ปรากฏการณ์ ‘ก้าวคนละก้าว’ ของตูน บอดี้สแลม นอกจากจะสร้างความคึกคักและครองพื้นที่สื่อไทยได้อย่างมากในช่วงปลายปีแบบนี้แล้ว ยังน่าสนใจในแง่ที่ว่า การออกวิ่งระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งของตูนในครั้งนี้ ได้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสามัคคี รอยยิ้ม และความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในสังคม เราได้เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาออกมาให้กำลังใจและขอมีส่วนร่วมให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศไว้

ไม่ว่าเราจะมีความเห็นต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไรก็ตาม แต่เรื่องหนึ่งที่น่าจะหยิบยกมาวิเคราะห์กันได้ก็คือ ถ้าเรามองว่ากรณีตูน บอดี้สแลม เป็นการแสดงพลังของสังคมไทย แล้วการแสดงพลังครั้งนี้สามารถบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับเรื่องความเข้มแข็งของสังคมไทย ตั้งแต่ในอดีตช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จนมาถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบัน

 

ความเข้มแข็งของสังคม กับแนวคิดประชาสังคม (Civil Society)

วงการวิชาการทางสังคมศาสตร์ให้ความสนใจกับประเด็นความเข้มแข็งของสังคมกันมาก มีการพัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า ‘ประชาสังคม’ (Civil Society) ขึ้นเพื่อใช้อธิบายการแสดงพลังของผู้คนในสังคม แม้เราอาจจะยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนของคำว่าประชาสังคม แต่อาจสรุปรวมได้ว่า ประชาสังคมเป็นแนวคิดทางวิชาการที่ใช้อธิบายการที่ผู้คนรวมตัวกันเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ต่อสู้เพื่อปากท้อง ไปจนถึงดำเนินกิจกรรมการกุศลหรือช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ

นักวิชาการผู้หนึ่งที่ศึกษาวิเคราะห์ประชาสังคมอย่างลึกซึ้ง คือ ไมเคิล วอลเซอร์ (Michael Walzer) ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า ลักษณะสำคัญเหนืออื่นใดของประชาสังคม ก็คือการที่ผู้คนมารวมตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยไม่ถูกบังคับ การรวมตัวในที่นี้เป็นไปอย่างเสรีและสมัครใจ โดยไม่ได้เป็นการรวมตัวที่เกิดขึ้นจากความผูกพันในลักษณะอื่นที่แต่ละคนมีมาก่อนแล้ว กล่าวคือ ไม่ได้เป็นการรวมตัวที่เกิดจากความผูกพันในทางครอบครัว ชนเผ่า ชาติ ศาสนา ชุมชน ผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์

อย่างไรก็ตาม การให้คำนิยามแบบนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอุดมคติค่อนข้างมาก เพราะในความเป็นจริง การที่ผู้คนจะออกมารวมตัวกันโดยไม่เกี่ยวข้องกันเลยหรือไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากปัจจัยอื่นเลยนั้นเป็นเรื่องยาก

 

อาจสรุปรวมได้ว่า ประชาสังคมเป็นแนวคิดทางวิชาการที่ใช้อธิบายการที่ผู้คนรวมตัวกันเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ต่อสู้เพื่อปากท้อง ไปจนถึงดำเนินกิจกรรมการกุศลหรือช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ

 

ในระดับโลกแล้ว นับได้ว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ประชาสังคมได้กลายมาเป็นแนวคิดที่ทรงพลัง ที่ถูกนำมาใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งในโลกตะวันตกและในส่วนอื่นของโลก ดังนั้น คำว่าประชาสังคมจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกมองว่ามีอยู่ในสังคมตะวันตกเพียงเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจ รวมถึงคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิด นักกิจกรรม และผู้มีอำนาจในประเทศนอกตะวันตกจำนวนมาก

 

ก้าวคนละก้าว กับประชาสังคมยุค 4.0

ไทยเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่แนวคิดประชาสังคมเป็นที่กล่าวถึงกันมาก ทั้งในแวดวงวิชาการ รวมไปถึงในหมู่นักคิด สื่อมวลชน และนักกิจกรรมสาธารณะ ก็มักอ้างถึงแนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย

ปรากฏการณ์ ตูน บอดี้สแลม ช่วยให้เราพิจารณาประวัติและความเปลี่ยนแปลงของประชาสังคมในเมืองไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ ด้วยการแบ่งช่วงเวลาออกเป็นสี่ยุคด้วยกัน ดังนี้

ยุคที่หนึ่ง อาจนับได้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อันเป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ของประชาชนชาวไทยที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ถือเป็นการกำเนิดครั้งแรกของประชาสังคมในไทยอย่างเป็นรูปธรรม

กล่าวคือ ประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านั้น มีการปกครองที่เน้นความเข้มแข็งของรัฐเป็นหลัก การเมืองจึงเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ทั้งในรัฐบาล หน่วยงานรัฐ ระบบราชการ และกองทัพ ล้วนเป็นสถาบันที่แข็งแกร่งและรวบอำนาจไว้ในมืออย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ผู้คนในสังคมยังไม่ค่อยมีพลังที่จะแสดงความต้องการของตัวเองออกมาได้ ทำให้การเมืองไทยเป็นไปในรูปแบบบนลงล่าง รัฐสามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมได้มาก แต่ 14 ตุลาฯ สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อรูปแบบการเมืองที่ว่านี้ เพราะเหตุการณ์นี้คือการแสดงพลังจากเบื้องล่างที่มีผลถึงขนาดล้มรัฐบาลทหารที่อยู่ในอำนาจมาเกินกว่าสิบปีลงได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกนี้ นักวิชาการไทยในช่วงนั้นยังไม่ได้นำเอาแนวคิดประชาสังคมเข้ามาใช้อธิบายเมืองไทยอย่างเป็นระบบนัก การอธิบายปรากฏการณ์ในยุคนี้จึงมักใช้แนวคิดอื่นๆ มากกว่า

