ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียตกต่ำเป็นประวัติการณ์นับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น สองมหาอำนาจผิดใจกันหลายเรื่อง น่าจับตาว่าทรัมป์กับปูตินจะสมานไมตรีได้หรือไม่ในซัมมิตครั้งแรกที่ฟินแลนด์ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้

โดนัลด์ ทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาร่วมปีครึ่งแล้ว หากไม่นับการประชุมร่วมกันในเวทีโลกครั้งต่างๆ ทรัมป์กับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ก็ยังไม่เคยพบปะหารือกันเป็นการเฉพาะอย่างเป็นทางการ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับมอสโกกำลังร้าวฉานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปลายปี 1991

แต่ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2018 ทำเนียบขาวกับทำเนียบเครมลินประกาศข่าวพร้อมกันว่า ผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสองจะประชุมขั้นสุดยอดที่กรุงเฮลซิงกิในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018

ข่าวนี้ทำให้โลกเงี่ยหูฟัง ตั้งตารอดู ว่าทรัมป์กับปูตินจะคุยอะไรกันหลังจากอเมริกาบาดหมางกับรัสเซีย ถึงขั้นเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตร และคุยกันแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่

เมืองหลวงของฟินแลนด์เคยมีบทบาทเป็นสถานที่นัดพบครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำวอชิงตันกับมอสโกมาแล้วหลายรอบตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในครั้งนี้ เฮลซิงกิจะได้รับการจารึกว่า เป็นเวทีผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองพี่เบิ้มอีกครั้งหรือไม่ เราจะได้เห็นกันในอีก 2 สัปดาห์

 

ซัมมิตครั้งแรก

อันที่จริง ทรัมป์กับปูตินเคยเจอกันตามงานประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งหลังสุดพบกันนอกรอบตอนไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มเอเปกที่เวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 และยังเคยคุยกันทางโทรศัพท์อย่างน้อย 8 ครั้ง  

แถมต่างฝ่ายต่างพูดดีแก่กันหลายวาระ ปูตินเคยชมทรัมป์เรื่องการแก้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรัมป์โทร.ไปยินดีตอนที่ปูตินชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม

แม้ในแง่ส่วนตัว คนทั้งสองไม่ได้กินแหนงแคลงใจกันจนทรัมป์ถูกค่อนขอดว่าทอดไมตรีกับปูตินจนเกินงาม แต่ในระดับประเทศ สหรัฐฯ กับรัสเซียกำลังมึนตึงด้วยปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศหลายประเด็น รวมทั้งปมความสัมพันธ์สองฝ่ายหลายเรื่องราว

ถ้าได้พบกันตามนัดหมาย ก็จะถือเป็นซัมมิตครั้งแรกระหว่างทรัมป์กับปูติน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรีสเซีย ในการประชุม G20 ที่ฮัมบูร์ก (ภาพเมื่อปลายปี 2017 โดย REUTERS/Carlos Barria)

 

รัสเซียในสายตาชาวโลก

วอชิงตันกับมอสโกมีประเด็นต้องสะสางเรื่องคาใจหลายข้อ รัฐบาลของบารัค โอบามาคว่ำบาตรรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 เพราะรัสเซียผนวกแคว้นไครเมียของยูเครน และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ซึ่งประเด็นไครเมียยังทำให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำระงับสมาชิกภาพของรัสเซียด้วย

ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016  รัสเซียยังถูกกล่าวหาว่าสมคบร่วมมือกับทีมงานของทรัมป์ เพื่อช่วยให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งด้วย บรรดาหน่วยข่าวกรองอเมริกันฟันธงว่า รัสเซียแทรกแซงการเมืองภายในของสหรัฐฯ ซึ่งมอสโกปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ สงครามกลางเมืองในซีเรียเป็นอีกประเด็นที่สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ เพราะรัสเซียหนุนหลังรัฐบาลของบาชาร์ อัลอัสซาด ขณะที่สหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายกบฏ

ขณะเดียวกัน รัสเซียยังถูกกล่าวหาว่าวางยาพิษอดีตสายลับรัสเซียคนหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งทำให้อังกฤษสั่งขับนักการทูตรัสเซีย และรัสเซียตอบโต้ด้วยมาตรการอย่างเดียวกัน

 

สมานไมตรีกันพอเป็นพิธี

นักสังเกตการณ์มองว่า ซัมมิตครั้งนี้อาจไม่ได้ช่วยเยียวยาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย เพราะแต่ละประเด็นที่ไม่ลงรอยกันล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ การพบหน้ากันครั้งเดียวคงไม่สามารถปัดเป่าเหตุกินแหนงแคลงใจระหว่างประเทศทั้งสองได้ในบัดดล

โฆษกหญิงของทำเนียบขาว ลินด์เซย์ วอลเตอร์ บอกว่า ทรัมป์คาดหวังว่าซัมมิตครั้งนี้จะช่วยลดความตึงเครียด ขณะที่ผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำสหประชาชาติ วาสซิลี นีเบนเซีย บอกว่า มอสโกหวังว่า เวทีเฮลซิงกิจะเป็นจุดเริ่มของการพูดคุยของประเทศทั้งสองในโอกาสต่อๆ ไป และที่ปรึกษาทำเนียบเครมลิน ยูริ ยูชาคอฟ บอกว่า ผู้นำทั้งสองอาจปิดฉากการหารือด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการปรับปรุงความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม แมทธิว บูลเกอ นักวิจัยของชัทแธมเฮาส์ สถาบันกิจการระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า เรื่องยูเครน เรื่องซีเรีย และเรื่องอื่นๆ คงไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน อาจมีแถลงการณ์อะไรออกมาสักฉบับ แต่คงไม่มีแก่นสารมากนัก   

 

เมืองละลายเครียด

เฮลซิงกิเคยเป็นเวทีพูดคุยระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับรัสเซียมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความสำคัญต่อการประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การเลือกที่นี่เป็นสถานที่พบปะระหว่างทรัมป์กับปูตินมีเหตุผลเบื้องหลังหลายอย่าง ทั้งในแง่ที่เป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ และในแง่ความสะดวกของการเดินทาง

เมื่อปี 1975 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เจอรัลด์ ฟอร์ด พบกับผู้นำโซเวียด ลีโอนิด เบรซเนฟ พร้อมกับผู้นำยุโรปและอเมริกาเหนืออีก 33 ประเทศ โดยมีการลงนามใน ‘ข้อตกลงเฮลซิงกิ’ แสดงเจตนาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์กับทุนนิยมท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็น

ข้อตกลง Helsinki Accords กลายเป็นรากฐานของการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต สองมหาอำนาจนิวเคลียร์คู่ปรปักษ์ของโลก แม้เวลานี้ประเทศทั้งสองไม่ได้เป็นอริกันเท่ากับยุคนั้น แต่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ช่วยให้ระลึกถึงการสมานฉันท์ในครั้งกระโน้น

ต่อมาในปี 1990 ก่อนหน้าสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช พบกับมิคาอิล กอร์บาชอฟ หารือกันเรื่องอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งต่อมาได้เกิดสงครามอ่าวรอบแรก

เวลานั้น โซเวียตเพิ่งพ้นจากหล่มสงครามในอัฟกานิสถาน บุชจึงไม่ได้ขอให้กอร์บาชอฟส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังนานาชาติในการทำสงครามกับซัดดัม ฮุสเซนเพื่อขับอิรักออกจากคูเวต

เมื่อปี 1997 บอริส เยลต์ซิน ผู้นำรัสเซียยังได้พบกับบิล คลินตัน ที่กรุงเฮลซิงกิ ด้วย

เหตุที่ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่สามที่สหรัฐฯ กับโซเวียต และรัสเซียในเวลาต่อมา เลือกใช้เป็นที่พบปะครั้งสำคัญของผู้นำ เพราะว่าฟินแลนด์วางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อป้องกันยุโรปจากการรุกรานของโซเวียต

นอกจากมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างที่ว่าแล้ว เฮลซิงกิยังเป็นจุดที่ทรัมป์กับปูตินเดินทางมาพบกันสะดวกในช่วงนั้นด้วย

ทรัมป์จะไปร่วมประชุมผู้นำชาตินาโตที่กรุงบรัสเซลส์ในช่วงวันที่ 11-12 ก.ค. จากนั้นไปเยือนอังกฤษ ขณะที่ปูตินต้องเป็นเจ้าภาพในพิธีปิดการแข่งขันบอลโลกในวันที่ 15 ก.ค. ทั้งสองฝ่ายจึงนัดแนะพบกันในวันที่ 16 ก.ค. ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องเดินทางไกลทั้งสองฝ่าย

ผู้นำสองมหาอำนาจคุยอะไรกัน ได้ผลสรุปว่าอย่างไร อังกฤษกับยูเครนซึ่งเป็นมิตรของสหรัฐฯ และมีเรื่องขุ่นเคืองกับรัสเซีย จะมีปฏิกิริยาอย่างไร กลุ่มนาโตจะว่าอย่างไร เราจะได้เห็นกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

อ้างอิง:

หมายเหตุ: ภาพเปิด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรีสเซีย พบกันในการประชุมเอเปกที่เวียดนาม ภาพเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 โดย REUTERS/Jorge Silva

Tags: , , , , ,