จะสะดวกแค่ไหนถ้าเราสามารถวางแผนการเดินทางได้แม่นยำ จะขึ้นรถ ต่อเรือ แว๊นมอเตอร์ไซค์ พร้อมเลือกออฟชั่นตามการคำนวณเวลาและราคาค่าเดินทางได้เสร็จสรรพ แม้ว่าวันนี้เรายังไม่มีบริการแบบนั้น แต่ล่าสุด การที่แกร็บ Grab เปิดตัวฟีเจอร์ Trip Planner ฟีเจอร์ช่วยวางแผนการเดินทางในแอปพลิเคชั่นของแกร็บ ที่เชื่อมโยงข้อมูลขนส่งมวลชนทุกรูปแบบเอาไว้ อาจเป็นก้าวแรกสู่การเชื่อมเครือข่ายขนส่งมวลชนที่แต่เดิมดูจะต่างคนต่างอยู่ ให้มาอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน ก่อนจะกล้าฝันใหญ่ไปถึงขั้นจ่ายที่เดียว ใช้ได้ทุกอย่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยระบบ Mobility as a Service (MaaS)
รศ.ดร. สรวิศ นฤปิติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในการเสวนา ‘Mobility as a Service: Smart Solution for Smart Cities’ ว่า การจะเข้าสู่การเป็น Smart Cities นั้น คำว่า Smart ก็คือการทำให้ทุกคน ‘ฉลาด’ ขึ้น ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ซึ่งก่อนอื่น จะต้องทำให้ผู้ใช้เห็นข้อมูลและเลือกผสมตัวเลือกการเดินทางต่างๆ ได้หลากหลาย เพื่อมาประกอบการตัดสินใจ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่วางโครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการยังแยกส่วนกันอยู่ การมีเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นมากสำหรับผู้ใช้งาน
ด้าน ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น ประกอบด้วย 7 ด้าน เมืองแต่ละเมืองก็ต้องเลือกแก้ปัญหาที่เป็น pain point ของตัวเอง อย่างกรุงเทพฯ คงเป็นเรื่องรถติด ซึ่งแก้ปัญหาได้ด้วยการปรับตัวเข้าสู่ Smart Mobility ซึ่งการมีข้อมูล (data) นั้นมีประโยชน์มาก เช่น ทำให้เห็นว่ารถเมล์จะเข้าป้ายเมื่อไร ที่สำคัญคือข้อมูลที่กลายเป็นดิจิทัลเหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับ e-payment ได้ในอนาคต
ดร.ภาสกร ยังยกตัวอย่างระบบการเดินทางแบบเหมาจ่าย ตามแนวคิด MaaS ที่บางประเทศได้เปิดให้บริการแล้ว ผู้เดินทางสามารถเลือกใช้รูปแบบการเดินทางที่เป็นการขนส่งสาธารณะของรัฐบาลหรือการขนส่งของภาคเอกชนได้ในแพลตฟอร์มเดียว โดยจ่ายค่าบริการรายเดือนหรือตามที่ใช้จริง ซึ่งฟีเจอร์ Trip Planner ของ Grab อาจเป็นสเต็ปแรกที่นำไปสู่ระบบนี้ ทำให้คนเห็น ‘ทางเลือก’ อันหลากหลายในการใช้ขนส่งมวลชน เพื่อจะโยกย้ายคนจากรถยนต์ส่วนบุคคลมาสู่ขนส่งมวลชนมากขึ้น
ที่สำคัญที่สุด คือการมี Open Data ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากฝั่งภาครัฐและเอกชนมาผสานกัน ตอนนี้เทคโนโลยีนั้นพร้อมจะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว ส่วนที่รัฐทำได้คือการกำหนดนโยบายเพื่อเปิดทาง
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีจะทำให้ได้เห็นข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถของคนกรุงเทพฯ ด้วย เช่น ช่วงเช้า พวกเขานิยมเดินทางกันด้วยวิธีไหน ช่วงไหนที่การจราจรติดขัดมาก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด
นางสาวลักษณวดี ธนามี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าด้าน สนข. เคยทำแอปฯ ‘นำทาง’ (NAMTANG) ให้ประชาชนได้ลองใช้มาแล้ว สอดรับกับการที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
ผสมตัวเลือกรัฐ-เอกชน ใน Trip Planner
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บมีสถิติการให้บริการเฉลี่ย 200,000 ทริปต่อวันในไทย และในปี 2019 มียอดใช้บริการส่งอาหารกว่า 4 ล้านออร์เดอร์ อีกทั้งมีบริการครอบคลุมมากถึง 16 จังหวัด 18 เมือง จึงทำให้แกร็บเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์
และเนื่องจากแนวโน้มที่รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ทำให้รถติด ลำพังแค่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจก็มีคนกระจุกอยู่เกือบ 6 ล้านคน ในฐานะแอปฯ ที่คนใช้ทุกวัน จึงอยากออกแบบเครื่องมือที่จะช่วยดึงให้คนไปใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะแม้ว่ารัฐวางแผนจะทำ 26 เมกะโปรเจกต์ในด้านคมนาคม แต่สิ่งที่สำคัญคือ ยังขาดแคลนระบบการให้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันว่าผู้เดินทางจะเดินทางไปที่ที่หนึ่งอย่างไรด้วยวิธีการและเส้นทางหลากหลายที่มีอยู่
