ถึงแม้การพบหารือระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิมจองอึน ยุติลงแบบปุบปับ แต่นั่นไม่ใช่ความล้มเหลว ทั้งสองฝ่ายพร้อมสานต่อการพูดคุย และยังคงรักษาบรรยากาศของการเจรจา จากนี้ไป ความสำเร็จของการถอดถอนนิวเคลียร์อาจต้องฝากไว้กับการตระเตรียมข้อต่อรองในระดับเจ้าหน้าที่

สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า ซัมมิตของผู้นำสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือที่เวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปิดฉากแบบไม่มีข้อตกลงและไม่มีการลงนามเอกสารใดๆ อย่างที่ทำเนียบขาวได้เตรียมไว้ ถือเป็นความล้มเหลว

ทว่าในมุมมองการเจรจาระหว่างประเทศ แม้ว่างานนี้ไม่มีข่าวใหญ่ แต่โดยกระบวนการแล้ว พูดได้ว่า มีข่าวดี

นั่นเพราะว่า ซัมมิตเมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ ที่กรุงฮานอยเพิ่งนับเป็น “การเจรจาในความหมายแท้จริงรอบแรก” ในขณะที่สิงคโปร์ซัมมิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 อาจเรียกได้ว่าเป็น “การพูดคุยในขั้นก่อนการเจรจา”

สิงคโปร์ซัมมิตเพียงแต่เป็นการแสดงเจตจำนงของคู่เจรจาที่จะระงับความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน กำหนดหัวข้อและวางเป้าหมายร่วมกันของการเจรจา นั่นคือ การถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี เวทีครั้งนั้นยังไม่ได้ลงรายละเอียดถึงวิธีการไปสู่เป้าหมาย

การปิดฉากฮานอยซัมมิตอย่างกระทันหันเมื่อวันพฤหัสฯ ฉีกทิ้งกำหนดการการร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงและพิธีลงนามของผู้นำทั้งสอง บ่งบอกว่า ทรัมป์กับคิมได้เบิกฤกษ์การเจรจาแล้ว ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากการเจรจาความเมืองแทบจะร้อยทั้งร้อย นั่นคือ ในรอบแรก ต่างฝ่ายต่างตั้งการ์ดสูง เล็งหาผลได้สูงสุดในราคาที่จ่ายต่ำสุด  

เวลานี้ยังไม่มีการนัดพบรอบใหม่ แต่ทั้งสองฝ่ายพูดชัดว่าต้องการเจรจาต่อ ในเมื่อรอบแรก ทั้งสองฝ่ายได้แสดงข้อเรียกร้องและท่าทีตอบสนองที่ไม่ลงตัวกัน การเจรจารอบหน้าอาจต้องอาศัยตัวช่วยมากขึ้น นั่นคือ เวทีระดับเจ้าหน้าที่

‘ข่าวดี’ จากซัมมิต

ทำไมฮานอยซัมมิตจึงจบลงอย่างที่เห็น ผู้เจรจาฝ่ายสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือออกมาให้ข่าวไม่ตรงกัน ทรัมป์ให้คำอธิบายในช่วงบ่ายของวันพฤหัสฯ ว่า เป็นเพราะเปียงยางเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด เขาจึงต้องผละจากการเจรจา

รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ รียองโฮ เปิดแถลงข่าวโต้ตอนเที่ยงคืน ว่า เปียงยางไม่ได้เรียกร้องอย่างนั้น เพียงแต่ขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วน โดยขอแค่ในส่วนที่ห้ามการส่งออกสินค้าหลัก ไม่ได้ขอให้ยกเลิกการคว่ำบาตรในทางการทหาร เช่น การซื้อขายเทคโนโลยี นอกจากนี้ เกาหลีเหนือเสนอด้วยว่า พร้อมยุติการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เป็นการถาวร

น่าสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิเสธว่า ถ้อยแถลงแก้ข่าวของนายรีผิดไปจากข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวกำลังฟังรียองโฮแถลงข่าวในกรุงฮานอย ที่มาภาพ: REUTERS/Jorge Silva

แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ดูจากท่าทีของแต่ละฝ่ายในระหว่างและภายหลังฮานอยซัมมิตแล้ว กระบวนการเจรจาจะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน

โฆษกทำเนียบขาว ซาราห์ แซนเดอร์ บอกว่า ตอนนั่งเครื่องบินกลับจากฮานอย ทรัมป์ยกหูคุยกับผู้นำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แจ้งว่าสหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศทั้งสองต่อไป และจะคุยกับเกาหลีเหนือใหม่ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ  ไมค์ ปอมเปโอ บอกว่า ประเทศทั้งสองจะพบหารือกันอีก ขณะที่สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของรัฐบาลเปียงยางรายงานว่า คิมจะพูดจากับทรัมป์ในวันข้างหน้า

