เรื่องราวการตายปริศนาและอวัยวะที่หายไปของ เมย – ภคพงษ์ ตัญกาญจน์ ยังเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องมาจนสัปดาห์นี้ พร้อมเรื่องราวการชันสูตรที่ไม่ค่อยคืบหน้านัก

อีกเรื่องที่ยังต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว คือกระแสของ ‘มารีญา พูลเลิศลาภ’ ที่ไปถึงเวทีมิสยูนิเวิร์สและเข้าไปในรอบห้าคนสุดท้าย แม้สุดท้ายไม่ได้รางวัลกลับมา แต่กำลังใจยังล้นหลาม พร้อมกระแสดราม่าที่หนักหนาไม่แพ้กัน

เช่นเคย The Momentum รวบรวมเรื่องราวในความสนใจ ที่เกิดขึ้นรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

1. คดียัง ‘ไร้น้ำยา’ แถมคำว่า ‘น้องเมย’ อันตรธานไปจากเน็ต

ถ้าเสิร์ชคำว่า ‘น้องเมย’ ในกูเกิล ผลการค้นหาจะออกมาเป็นคำว่า ‘น้องเมีย’ เรื่องนี้ดูจะมีกลิ่นแปลกๆ เพราะแทนที่ผลการค้นหาจะโชว์เรื่องราวของ ‘เมย-ภคพงษ์ ตัญกาญจน์’ นักเรียนเตรียมทหารวัย 18 ปีที่เสียชีวิตปริศนาในโรงเรียน จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของสังคม ดังนั้น พิมพ์คำว่าน้องเมยก็น่าจะขึ้นข้อมูลมาได้ไม่ยาก แต่

ความแปลกๆ นี้ไม่ได้เกิดแค่กับกูเกิล เพราะดูเหมือนว่าในทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #น้องเมย กลับถูกเซ็ตค่าไว้ – อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ – ให้กลายเป็นสแปม

ชุมชนที่เปิดประเด็นนี้ขึ้นมาก็คือเหล่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ ที่เกิดสงสัยว่า แฮชแท็ก #น้องเมย คงถูกเซ็ตเอาไว้ว่าไม่ให้ขึ้่นเทรนดิ้ง ทั้งที่เป็นเรื่องสุดฮิตมีคนทวีตแทบทุกนาที ความสงสัยนี้ยิ่งเข้าเค้าเมื่อลองพิมพ์คำว่า ‘น้องเมย’ ลงในกูเกิ้ล แต่ก็ไม่ปรากฏผลการค้นหาใดๆ ล่าสุด ชาวทวิตเตอร์จึงชวนกันเปลี่ยนแฮชแท็กใหม่ มาใช้คำว่า #เมยนตท แทนเพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายไป

ที่ว่ากระแสไม่ตกจึงไม่น่าจะหลุดเทรนด์ ก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘น้ำยาหมด’ ซึ่งเป็นความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตายที่พบว่ายังไม่คืบหน้า เพราะอวัยวะที่ผ่านการดองน้ำยาฟอร์มาลีนจะเสื่อมสลายไปมาก ทำให้ต้องใช้น้ำยาสกัดดีเอ็นเอชนิดพิเศษ ซึ่งตอนนี้น้ำยาตัวดังกล่าวหมดสต็อค จึงยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ ภาวะไร้นำยานี้ทำให้เรื่องของเมย ภคพงษ์ เป็นกระแสฮือฮาในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

 

2. #งงมาก social movement คืออะไร

กลายเป็นกระแสต่อเนื่องมาทั้งสัปดาห์ ตั้งแต่เมื่อช่วงสายของวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. เมื่อมารีญา (Maria Lynn Ehren) ได้ผ่านเข้ารอบ 5 คน สุดท้าย แต่ก็ชวดตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนที่สามของประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย และทำให้บรรดาคนที่ติดแฮชแท็ก #ไม่มงจะงงมาก ได้งงกันไปจริงๆ

