เริ่มเข้าสู่หน้าร้อนที่มากับบรรยากาศเตรียมรื่นเริงช่วงสงกรานต์ บ้านเมืองเหมือนจะสงบสุขดี แต่หยุดยาวนี้คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ใหญ่กลางเมือง

อย่างไรก็ดี ผู้คนอินกับละครหลังข่าวยิ่งนัก แม้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังเอาด้วยกับกระแสละครบุพเพสันนิวาส และมีการพบปะกันกับคณะละครที่ทำเนียบรัฐบาล จนมีซีนสุดฮาออกมาให้ได้เอะใจเกี่ยวกับโรดแมปเลือกตั้ง

แต่แม้เรตติงดีวันดีคืน ช่อง 3 ก็ยังต้องเดินแผนปรับตัวทางธุรกิจ ประกาศให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนดเพื่อคุมรายจ่ายให้ไม่บานปลาย เพราะธุรกิจดิจิทัลทีวีนั้นโหดยิ่ง

ยังมีเรื่องน่าสนใจ อย่างเรื่องเงินๆ ทองๆ ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่กฎหมายกำลังจะมอนิเตอร์บัญชีที่มีทรานแซคชันมากๆ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงเรื่องชวนขบคิดเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางความเชื่อทางศาสนาจากกรณีดราม่า โต ซิลลี่ฟูล ความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่คุณจะวางตัวเองอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้

The Momentum รวบรวมเรื่องเด่นในรอบสัปดาห์มาฝาก

 

เพลิงไหม้ราชเทวีอพาร์ทเมนต์ หายนะและบทเรียนที่ซ่อนอยู่ในอาคารเก่า

เกิดข่าวสลดกลางสัปดาห์ เมื่อนายพีรณัฐ อินวกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต้องมาด่วนเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้อาคารราชเทวีอพาร์ตเมนต์ ในซอยเพชรบุรี 18

การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องน่าเศร้าอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ยิ่งเป็นที่พูดถึงกันมาก อาจเพราะผู้เสียชีวิตเรียนอยู่ในโรงเรียนดัง อยากเป็นหมอ แถมยังบอกครอบครัวว่าจะกลับไปที่บ้านในลพบุรีในช่วงสงกรานต์

เรื่องที่น่าคิดกันต่อจากนี้ก็คือ อะไรทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้บาดเจ็บถึง 61 ราย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ราชเทวี อพาร์ตเมนต์ อาคารที่พักสูง 14 ชั้น ซึ่งมีห้องพักประมาณ 180 ห้อง ในซอยเพชรบุรี 18 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อเวลาตีสองกว่าๆ ของวันที่ 3 เมษยน 2561 สันนิษฐานว่าเกิดจากการลัดวงจรของสายไฟเก่าในห้องเก็บสายไฟ หรือช่องชาร์ป และนายพีรณัฐก็อยู่ในห้องที่ใกล้เคียงกับช่องชาร์ปที่มีควันพวยพุ่งออกมา

ดูจากย่านที่อยู่ ก็คงพอรู้ว่านี่เป็นย่านที่มีนักเรียนและคนทำงานต้องเช่าที่พักอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อสำรวจค่าเช่าห้องรายเดือนของที่นี่ ก็พบว่าอยู่ที่ 5,500 บาท หากพิจารณาข้อมูลว่าเป็นย่านธุรกิจ ใกล้สถานศึกษา บริษัทต่างชาติ และสถานทูต เนื่องจากการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีสถานีเชื่อมต่อที่สถานีราชเทวีในอนาคต และแทบไม่มีที่ดินเปล่าในย่านดังกล่าว อสังหาริมทรัพย์ในย่านนี้จึงหายากและมีราคาเช่าเฉลี่ย 600-700 บาทต่อตารางเมตร

ราคาที่ต่ำกว่าตลาดก็เหมือนจะต้องแลกด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เพราะอาคารก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งแม้จะขออนุญาตก่อสร้างถูกต้อง แต่เมื่อสร้างขึ้นก่อนกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดเกี่ยวกับระบบดับเพลงและป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูง จึงไม่ถูกบังคับให้ต้องมีระบบสปริงเกอร์ดับไฟ และไม่ได้เว้นระยะรอบอาคาร 6 เมตร และถนนสาธารณะที่ต้องกว้าง 10 เมตร

