ก่อนที่สัปดาห์หน้า สีสันการเมืองจะคึกคักยิ่งขึ้น เพราะบรรดาพรรคการเมืองเดิมจะต้องติดสปีด เดินหน้าปฏิบัติตามขั้นตอนมากมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้เริ่มทำตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป เช่น การยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค รวบรวมเงินบำรุงพรรค ยื่นขอประชุมพรรค จัดทำไพรมารีโหวต ฯลฯ ซึ่งหากกำหนดการเลือกตั้งยังไม่เปลี่ยน ก็หมายความว่าพรรคต่างๆ มีเวลาจัดกระบวนการสารพัดให้เสร็จภายใน 11 เดือนเท่านั้น

แต่สัปดาห์นี้ แวดวงที่คึกคักมากเห็นจะเป็นภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจระหว่างประเทศเกี่ยวกับดีลระหว่าง Uber กับ Grab ธุรกิจในประเทศในภาคบริการธนาคารที่เริ่มยุคของการไม่คิดค่าธรรมเนียม ลามไปจนถึงธุรกิจการศึกษาว่าด้วยการสอบเข้าประถมหนึ่ง

เรื่องฮิตยังรวมถึงกลิ่นตุๆ ของข้าราชการ ที่มีข่าวไปสร้างบ้านพัก แต่ฟังเรื่องเหล่านี้แล้วก็ละเหี่ยใจ บางทีตามย้อนยุคไปกับลุงตู่ ท่องกลอนในจินดามณีดีกว่า แต่เอ๊ะ จะท่องบทไหนดี?

อ่าน ‘จินดามณี’ กันรึยัง อ่านแต่ ‘บุพเพสันนิวาส’ นั่นแหละ!

ช่วงนี้อะไรๆ ก็ต้อง ‘ออเจ้า’ เอาไว้ก่อน ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาด ไล่เรียงมาจนถึงเจ้าขุนมูลนายผู้บริหารประเทศ แถมความดังแบบฉุดไม่อยู่ของ ‘บุพเพสันนิวาส’ ยังช่วยกระพือเม็ดเงินให้สะพัด โดยเฉพาะการสั่งตัดชุดไทยและนักท่องเที่ยวเรือนหมื่นที่มุ่งหน้าไปเยี่ยมชมเมืองเก่าอยุธยา

โอกาสดีๆ แบบนี้ กอปรกับเป็นช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติพอดี กรมศิลปากรจึงตามกระแสความสนใจใคร่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ด้วยการนำ ‘จินดามณี’ ฉบับพระโหราธิบดี มาปัดฝุ่นพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง ซึ่งเพียงแค่วันแรกของงานสัปดาห์หนังสือฯ กรมศิลปากรก็ขายหนังสือได้แล้ว 800 เล่ม ในเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังนำจินดามณีไปแจกให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็แจกการบ้านทันที โดยสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปท่องบทกลอนในจินดามณีมาคนละหนึ่งบท

หลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผู้สื่อข่าวจึงถามนายกฯ ว่ามีรัฐมนตรีท่องบทกลอนให้ฟังบ้างไหม ซึ่งนายกฯ ก็ตอบว่ามี แล้วย้อนถามผู้สื่อข่าวกลับว่า “ท่องได้หรือยังล่ะ” ก่อนจะร่ายกลอนให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา…” โดยนายกฯ ขยายความในเรื่องนี้ว่า “อยากให้คนไทยสนใจและภูมิใจว่าประเทศของเรามีภาษาของเราเอง ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง แล้วก็มี จินดามณี เป็นหนังสือสอนเล่มแรกเรื่องโคลงฉันท์กาพย์กลอน” ก่อนจะถามผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า “เคยอ่านรึยัง อ่านรึยัง อ่านแต่บุพเพสันนิวาสนั่นแหละ!”

ฉับพลันหลังหลุดจากปากของท่านนายกฯ ก็มีผู้รู้ให้ข้อมูลว่าบทกลอนที่ท่านนายกฯ เอื้อนเอ่ยนั้นหาใช่บทกลอนในจินดามณี ทว่าเป็นบทกลอนใน ‘นิราศภูเขาทอง’ ของท่านสุนทรภู่ ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2373 ตามหลังจินดามณีราว 150 ปี

แค่นั้นแหละ บรรดาเพจนักแซะนักอำก็ได้มุกไปแซวนายกฯ ลุงตู่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมุก ซึ่งก็ได้ยอดไลก์ยอดแชร์ไปไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วท่านนายกฯ อาจจะไม่ได้จำผิดก็ได้ เพราะนายกฯ สั่งให้รัฐมนตรีท่องให้ฟังนี่ ท่านอาจจะเอาจากที่รัฐมนตรีบางท่านท่องให้ฟังมาท่องให้ผู้สื่อข่าวฟังอีกต่อหนึ่ง