ไม่ใช่แค่งงว่าทำไม ‘ไม่มง’ (หรือ ‘มงไม่ลง’ หรือ ไม่ได้มงกุฎ) แต่งงคำถามที่พิธีกร สวีฟ ฮาร์วีย์ ถามมารีญาขึ้นมาในรอบ Q&A และคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอพลาดตำแหน่งนี้ไป

“การเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดสำหรับคนในเจเนอเรชันของคุณ คืออะไร และมันสำคัญอย่างไร”

“ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุด คือการที่เรากำลังเข้าสู่สังคมที่มีประชากรสูงอายุขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ เยาวชน เยาวชนคืออนาคต เยาวชนคือสิ่งที่เราต้องลงทุน เพราะว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่จะดูแลโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่นี้ต่อไป”

ไม่นานหลังจากนั้น คนที่ตื่นกันมาลุ้นผลในช่วงสาย ต่างก็พากันโพสต์เฟซบุ๊กและทวีตข้อความอำลาไปทำภารกิจอื่นๆ ต่ออย่างปลงตก เช่น “บาย…บุ๋ง” ไม่ก็โวยวายว่าคำถามยากไป หรือไม่ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับ social movement ว่าเป็นเรื่องคนละเรื่องกับคำตอบของมารีญา แต่ที่น่าสนใจคือ หลายๆ คนงงว่า ‘social movement’ คืออะไรเหรอ??

เพจต่างๆ ก็เริ่มออกมาให้ความรู้ โดยเฉพาะเพจหน่วยงานที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยให้นิยาม social movement ว่า คือปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ และเมื่อเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวทางสังคมนี้ ก็เช่น การรวมตัวกันชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเป็นธรรมทางสังคม นำเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิสตรี ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นเรื่องคนพิการ

บางคนก็ออกมาบอกว่า อยากเข้าไปบอกคำตอบเธอจัง แต่บางคนก็บอกว่า ถ้าเธอตอบคำถามออกมาได้ดีจริงๆ ละก็ คนที่ต้องอาย คงเป็นรัฐบาลไทยเรานี่เอง เพราะต้องยอมรับว่าเรายังอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมเท่าไหร่ แม้การเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่นการวิ่งของพี่ตูนจะประสบความสำเร็จ แต่หากออกมาเคลื่อนไหวอะไรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐ ก็มีอันต้องถูกตั้งข้อหา จับกุมคุมขัง แล้วใครจะกล้าไปตอบตรงๆ ล่ะ

สามปีมานี้มีผู้สังเกตการณ์ว่าเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สให้ความสำคัญกับการตอบคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองโลกและความเท่าเทียมทางเพศ ดูเหมือนว่าปีหน้าทั้งนางงามตัวแทนไทยและคนไทยทั้งประเทศ จะต้องทำการบ้านวิชาสังคมกันหนักๆ หน่อย

 

3. ‘เทใจ ให้เทพา’ ค้านโรงไฟฟ้า จนมีคดีติดตัว

กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จัดกิจกรรม “เดิน…เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน…หานายกฯ หยุดทำลายชุมชน” เพื่อหวังจะยื่นหนังสือให้หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีที่กำลังไปประชุมครม.สัญจร แต่เรื่องราวบานปลาย มีการปะทะกันและผู้ชุมนุม 16 คนถูกจับกุม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา

ในบรรดา 16 คนนั้น มีหนึ่งคนเป็นเยาวชน ซึ่งโดนตั้งข้อหากีดขวางทางจราจร ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และพกพาอาวุธ (ไม้คันธงปลายแหลม)

นอกจากนี้ มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ ‘แบร์มุส’ หนึ่งในผู้ชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็หายตัวไปในเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ 27 พ.ย. จนเป็นที่สงสัยว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่หรือไม่ อารมณ์มวลชนคุกรุ่นยิ่งขึ้นเมื่อ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยในวันถัดมาว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า “ท่านหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่านที่สตูล”

คำพูดนี้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกจากไม่ให้เกียรติตัวเองในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกฯ แล้ว ยังทำร้ายจิตใจครอบครัว และยังหยิบยกเรื่องเพศมาลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุม

ต่อมามีข้อมูลว่า แบร์มุสปลอดภัยดี คาดว่ามีคนพาออกจากจุดชุลมุนขณะเกิดเหตุปะทะ เพียงแต่ขาดการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อน

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งชุมนุมคัดค้านและท้วงว่าคนในชุมชนไม่มีโอกาสรับทราบหรือได้เข้าร่วมในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างไรก็ดี แม้ผู้ชุมนุมทั้ง 16 คนจะได้รับการประกันตัว แต่นับจากนี้ก็ยังต้องมีคดีติดตัวหลายข้อหาไปอีกระยะหนึ่ง

 

4. น้องเกี่ยวก้อย เป็นใครกันแน่

ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดตัว ‘น้องเกี่ยวก้อย’ เป็นมาสค็อตสัญลักษณ์แทนการปรองดอง สร้างสำนึกในการปรองดองแก่ประชาชน ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรทำ (โอ้ว้าว)

แต่ที่คิดว่าไม่ควรทำแน่ๆ คือการออกแบบหน้าตาน้องเกี่ยวก้อยออกมาในลักษณะเช่นนี้ เพราะสิ่งที่ได้มาคือความฮามากกว่าความเอ็นดู และไม่รู้ว่าเห็นหน้าแล้วจะอยากเกี่ยวก้อยหรือเปล่า บางเพจออกมาถามว่า บรีฟคนออกแบบอย่างไร ถึงได้มาสค็อตแบบนี้ออกมา หรือบางคนก็ถึงขั้นบอกว่า เห็นหน้าแล้วไม่อยากเป็นมิตรด้วย

ถึงจะพูดแบบนั้น แต่ดูเหมือนทุกองค์ประกอบของน้องจะมีความหมาย เช่น ผู้หญิงเป็นเพศที่บอกถึงความไม่รุนแรง การชูนิ้วก้อยที่แสดงความเป็นมิตรและเปิดกว้าง เสื้อสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ สัญลักษณ์หัวใจสีแดงหมายถึงหัวใจคนไทยที่รวมเป็นดวงเดียวกัน ผ้าพันคอมีสัญลักษณ์ของการจับมือ มุ่งมั่นจะสร้างความปรองดอง และหมวกซึ่งมีสัญลักษณ์ธงชาติ ก็หมายถึงการนึกถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก ส่วนใบหน้าที่คล้ำ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นทำงานหนัก (เอ๊ะ… ยังไงนะ)

เรื่องจะไม่จบแค่นั้น เมื่อชาวโซเชียลยอดนักสืบ เอารูปน้องเกี่ยวก้อยมาเปรียบเทียบขำๆ ว่าคล้าย ผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภรรยาของน้องชายประยุทธ์ แต่ที่น่าจะเข้าเค้ามากกว่า ก็คือการเปรียบเทียบว่าเหมือนมาสค็อตทหารหญิง ในกิจกรรมคืนความสุขเมื่อปี 2557 ซึ่งสุดท้ายกระทรวงกลาโหมออกมายอมรับแล้วว่ายืมกองทัพบกมาใช้จริงๆ แค่เปลี่ยนชุด และตอนนี้ นำไปซักให้น้องหน้าใสขึ้นแล้ว

อะ อ่าว แล้วที่บอกว่าหน้าดำเพราะมุ่งมั่นทำงานหนักนี่คือยังไงนะ

 

5. ชาวใต้ประสบภัยน้ำท่วม

น้ำท่วมแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้มาถึงภาคกลางก็ดูจะไม่ค่อยเป็นกระแส แต่ช่วงนี้ภาคใต้กำลังเดือดร้อนหนัก เจ้าหนูวัย 9 ขวบ อัมรี เลาะนิ ต้องใช้วิธีโพสต์ภาพและข้อความไปที่เพจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ฟ้องว่าน้ำท่วมหลายวันออกไปไหนไม่ได้ จนตำรวจตามไปหาจนเจอ

พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ฝนตกหนักและน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. ในปัตตานีมีเด็กจมน้ำตายไปแล้วอย่างน้อย 3 ราย ที่ตรังก็สาหัสไม่แพ้กัน ตอนนี้ท่วมสูง 2-3 เมตร จมกว่าร้อยหลังคาเรือน สุราษฎร์ธานีประกาศพื้นที่ประสบภัยเพิ่มเติมไปอีกเก้าอำเภอ ส่วนที่นครศรีธรรมราช มีน้ำป่าไหลหลากมาจากเทือกเขาหลวง และมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำไปแล้วสองราย

สถานการณ์น้ำท่วมยังคงอยู่กับชาวบ้านในหลายจังหวัดภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 24 ระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซียจะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ผ่านภาคใต้ตอนล่างและทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานกำลังระดมเครื่องสูบน้ำลงไป 380 เครื่อง และเครื่องผลักน้ำ 180 เครื่อง ไประบายน้ำออกจากพื้นที่ตัวเมือง และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างสงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีแล้ว

 

6. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 68 ปี

สุรินทร์ อับดุล ฮาลิม บิน อิสมาอิล พิศสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2492 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์และปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

สุรินทร์เป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2518-2529 ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อกันเจ็ดสมัย เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปี 2535-2538 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปี 2540-2544 ก่อนจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551

ภารกิจอย่างเป็นทางการครั้งท้ายของสุรินทร์ พิศสุวรรณ คือการแวะไปเยี่ยม HUBBA-TO เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยส่วนหนึ่งของข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ – Surin Pitsuwan’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เวลา 8:42 น. ระบุว่า

“ผมคิดว่าหากเรามีชุมชน Co-Working Space ของเราที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน Asia เป็นพื้นที่มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีที่พักกับการเดินทางที่สะดวก และมีการจัดให้มีสัมมนาทุกสัปดาห์ จะทำให้เราสามารถดึงกลุ่ม Digital Nomad นี้มาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น และผลพลอยได้จากชุมชน Co-Working Space อันครึกครื้นก็คือเราจะสามารถสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมสร้างธุรกิจที่มีเป้าหมายระดับโลก Start Up เมืองไทยเราควรจะไปได้ไกลและเร็วกว่าเดิมครับ”

สุรินทร์ พิศสุวรรณ ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันที่โรงพยาบาลรามคำแหง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน สิริอายุ 68 ปี

 

7. เจ้าชายแฮร์รี่ รัชทายาทลำดับ 5 แห่งราชวงศ์อังกฤษเตรียมวิวาห์ฤดูใบไม้ผลิปี 2018

เริ่มต้นจันทร์ของสัปดาห์ด้วยแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังแห่งเคนซิงตันที่ประกาศว่า เจ้าชายแฮร์รี วัย 33 ปี พระโอรสในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ จะทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ ‘เมแกน มาร์เคิล’ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า โดยกำหนดการที่ชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งภายหลัง

มาร์เคิล วัย 36 ปี เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงนำซีรีส์เรื่อง ‘Suits’ ละครเกี่ยวกับแวดวงนักกฎหมาย ถึงแม้ทั้งคู่จะได้เข้าพิธีหมั้นกันอย่างเป็นทางการเมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งเจ้าชายแฮร์รี่เองได้แจ้งต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมถึงเชื้อพระวงศ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มาร์เคิลก็ยังหนีไม่พ้นการถูกมองว่าเป็นว่าที่เจ้าหญิงนอกแบบแผนของราชวงศ์อังกฤษ เพราะเธอเคยผ่านการหย่าร้าง เป็นดารา และยังเป็นลูกครึ่งสัญชาติอเมริกัน-แอฟริกันอีกด้วย

 

