“พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก ส่วนชาวดัทช์คือผู้สร้างเนเธอร์แลนด์”
ผมได้ยินประโยคอหังการนี้จากวีดีโอสั้นๆ ก่อนเข้าชมคินเดอร์ไดค์ (Kinderdijk) กลุ่มกังหันลม 19 หลังบนพื้นที่ราบลุ่มที่ทำงานร่วมกันเป็นระบบบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่อายุเกือบ 280 ปี และได้รับสถานะเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1997
กลุ่มกังหันนี้แสดงให้เห็นถึงความตรากตรำและความไม่ยอมแพ้ต่อ ‘น้ำ’ ศัตรูตัวฉกาจที่ชาวดัทช์ต้องประมือมาตั้งแต่สมัยโบราณ เกิดเป็นต้นแบบเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่โด่งดังไปทั่วโลก
เนเธอร์แลนด์ แปลตรงตัวหมายความว่า ‘ประเทศต่ำ’ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หากย้อนกลับไปในอดีต ชาวดัทช์นี่แหละที่เปลี่ยนจากพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ให้กลายเป็นผืนดินแห้งๆ อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ โดยมีกำแพงยาวร่วม 2,400 กิโลเมตรเพื่อกันน้ำ ไม่เช่นนั้นพื้นที่ราวร้อยละ 65 ของประเทศก็จะถูกน้ำท่วมแบบรายวัน
คินเดอร์ไดค์ กลุ่มกังหันลมและระบบจัดการน้ำโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดในเนเธอร์แลนด์จึงเป็นภาพแทนของประวัติศาสตร์ชีวิตติดน้ำของชาวดัทช์ แถมกลไกดังกล่าวก็ยังสามารถทำงานได้ในฐานะระบบสูบน้ำสำรองในกรณีที่เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าขัดข้อง
ที่สำคัญ คินเดอร์ไดค์ยังอยู่ไม่ไกลจากเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างร็อตเตอร์ดัม (Rotterdam) สามารถโดยสารรถเมล์น้ำจากใจกลางเมืองไปได้โดยใช้เวลาแค่ 20 นาที และที่ขาดไม่ได้กับการเที่ยวสไตล์ดัทช์ก็คือจักรยานคู่ใจที่โครงสร้างทุกอย่างในเนเธอร์แลนด์พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับนักปั่น (ถ้าใครไม่ได้พกจักรยานมาด้วย ก็สามารถเช่าได้จากสถานีรถไฟใจกลางร็อตเตอร์ดัมได้ในราคาไม่แพง)
กังหันสร้างชาติ
ผมปั่นจักรยานคู่ใจไปตามถนนเลียบคลอง พลางมองไปยังสองข้างทางที่แวดล้อมด้วยกังหันลมที่กำลังสะบัดใบพัด หน้าที่ของกังหันทั้ง 19 หลังคือผันน้ำจากคลองและน้ำจากที่ลุ่มซึ่งอยู่ค่อนข้างต่ำไปยังแม่น้ำที่อยู่สูงขึ้นไปเพื่อผลักน้ำที่อยู่ในผืนดินให้ไหลออกไปยังทะเลกว้าง
อย่างไรก็ดี ฟังก์ชันของกังหันลมเหล่านี้ใช่ว่าจะใช้ผันน้ำได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสิ่งที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตชาวดัชต์ด้วย หากมีโอกาสตระเวนไปรอบเนเธอร์แลนด์ก็จะเห็นกังหันลมเป็นสัญลักษณ์ โดยเฉพาะบริเวณฮอลแลนด์ใต้ (Zuid-Holland) ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นชุมชนกังหันลมและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้ผืนดินแห้งแล้ว กังหันลมยังทำหน้าที่บดเมล็ดข้าวให้เป็นแป้ง บดหินสวยให้เป็นผงสีสำหรับจิตรกร รีดน้ำมันจากเมล็ดพืช ผลิตกระดาษ ปั่นด้าย รวมถึงเป็นโรงงานเลื่อยไม้ประสิทธิภาพสูงที่ผลิตวัตถุดิบคือไม้แผ่นสำหรับก่อสร้างเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความมั่งคั่งจากการค้าทางทะเลของเนเธอร์แลนด์กับประเทศต่างๆ ตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงตะวันออกไกล
เมื่อใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ ก็แน่นอนว่ากังหันลมย่อมมีหลายรูปแบบ กังหันในคินเดอร์ไดค์แทบทั้งหมดจะเป็นประเภท ‘กราวด์เซเลอร์’ (ground-sailors) ใบพัดจะยาวเฉียดพื้น เวลาเดินเข้าไปชมจะได้ยินเสียงใบพัดของกังหันตีลมเป็นจังหวะหนักแน่นในระยะใกล้จนอยากเอื้อมมือไปจับ ที่สำคัญ กังหันเหล่านี้ยังมีกลไกในการหมุนส่วนหัวเพื่อเปลี่ยนทิศทางใบพัดให้รับกับทิศทางลมได้อีกด้วย
นอกจากใช้ในเชิงอุตสาหกรรม กังหันลมยังเป็นเครื่องมือสื่อสารในยุคที่ไร้โทรศัพท์มือถือ โดยสังเกตได้จากทิศทางของใบพัดขณะที่หยุดทำงาน เช่น ครอบครัวกำลังจะมีสมาชิกใหม่ งานแต่งงาน หรือแม้กระทั่งการจากไปของสมาชิกในครอบครัว
สิ่งที่ทำให้คินเดอร์ไดค์ยังมีชีวิต ก็เพราะกังหันจำนวนไม่น้อยยังครอบครองโดยครอบครัวดั้งเดิม (และมีผู้อยู่อาศัย) กังหันบางหลังยังเปิดให้ผู้คนได้เข้าไปรู้จักชีวิตของชาวกังหัน (Millers) ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ชีวิตติดลม
จะดีไหมถ้าได้อาศัยอยู่ในบ้านกังหันหลังน้อยสุดแสนโรแมนติก?
หลังจากได้สัมผัสด้วยสองตา สองหู และสองขา ผมตอบได้คำเดียวเลยว่า “ไม่” และเมื่อได้รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของชาวกังหันในสมัยที่ลมยังเป็นพลังงานสำคัญป้อนให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอาชีพดูแลกังหันนั้นดูห่างไกลจากอาชีพในฝัน เพราะทุกวัน ไม่ว่ากลางวัน กลางคืน หรือสภาพอากาศเลวร้ายเพียงใด หากมีลมเพียงพอที่จะทำให้กังหันหมุนพัด ชาวกังหันก็จำต้องทำงานเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย
อาชีพควบคุมกังหันลมส่งต่อจากพ่อสู่ลูก เพราะนอกจากจะต้องทราบถึงกลไกและการซ่อมบำรุงแล้ว ชาวกังหันยังต้องเชี่ยวชาญสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหาจากไหนไม่ได้นอกจากเก็บเกี่ยวกระสบการณ์
กังหันแต่ละหลังจะมีครอบครัวประจำอยู่หนึ่งครอบครัว พื้นที่ชั้นล่างแทบจะถูกเบียดเต็มด้วยกลไกที่ทำให้กังหันหมุนได้ ชั้นสองเป็นห้องนอนของคู่สามีภรรยา ส่วนชั้นใต้หลังคาจะถูกจับจองโดยเหล่าเด็กๆ พื้นที่ใช้สอยที่น้อยแสนน้อยนิดแต่งเติมด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบเพื่อประหยัดพื้นที่ แม้แต่เตียงก็ถูกทำให้เล็กแคบจนน่าอึดอัด แต่สิ่งที่น่ารำคาญใจในบ้านกังหันก็คือ เจ้ากลไกกังหันที่ส่งเสียงดังตลอดเวลา แถมยังมีเสียงใบพัดตีตัดอากาศดังต่อเนื่อง ยังไม่นับการที่ใบพัดตัดผ่านหน้าต่าง ทำให้แสงที่เข้าสู่ภายในบ้านคล้ายกับไฟกระพริบเป็นจังหวะ
สำหรับผม กังหันลมไม่ใช่บ้านในฝันแน่ๆ
ชาวกังหันจะได้รับค่าตอบแทนไม่มากนักจากสำนักงานการระบายน้ำ (Drainage Administration) ทำให้ครอบครัวชาวกังหันต้องหาลำไพ่พิเศษเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่การรับจ้างในภาคการเกษตร ปลูกผักขาย รวมถึงจับปลาที่มากับน้ำเพื่อจำหน่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพดังกล่าวเกือบสูญพันธุ์หลังจากที่มีเทคโนโลยีอย่างไฟฟ้า ที่นำไปสู่เครื่องจักรซึ่งสามารถทดแทนพลังงานลมได้ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล
นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 จำนวนกังหันลมก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ จนเหลือเพียงราวร้อยละ 10 ภายในระยะเวลาเพียงราวหนึ่งศตวรรษ
กังหันกำลังจะตาย ?