การมีข้อมูลจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง แกร็บจึงพยายามให้ข้อมูลไปอยู่ตรงหน้าลูกค้า
“คนต้องรู้ก่อนว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง และสามารถผสมตัวเลือกเหล่านี้เข้าด้วยกันได้”
Trip Planner เปิดตัวครั้งแรกในจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2562 จากนั้นขยายบริการมาที่กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ ฟีเจอร์ Trip Planner ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนวางแผนการเดินทาง ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือแต่ละสาย และส่วนแจ้งเตือน
ส่วนแรก คือการวางแผนการเดินทาง ทำงานโดยให้เราระบุต้นทาง-ปลายทาง ระบบจะคำนวณเวลาที่ใช้ในการเดินทางแต่ละแบบที่ผสมผสานการขนส่งมวลชนแบบต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งตัวเลือกที่เป็นบริการของแกร็บแยกออกมา ซึ่งราคานั้นจะมีระบุชัดเจนเฉพาะในส่วนบริการของแกร็บเท่านั้น
ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือ เป็นการให้ข้อมูลเส้นทางของแต่ละสายว่ามีจุดจอดใดบ้าง
ส่วนการแจ้งเตือน คือการแจ้งข่าวสาร ประกาศต่างๆ จากขนส่งมวลชนภาครัฐ ที่อาจมีผลต่อความล่าช้าหรือเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประกอบการตัดสินใจใช้งาน
ธรินทร์กล่าวว่า ในอนาคต การให้บริการฟีเจอร์นี้อาจขยายไปยังเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะกับคนต่างถิ่นที่ไปเที่ยวและไม่รู้จักระบบขนส่งมวลชนในเมืองนั้นๆ และคิดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือนหลังจากทดลองในกรุงเทพฯ ก่อน
ธรินทร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ก่อนจะเกิด EEC แกร็บก็คงจะพยายามทดลองกับภาครัฐให้มากที่สุด เพราะหากคนคุ้นเคยกับความเป็น Smart Cities ก็น่าจะนำไปสู่ศักยภาพในเรื่องต่างๆ ส่วนจะขยายไปที่ไหนบ้าง ก็ต้องขอความเห็นจากทางภาครัฐก่อน
ใหม่แค่ไหน หรือเป็นได้แค่ของแถม
ฟังมาทั้งหมดนี้ จะบอกว่าเรายังไม่มีเครื่องมือนี้มาก่อนเลยก็ได้คงไม่ได้ โดยเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยการใช้งานกูเกิลแมปก็จะรู้ว่าเครื่องมือนี้มีมาให้ใช้สักพักแล้ว
อีกทั้งเมื่อลองทดลองใช้ ปรากฏว่า Trip Planner ยังไม่ได้ให้รายละเอียดค่าใช้จ่ายของการเดินทางแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด ข้อมูลที่บอกว่ากางออกมาให้ดูตรงหน้านั้น อาจยังไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจมากนัก
ที่สำคัญคือ ข้อมูลจากขนส่งมวลชนของรัฐก็ยังไม่ได้เป็นการส่งฟีดมาแบบแบบเรียลไทม์ที่จะบอกได้ว่า เวลาที่คำนวณมาให้นั้นแม่นยำขนาดไหน (โดยเฉพาะในสภาวะที่รถติด หรือรถเมล์ขาดระยะ) เมื่อเปรียบเทียบได้เพียงข้อมูลคร่าวๆ อย่างนี้ สุดท้ายเราคงต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวเองในกรุงเทพฯ มาตัดสินใจร่วมด้วย
ส่วนที่อาจเพิ่มขึ้นมากจากูเกิลแมป ที่แกร็บภูมิใจนำเสนอ คือฟีดข่าวแจ้งเตือนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐที่มาแบบเรียลไทม์ ที่เราคงต้องดูกันต่อไปว่าผู้ใช้จะเปิดเข้าไปอ่านมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ลักษณะฟีเจอร์ Trip Planner ยังดูแยกขาดจากส่วนอื่นๆ ของแอปฯ และลักษณะแอปฯ ที่เป็นการให้ข้อมูลอย่างเดียว อาจไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ใช้ได้เลือกวิธีการเดินทางแบบไหน จะเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปวิเคราะห์ต่ออย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ Trip Planner ก็คงจะเป็นท่าทีที่ดีจากภาครัฐ ที่เปิดรับความเชี่ยวชาญจากเอกชนเข้ามาแก้ไขปัญหาเมือง และตั้งความหวังใหญ่อย่าง MaaS คงต้องรอดูว่าการร่วมมือกันนี้จะพัฒนาไปในทิศทางไหนต่อไป และเป็นประโยชน์กับประชาชนในแง่ความคุ้มค่าทั้งราคาและเวลาได้จริงหรือเปล่า
Tags: Grab, แกร็บ, Mobility as a Service, MaaS