8. จุ๊บจิ๊บ Let Me In หน้าเบี้ยวจริง หรือแค่อยากศัลยกรรมฟรี

จุ๊บจิ๊บ จิราภรณ์ หอมสนั่น อายุ 21 ปี คือผู้ชนะรายการ Let Me In Thailand Season 3 BIG CHANGE ได้รับเลือกให้ไปศัลยกรรมเปลี่ยนชีวิตที่เกาหลีใต้ฟรี เพราะด้วยใบหน้าที่เบี้ยวจนทำให้ไม่กล้ายิ้มให้กับคนรอบข้างเพราะกลัวโดนล้อ แถมฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่แยกทางกัน ชีวิตลำบากต้องอยู่กับแม่แค่สองคน

แต่หลังจากไปศัลยกรรมเรียบร้อยแล้ว เธอมาปรากฏตัวในรายการอีกครั้งหนึ่งจนเป็นที่ฮือฮาถึงความสวยที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นดาราได้สบายๆ แต่แล้วก็เกิดมหกรรมการจับผิดและแฉจากชาวเน็ตว่าที่เธอหน้าเบี้ยวและฐานะทางบ้านยากจนนั้นไม่จริง

โดยนักสืบโซเชียล นำภาพเก่าๆ ในไอจีของจุ๊บจิ๊บมาตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดพันทิปพร้อมบอกว่า หน้าไม่ได้เบี้ยว และมีความสวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เคยเป็นถึงไอดอลของโรงเรียน เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์อีกต่างหาก พร้อมกับการขุดประวัติเธอขึ้นมาว่า เคยลงประกวด Pretty Doll ตอนปี 2557 และเคยเล่นเอ็มวีประกอบซีรีส์เพลงน้ำตาสุดท้าย ของวง Cocktail ด้วย ส่วนฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ยากจนอย่างที่เธอบอก ออกจะมีฐานะและอยู่สุขสบายอีกต่างหาก แต่ที่ลึกไปกว่าการขุดคุ้ยว่าหน้าเบี้ยวจริงหรือไม่ คือไม่มีใครรู้ว่า เรื่องตบตานี้มาจากเจ้าตัวหรือเป็นพล็อตที่ทางรายการสร้างขึ้นมา

 

9. ฮวาซอง-15 นิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่อาจยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ

อย่าเพิ่งเบื่อ ถ้าจะมาเล่าว่าเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธอีกแล้ว แต่คราวนี้มาแปลก เพราะเล่นทดสอบกันก่อนเวลาตีสามของวันพุธ ซึ่งไม่ใช่เวลาปกติที่มักทดสอบกันในช่วงสาย

และที่สำคัญ หลายๆ ฝ่ายออกมายอมรับตรงกันว่า คราวนี้ขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ ที่ชื่อ ฮวาซอง-15 มีพัฒนาการที่ต้องจับตามอง ทางกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้บอกว่า มันมีศักยภาพที่จะโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 13,000 กิโลเมตร ซึ่งทำให้วอชิงตันอยู่ในระยะโจมตี

การทดสอบการยิงครั้งนี้ ขีปนาวุธพุ่งไปสูงกว่าระดับวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติถึง 10 เท่า (สูงกว่า 4,000 กิโลเมตร) และอยู่ในอากาศนานถึง 50 นาที นานกว่าครั้งก่อนๆ แปดนาที ซึ่งหากคำนวณศักยภาพในการเคลื่อนที่ หากยิงตามวิถีที่อยู่ในแนวระนาบกว่านี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะพุ่งไปไกลถึงสหรัฐฯ

แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าขีปนาวุธดังกล่าวพร้อมใช้สำหรับการโจมตีทางทหารจริงๆ เพราะยังไม่มีการเปิดเผยว่าหัวรบของขีปนาวุธจะสามารถคงสภาพเมื่อพุ่งกลับสู่ชั้นบรรยากาศหรือไม่ สามารถเล็งเป้าหมายได้แม่นยำหรือสามารถจุดระเบิดได้สำเร็จหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ ฮาวายได้เริ่มปัดฝุ่นทดสอบระบบเตือนภัยนิวเคลียร์ของตน ซึ่งใช้สำหรับเตือนให้ประชาชนอพยพหากมีภัยนิวเคลียร์คุกคาม หลังจากไม่ได้ใช้งานระบบนี้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น