ยุคที่สอง คือช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนได้แสดงพลังชุมนุมประท้วงรัฐบาล จนมีผลทำให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในยุคนี้นักวิชาการไทยได้เริ่มใช้แนวคิดประชาสังคมมาอธิบายปรากฏการณ์ในไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มองว่าเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้คนตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ประชาชนไม่ยอมก้มหัวให้กับการปกครองแบบเผด็จการอีกต่อไป กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ยุคนี้มีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประชาสังคมกับประชาธิปไตยกันมากขึ้น มีการเสนอว่า ประชาสังคมที่เข้มแข็งจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่เข้มแข็งตามไปด้วย สอดคล้องกับกระแสของนักวิชาการต่างชาติในเวลานั้นที่มองปรากฏการณ์ประชาสังคมในประเทศอื่นๆ ว่า ได้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก

ผลที่เกิดจากกระแสความคิดในยุคนี้ ก็คือ คำว่า ประชาสังคม กลายเป็นคำที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างมาก ในช่วงการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีบทบาทและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม

ยุคที่สาม อาจนับได้ว่าเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2549 เป็นต้นมา ในยุคนี้ หันมาตั้งคำถามต่อบทบาทของประชาสังคมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ประชาสังคมมีผลดีต่อประชาธิปไตยเสมอไปหรือไม่ จุดกำเนิดของการตั้งคำถามเช่นนี้มาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อเรียกร้องและการกระทำบางอย่างที่เป็นการหันไปหาอำนาจนอกระบบมากกว่าจะยึดมั่นในแนวคิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จนเมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ยุควิกฤติยืดเยื้อตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ก็ทำให้การชุมนุมของทั้งกลุ่มพันธมิตร กลุ่มเสื้อแดง นปช. รวมไปถึงกลุ่ม กปปส. ถูกมองด้วยสายตาที่ระแวดระวังมากขึ้น นักวิชาการเริ่มตั้งคำถามถึงเป้าหมายของการชุมนุมของคนเหล่านี้ รวมถึงวิธีการของการชุมนุมที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงและความไม่สงบต่างๆ จนมีการนำคำว่า “อนารยะสังคม” (Uncivil Society) มาอธิบายการชุมนุมที่ก่อความรุนแรงและไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

 

ถ้าเป็นการแสดงพลังของประชาชนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐอยู่แล้ว รัฐบาลก็พร้อมยื่นมือมาช่วยเหลือและส่งเสริมเต็มที่

 

ยุคที่สี่ ก็คือยุคไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้การปกครองของ คสช. นี่เอง ในยุคนี้เรากล่าวได้ว่า ประชาสังคมกำลังกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เห็นได้จากแนวคิดเรื่อง ‘ประชารัฐ’ ที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นำมาเป็นนโยบายอยู่ในขณะนี้ คำว่าประชารัฐในยุครัฐบาล คสช. นั้นหมายถึงแนวคิดที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐกับสังคมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่วนรวม ซึ่งก็เป็นการผนวกแนวคิดประชาสังคมเข้ากับการดำเนินงานของรัฐนั่นเอง โดยการที่ คสช. มีจุดกำเนิดมาจากการรัฐประหารนั้น ก็ย่อมถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการประกาศว่ารัฐบาลเชื่อมั่นในพลังของสังคมก็ถือได้ว่าเป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลพยายามใช้ลดภาพความเป็นเผด็จการให้อ่อนลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคนี้ก็คือ คสช. เลือกที่จะส่งเสริมประชาสังคมเพียงบางลักษณะเท่านั้น กล่าวคือถ้าเป็นการแสดงพลังของประชาชนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐอยู่แล้ว รัฐบาลก็พร้อมยื่นมือมาช่วยเหลือและส่งเสริมเต็มที่ ดังที่เราเห็นในกรณีโครงการก้าวคนละก้าวนี่เอง แม้ว่าโครงการนี้จะมีทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนรายใหญ่มาสนับสนุน แต่ใจความหลักที่โครงการนี้สื่อออกมาต่อสาธารณะ ก็คือการปลุกใจคนไทยให้ร่วมกันแสดงพลังเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุว่า การวิ่งของตูนถือเป็นตัวอย่างของแนวทางประชารัฐ

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่มีผู้คนออกมาแสดงพลังในสิ่งที่ขัดกับความต้องการของรัฐ ก็จะกลายเป็นประชาสังคมในแบบที่รัฐไม่ต้องการในทันที ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงต่อ คสช. ของกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักกิจกรรม หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวสวนยาง ก็ล้วนเป็นประชาสังคมที่รัฐไม่ยอมรับและพร้อมจะเล่นงานด้วยมาตรการต่างๆ ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า คสช. ไม่ได้เปิดกว้างหรือให้การยอมรับกับการแสดงพลังของสังคมในทุกรูปแบบ แต่พวกเขากำลังเลือกใช้ประชาสังคมบางแบบเท่านั้นมาเป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีอำนาจของตัวเอง

คำถามส่งท้ายของบทความนี้ก็คือ จากการเดินทางของประชาสังคมไทยตลอดสี่ยุคที่ผ่านมา อนาคตของประชาสังคมไทยจะเป็นไปในทิศทางใด สังคมจะกลับมาเข้มแข็งมีพลังมากพอจะต่อกรกับอำนาจรัฐได้อีกครั้ง หรือว่าคนไทยในยุค 4.0 จะยอมกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจต่อไปอย่างแนบเนียน

Tags: , , ,