การเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือที่จะมีขึ้นที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายน โลกกำลังจับตาดูว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิมจองอึน จะบรรลุข้อตกลงหรือไม่ อย่างไร เมื่อทั้งสองพบหารือครั้งประวัติศาสตร์ที่สิงคโปร์

งานนี้อาจปรากฏผลลัพธ์แบบใดแบบหนึ่งใน 4 แนวทาง ลองไล่เรียงความเป็นไปได้ในแต่ละแนวทางตั้งแต่มากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด

ประเด็นใจกลางที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดจากัน คือ เรื่องการเพิกถอนนิวเคลียร์ (denuclearization) ซึ่งแต่ละฝ่ายตีความไม่เหมือนกัน รัฐบาลวอชิงตันหมายถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เปียงยางหมายถึงการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อนิยามไม่ตรงกัน การเจรจาย่อมเป็นเรื่องยาก ในเมื่อแต่ละฝ่ายมุ่งเป้ากันคนละจุด จึงยื่นข้อเสนอและเรียกร้องข้อแลกเปลี่ยนกันคนละชุด อย่างที่เคยเล่าไว้ในตอนก่อนๆ

อันที่จริง การเจรจาดำเนินไปในระดับเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้นตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีการต่อรองอะไรกันไปถึงไหน

วงการทูตตระหนักดีว่า ในกระบวนการเจรจาประเด็นอ่อนไหว ข่าวที่รั่วไหลออกไปว่าฝ่ายใดจะได้ประโยชน์มาก ฝ่ายไหนยอมเสียเปรียบ อาจทำให้ดีลนั้นพังครืนก่อนที่จะได้ประกาศ เนื่องจากเกิดกระแสกดดันจากรอบด้าน

ดังนั้น ร่างข้อตกลงจึงถูกเก็บเป็นความลับ จนกว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะลงนามผูกพัน หรือให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามประเด็นต่างๆ ที่ตกลงกัน

ดีลนิวเคลียร์เกาหลีเหนือจะมีหน้าตาอย่างไร เท่าที่ฟังจากผู้เชี่ยวชาญ มีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง ฉากสถานการณ์ 2 แบบแรกมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า 2 แบบหลัง

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางมาถึงสิงคโปร์ (ภาพเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 จาก REUTERS/Kim Kyung-Hoon)

แบบที่หนึ่ง: โรดแมป

ผลเจรจาระหว่างทรัมป์กับคิมที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากที่สุด คือ วางกรอบข้อตกลงแบบหลวมๆ และกำหนดกรอบเวลาที่แต่ละฝ่ายจะต้องทำในแต่ละขั้นตอน

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิบัติในรูปแบบที่เรียกว่า CVID นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนั่นเท่ากับเปียงยางเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

สูตร CVID ย่อมาจากคำว่า ‘complete, verifiable and irreversible denuclearisation’ หมายความว่า เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ไม่สามารถรื้อฟื้นโครงการกลับมาได้อีก โดยเปิดรับการตรวจพิสูจน์จากภายนอก

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผลลัพธ์การเจรจาที่น่าจะเป็นไปได้คือ กำหนดโรดแมปในระยะเวลาที่ชัดเจนที่เกาหลีเหนือจะยุติ รื้อถอน และกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับประกาศหลักการกว้างๆ ครอบคลุมประเด็นที่เปียงยางต้องการ เช่น หลักประกันความมั่นคง ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การยอมรับเกาหลีเหนือเข้าสู่ประชาคมโลก การสถาปนาความสัมพันธ์เต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ

การปลดอาวุธและการตอบสนองของฝ่ายสหรัฐฯ อาจทำเป็นขั้นเป็นตอน โดยเจรจากันเป็นรอบๆ ตามแต่ความคืบหน้าในการปฏิบัติของแต่ละฝ่าย เมื่อเกิดความคืบหน้าถึงระดับหนึ่ง ผู้นำของทั้งสองประเทศอาจพบกันอีก แล้วออกข้อตกลงร่วมกันที่มีข้อกำหนดจำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

ดีลในรอบแรกนี้ แต่ละฝ่ายอาจผ่อนปรนท่าทีเพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เช่น ทรัมป์คลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน เปียงยางทำลายขีปนาวุธบางส่วน แต่ยังคงเก็บขีปนาวุธข้ามทวีปไว้

 

ผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน พบปะกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนหลุง (ภาพเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 จาก REUTERS/Edgar Su)

 

แบบที่สอง: ระงับ แต่ไม่ปลดนิวเคลียร์

ข้อตกลงแบบที่สองมีโอกาสเป็นไปได้รองลงมา นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างยอมถอยหลายก้าว แต่ไม่ถึงกับถอยจนหลังชนฝา

ตามแนวทางนี้ เกาหลีเหนืออาจระงับหรือลดการสร้างระเบิด แต่ไม่ถึงกับทำลายโครงการนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง หรือในอีกทางหนึ่ง เปียงยางอาจยอมให้นานาชาติเข้าตรวจสอบว่า ได้หยุดพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธแล้วจริงๆ

เวลานี้ เข้าใจกันว่า แม้เกาหลีเหนือผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้แล้ว สร้างขีปนาวุธพิสัยไกลได้แล้ว แต่ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นที่จะนำมาประกอบเป็นจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ เพราะขีดความสามารถยังไม่พร้อม

ที่ว่ายังไม่พร้อม ก็คือ ยังย่อส่วนหัวรบให้มีขนาดเล็กสำหรับติดตั้งในจรวดไม่ได้ ยังสร้างระบบเล็งเป้าสำหรับขีปนาวุธไม่ได้ และยังพัฒนาระบบรองรับการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโดยจรวดข้ามทวีปไม่ลุกไหม้เสียก่อนไม่ได้

เกาหลีใต้บอกว่า ปัจจุบัน เกาหลีเหนือมีพลูโตเนียมอยู่ในมือกว่า 50 กิโลกรัม ใช้ทำระเบิดได้ประมาณ 10 ลูก และยังมีแร่ยูเรเนียมเข้มข้นเก็บไว้ “ในปริมาณมาก” อีกด้วย

ถ้าเปียงยางตกลงตามแนวทางนี้ ถือว่าเกาหลีเหนือยอมลดอำนาจทางทหารลงมากทีเดียว และเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นก็จะหายใจโล่งขึ้น

หากผลลัพธ์การเจรจาเป็นแบบที่สอง วอชิงตันต้องตอบแทนอย่างจุใจเช่นกัน ทั้งการให้หลักประกันความมั่นคง การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การปูทางสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต  

การพบปะของสองผู้นำเป็นที่ตื่นเต้นไปทั้งประเทศสิงคโปร์ ในภาพนี้ บาร์เทนเดอร์จัดทำค็อกเทลพร้อมภาพคู่ของโดนัลด์ ทรัมป์ และ คิมจองอึน ตั้งชื่อว่า The Bromance (ภาพถ่ายเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 จาก REUTERS/Feline Lim)

แบบที่สาม: ตกลงกันไม่ได้

ผลลัพธ์แบบนี้นับว่าแย่ที่สุด แต่ถือว่ามีโอกาสน้อยที่ทรัมป์กับคิมจะเดินทางมาพบกันแล้วแยกย้ายกลับบ้านมือเปล่าทั้งคู่

ผู้นำทั้งสองใช้วาทะโจมตีกันไปมาตลอดปีที่แล้ว ในปีนี้ ทั้งคู่เลือกที่จะใช้การทูตแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ สู้อุตส่าห์นัดเจอกันอย่างดิบดี หากยังตกลงกันไม่ได้อีก บรรยากาศตึงเครียดอาจหวนกลับมา

ทรัมป์ขู่ไว้ว่า ถ้าคุยกับคิมไม่รู้เรื่อง เขาจะวอล์กเอาต์ ถ้าเขาทำจริง หรือบอกเลื่อนนัดหมายในนาทีสุดท้าย โลกอาจประหวั่นถึงสงคราม

คนดูข้างสนามรอชมใจจดใจจ่อ ถือเป็นแรงกดดันให้ทรัมป์ต้องเดินหน้า เขาอาจหยิบสิบเบี้ยใกล้มือ ยอมรับดีลเท่าที่เกาหลีเหนือยินยอมพร้อมใจ

 

แบบที่สี่: ปลดอาวุธเปียงยาง

ผลลัพธ์แบบนี้มีโอกาสเท่ากับศูนย์ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนคาดว่า เกาหลีเหนือจะยอมทำลายนิวเคลียร์ทิ้งชนิดไม่เหลือซาก เพราะเท่ากับวอชิงตันเป็นฝ่ายได้เต็มๆ เปียงยางเป็นฝ่ายเสียหมดหน้าตัก

อย่างที่รู้กัน อาวุธปรมาณูคือมาตรการป้องปรามที่เกาหลีเหนือใช้เป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ เพื่อให้รอดพ้นจากภัยนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ฉะนั้น มีหรือจะยอมโยนไม้กันสุนัขทิ้งไปอย่างง่ายๆ

ผลลัพธ์การเจรจาระหว่างผู้นำชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ดั้งเดิม กับผู้นำที่พยายามสร้างประเทศเป็นชาตินิวเคลียร์รายใหม่บนเวทีโลก จะลงเอยอย่างไร คงได้เห็นกันในวันอังคาร

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,