การทูตสไตล์แหวกแนวของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ก้าวข้ามพิธีการแบบประเพณี ด้วยการนัดพบคิมจองอึนแบบปุบปับเมื่อวันอาทิตย์ ช่วยขับดันให้การเจรจาในประเด็นนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้า
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ทรัมป์สร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งที่สองในการเดินงานการทูตเพื่อแก้ไขปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ครั้งแรกคือตอนที่ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่พบกับผู้นำเปียงยางที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทรัมป์เป็นผู้นำอเมริกาคนแรกที่ย่างเท้าก้าวเข้าไปในเขตแดนของเกาหลีเหนือ
ในครั้งแรกนั้น เขาตกลงที่จะพบหารือกับคิมผ่านบทบาท ‘พ่อสื่อ’ ของประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีผู้นำสหรัฐฯ ยินดีขึ้นโต๊ะเจรจากับผู้นำของประเทศคู่ปรปักษ์ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นแห่งนี้มาก่อน
ส่วนในครั้งหลังนี้ ทรัมป์เชิญชวนคิมผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ แน่นอนว่า ไม่เคยมีผู้นำคนไหน หรือกระทั่งนักการทูต ออกคำเชิญคู่เจรจาผ่านทางโซเชียลมีเดีย
การพบหารือแบบสุดเซอร์ไพรส์เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งแหวกขนบพิธีการทูตอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ยังผลให้เกิดความคืบหน้าในการคลี่คลายปมนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้มีการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ในเร็วๆ นี้
การลงทุนมีความเสี่ยง
ตามตารางงานเดิมนั้น ทรัมป์มีกำหนดแวะเยือนเกาหลีใต้หลังเสร็จสิ้นการประชุมกลุ่มจี-20 ที่ญี่ปุ่น ก่อนออกเดินทางจากโอซากาเมื่อวันเสาร์ ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่า อยากเจอคิมที่เขตปลอดทหาร เพื่อจับไม้จับมือและทักทายกัน
การเดินหมากตานี้ นับว่ามีเดิมพัน ถ้าผู้นำชาติมหาอำนาจโอภาปราศรัยเชื้อเชิญแบบเปิดเผย รับรู้กันไปทั้งโลก แล้วผู้นำชาติที่เล็กกว่าทำเมิน ไม่ขานรับ หรือกระทั่งบอกปัดปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยน้ำเสียงแบบไหน ประธานาธิบดีแดนอินทรีคงเสียรังวัดอักโข
อย่างไรก็ดี ทรัมป์คงประเมินแล้วว่า โอกาสนัดพบสำเร็จมีสูง เพราะคงมีสัญญาณในทางบวกจากจดหมายที่ทรัมป์กับคิมเขียนคุยกันไปมาหลายฉบับ
ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ คิมยอนชุล เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่านับแต่ปี 2018 เป็นต้นมา คิมเขียนไปหาทรัมป์ 8 ฉบับ ทรัมป์เขียนไปหาคิม 4 ฉบับ นอกจากนี้ ผู้นำรัฐบาลโซลบอกในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างหารือกันหลังฉากที่จะพบกันอีกครั้ง
ทรัมป์เองพูดถึงสาส์นจากคิมที่เพิ่งได้รับในเดือนมิถุนายน ว่า เป็น “beautiful letter” ขณะที่สื่อของเกาหลีเหนือบรรยายถึงเนื้อหาในสาส์นที่ทรัมป์ส่งถึงคิมว่า “excellent content”
แม้ไม่มีการเปิดเผยเนื้อความในจดหมาย แต่คาดเดาได้ไม่ยากว่า ทั้งสองฝ่ายคงคุยกันด้วยบรรยากาศฉันมิตร ถึงแม้การหารือครั้งที่สองที่กรุงฮานอยจะปิดฉากแบบไร้ข้อสรุปก็ตาม
คงยังจำกันได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทรัมป์กับคิมคุยกันไม่ลงตัว ฝ่ายสหรัฐฯ ให้ข่าวภายหลังว่า เป็นเพราะคิมเรียกร้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด แต่ฝ่ายเกาหลีเหนือแก้ข่าวว่า ไม่ได้เรียกร้องอย่างนั้น เพียงแต่ขอให้ยกเลิกการแซงก์ชั่นบางส่วน
นับว่าการเดินเกมเสี่ยงของทรัมป์ในรอบนี้ได้ผล สามารถรักษาแรงเคลื่อนของการเจรจาให้ขยับเดินหน้าได้ต่อไป ไม่หยุดสะดุดชะงักงัน
ไม่ใช่แค่แวะทักทาย
ข้อความทวีตของทรัมป์ชวนให้คาดหมายกันว่า ถ้าผู้นำเปียงยางเดินทางมาพบผู้นำวอชิงตันที่หมู่บ้านปันมุนจอมที่คั่นระหว่างเกาหลีทั้งสองตามคำเชิญชวน ทั้งคู่คงจับมือ ทักทาย คุยกันไม่กี่นาทีแล้วแยกย้าย แต่ที่ไหนได้ คนทั้งสองนั่งสนทนากันร่วมชั่วโมง แล้วกลับออกมาพร้อมความคืบหน้าที่น่าสนใจ
ข้อสรุปของซัมมิตแบบฉุกละหุกในครั้งนี้ ก็คือ การเจรจาในระยะต่อไปจะใช้กลไกในระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มพูดจากันได้ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
อีกทั้งทรัมป์ยังเชิญคิมจองอึนให้ไปเยือนทำเนียบขาว “ในเวลาที่เหมาะสม” ด้วย ซึ่งคาดเดาได้ว่า กำหนดการเยือนวอชิงตันของคิมย่อมจะผูกอยู่กับความคืบหน้าในการเจรจานั่นเอง
เปิดแชมเปญ ยังอีกนาน
การพบกันของคนทั้งสองเมื่อวันอาทิตย์ อบอวลด้วยบรรยากาศฉันมิตร อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมความยากลำบากของประเด็นเจรจา ซึ่งจุดยืนของทั้งสองฝ่ายยังห่างไกลกัน
ฝ่ายสหรัฐฯ ยึดจุดยืนที่ว่า เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear disarmaments) ในขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือถือจุดยืนว่า การถอดถอนนิวเคลียร์ต้องกระทำทั่วทั้งคาบสมุทรเกาหลี (denuclearization of the Korean peninsula)
วอชิงตันบอกว่า เปียงยางต้องละทิ้งขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่คุกคามอเมริกาให้หมดเสียก่อน สหรัฐฯ ถึงจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร แต่เกาหลีเหนือเรียกร้องแนวทางต่างตอบแทนแบบเป็นขั้นเป็นตอน
การเปลี่ยนกลวิธีในการเจรจา โดยใช้กลไกระดับเจ้าหน้าที่ อาจเป็นช่องทางการทูตที่จัดการกับประเด็นเรียกร้องและข้อต่อรองที่ซับซ้อนได้ดีกว่าการตั้งโต๊ะพูดคุยระดับผู้นำอย่างในสองครั้งที่แล้วมา
คอยดูกันต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายจะคุยกันได้ผลคืบหน้าหรือไม่ อย่างไร แต่ด้วยความละเอียดอ่อนของหัวข้อเจรจา เชื่อแน่ว่ายังจะต้องพูดกันหลายรอบ.
อ้างอิง:
ภาพปก: REUTERS/Kevin Lamarque
Tags: เกาหลี, คาบสมุทรเกาหลี, การทูต, DMZ, สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, นิวเคลียร์, คิม จอง อึน