ท่ามกลางวิกฤตการณ์กังหัน ชมรมกังหันชาวดัทช์ (De Hollandsch Molen) ก็ก่อตั้งขึ้นในปี 1923 ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐจนเกิดเป็น ‘พระราชกฤษฎีกากังหันลม (Windmill Decree)’ เมื่อปี 1941 ที่ห้ามไม่ให้ทุบทำลายกังหันลมเว้นแต่จะได้รับอนุญาต อีกทั้งยังก่อตั้งกองทุนเพื่อใช้สำหรับซ่อมบำรุงกังหันลม จุดกำเนิดของความรุ่งเรื่องในอดีตจึงถูกเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน โดยภาครัฐและสมาคมนักกังหันอาสาสมัคร (Guild of Voluntary Millers)
แม้ว่าจะรักษาอาคารกังหันไว้ได้ แต่องค์ความรู้ว่าด้วยการจัดการกังหันลมที่เคยสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นก็เริ่มสูญหาย สมาคมนักกังหันอาสาสมัครเป็นกลุ่มคนรักกังหันที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการรักษาองค์ความรู้เหล่านั้นเอาไว้ โดยเปิดคอร์สอบรมระยะเวลา 2 ปี สำหรับนักกังหันฟรีแลนซ์ที่ต้องการใช้เวลาว่างในบ้านกังหันลม เมื่อจบคอร์สและผ่านการทดสอบ เหล่าผู้ผ่านการอบรมก็จะได้เป็นชาวกังหันเต็มตัว
อีกภัยคุกคามหนึ่งของกังหันลมในเนเธอร์แลนด์คือการสูญเสียนิเวศกังหันลม (windmill biotope) หมายถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำงานของกังหันลม แนวคิดดังกล่าวสามารถสืบย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีแนวคิดการปกป้องกังหันลมเรียกว่า “สิทธิในลม (wind rights)” หมายถึงสิทธิที่กังหันลมจะได้รับลมเพียงพอที่จะให้ใบพัดหมุนไปได้ โดยมีการคุ้มครองไม่ให้ก่อสร้างอาคาร หรือปลูกต้นไม้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการหมุนของกังหันลม
สมาคมกังหันดัทช์ (Vereninging de Hollandsche Molen) พยายามผลักดันให้รัฐเห็นความสำคัญของนิเวศกังหันลม จนเกิดเป็นหลักปฏิบัติว่า ไม่ควรก่อสร้างอาคารที่สูงกว่าจุดที่ต่ำที่สุดของใบพัดในระยะ 100 เมตร อย่างไรก็ดี ไม่ใช่กังหันทุกที่จะมีโอกาสรับลมเพียงพอ เช่น กังหันในเมืองเฮค (The Hague) ที่แวดล้อมไปด้วยตึกสูงจนใบพัดแทบไม่มีโอกาสได้หมุน
ปัจจุบัน กังหันลมในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีฟังก์ชันการผลิตอีกต่อไป แต่ได้ปรับสถานะเป็นสัญลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว บ้างถูกเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร บ้างถูกเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีศิลปะ บางแห่งถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นออฟฟิศ ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงบ้านพักตากอากาศ
แต่เรื่องเล่าคงไม่เท่าเห็นด้วยสองตา สำหรับใครอยากสัมผัสกับกังหันลมท่ามกลางทัศนียภาพและสถานที่ตั้งดั้งเดิม สำรวจฟังก์ชันการทำงาน และชีวิตติดลมของชาวกังหัน คินเดอร์ไดค์คือจุดหมายปลายทางที่พลาดไม่ได้ แต่หากใครไม่สะดวกเดินทางไปถึงร็อตเตอร์ดัม ก็ยังมีทางเลือกที่จะเที่ยวชมหมู่บ้านกังหันลมซานส์ สคันส์ (Zaanse Schans) ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากอัมสเตอร์ดัม หรือถ้าใครถนัดการท่องเที่ยวแบบแรนดอม ผมขอแนะนำให้ตระเวนไปตามเมืองเล็กเมืองน้อยทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ รับรองว่าจะได้เจอกังหันหลากรูปแบบ หลายขนาด ต่างฟังก์ชัน ซุกซ่อนอยู่ตามรายทาง
ที่สำคัญ ไปเที่ยวเนเธอร์แลนด์ทั้งที่ อย่าลืมหาเช่าจักรยานมาขี่เที่ยวนะจ๊ะ
เอกสารประกอบการเขียน
- World Heritage Kinderdijk
- Kinderdijke โดย World Hertitage Kinderdijk
- Mills of the Kinderdijke
- Visit the Windmill in Zuid-Holland โดย Roel Pots และ Ellen Steendam
Tags: Kinderdijk, ดัชต์, ฮอลแลนด์, เนเธอร์แลนด์, คินเดอร์ไดค์