 

10. ครม.สัญจรภาคใต้ หอการค้าเสนอโปรเจ็กต์ห้าแสนล้าน

ครม.สัญจรไปภาคใต้ที่จังหวัดสงขลารอบนี้ คณะรัฐมนตรีเข้าประชุมกับผู้ว่าราชการ 14 จังหวัดในภาคใต้ ผู้นำท้องถิ่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย

หอการค้าภาคใต้ใช้โอกาสนี้เสนอโครงการพัฒนาภาคใต้ 14 โครงการ มูลค่าห้าแสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการสร้างระบบราง ทางหลวง ท่าเรือ และสนามบิน โดยหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ มีสามหน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าภาคใต้ สภาพัฒน์ฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่างก็เสนอให้สร้างรถไฟทางคู่ เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว 2 สมุทร ทั้งอ่าวไทย อันดามัน เชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ของมาเลเซีย

 

 เรื่องที่ไม่ติดอันดับ

เรื่องเล็กๆ ไม่ได้ติดสิบอันดับแต่มีประเด็น เป็นเรื่องราวในวงการสื่อสารมวลชน นั่นคือรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการฟ้องคดีสื่อถึงสองคดี และทั้งสองกรณีส่งผลให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารทำได้ไม่สะดวก และทำให้ต้องมายุ่งยากจัดการกับคดีความ

กรณีแรก เป็นเรื่องที่คิงพาวเวอร์ฟ้องหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จากการกล่าวหาว่าคิงพาวเวอร์กระทำผิดกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษี จึงฟ้องคดีแพ่งฐานหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายกว่า 800 ล้านบาท และยังขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ฐานเศรษฐกิจ นำเสนอข่าวเกี่ยวกับโจทก์ นั่นคือ ไม่ว่าสุดท้ายผลคดีจะออกมาอย่างไร แต่ในเวลานี้ คิงพาวเวอร์ไม่อยากให้ฐานเศรษฐกิจรายงานข่าวใดๆ เกี่ยวกับตน ศาลจะมีนัดไต่สวนในเดือนมีนาคมปี 2561

ในอีกกรณี จามร ศรเพชรนรินทร์ นักข่าวอิสระซึ่งผลิตรายการเสนอสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กำลังจะเดินทางข้ามไปยังพม่า เมื่อสแกนพาสปอร์ตเข้าระบบถึงได้เพิ่งรู้ตัวว่า มีหมายศาลในคดีบุกรุกเหมืองทองที่ภูซำป่าบอน จ.เลย เป็นหมายจับมาตั้งแต่ปี 2559 ฟ้องโดยบริษัท ทุ่งคำ ซึ่งเคยได้สัมปทานเหมืองในพื้นที่ดังกล่าว

ที่มาของการฟ้องเป็นเพราะจามรเดินทางไปทำข่าวและถ่ายภาพมุมสูงของเหมืองออกมา อย่างไรก็ดี นอกจากจามรแล้ว บริษัทก็ฟ้องชาวบ้านอีกสองคนที่คัดค้านการทำเหมืองในข้อหาบุกรุก แต่ศาลยกฟ้องไปแล้วเพราะพื้นที่ดังกล่าวหมดอายุสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2553 หรือห้าปีก่อนจามรและชาวบ้านคนอื่นๆ จะเข้าไป แต่ทำไมบริษัทจึงคิดฟ้องคดีบุกรุกในที่ที่ตัวเองหมดสิทธิการครอบครองแล้ว เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ เมื่อมีคดี ทั้งนักข่าวและนักเคลื่อนไหว ต้องมาเสียเวลาสู้คดีและหาเงินประกันจำนวนหนึ่งแสนบาทเพื่อแลกอิสรภาพชั่วคราว

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,