หลังจากที่ภูเขาไฟฟูเอโก (Fuego volcano) ในกัวเตมาลา ปะทุอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. พ่นเถ้าถ่านและหินร้อนจำนวนมากขึ้นสู่ท้องฟ้าและเกิดเป็นโคลนภูเขาไฟไหลท่วมหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 75 ราย ก็ได้เกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. จนทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องยุติการช่วยเหลือชั่วคราว ก่อนกลับเข้าพื้นที่อีกครั้งเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา

การปะทุของภูเขาไฟฟูเอโกครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบสี่ทศวรรษ การระเบิดของภูเขาไฟฟูเอโกเป็นการพ่นแบบไพโรคลาสติก (pyroclastic) แบบเดียวกับก้อนฝุ่นทรายขนาดใหญ่ซึ่งร้อนจัดถล่มทับเมืองปอมเปอี เมื่อปี ค.ศ. 79

“มองภายนอก มันอาจดูเหมือนกับเมฆเถ้าถ่านที่ไหลออกมา แต่ถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นของไหลที่ร้อนจัด เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเป็นพายุด้วยความเร็ว 50 ไมล์ต่อชั่วโมง ไม่เหมือนกับอะไรเลยบนโลกนี้” จานีน คริปเปอร์ (Janine Krippner) ผู้เชี่ยวชาญภูเขาไฟ มหาวิทยาลัยคองคอร์ดกล่าวในสถานีโทรทัศน์พีบีเอสของสหรัฐอเมริกา

“ด้านบนเป็นทรายที่มีแก๊สร้อน มีอุณหภูมิสูงระหว่าง 200-700 องศาเซลเซียส ด้านล่างเป็นตะกอนหินลาวาที่หักเป็นชิ้นเล็กๆ สามารถทำให้ต้นไม้ล้มลงและทำลายบ้านเรือน ทำให้รถยนต์ลอยขึ้น มันอันตรายมาก” คริปเปอร์บอกว่าการไหลของเถ้าภูเขาไฟประเภทนี้อาจเปรียบได้กับขวดโคล่า

ระหว่างที่มันปะทุ แก๊สจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีฟองผุดขึ้นมาในแมกมา จากนั้นระเบิด แมกมาไหลออกมาเหมือนกับเวลาเขย่าขวดโค้กแล้วเปิดออกทันที แต่แทนที่จะเป็นฟองอากาศ ภูเขาไฟฟูเอโกพ่นหินแข็งออกมา

6 มิ.ย. เจ้าหน้าที่กู้ภัยกลับเข้าพื้นที่ปฏิบัติการช่วยเหลือในเมืองและหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุภูเขาฟูเอโกปะทุหนักอีกครั้ง โดยต้องแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาผู้ที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติที่คร่าชีวิตชาวกัวเตมาลาไปแล้วอย่างน้อย 99 คน และมีผู้สูญหายอีกอย่างน้อย 200 คน

ประชาชนหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัยและพักอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว หลายคนต้องสูญเสียคนรักและสมาชิกในครอบครัว และต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะไม่สามารถกลับบ้านที่ถูกภูเขาไฟทำลายได้

นักดับเพลิงกล่าวว่าโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตท่ามกลางพื้นดินที่ยังเต็มไปด้วยความร้อนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หลังจากที่ผ่านมาแล้ว 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่การระเบิดครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เถ้าถ่านสีเทาหนาทึบปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ฝนตกหนักก็ยิ่งทำให้การขุดโคลนทะลุหินและทรายที่ทับถมหลังคาบ้านยากขึ้นไปอีก

“ไม่มีใครช่วยพวกเขาออกมาได้ หรือบอกได้ว่ามีคนถูกฝังอยู่ที่นี่เท่าไหร่” เอฟเฟน ซัวเรส ซึ่งยืนอยู่ท่ามกลางหลุมที่มีควันพวยพุ่งออกมา ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านเชิงเขามาก่อน

ขณะที่เจ้าหน้ากู้ภัยใช้เหล็กขุดลงไปบนพื้นดิน มีควันพุ่งขึ้นสู่อากาศซึ่งเป็นสัญญาณว่าอุณหภูมิด้านล่างยังร้อนมาก ซึ่งอาจสูงได้ถึง 400-700 องศาเซลเซียส

ที่ศูนย์พักพิง ซึ่งห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตรจากปล่องภูเขาไฟ อัลฟอนโซ คาสทิลโล (Alfonso Castillo) อายุ 33 ปีบอกว่าเขาและสมาชิกครอบครัวขยายอีก 30 คนอยู่ที่นี่ ทุกคนคุ้นเคยกับภูเขาไฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ของอเมริกากลาง มีเสียงดังและมีควันพ่นออกมา ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่แล้วก็มีกลุ่มเมฆเถ้าถ่านขนาดใหญ่ไหลออกมา

“ภายใน 3-4 นาที ทั้งหมู่บ้านก็หายไป” เขากล่าว และบรรยายว่ามันเหมือนกับน้ำทะเลที่พัดหาเข้ามาทำลายบ้านเรือน จู่โจมประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า”

ครอบครัวซ่อนตัวอยู่ในบ้านที่ร้อนจัดเหมือนกับกาต้มน้ำ ก่อนที่จะหาทางขึ้นมาบนหลังคา เขาโทรศัพท์ไปหาพี่ชาย เจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงและช่วยชีวิตครอบครัวของเขาได้ แต่ชีวิตที่พวกเขารู้จักหายไปแล้ว

“ไม่มีใครอยากกลับไปที่นั่นอีก ลูกๆ ของผมบอกว่า เขาไปอยู่ข้างถนนยังจะดีกว่า มีคนช่วยพวกเราเยอะมาก แต่เราไม่มีอะไรเหลือเลย เราเอาอะไรออกมาไม่ได้เลย สำหรับเราแล้ว ‘ไม่มีวันพรุ่งนี้’”

ส่วนชายสูงอายุคนหนึ่งซึ่งถ่ายคลิปวิดีโอ ขณะที่เขาถูกปกคลุมด้วยเถ้าถ่านและโคลนร้อนจัดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเสียชีวิตแล้ว

หนึ่งวันหลังจากที่มีคำสั่งอพยพใหม่ เพราะภูเขาไฟปะทุอีกครั้ง มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยและแนะนำชาวบ้านไม่ให้เข้าใกล้พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ ทางการเตือนว่าฝนที่ตกลงมายิ่งทำให้เถ้าถ่าน โคลนและทรายไหลทะลักรุนแรงขึ้นได้

จนถึงวันพุธที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 99 ราย และคาดว่าจะมีผู้สูญหายอีก 197 คน ประชาชนประมาณ 3,500 คนต้องอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ประธานาธิบดีจิมมี มอราเรส (Jimmy Morales) เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจความเสียหายแล้ว

หน่วยงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของกัวเตมาลากล่าวว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านคน และมากกว่า 12,000 คนต้องอพยพ

องค์กรด้านมนุษยธรรมส่งอาสาสมัครเข้าช่วยเหลือ พร้อมกับนำน้ำสะอาดและอาหารเข้าไป องค์กรกาชาดสากลกล่าวว่าจะใช้เงินประมาณ 253,446 เหรียญสหรัฐ จากกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตได้ประมาณ 3 เดือน

 

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Jose Cabezas

ที่มา:

Tags: , ,