เรื่องนี้มีที่มา

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม ก่อนการประชุม ครม. ในวันอังคาร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่านายกฯ แค่แนะนำให้รัฐมนตรีลองอ่านจินดามณี ไม่ได้ถึงกับต้องท่องให้นายกฯ ฟัง แต่ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ตัวท่านเองเตรียมกลอนที่จะท่องให้นายกฯ ฟังเรียบร้อยแล้ว

ว่าแล้วท่านก็เอื้อนเอ่ยออกมาว่า “เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่…”

แต่เอ… นี่มันกลอนจาก ‘ลิลิตพระลอ’ นี่นา?!

หรือนายกฯ ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นกลอนจากจินดามณี

จากเรื่องราวทั้งหมด เราอาจสันนิษฐานได้ว่ามีรัฐมนตรีบางคนพานายกฯ ไปเที่ยวภูเขาทองผ่านบทกลอนของสุนทรภู่ แล้วท่านนายกฯ เกิดความประทับใจ จนกระทั่งชวนผู้สื่อข่าวไปโรงเหล้าด้วยกันในที่สุด   

 

Uber ยกธงขาวในอาเซียน ขายกิจการให้แก่ Grab ควบรวมบริการเรียกรถและส่งอาหาร

และแล้วข่าวลือที่ว่า ‘อูเบอร์’ (Uber) จะขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดให้กับ ‘แกร็บ’ (Grab) ก็เป็นจริง หลังก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ต้นปี 2018 มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ถึงดีลที่น่าจะเป็นไปได้นี้ เนื่องจากการแข่งขันในอุตสาหกรรม Ride-Hailing (ธุรกิจบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร) ค่อนข้างดุเดือด อูเบอร์เองก็ทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อทำการตลาดสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ขับขี่และมอบส่วนลดค่าโดยสารแก่ผู้ใช้งาน แต่ต้องประสบปัญหาการต่อสู่กับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด

เช้าวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561 ทางอูเบอร์ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ขายธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับแกร็บ คู่แข่งรายสำคัญจากมาเลเซีย นับว่าเป็นดีลบริษัทสตาร์ตอัพที่ใหญที่สุดในภูมิภาคนี้เท่าที่เคยมีมา

รายละเอียดของดีลนี้ คือ อูเบอร์จะได้เข้าไปถือหุ้นในแกร็บอยู่ที่ 27.5% ส่วนซีอีโอของอูเบอร์อย่าง ดารา คอสราวชาฮี (Dara Khosrowshahi) ได้เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารในแกร็บด้วย

การควบรวมนี้ ทางแกร็บจะได้ธุรกิจทุกอย่างของอูเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่บริการเรียกรถ และบริการส่งอาหาร

ซีอีโอของอูเบอร์เองก็ออกมายอมรับว่า อูเบอร์ขยายธุรกิจเร็วเกินไป และไปเกือบทั่วโลก แต่ปัญหาคือมีการแข่งขันในแต่ละประเทศค่อนข้างรุนแรง มีคู่แข่งเยอะมาก โดยเฉพาะในอาเซียน การขายกิจการบางส่วนและโฟกัสเฉพาะตลาดที่สำคัญ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า และการเข้าไปถือหุ้นในผู้เล่นรายอื่น ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า ทางกลุ่มซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป (SoftBank Group) จากญี่ปุ่น คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังของดีลนี้ เพราะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปเข้าซื้อหุ้นอูเบอร์ประมาณ 15% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในแกร็บ และค่อนข้างจะเป็นกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลใน Ride-Hailing  เพราะยังมีการถือหุ้นใน idi ของจีน, Ola ของอินเดีย และ 99 ของบราซิล

หลังจากนี้ ทางแกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ ผู้โดยสาร ผู้จัดส่งอาหารและร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับอูเบอร์ไปยังแกร็บ ซึ่งบริการเรียกรถของอูเบอร์จะยังคงให้บริการไปอีกสองสัปดาห์ ในประเทศไทยจะให้บริการถึงวันที่ 8 เมษายน 2561 เป็นวันสุดท้าย ส่วนบริการจัดส่งอาหาร Uber Eat จะให้บริการถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม และจะถูกโอนไปยัง Grab Food ซึ่งจะมีการขยายบริการไปยังทุกประเทศในอาเซียน

เป็นการปิดฉากอูเบอร์ในประเทศไทยที่น่าเสียดาย เพราะสำหรับคนที่เคยใช้บริการทั้งแกร็บและอูเบอร์จะเห็นข้อแตกต่างของทั้งสองเจ้านี้ ขณะที่อูเบอร์มักจะมีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับผู้โดยสารอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งค่าโดยสารถูกกว่าแกร็บ และคนขับรถก็ดูจะพอใจอูเบอร์ ในแง่ของเงินจูงใจ รวมทั้งความแม่นยำของแผนที่ที่อูเบอร์ดูจะมีมากกว่า และสำหรับผู้บริโภคแล้ว เมื่อสองธุรกิจใหญ่มาควบรวมกัน อาจมีข้อกังวลที่ทำให้ขาดแรงจูงใจในการแข่งขันคุณภาพ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มแค่ไหน คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

เมื่อโอนเงินออนไลน์ไม่มีค่าธรรมเนียม ต่อไปนี้วันเสาร์อาทิตย์ยังต้องไปห้างอีกไหม?

ทยอยลดค่าธรรมเนียมกันไปแล้ว เป็นการกดดันแบบโดมิโนให้ทุกธนาคารต้องทำตามกัน ล่าสุด ไม่เพียง 4 แบงก์ใหญ่ที่ขยับก่อนใคร อย่าง ไทยพาณิชย์ (26 มี.ค.) กสิกรไทย (28 มี.ค.) กรุงไทย (29 มี.ค.) กรุงเทพ (1 เม.ย.) ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนชาติ และแอลเอชแบงก์ ต่างก็ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมบนช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ส่วนบอร์ดบริหารของธ.ออมสินก็มีแผนจะนัดคุยกันวันที่ 2 เม.ย. นี้

การไม่คิดค่าธรรมเนียมครั้งนี้ จะมีผลกับการโอนเงินข้ามเขต ข้ามธนาคาร จ่ายบิลสินค้าและบริการ

หากย้อนนึกไป ปกติธนาคารมีรายได้มาจากไหน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากค่าธรรมเนียมสูงถึง 190,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมที่มาจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และพร้อมเพย์ มีสัดส่วนราว 7-10%

หรือตีตัวเลขคร่าวๆ รายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ จะหายไปราว 9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงมีค่าธรรมเนียมจากทางอื่น เช่น ประกันภัย การบริหารกองทุน ฯลฯ ที่สำคัญ การลดค่าธรรมเนียมแล้วดึงดูดให้คนมาใช้ธุรกรรมออนไลน์ก็นำมาสู่สังคมไร้เงินสด ที่ก็จะช่วยลดต้นทุนการขนเงินสดได้อีกด้วย มีตัวเลขประมาณการว่า หากเราลดธุรกรรมต่างๆ ด้วยเงินสดลงสัก 30% ในอนาคต น่าจะประหยัดเงินได้ถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี

การให้ฟรีค่าธรรมเนียมเพื่อดึงดูดให้คนมาใช้งานออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องนับว่า แม้รายได้ส่วนนี้หายไป แต่ก็แลกมาด้วยข้อมูลส่วนบุคคลที่จะได้ทั้งข้อมูลการเงินและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งนำไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก

นับจากนี้ สมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจธนาคาร น่าจะไปอยู่ที่โมบายล์แอปพลิเคชัน ที่ธนาคารแต่ละแห่งพยายามดึงดูดให้ลูกค้าไปใช้งาน ความหินของเรื่องนี้มีหลายด่าน ตั้งแต่ให้ลูกค้าเก่าเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้โมบายล์แอปพลิเคชัน การเก็บเกี่ยวลูกค้ารายใหม่ รวมถึงการพยายามทำให้แอปพลิเคชันของธนาคารเป็นตัวเลือกหลักของผู้ใช้งาน

จะว่าไปแล้ว หากไม่นับการขยับขับเคลื่อนจากธนาคารสู่ธนาคารครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ระบบพร้อมเพย์ที่ผลักดันโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560 ก็เป็นจุดตั้งต้นเล็กๆ ที่ทำให้การโอนเงินระหว่างบุคคลโดยเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารหรือเบอร์โทรศัพท์ สามารถทำได้ฟรีภายในวงเงิน 5,000 บาท หากเกินกว่านั้นมีค่าธรรมเนียมราว 2-10 บาท

หลังเกิดเหตุนี้ เพื่อนข้างห้องของชาว The Momentum ก็เริ่มจินตนาการถึงอนาคตที่จะเปลี่ยนไป เพราะกิจวัตรที่เดิมเคยต้องถ่อไปห้างในวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อถอนเงินโอนเงิน เพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมโดยใช่เหตุ ต่อไปนี้ก็เห็นจะไม่ต้องไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าจะกระทบคือ เวลาคนไปห้างเพื่อไปธนาคาร ก็มักตามด้วยการไปช้อปปิ้งสินค้าและบริการ ซึ่งการขยับของธนาคารรอบนี้น่าจะส่งผลต่อการจับจ่ายเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

‘ยกเลิกการสอบเข้า ป.1’ ถึงโรงเรียนดีมี (ไม่) น้อย แต่เด็กน้อยก็ไม่ควรกดดัน

ดูเหมือนการส่งลูกเข้าเรียน ‘โรงเรียนดีๆ’ จะเป็นหมุดหมายต้นๆ ของพ่อแม่ยุคนี้ หลายครอบครัวกวดขันลูกกันตั้งแต่การสอบเข้าชั้น ป.1 จนสังคมบางส่วนมองว่าเป็นการยัดเยียดความกดดันให้เด็กมากเกินไป โดยรายงานข่าวจากไทยพีบีเอสระบุว่า บางโรงเรียนดังอย่างโรงเรียนเครือสาธิต มีเด็กเข้าสอบกว่า 3,000 คน ขณะที่รับเด็กเข้าเรียนเพียง 100 คนเท่านั้น

คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาต่างเห็นพ้องต้องกัน และเสนอร่าง พ.ร.บ. การปฐมวัยแห่งชาติ ให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 และมีบทลงโทษ โดยโรงเรียนที่จัดสอบจะถูกปรับ 500,000 บาท ส่วนกรณีฝากเข้า โรงเรียนจะถูกปรับ 10 เท่าของจำนวนเงินที่ใช้ฝาก ซึ่งทางคณะกรรมการฯ กำลังเร่งดำเนินการ เสนอเรื่องสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ความคิดเห็นที่น่าสนใจเป็นของ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในกรรมการฯ ที่ยืนยันว่า การสอบเข้าป.1 เป็นผลกระทบแง่ลบกับเด็กโดยตรง โดยเฉพาะการให้เด็กเข้าไปสัมผัส ‘การแข่งขันแบบแพ้คัดออก’ ตั้งแต่ยังอยู่ในปฐมวัย ซึ่งควรได้ร่าเริงและใช้จินตนาการเป็นหลัก ไม่ควรต้องมาเรียนรู้การเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะในช่วงวัยนี้

นายแพทย์ยังแสดงความคิดเห็นผ่าน thepotential.org เกี่ยวกับทางออกว่า ให้เด็กเข้าโรงเรียนตามพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพราะเด็กควรอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ และไม่ควรต้องตื่นเช้าเกินเหตุเพื่อเดินทางไปโรงเรียน จนส่งผลต่อศักยภาพสมอง และสำหรับข้อโต้แย้งของผู้ปกครองที่ว่า คุณภาพการศึกษาแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน เขามองว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกระแสนิยม โดยเขาเชื่อว่าโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน

ยิ่งกว่านั้นนายแพทย์ยังเสนอแนะให้โรงเรียนเลิกตัดเกรดเด็ก ป.1- ป.3 เพื่อลดการเปรียบเทียบ ยกเลิกห้องคิง ห้องควีน ห้อง gifted ที่นำมาซึ่งการแบ่งแยกเหลื่อมล้ำ รวมถึงควรยกเลิกการสอบของระบบ O-NET / A-NET หรือ GAT, PAT แล้วหันมาใส่ใจกับประสบการณ์หรือพอร์ทโฟลิโอด้านการลงมือปฏิบัติมากขึ้นด้วย

นี่เป็นหนึ่งในความคิดเห็นจากฝั่งคณะกรรมการที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งหากกลับมาที่จุดเริ่มต้นอย่างการยกเลิกการสอบเข้า ป.1 และข้อเสนอให้เด็กเข้าเรียนตามพื้นที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้เราก็เห็นกรณีที่พ่อแม่บางคนลงทุนย้ายบ้านไปให้ใกล้โรงเรียนที่ต้องการ หรือการใช้เงินทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะที่ยากจะตรวจสอบให้ทั่วถึง ท้ายที่สุดก็กลายเป็นข้อได้เปรียบของครอบครัวที่มีฐานะอยู่ดี

และถ้ามองตามความเป็นจริง ก็คงจะพูดได้ยากว่าทุกโรงเรียนในประเทศมีมาตรฐานการเรียนการสอนเท่ากันหมด ยิ่งถ้ารวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัดและอำเภอห่างไกล ซึ่งนั่นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้หนทางจะดูยากเย็นเพราะปัญหาฝังรากลึก เกี่ยวโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศที่ความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ก็ตาม

ถ้ามาตรฐานที่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นจริงแล้วนั่นแหละ การสอบเข้า ป.1 ที่เข้มข้นกดดันก็คงจะหมดความหมายไปเอง

คำถามคาใจ บ้านพักศาลที่สร้างไป อยู่ในเขตป่าหรือเปล่า

เมื่อมองภาพกว้างของผืนป่าเขียวขจีในจังหวัดเชียงใหม่บนกูเกิลแม็ป จะปรากฏเส้นขีดเล็กๆ ที่ริมด้านขวา เมื่อซูมเข้าไป-ซูมเข้าไป ก็จะพบว่าเป็นบ้านพักที่ก่อสร้างเรียงกันเป็นแถบ และดูเหมือนทำผืนป่าเป็นแผลด่างพร้อยดูขัดตา ทั้งสายตาผู้รักธรรมชาติและประชาชนทั้งหลาย

คนจำนวนก็คงคิดเช่นนี้ ยิ่งเมื่อขุดไปจนเจอข้อมูลว่าเป็นบ้านพักและอาคารชุดพักอาศััยของข้าราชการตุลาการ ก็คงเริ่มเดือดดาลและมือสั่น เรื่องนี้เริ่มมีผู้ตั้งคำถามมาตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2559 โน่นแล้ว ในกระทู้พันทิป หัวข้อ “บ้านพักข้าราชการสร้างในพื้นที่แบบนี้ได้ด้วยเหรอ???” พร้อมกับที่ผู้เปิดประเด็นได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านี่คือบ้านพักตุลาการ แต่ก็ไม่วายมีผู้มาถามว่า ไม่ใช่ว่าพื้นที่ว่างๆ ที่มีต้นไม้ขึ้นมาทุกแห่ง จะนับว่าเป็น “ป่า” ถ้าไม่ใช่ของกรมป่าไม้หรือพื้นที่อุทยานฯ ก็สร้างได้ ไม่ผิดกฎหมาย

กระแสเรื่องนี้กลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kritsada Saetiao โพสต์ภาพสิ่งปลูกสร้างที่ดูคล้ายมีการรุกล้ำเข้าไปในผืนป่าบริเวณเชิงดอยสุเทพ พร้อมข้อความ “แผลเป็น…ของเมืองเชียงใหม่”

ล่าสุด ที่เป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง ก็เพราะมีการออกมาชี้แจงจากฟากฝั่งกองทัพบก (ที่คนบ่นกันขรมว่าเป็นหน่วยงานที่ ‘อนุมัติ’ ให้มีการรุกล้ำ) โดยในวันที่ 28 มี.ค. 61 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่าที่พักข้าราชการตุลาการ ในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย นี้ เป็นการใช้พื้นที่ที่ดินราชพัสดุในความครอบครองของกองทัพบก และเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปี 2540 โดยสำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องขอกองทัพบกใช้พื้นที่ ซึ่งกองทัพบกอนุมัติไปเมื่อ ก.พ. ปี 2547 เป็นจำนวน 147 ไร่ และเมื่อตรวจสอบในวันที่ 20-24 มี.ค. นี้ ก็พบว่าการก่อสร้างไม่ได้รุกล้ำเกิน 147 ไร่เข้าไปในเขตอุทยานแต่อย่างใด

หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะเป็นที่พักของข้าราชการกว่า 200 คน จาก 7 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ศาลแรงงานภาค 5 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลแขวงเชียงใหม่ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่

แม้กระแสสังคมถาโถม แต่ทาง พล.อ.เฉลิมชัยก็กล่าวว่า นี่เป็นโครงการที่ทำมาจนใกล้จะเสร็จ ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก อีกทั้งไม่ผิดกฎหมายด้วย นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสอีกด้วยว่า แม้จะเป็นป่า แต่ก็เป็นที่ดินราชพัสดุในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกก่อนจะมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 ซึ่งก็ไม่ได้กระทบสิทธิของหน่วยทหารแต่อย่างใด และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะปรับภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป

“กรณีดังกล่าวเดินมาไกลแล้ว จะลงตัวอย่างไรให้ยอมรับกันได้และไม่เสียหายมากนัก เพราะใช้งบประมาณลงไปพอสมควร” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว