แม้ว่าการพบปะหารือระดับผู้นำที่เวียดนามในสัปดาห์นี้ถือเป็นการเจรจาสองฝ่าย เกาหลีเหนือย่อมตระหนักดีว่า การเดินหมากนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ไม่อาจละเลยฝ่ายที่สามได้ นั่นคือ จีน

ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องคำนึงถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน แต่ประเด็นความมั่นคงระดับโลกอย่างปมอาวุธนิวเคลียร์นั้น ตัวแสดงที่ทรงอิทธิพลที่สุดไม่อาจหนีพ้นรัฐมหาอำนาจ

ภายใต้สภาพการณ์ที่สหรัฐฯ กับจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ และด้วยเงื่อนไขที่เกาหลีเหนือยังคงต้องพึ่งพิงจีนในทางเศรษฐกิจและการทูต พร้อมกับเงื่อนไขที่เกาหลีเหนือจำเป็นต้องกระชับไมตรีกับสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งสามปัจจัยจึงกลายเป็นโจทย์ที่คิมจองอึนจะต้องแสวงหาจุดลงตัวในความสัมพันธ์สามเส้า เปียงยาง-ปักกิ่ง-วอชิงตัน

จีนคือมิตรหนึ่งเดียว

จีนสนับสนุนตระกูลคิมมาตั้งแต่ครั้งสงครามเกาหลีด้วยเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเหตุว่าปักกิ่งมองเกาหลีเหนือเป็นแนวกันชนที่ขวางกั้นการรุกคืบแผ่อิทธิพลของพันธมิตรโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ  

บนเส้นทางสู่การผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ จีนต้องการให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีเสถียรภาพ เมื่อเกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ทดสอบระเบิดปรมาณู ทดลองยิงขีปนาวุธ หลายระลอกเมื่อปี 2017 ความเคลื่อนไหวของเปียงยางจึงกระทบผลประโยชน์หลักของปักกิ่ง

จีนจึงกดดันให้เกาหลีเหนือยุติพฤติกรรมสั่นคลอนเสถียรภาพ ด้วยการสนับสนุนข้อมติของสหประชาชาติในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยห้ามเกาหลีเหนือส่งออกถ่านหิน เหล็ก และอาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักเพียงไม่กี่อย่างของเปียงยาง

แรงกดดันนี้ดูจะได้ผล เมื่อปี 2018 คิมจองอึนบ่ายหน้าเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกนับแต่ครองอำนาจเพื่อไปพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงถึงเมืองจีน แล้วจากนั้นก็ยังไปพบกับสีอีก 3 ครั้ง ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจนบัดนี้ ผู้นำจีนยังไม่ได้ไปเยือนกรุงเปียงยางตามคำเชื้อเชิญของคิมก็ตาม

การพบปะพูดจากับประธานาธิบดีสีทำให้คิมผ่อนปรนท่าทีแข็งกร้าวในประเด็นนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน การกระชับความสัมพันธ์กับจีนก็ช่วยเสริมแต้มให้แก่เกาหลีเหนือในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ

เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่า เกาหลีเหนือยังมีจีนเป็นลูกพี่ใหญ่ ถ้าอเมริกาไม่ยอมลดราวาศอกบ้าง เปียงยางก็ยังมีหลังพิง ยังหันหน้าไปค้าขายกับจีนและพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนได้

ถึงแม้เล่นไม้แข็งกับเกาหลีเหนืออยู่บ้าง แต่เมื่อเดือนกันยายน 2018 จีนก็ออกโรงเรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเปียงยาง หลังจากคิมจองอึนตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ในการเจรจากับทรัมป์ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน

ทางหนีทีไล่ของ ‘คิม’

อย่างไรก็ตาม ในเกมการเมืองโลก ย่อมไม่มีประเทศไหนคิดเอาแต่พึ่งพิงลูกพี่ใหญ่เป็นสรณะ ทุกชาติย่อมต้องมองหาเส้นทางเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เสมอ ยิ่งอยู่ท่ามกลางเสือกับสิงห์ ประเทศที่ด้อยกำลังกว่าย่อมเล็งแลช่องทางที่จะแสวงประโยชน์จากการประชันขันแข่งระหว่างรัฐมหาอำนาจ

ที่มาภาพ: REUTERS/Jorge Silva

ด้วยธรรมชาติของการเมืองระหว่างประเทศเช่นว่านี้ สิ่งที่คิมจองอึนพึงเสาะหาจากปฏิสัมพันธ์สามเส้าก็คือ ผลลัพธ์ของการเจรจาที่จะสนองประโยชน์แก่ตนมากที่สุดบนขีดจำกัดที่ว่า “บัวต้องไม่ช้ำ น้ำต้องไม่ขุ่น”

มองในระยะยาว เปียงยางเข้าใจดีว่า จำเป็นต้องพาตัวเองออกสู่ประชาคมโลก พัฒนาความมีอยู่มีกินของประชาชนตามแบบอย่างจีนและเวียดนาม นี่คือผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องไขว่คว้า

แน่นอนว่า ผลประโยชน์ดังกล่าวจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือละวางเส้นทางนิวเคลียร์ ซึ่งคิมได้รับปากกับทรัมป์ไว้แล้วในระดับหลักการ และการรับปากในเวทีซัมมิตที่สิงคโปร์ก็สอดคล้องกับความต้องการของจีน

จนถึงตอนนี้ ยังคาดเดาลำบากว่า ผลเจรจาระหว่างทรัมป์กับคิมที่กรุงฮานอยในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ จะออกหัวหรือออกก้อยอย่างไร แม้กระนั้น ผู้นำทั้งสองดูจะสานต่อไมตรีระหว่างกันได้อย่างชื่นมื่นพอประมาณ

ถ้าตกลงกันได้ในชั้นนี้ คิมจองอึนคงมีการบ้านให้กลับไปคิดอ่านในขั้นต่อไปถึงโจทย์ที่ว่า จะคบหาอเมริกาแบบตื้นลึกหนาบางแค่ไหน อย่างไร จึงจะไม่เกินงามในสายตาของจีน.

 

ที่มาภาพหน้าแรก: KCNA via REUTERS

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , , ,