องจากภาวะไม่สมดุลระหว่างแมกมาที่เข้ามาในภูเขาไฟ กับแมกมาที่พ่นออกมา” อย่างไรก็ตาม ฮิกกี้กล่าวว่า ขณะที่มันดูเหมือนจะถล่มลงมา มันก็อาจไม่ถล่มลงมาก็ได้ นั่นคือความไม่แน่นอนของธรรมชาติ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากเกิดการถล่ม อาจทำให้เกิดดินถล่มครั้งใหญ่ที่พาเศษหินไปได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร
ตันกูราฮัวเป็นภูเขาที่ผ่านการถล่มครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายยุคไพลโตซีน (ราว 2,600,000 ล้าน ถึง 11,000 ปีที่แล้ว) และครั้งที่สองเกิดขึ้นราว 3,000 ปีก่อน ซึ่งคาดกันว่าทำให้เกิดดินถล่มกินพื้นที่กว่า 80 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเล่นๆ ว่ามากกว่าสนามฟุตบอล 11,00 สนาม
ที่มา:
https://futurism.com/the-byte/ecuador-volcano-collapse-throat-of-fire
https://www.thesun.co.uk/tech/10997448/throat-of-fire-volcano-ecuador-collapse/
ภาพจาก: Reuters
Tags: เอกวาดอร์, ภูเขาไฟ, ตันกูราฮัว