นี่เองจึงเป็นทั้งสาเหตุที่ทำให้ระบบป้องกันไฟไหม้ในอาคารไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุที่คนนอกเข้าไปช่วยเหลือได้ลำบาก อย่างที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ กล่าวว่า ซอยแคบทำให้รถกระเช้าซึ่งมีขนาดใหญ่เข้าไปได้ยาก และผู้พักอาศัยบางรายต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองโดยการห้อยตัวลงมา แล้วพลาดท่าตกจนได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเขตยังตั้งข้อสังเกตว่า ช่องโหว่ที่ทำให้การดับเพลิงล่าช้า เพราะโดยรอบอาคารไม่มีแหล่งน้ำ หัวจ่ายดับเพลิงอยู่ห่างจุดเกิดเหตุ และภายในอาคารก็มีน้ำไม่เพียงพอระงับเหตุ

ส่วนอุทาหรณ์เกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรมของอาคาร นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ห้องชาร์ปต้องปิดช่องว่างให้หมด เพราะการมีรูหรือช่องว่าง ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นลักษณะตัววี ทำให้มีคนเสียชีวิต เพราะเมื่อควันไฟโผล่มาช่องชาร์ปแต่ละชั้น ควันจะลามไปทั่ว คนที่จะหนีจากอาคาร เมื่อเจอกลุ่มควันหนาสู้ไม่ไหวก็ต้องกลับเข้าไปห้อง (อย่างกรณีนักเรียนเตรียมอุดมฯ) อีกทั้งสายไฟที่ร้อนและเสื่อมสภาพทำให้เกิดประกายไฟในช่องชาร์ป หากมีช่องว่างในชั้น จะทำให้ควบคุมเพลิงยาก พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกอาคารตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

ส่วนตัวแทนจากบริษัท ราชเทวี อพาร์ทเม้นท์ จำกัด ออกมายืนยันว่า ทางบริษัทตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอยู่เสมอ และล่าสุดตรวจสอบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560

น่าคิดว่า ยังมีอาคารอีกกี่แห่งที่อยู่ในสภาพเดียวกับราชเทวีอพาร์ตเมนต์ ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายที่ออกมาเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย เป็นที่ที่สะสมทั้งความเก่าและความไม่ปลอดภัย และยังคงผ่านเกณฑ์การตรวจสอบมาได้ทุกคราว แต่รู้ตัวอีกที ก็เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแล้ว

 

ขุนเรืองปากกล้าเข้าพบหัวหน้าคสช. บอกอยากเลือกตั้ง

“เห็นออเจ้าบอกอยากให้มีเลือกตั้งเหรอ” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เอ่ยถามคณะละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งมีทีมงานและนักแสดงหลัก 6 คน ที่พากันไปพบหัวหน้าคสช.เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

ไม่ทันจบประโยคดี ทุกคนในห้องโบ้ยไปที่ขุนเรือง (นำแสดงโดย ปั้นจั่น – ปรมะ อิ่มอโนทัย) ทำนองว่า คนนี้ต่างหากที่อยาก

“อยากเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเหรอ” พลเอกประยุทธ์ถามซ้ำ น้ำเสียงดุดันอย่างกับพระเพทราชาในละคร

ขุนเรืองจึงตอบทันควัน “ผมรอได้ครับท่าน เข้าใจว่าต้องตามโรดแมป” พร้อมเสียงหัวเราะดังเกรียวกราว แถมหัวหน้าคสช.ยังตบมุกกลับอย่างเนียนว่า “เอาขุนเรืองไปตัดหัว”

