ซัมมิตระหว่างทรัมป์กับคิมกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือกำลังตระเตรียมประเด็นเจรจา ขณะที่โลกตั้งตารอชมประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของเสถียรภาพในย่านเอเชีย-แปซิฟิก

ในการพบหารือครั้งที่สองระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องพูดคุยลงรายละเอียดมากขึ้น เพื่อผลักดันการถอดถอนนิวเคลียร์ให้คืบหน้าไปอีกขั้น

แม้ยังไม่มีการเปิดเผยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิมจองอึน จะตกลงอะไรกันบ้างในการเจรจาที่กรุงฮานอยในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ แต่นักสังเกตการณ์คาดกันว่า วอชิงตันจะยอมรับข้อเรียกร้องของเปียงยางในเรื่องหลักการต่างตอบแทน หลังจากฝ่ายอเมริกันเอาแต่ยืนกรานข้อเรียกร้องฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ซึ่งทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือขู่เมื่อต้นปีที่จะ “เปลี่ยนเส้นทางเดิน”

ในรอบนี้ แต่ละฝ่ายคงจะต้องยื่นข้อเรียกร้องและตอบรับข้อต่อรองของกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากข้อตกลงในรอบแรกจากซัมมิตที่สิงค์โปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 เป็นเพียงการรับปากในหลักการของฝ่ายรัฐบาลเปียงยาง ที่ว่า “เกาหลีเหนือให้คำมั่นที่จะดำเนินการไปสู่การถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงบนคาบสมุทรเกาหลี”

ก่อนถึง ‘ฮานอย ซัมมิต’

ตามธรรมเนียมของการเจรจาความเมือง เวลาคู่พิพาทจะขึ้นโต๊ะโอภาปราศรัยกัน มักมีการทอดไมตรี แสดงความเป็นมิตร เป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนหน้าการเจรจา เกาหลีเหนือทำแบบนี้เช่นเดียวกัน ขณะที่สหรัฐฯ ก็สนองตอบในทางบวกในระดับหนึ่ง

ก่อนซัมมิตที่สิงค์โปร์ไม่กี่วัน เปียงยางทำลายแหล่งทดสอบนิวเคลียร์ที่เมืองปุงเกรี (Punggye-ri) โดยเปิดให้นักข่าวต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์ด้วย แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ  

ที่มาภาพ: KCNA VIA KNS / KCNA VIA KNS / AFP

พอจบการพบหารือกับคิม ทรัมป์ประกาศระงับการซ้อมรบขนาดใหญ่กับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เปียงยางโจมตีมาโดยตลอดว่า เป็นการฝึกเพื่อทำสงคราม

นับแต่นั้น ผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้พบปะหารือกันหลายครั้ง และมีการปรับท่าทีต่อกันเรื่อยมาเป็นลำดับ

ครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ เดินทางไปเจรจาสานต่อที่กรุงเปียงยาง โดยยืนยันเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือต้องทำลายนิวเคลียร์อย่างสิ้นซากแบบที่ไม่สามารถรื้อฟื้นกลับมาใหม่ และต้องเปิดรับการตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าเกาหลีเหนือด่ากลับว่า “ตั้งข้อเรียกร้องแบบอันธพาล” แต่พอพูดคุยกับคิมจองอึนอีกรอบ คราวนี้คิมบอกว่า “น่าพอใจ”

ผู้แทนเกาหลีเหนือก็ไปเยือนทำเนียบขาวเช่นกัน การพูดคุยดูจะไปได้สวย ทรัมป์ถึงกับหยอดว่า เขากับคิม “ตกหลุมรัก” กันแล้วหลังจากเขียนจดหมายคุยกันไปมา

นับจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แม้แต่ละฝ่ายยังคงแสดงข้อเรียกร้องตอบโต้กันไปมา ทว่าบรรยากาศการติดต่อโดยรวมดูจะราบรื่น

คิมกล่าวในการปราศรัยกับชาวเกาหลีเหนือในวันขึ้นปีใหม่ว่า ยินดีที่จะพบกับทรัมป์อีกครั้ง แต่เขายื่นคำขู่กำกับไว้ด้วยว่า ถ้าสหรัฐฯ ยังไม่เลิกคว่ำบาตร เกาหลีเหนืออาจเลือก “เส้นทางใหม่” ซึ่งหมายถึงการกลับไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีก

เมื่อเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายคุยกันหลายรอบ กระทั่งทรัมป์ประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะพบคิมรอบใหม่