นอกจากโต๊ะเจรจายังไม่ล้ม ทั้งสองฝ่ายยังคงรักษาบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจรจาด้วย ทรัมป์บอกว่า คิมให้คำมั่นกับเขาที่ฮานอยว่า เกาหลีเหนือจะยังคงระงับการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ต่อมาเมื่อวันเสาร์ (2 ก.พ.) ฝ่ายสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการซ้อมรบใหญ่ประจำปีในเกาหลีใต้ภายใต้รหัส ‘Foal Eagle’ ซึ่งใช้ทหารของประเทศเจ้าบ้าน 200,000 นายกับทหารอเมริกัน 30,000 นาย

ดูจากท่าทีของทั้งสองฝ่ายแล้ว ประตูสู่การถอดถอนนิวเคลียร์ยังไม่ปิดตาย อย่างนี้จะไม่ถือเป็น “ข่าวดี” ได้อย่างไร

เจรจาภายใต้แรงกดดัน

การเจรจารอบนี้แม้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็นับว่ามีความคืบหน้าในแง่ของการหยั่งจุดยืนของแต่ละฝ่าย เผยให้มองเห็นว่า ราคาขาดตัวที่สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจะยอมรับได้นั้นอยู่ตรงไหน

ฮานอยซัมมิตทำให้รู้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ขณะที่เกาหลีเหนือยืนยันว่า ข้อเสนอของฝ่ายตนนั้นเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้แล้ว นั่นคือ ทำลายโรงงานผลิตวัสดุนิวเคลียร์ที่เมืองยองเบียน ทั้งเชื้อเพลิงยูเรเนียมและพลูโตเนียม โดยเปิดให้วิศวกรของสหรัฐฯ เข้าตรวจพิสูจน์ แลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือ

“เราต้องการข้อแลกเปลี่ยนนี้ในขั้นตอนแรกของการถอดถอนนิวเคลียร์ จุดยืนพื้นฐานของเราจะไม่เปลี่ยนแปลง และแม้ว่าสหรัฐฯ จะขอเจรจาอีก ท่าทีของเราจะยังคงเดิม” รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือบอกกับผู้สื่อข่าว

ฟังแบบนี้แล้ว ยังมองไม่เห็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุผลการต่อรอง และประเด็นการคว่ำบาตรกลายเป็นอุปสรรคใหญ่

ว่ากันว่า ทั้งทรัมป์และคิมต่างเผชิญแรงกดดันจากการเมืองภายใน ผู้นำวอชิงตันต้องระวังปฏิกิริยาจากรัฐสภา สื่อมวลชน แวดวงวิชาการ ผู้นำเปียงยางต้องระวังปฏิกิริยาจากพวกสายเหยี่ยวในกองทัพ ทั้งสองต่างผวาเสียงวิจารณ์ว่า ยอมอ่อนข้อมากเกินไป

รอบใหม่ต้องใช้ ‘ตัวช่วย’

นักสังเกตการณ์บอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ฮานอยซัมมิตทำให้ทรัมป์กับคิมกลับบ้านมือเปล่านั้น เป็นเพราะขาดการหยั่งสำรวจข้อเรียกร้องและข้อแลกเปลี่ยน และขาดการตระเตรียมเค้าโครงข้อตกลงที่ดีพอในระดับเจ้าหน้าที่ก่อนหน้าการเจรจา

อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ แคทลีน สตีเฟนส์ บอกว่า การเจรจาที่ไม่เป็นผลในรอบนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการหารือในระดับปฏิบัติ ซึ่งจะต้องพยายามแสวงจุดร่วมของแต่ละฝ่ายให้เข้าใกล้กันมากพอที่จะเล็งเห็นโอกาสการบรรลุข้อตกลงเสียก่อน

เธอบอกว่า การเจรจาทรัมป์-คิมทำให้ตระหนักว่า ข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯ ในเรื่องการเปิดสำนักงานติดต่อประสานงานของอเมริกาในกรุงเปียงยาง และการออกคำประกาศยุติสงครามเกาหลี ยังไม่จูงใจมากพอ คาดกันไม่ถึงว่า คิมจะให้ค่ากับประเด็นการคว่ำบาตรสูงกว่าข้อเสนอใดๆ

ลาที มิใช่ ลาก่อน จึงเป็นบทสรุปของการเจรจา ทรัมป์-คิม ในรอบนี้.

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก: REUTERS/Jorge Silva

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,