บรรยากาศการสนทนาระหว่างดารานักแสดงกับหัวหน้าคสช.ฟังดูชื่นมื่นตลกขบขัน แต่สัปดาห์เดียวกันนี้เอง กลุ่มเคลื่อนไหวในนาม ‘คนอยากเลือกตั้ง’ คงขำกันไม่ออก เพราะผู้ชุมนุมโดนตั้งข้อหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นกรณีล่าสุด แกนนำและผู้ชุมนุมรวม 57 คนก็เพิ่งถูกฟ้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน ในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คนจากการเรียกร้องให้คสช.ยุติการสืบทอดอำนาจและให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ส่วนโรดแมปที่ขุนเรืองกล่าวถึงนั้น จะดำเนินตามกำหนดได้จริงหรือไม่ ชะตากรรมของเรื่องนี้ยังหมิ่นเหม่อยู่บนเส้นด้าย เพราะกฎหมายลูกสำคัญสองฉบับที่จะเป็นเงื่อนไขว่าต้องประกาศออกมาใช้ก่อนจึงจะนำไปสู่การเลือกตั้งได้นั้น เวลานี้กำลังเจอคิวแทรก โดยสนช. ผู้ผ่านกฎหมายมากับมือเกิดไม่ชัวร์ใจตัวเองว่าเนื้อหาที่ผ่านออกมามันขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงเพิ่งตัดสินใจ ส่งร่างพรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้มีกำหนดเวลาว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด จึงเรียกได้ว่า เวลานี้ ประเทศไทยยังออก year plan ไม่ได้เสียที เพราะร่างกม.สำคัญสองฉบับอยู่ในพื้นที่สุญญากาศ เป็นการโยนชะตากรรมทางการเมืองไปอยู่ในมือสถาบันตุลาการ ซึ่งฝ่ายที่มีอำนาจมองว่า ใจเย็นๆ นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะจะออกกฎหมายทั้งที่ก็ขอให้เนื้อหาตกผลึกในทุกประเด็นไป

สำหรับการเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ของทีมนักแสดงและผู้จัดละครบุพเพสันนิวาสนั้น มีไปเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงานรณรงค์ส่งเสริมภาพยนตร์และละครที่เกี่ยวกับการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การพบปะครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังแนะนำให้ผู้จัดละครเสริมเนื้อหาเรื่องการวางตัวของผู้หญิง ให้สอนให้รักนวลสงวนตัวและรักษาประเพณีที่ดีงามของไทยด้วย

และที่เป็นพาดหัวข่าวให้ฮาลั่นและกลายเป็นคลิปไวรัล คือตอนที่พลเอกประยุทธ์ขอให้นักแสดงโชว์บทการต่อว่านางเอก ทำให้ โป๊บ – ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ ซึ่งรับบทหมื่นสุนทรเทวา พระเอกของเรื่อง พูดใส่หน้าหัวหน้าคสช.ว่า “ออเจ้านี่กำเริบไม่รู้กาลเทศะ” เรียกเสียงหัวเราะครืนของคนทั้งห้อง ก่อนหมื่นโป๊บจะรีบยกมือไหว้ขอโทษพลเอกประยุทธ์ที่ตอบโต้ว่า “ไม่ได้บอกให้มาว่าฉัน ให้พูดกับเขาโน่น” แล้วสั่งให้พูดอีกครั้งแต่ให้หันไปพูดกับเบลล่า – ราณี แคมเปน นางเอกผู้รับบทการะเกดแทน

 

A post shared by @ppopefanclub on

นอกจากนี้ หัวหน้าคสช. ยังฝากให้ทีมผู้จัดละคร ผลิตงานละครที่เกี่ยวกับงานของรัฐบาลด้วยเช่นกัน แม้พลเอกประยุทธ์จะออกปากว่ายังไม่เคยดูละครเรื่องนี้ และนิยมดูรายการจากต่างประเทศ ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะก่อนหน้านี้เมื่อสองปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ก็เคยประกาศว่า ชื่นชอบซีรีส์เกาหลี Descendants of the Sun ที่มีเนื้อหาแนวรักชาติ โดยพระเอกของเรื่องเป็นทหารยศร้อยเอก พร้อมกับบอกว่า หากใครสนใจจะให้ทุนสร้างละครเสียด้วย

 

ความเชื่อข้าใครอย่าแตะ! ดราม่าโต ซิลลี่ฟูลส์ มีอะไรน่ากลัวรออยู่ไหม?