‘ข้อคาใจ’ ของแต่ละฝ่าย

จนถึงขณะนี้ ข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือที่ต้องการให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ถอนหรือลดกำลังทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ และออกคำประกาศสันติภาพเพื่อแสดงเจตนาที่จะยุติสงครามเกาหลี ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

ขณะเดียวกัน ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เกาหลีเหนือทำลายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจพิสูจน์ ก็ยังไม่ได้รับการขานรับ

ที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐฯ ยืนยันว่า เปียงยางต้องตอบสนองข้อเรียกร้องของวอชิงตันก่อน เรื่องอื่นค่อยมาว่ากันทีหลัง ขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือยืนยันว่า การถอดถอนนิวเคลียร์ต้องกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ละขั้นแต่ละตอนต้องทำแบบ “หมูไป-ไก่มา”

นักสังเกตการณ์คาดเดากันว่า ในเมื่อทรัมป์ขานรับท่าทีพร้อมเจรจาของคิมเช่นนี้แล้ว นั่นอาจบ่งชี้ว่า ฝ่ายอเมริกันอาจยอมละวางท่าทีเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว

จับตาดีลใหม่ ‘ยื่นหมู-ยื่นแมว’

ในการเจรจาเพื่อให้แต่ละฝ่ายได้รับผลประโยชน์จนถึงจุดที่พร้อมทำข้อตกลง หากข้อขัดแย้งมีความสลับซับซ้อน คู่เจรจาย่อมต้องเลือกหยิบเฉพาะบางประเด็นที่อยู่ในข่ายอาจตกลงกันได้ และแขวนประเด็นที่มีโอกาสทำให้วงแตกเอาไว้ก่อน

การกำหนดประเด็นเจรจานับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของการทำข้อตกลง อีกกลยุทธ์ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การแสวงจุดสมประโยชน์ที่คู่เจรจาต่างพอใจ เราอาจได้เห็น “สูตรคลาสสิก” ที่ว่านี้ในผลลัพธ์ของฮานอย ซัมมิต ซึ่งใช้เวลาคุยกันถึง 2 วัน

เท่าที่ฟังสุ้มเสียงจนถึงขณะนี้ ฝ่ายคิมมีชุดข้อเสนอตั้งเป็นตุ๊กตาเอาไว้ถกกับทรัมป์แล้ว ถึงแม้เป็นข้อเรียกร้องที่ผ่านการหยั่งท่าทีกับเจ้าหน้าที่อเมริกันมาแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องรอให้ทรัมป์เคาะในขั้นท้ายสุดเมื่อปะหน้าพูดจากับคิม

ที่มาภาพ: Anthony Wallace/Pool via Reuters

ตุ๊กตาที่ว่านี้ก็คือ ขอให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายการคว่ำบาตร ไฟเขียวให้สองเกาหลีสานต่อโครงการเศรษฐกิจ เปิดสำนักงานติดต่อของสหรัฐฯ ในเปียงยาง ลงนามคำประกาศยุติสงครามเกาหลี แถมพ่วงด้วยประเด็นรองอย่างเช่น เลิกห้ามชาวอเมริกันเดินทางเข้าเกาหลีเหนือ หรือเพิ่มความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือ

สิ่งที่เปียงยางจะยื่นให้สหรัฐฯ เป็นข้อแลกเปลี่ยน คือ ปิดโรงงานนิวเคลียร์ที่เมืองยองเบียน (Yongbyon) และทำลายฐานทดสอบเครื่องยนต์ขับดันขีปนาวุธและฐานปล่อยขีปนาวุธที่เมืองดงชางรี (Dongchang-ri)

นัยของข้อเสนอชุดนี้ ก็คือ เกาหลีเหนือจะยังคงมีนิวเคลียร์ในครอบครอง การปลดอาวุธนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเปียงยางได้รับหลักประกันความมั่นคง เช่น สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ สงครามเกาหลียุติอย่างมีผลผูกพันตามกฎหมายด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ และสหรัฐฯ ถอดถอนเขี้ยวเล็บนิวเคลียร์ที่คุกคามคาบสมุทรเกาหลี

ปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้า อาจมีความชัดเจนมากขึ้นว่า สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจะกำหนดประเด็นอะไรบ้างเป็นหัวข้อเจรจา.

 

ภาพหน้าแรก: REUTERS/Jonathan Ernst

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , ,