เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ก.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายกเลิกนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาต่อ ซึ่งเคยมีมาตรการที่ออกในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา ที่เรียกกันว่า Affirmative Action
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า มีการยกเลิกเอกสารแนวนโยบายของรัฐบาลกลาง 24 ฉบับเพราะมองว่าไม่จำเป็น ล้าสมัย ในจำนวนนั้นมีเอกสารที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลโอบามา ซึ่งเรียกร้องให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องพิจารณาถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้เข้ารับการศึกษา
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยแถวหน้าของสหรัฐฯ อย่างฮาร์วาร์ดก็กำลังถูกกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบเรื่องนี้ หลังกลุ่มนักเรียนเพื่อการรับเข้าเรียนต่อที่เป็นธรรม (Students for Fair Admissions – SFFA) กล่าวหาว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเลือกผู้สมัครที่เป็นคนขาว คนดำ และฮิสแปนิกมากกว่า ทั้งที่บางคนมีคุณสมบัติต่ำกว่าผู้สมัครอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยชี้ว่า อัตรารับเข้าศึกษาต่อของผู้สมัครอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้นสูงขึ้นด้วยซ้ำ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุว่า มีนักศึกษาอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 22.2% อเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 14.6% ฮิสแปนิกหรือลาติโน 11.6% กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือคนจากหมู่เกาะแปซิฟิก 2.5% ที่เหลืออีกไม่ถึง 50% เป็นเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งจำนวนมากเป็นคนขาว
ที่ผ่านมา ในสหรัฐฯ เคยมีการฟ้องประเด็น ‘การเลือกปฏิบัติ’ ต่อศาลสูงหลายคดี ในปี 2016 หญิงคนขาวฟ้องว่า มหาวิทยาลัยเท็กซัสออสตินไม่รับเธอเข้าเรียนต่อด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ คดีนี้ชนะกันที่ 4:3 โดยศาลสูงตัดสินให้มหาวิทยาลัยใช้ “เชื้อชาติ” เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับเข้าเรียนต่อได้
โดยผู้พิพากษาศาลสูง แอนโทนี เคนเนดี ที่เป็น swing vote เขียนความเห็นไว้ว่า ระบบการศึกษาของประเทศยังต้องเจอกับความท้าทายในการทำให้การแสวงหาความหลากหลายนั้นไปกันได้กับคำมั่นแห่งรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิบัติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาเคนเนดีจะเกษียณจากตำแหน่งสิ้นเดือนนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอีกแบบเข้ามาแทน
ทั้งนี้ แม้จะมีการยกเลิกแนวนโยบายดังกล่าว แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ยังจะทำตามนโยบายเดิม โดยประธานสมาคมแห่งมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยที่ได้ที่ดินจากรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า ตลอดสี่ทศวรรษที่มีคดีความ ทำให้เห็นแล้วว่า เชื้อชาติสามารถนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเข้าเรียนต่อได้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรัฐจะยังคงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายแห่งรัฐ และคำสั่งศาลที่ผ่านมา เพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขาได้สร้างสถานศึกษาที่มีความหลากหลายเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน
สำหรับ Affirmative Action เป็นแนวคิดว่ากลุ่มคนที่เสียเปรียบควรจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ โดยในยุคประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี และประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสันออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ให้ผู้ทำสัญญากับรัฐบาลต้องจ้างงานโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิว หรือชาติกำเนิด ซึ่ง มาร์ก นายสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ชี้ว่า นี่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจลาจลที่เกิดขึ้นหลังการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์คิงในขณะนั้น คนดำหลายพันคนได้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่ วิทยาลัยรับคนดำจำนวนมากเข้าเรียนต่อ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตระหนักจริงๆ แต่เกิดจากความกลัวว่าสังคมจะล่มสลาย ทำให้เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง ความกลัวจางไป ความรู้สึกว่าต้องจ้างคนเหล่านั้นก็เริ่มหายไปด้วย
ที่มา:
- https://www.nytimes.com/2018/07/03/us/politics/trump-affirmative-action-race-schools.html
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-44703874
- https://www.politico.com/story/2018/07/03/trump-end-obama-affirmative-action-692610
- https://edition.cnn.com/2018/07/03/politics/trump-administration-college-admissions/index.html
รายละเอียดภาพ: ภาพถ่ายเก่าเมื่อพฤศจิกายนปี 2015 ถ่ายจากบอร์ดในมหาวิทยาลัยเยล ในช่วงที่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเพื่อเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (โดย REUTERS/Shannon Stapleton)
Tags: Affirmative Action, ชาติพันธุ์, อเมริกันเชื้อสายเอเชีย