จากโต ซิลลี่ฟูลส์ ร็อกเกอร์ในความทรงจำของเด็กยุค 90s ผู้ซึ่งฉีกคาแรกเตอร์ไปเป็นบังโตคนขายเนื้อ วันนี้เขากลับเข้าสู่ความทรงจำชาวไทยอีกครั้งกับประเด็นดราม่าร้อนๆ อย่างการดูหมิ่นการบูชารูปเคารพ ที่ก็ได้มาขอโทษขอโพยกันเป็นที่เรียบร้อย แต่รอยร้าวที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ถูกลืมไป หรือจะทับถมจนกลายเป็นอะไรอย่างอื่นคือเรื่องที่น่าเป็นห่วง

เรื่องเกิดเมื่อ ‘โต’ หรือ วีรชน ศรัทธายิ่ง อดีตนักร้องนำวงซิลลี่ฟูลส์ ตอบคำถามในรายการ ‘โต-ตาล’ ว่าเหตุใดศาสนาอิสลามจึงไม่มีรูปเคารพ ซึ่งเขาตอบโดยอิงหลักความเชื่อทางศาสนาเช่นว่า พระเจ้ายิ่งใหญ่เกินกว่าจะจำลองออกมาเป็นรูปปั้นได้ แต่ประโยคที่ถูกนำมาตีฟูก็เห็นจะเป็น “ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นนี่ผมผลักก็ล้มแล้ว”

แน่นอนว่าเรื่องศาสนาและความเชื่อนั้นละเอียดอ่อน ดราม่าจึงเกิด โดยหลังจากถูกถล่มยับ โตก็ออกมาอธิบายผ่านรายการทุบโต๊ะข่าวว่า เขาไม่ได้เจตนาดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ในรายการตลอด 6 ปี เขาได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ตลอด อีกทั้งยังปฏิบัติตนตามศีล 5 และ ศีล 8 อย่างเคร่งครัด ฯลฯ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาพูดออกไปก็ยังสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม

ล่าสุดโตและตาลเดินทางเข้าพบจุฬาราชมนตรี หรือ อาศิส พิทักษ์คุมพล ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา โดยจุฬาราชมนตรีแจงถึงหลักอิสลาม ที่ระบุชัดเจนว่าจะต้องไม่บริภาษหรือวิพากษ์ศาสนาอื่น พร้อมแนะนำว่า ในการเผยแพร่ศาสนาควรต้องศึกษาให้ลึกซึ้งและรอบคอบมากขึ้น

อีกหนึ่งความคิดเห็นที่น่าสนใจมาจากจดหมายถึง โต ซิลลี่ฟูลส์ ของ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการด้านศาสนาอิสลาม/สตรีมุสลิม ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ deepsouthwatch.org หรือศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งผศ.ดร. สุชาติติงการกระทำของโต พร้อมยกกรณีที่ศาสนาอิสลามถูกดูหมิ่นหลายครั้ง ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวมุสลิม ดังนั้นจึงไม่ควรทำอย่างเดียวกันกับศาสนาอื่น

ผศ.ดร. สุชาติยังกล่าวถึงเหตุผลที่เขียนจดหมายนี้ขึ้นมา เนื่องจากความเป็นห่วงเกี่ยวกับ ‘โรคเกลียดกลัวอิสลาม’ (Islamophobia) ซึ่งเขาเองมองว่าประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างศาสนาต่อจากเมียนมาร์

หลายปีที่ผ่านมาเราต่างรับรู้สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อันที่จริงในพื้นที่อื่นก็มีความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาแล้ว เช่นการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในเชียงใหม่ หรือชาวพุทธต่อต้านการสร้างมัสยิดในจังหวัดมุกดาหาร ฯลฯ หรือกระทั่งคอมเมนต์บางส่วนในดราม่าโต ซิลลี่ฟูลส์อย่าง “เบคอนในมือสั่นเลย” “ควรไปอยู่กับโรฮิงยา” หรือ “เกี่ยวกับ ISIS แน่ๆ” และอื่นๆ อีกมาก แม้มันอาจจะดูเหมือนเป็นเพียงคอมเม้นต์ลอยลมจับต้องไม่ได้ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติที่คนไทยบางส่วนมีต่อชาวมุสลิม

ในความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ความพยายามในการสร้างความเข้าใจใหม่หรือสร้างความสงบสุขในสังคม อาจไม่ใช่หน้าที่ของแค่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็ได้

 

ทำไงดี สรรพากรอยากส่องการโอน-รับเงินในบัญชีของเรา

คนค้าขายออนไลน์อาจร้องเหวอ เมื่อเห็นข่าวว่าสรรพากรจะตรวจเข้ม เข้าไปสอดส่องเงินในบัญชีของเรา หลายคนถึงกับบอกว่า เห็นไหมล่ะ พร้อมเพย์ที่แสนไฮเทคพาเรามาถึงจุดนี้

แต่ช้าก่อน ลองฟังให้ชัดๆ ว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไร หรือเนื้อหามันเกี่ยวกับอะไรกันแน่

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งออกมาตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment Master Plan ได้ออกมากำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งรายงานข้อมูลบุคคลที่มี ‘ธุรกรรมพิเศษ’ ซึ่งหมายถึง มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 1. ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ 2. ตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป ในรอบหนึ่งปี

ถือเป็นการเขียนกฎหมายเพื่อทำให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยตรง และที่ทำให้หลายๆ คนเหวอ เพราะประจวบเหมาะกับนี่คือยุคที่เรากำลังวาดฝันถึงสังคมไร้เงินสด มีการรับเงิน หรือจ่ายค่าบริการต่างๆ ผ่าน QR code และ พร้อมเพย์ พอเจอข่าวแบบนี้ก็พานให้ก่นด่าเจ็บใจว่า หน็อย หลอกให้เรามาใช้เพราะจะเก็บภาษีเราเรอะ

แต่เว็บไซต์ TAXBugnoms ได้ให้ข้อมูลว่า เธอจะใช้หรือไม่ใช้พร้อมเพย์ มันก็เข้าข่ายอยู่ใต้กฎหมายนี้ทั้งนั้น

“เราต้องแยกก่อนว่าพร้อมเพย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใช้ในการโอนเงินและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิเลือกที่จะสมัครหรือยกเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้คือการระบุให้สถาบันการเงินต่างๆ มีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด (ธุรกรรมพิเศษ) ให้กับกรมสรรพากรตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่ทำก็มีความผิดกันไป”

และให้คำแนะนำด้วยว่า ถ้ากฎหมายนี้ได้ใช้จริง ก็แนะนำให้หมั่นทำบัญชีรายรับ-จ่าย เพื่อให้รู้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายรับจากอะไร และควรแยกบัญชีตามประเภทการใช้งาน เช่น สำหรับใช้จ่าย สำหรับรับเงินปันผลจากการลงทุน สำหรับรับเงินเดือน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อร้านค้าต่างๆ รับเงินผ่าน QR Code มากขึ้น การจับจ่ายซื้อขายเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกในระบบการรับ-โอนโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ร้านค้าต่างๆ ก็น่าจะเข้าข่ายแทบทั้งหมด เพราะเฉลี่ยรับโอนเพียงวันละ 8.3 ครั้งก็เข้าข่ายแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าคนค้าขายเป็นอาชีพน่าจะทำยอดได้มากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขนี้ยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 15 เมษายนนี้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ลองผละจากหน้าจอโซเชียลมีเดีย หรือใช้เวลาช่วงหยุดสงกรานต์ ไปศึกษารายละเอียดร่างฯ ดังกล่าว แล้วแสดงความคิดเห็นอันน่าจะเป็นประโยชน์ได้ ก่อนจะสายเกินไป

 

ออเจ้าก็ไม่ช่วยอะไร ช่อง 3 เปิดให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนด คุมรายจ่ายลดต้นทุน

อย่างที่ทราบว่าทางกลุ่มช่อง 3 หรือบมจ.บีอีซี เวิลด์ มีช่องทีวีดิจิทัลอยู่ถึง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 33 HD (ช่อง 3), ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันช่อง 33 HD เป็นช่องหัวหอกหลักสร้างรายได้ ในขณะที่ช่อง 28 SD และช่อง 13 Family เน้นเจาะกลุ่มผู้ชมตามกลุ่ม มาเติมเต็มในส่วนที่ช่อง 33 HD ขาดไป

แต่สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลดูจะไม่สดใสหนัก คือนอกจากต้นทุนที่สูงแล้ว ทางผู้บริหาร ประชุม มาลีนนท์ บอกกับประชาชาติธุรกิจว่า เนื่องจากจำนวนช่องเท่าเดิม แต่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีไม่ได้โตขึ้น แถมยังมีการแข่งขันด้านราคาโฆษณาของแต่ละช่อง ทำให้เป็นปัญหาโครงสร้างตลาดรวม โดยการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดเท่าเดิม งบโฆษณาก็ยังไม่ดี

แนวทางหนึ่งคือพยายามเพิ่มรายได้จากทุกช่องทาง ทั้งการบริหารศิลปิน ขายคอนเทนต์ละคร พร้อมทั้งพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้แข็งแรง ทั้งแอปพลิเคชั่น MelloThailand และเว็บไซต์ Mello.me และจะไม่มีการคืนช่องแต่อย่างใด โดยต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ให้ได้

แนวทางหนึ่งที่ช่อง 3 กำลังทำคือ การลดต้นทุนในส่วนของพนักงาน ซึ่งปัจจุบันช่อง 3 มีพนักงานทั้งสิ้น 2,000 กว่าคน โดยเปิดให้เกษียณก่อนกำหนด (Early Retired) เป็นการด่วนในช่วงเวลาสงกรานต์ และจะได้เงินชดเชย 10 เท่าของเงินเดือน

แผนการลดพนักงานได้พุ่งเป้าไปที่ทีมข่าวที่มีอยู่ 600-800 คน ทำให้ต้นทุนสูง งานซ้ำซ้อน จนต้องหามาตรการรัดเข็มขัด โดยเบื้องต้น อยากให้มีคนเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 100 คน และปรับผังใหม่ โดยลดสัดส่วนรายการข่าวในช่อง 13 ออกเกือบหมด ลดสัดส่วนรายการที่ผลิตเอง และหันไปใช้คอนเทนต์ที่ซื้อจากต่างประเทศเพราะต้นทุนถูกกว่า และการรีรันคอนเทนต์เดิม ขณะที่ช่อง 33 เอชดี ก็มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ว่าจะลดรายการข่าวลง ในการชี้แจงกับบรรดานักลงทุนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่าผังรายการข่าวของช่อง 33 HD ในปี 2561 จะมีการปรับลดสัดส่วนของรายการข่าวลดลง และเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทบันเทิงให้มากขึ้น

แม้ตอนนี้กระแสละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ จะมาแรงแค่ไหน ถึงขนาดเป็นละครที่มีเรทติงมากที่สุดนับแต่เริ่มมีทีวีดิจิทัลมา โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 17.40 มากกว่าละคร ‘นาคี’ ของช่อง 3 เช่นกันที่ออกอากาศเมื่อปี 2559 ซึ่งได้ตัวเลขอยู่ที่ 17.29 แลช่วยให้ช่อง 3 ทั้งสถานีมีเรทติงแซงช่อง 7 ได้เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถขายเวลาโฆษณาได้ถึงนาทีละ 480,000 บาท และบรรดาสินค้าสปอนเซอร์ต่างก็จองเวลาจนหมดทุกวินาที ทั้ง 15 ตอนปกติ และอีก 3 ตอนพิเศษ ที่จะออนแอร์จนหมดเกลี้ยง ถ้าคิดเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวก็น่าจะทำรายได้ให้กับช่อง 3 ถึง 270 ล้านบาท ตามรายงานข่าวของมติชน

แต่ความนิยมนี้ก็อาจไม่ช่วยอะไรมากนัก เมื่อพิจารณาผลประกอบการปีที่แล้ว แม้มีรายได้อยู่ที่ 11,035 ล้านบาท แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมากทำให้กำไรหดเหลือเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น

เรียกว่าเป็นสถานการณ์ของช่อง 3 ที่ยังเหนื่อย และสะท้อนให้เห็นว่า ทำทีวีดิจิทัลให้กำไรไม่ใช่เรื่องง่าย

Tags: , , , , , ,