สามปีหลังเวทีมิสยูนิเวิร์สภายใต้การดูแลของโดนัลด์ ทรัมป์ ตกมาอยู่ในการกำกับของ WME/IMG (William Morris Endeavor Entertainment, LLC) บริษัทจัดหานักแสดงและนายแบบนางชื่อดังของสหรัฐอเมริกา นับแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน รูปแบบของการประกวดมิสยูนิเวิร์สก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เวลาออกอากาศส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การนำเสนอเรือนร่างของผู้หญิงรวมถึงสัดส่วน ปัจจุบัน น้ำหนักเนื้อหาในรายการประกวดกลับเน้นไปที่การสัมภาษณ์ การพูดคุย และการแสดงทัศนคติมากกว่า และเป็นที่เข้าใจกันว่า รอบตอบคำถามถูกสร้างมาเพื่อเป็นขั้นตอนหนึ่งซึ่งพยายามลบล้างภาพที่หลายคนเชื่อว่าการประกวดนางงามเป็นเพียงการนำเสนอเรือนร่าง ให้เป็นการค้นหาผู้หญิงที่สวยและทรงคุณค่า เมื่อเป็นเช่นนี้ การตอบคำถามจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ได้จะมาวิเคราะห์คำตอบของมารีญา พูนเลิศลาภ ตัวแทนสาวไทย ว่าถูกหรือผิดอย่างไร แต่จะมาชวนทุกคน ‘อ่าน’ คำถามที่เผยนัยยะของมันอย่างชัดเจนว่า กองประกวดมิสยูนิเวิร์สต้องการนางงามจักรวาลแบบไหน และนั่นอาจเป็นเหตุที่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมไทยไม่มง
บทความนี้จะชวนไปอ่านคำถามในเวทีประกวดสองปีหลังนี้คือปี 2016 และปี 2017 ที่ดูเหมือนว่า WME/IMG จะเริ่มจับทางได้และค้นพบแนวทางการประกวดที่ใช่สำหรับเวทีมิสยูนิเวิร์ส อีกทั้งยังเป็นสองปีที่ตัวแทนประเทศไทยมีโอกาสได้ตอบคำถามอีกด้วย
เราขอยกคำถาม 10 ข้อจากทั้งหมด 11 คำถาม (เนื่องจากคำถามหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกาะกระแสทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี) โดยเราสามารถจัดประเภท 10 คำถามนี้ออกเป็นสองหัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรกที่เห็นได้ชัดคือ ‘บทบาทหน้าที่ความเป็นความเป็นพลเมืองโลก’ (World Citizen) อันประกอบไปด้วยคำถามต่อไปนี้
“สำหรับคุณ ความเปลี่ยนแปลงใดในโลกที่สำคัญที่สุด” (ปี 2016)
“ระบุชื่อของผู้นำโลกในปัจจุบันหรืออดีตที่คุณชื่นชอบพร้อมให้เหตุผล” (ปี 2016)
“สำหรับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ คุณคิดว่าประเทศต่างๆ ควรมีข้อบังคับในการรับผู้ลี้ภัยหรือควรจะมีสิทธิในการปิดกั้นเขตแดน” (ปี 2016)
“ในวันที่ 21 มกราคม คนประมาณ 4.8 ล้านคน เดินขบวนทั่วโลกเพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของผู้หญิง รวมถึงเรื่องอื่นๆ หากคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินขบวนนั้น คุณจะเรียกร้องเรื่องใด” (ปี 2016)
“เหตุใดความรุนแรงจึงยังเกิดขึ้นโดยทั่วในสังคมปัจจุบัน เราจะมีวิธีการจัดการอย่างไร” (ปี 2016)
“คุณคิดว่าอะไรคือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา” (ปี 2017)
“การก่อการร้ายเป็นหนึ่งภัยคุกคามหลักของโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ ในฐานะของนางงามจักรวาลที่จะต้องนำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปยังทุกคนทุกเพศทั่วโลก คุณจะอธิบายการก่อการร้ายให้เด็กเข้าใจอย่างไร” (ปี 2017)
สายสะพายที่แสดงถึงความเป็นชาติถูกลดความสำคัญลง เมื่อนางงามเริ่มแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพราะคำตอบที่ทุกคนอยากจะได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกองประกวด คือคำตอบที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การลดทอนความเป็นอื่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในโลก คำถามเหล่านี้มุ่งเน้นให้นางงามตอบในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองโลกมากกว่าการเป็นตัวแทนของประเทศใดประเทศหนึ่ง เวทีแห่งนี้ไม่ใช่ที่ที่จะมาแสดงความชาตินิยม ไม่ใช่ที่ที่คุณจะมาพูดว่าคุณเก่งหรือดีกว่าใคร และไม่ใช่ที่ที่คุณจะมาสนับสนุนพฤติกรรมที่นำไปสู่การปิดกั้นหรือเชิดชูอำนาจเผด็จการในทุกรูปแบบ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคำถามในยุคทรัมป์ที่ดูจะหมกมุ่นอยู่กับความเป็นชาติ เช่นคำถามในปี 2014 ที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศของคุณได้อุทิศไว้ให้แก่โลกใบนี้”
คำตอบที่ทุกคนอยากจะได้ยิน โดยเฉพาะกองประกวด คือคำตอบที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การลดทอนความเป็นอื่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนไทยบางส่วนยังคงสับสนประเด็นเหล่านี้ และไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศอื่นถึงได้มงกุฎไปครอง จนถึงขั้นไม่ยอมรับชัยชนะนั้น บ้างก็ยังคงเชิดชูความเป็นไทยและความสูงส่งทางวัฒนธรรม ในขณะที่บางส่วนยังคงเชื่อว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องเพ้อฝัน หรือเป็นแค่ความคิดของคนไทยที่อยากจะเป็นฝรั่ง เราจึงไม่เคยเข้าถึงและเข้าใจคำถามเหล่านี้ และดูเหมือนคอนเซ็ปต์ว่าด้วยความเป็นพลเมืองโลกอาจยังคงห่างไกลกับใครหลายๆ คน
นอกจากประเด็นเรื่องความเป็นพลเมืองโลกแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนและกองประกวดไม่อาจละทิ้งได้เลยคือเรื่อง ‘เพศและสิทธิทางเพศ’ ซึ่งสะท้อนผ่านคำถามเหล่านี้
“โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่เราจะรับรู้ถึงภาพหรือตัวตนใครสักคน คุณคิดว่าโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบในแง่บวกหรือแง่ลบอย่างไรในแง่ของการตัดสินความงาม” (ปี 2017)
“ปัจจุบันนี้แรงงงานผู้หญิงมีจำนวนถึง 49 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานทั้งหมดทั่วโลก คุณคิดว่าอะไรคือหัวข้อที่สำคัญที่สุดที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่ในสังคมการทำงาน และทำไม” (ปี 2017)
“การข่มขืนถือยังคงเป็นประเด็นร้อนในลำดับต้นๆ ผู้ชายและผู้หญิงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร” (ปี 2017)
แน่นอนว่า แนวโน้มของคำตอบควรจะต้องออกมาในรูปแบบของการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่หรือชีวิตการทำงาน แต่ในทางกลับกัน เสียงของผู้หญิงในสังคมไทยต่อประเด็นเหล่านี้ยังคงแผ่วเบามาก มิหนำซ้ำ ยังมีละครที่สอนให้ผู้หญิงยอมจำนนต่อบทบาทผู้ถูกกระทำ หลายคนยังคงเชื่อว่าการข่มขืนเกิดจากผู้หญิงแต่งตัวโป๊ และหลายคนยังคงเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอเกินไปที่จะเป็นผู้นำประเทศ
หัวข้อเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องที่คนไทยดูจะเบื่อหน่ายกับมันเหลือเกิน ทั้งเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นกุญแจสู่เวทีนางงามจักรวาล ตราบใดที่แนวโน้มของคำถามยังคงมาในลักษณะนี้ มงกุฎจะไม่มีทางตกไปอยู่กับผู้ที่แสดงทัศนคติเชิดชูการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ การกดขี่ทางเพศ หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่างๆ และมงกุฎจะไม่มีทางตกไปอยู่กับผู้ที่ทำได้เพียงแสดงความภูมิใจในชาติตัวเองแบบล้นเกิน หรือมองคนไม่เท่ากัน
การเตรียมตัวทำการบ้านเพื่อตอบคำถามนี้ต่างหากที่กองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ต้องทำงานหนักมากขึ้น เราในฐานะผู้ชมผู้เชียร์ อาจต้องเลิกโทษแต่ชุดราตรี เลิกโทษแต่การเดินบนเวที หรือช่างแต่งหน้าทำผมกันเสียที เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและได้รับการนำเสนอน้อยกว่าการพูด ความคิด และทัศนคติ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
และสำหรับคนไทยในฐานะแฟนนางงาม เมื่อไรก็ตามที่เรามองทะลุเปลือกการประกวดนางงามไปได้ เราก็อาจจะมีสายตาเปิดกว้างจนพอที่จะเห็นตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองบนโลกใบนี้ การไหลไปตามกระแสโลกในฐานะพลเมืองโลกคงไม่เป็นเรื่องน่ากลัวนัก หากเราวางอีโก้ความเป็นไทยลงเสียบ้าง เมื่อนั้น มงกุฎนางงามจักวาลคงเป็นเพียงหนึ่งในผลพลอยได้ ที่อาจจะกลายเป็นของเราในสักวัน
Tags: Miss Universe, มิสยูนิเวิร์ส, นางงาม, เวทีประกวด, พลเมืองโลก, มารีญา