เมื่อช่วงเวลาแห่งการเกณฑ์ทหารและการจับใบดำใบแดงมาถึง หนึ่งในไฮไลท์ที่ผู้คนให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่าการได้เห็นดาราหนุ่มๆ หล่อๆ ถอดเสื้อ คือการเห็นผู้หญิงข้ามเพศแต่งตัวสวยๆ มายื่นเอกสารการเกณฑ์ทหาร ยิ่งหน้าตาสวยเท่าไร ผู้คน รวมถึงสื่อก็ยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นเท่านั้น แห่เข้าไปถ่ายรูป ลงข่าว ออกโทรทัศน์ ทั้งสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้คน ซึ่งผิวเผินก็ดูเหมือนไม่มีอะไรในทางลบ แต่ลึกลงไปแล้ว เสียงหัวเราะทำให้เราละเลยปัญหาเรื่องเพศกับการเกณฑ์ทหารที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดเสียที

และในช่วงหลังการเลือกตั้งที่การเกณฑ์ทหารถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ยังควรจะมีอยู่หรือไม่ในสังคมไทย คนรักเพศเดียวกันพลาดโอกาสอะไรไปหรือเปล่าที่จะทำให้สังคมเข้าใจมิติเรื่องเพศที่กว้างขึ้นกว่าเดิม

ภาพบรรยากาศการเกณฑ์ทหารที่ย่านบางนา กรุงเทพฯ เมื่อปี 2015 ภาพโดย Athit Perawongmetha/REUTERS

จาก “วิกลจริต” สู่ “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

หากจะมีใครสักคนเต็มใจเป็นอาสาสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารและเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังของชาติคงถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมไม่น้อย แต่นั่นคงไม่ใช่เป้าหมายของคนรักเพศเดียวกับหรือผู้หญิงข้ามเพศแน่ๆ เพราะเมื่อก่อน เราได้ยินข่าวเรื่องของผู้หญิงข้ามเพศถูกล่วงละเมิด คุกคาม บังคับให้ถอดเสื้อต่อหน้าสาธารณะทั้งที่ผ่าตัดหน้าอกแล้ว ถูกแซวและล้อเลียนอยู่บ่อยๆ การเกณฑ์ทหารสำหรับพวกเขาจึงเป็นหนึ่งห้วงเวลาของชีวิตที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ขอให้ผ่านไปไวที่สุด เพราะมากกว่าค่าเสียโอกาสในชีวิต คือการกลายเป็นสัตว์ประหลาดหรือถูกทำให้เป็นตัวตลก หรือหากจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ก็จะต้องยอมรับว่าตนเองเป็น “บุคคลทุพลภาพ” “วิกลจริต” “โรคจิตถาวร”

ในปี 2549 เครือข่ายความหลากหลายทางเพศเข้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาเรื่องนี้ และได้รับการเปลี่ยนแปลงในปี 2555 โดยศาลปกครองมีคำสั่งให้เปลี่ยนคำอธิบายเหล่านั้นเป็น “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แต่การเปลี่ยนในระดับภาษานี้ก็ดูเหมือนจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคปฏิบัติสักเท่าไหร่

แม้ว่าทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจะเคยพูดถึงประเด็นเรื่องไม่อยากให้สาธารณชนโฟกัสเรื่องความสวยงามของผู้หญิงข้ามเพศที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารและตีแผ่ออกมาในเชิงตลก เพราะการนำเสนอเพียงเท่านี้ไม่ทำให้สังคมเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงในเชิงลึก สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวมากกว่าผู้ชายทั่วไปมากเพียงใด และได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ทหารอย่างไร 

บรรยากาศของการเกณฑ์ทหารในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2015 โดย Athit Perawongmetha/REUTERS

รัฐที่แบ่งพลเมืองด้วยอวัยวะเพศ คือรัฐที่มีอคติทางเพศ

การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นร้อนแรงและเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคใช้หาเสียง และดูเหมือนว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่ในบรรดาหลายเรื่อง ก็มีหนึ่งมิติที่ยังไม่ถูกพูดถึง คือมิติเรื่องเพศ

เอาเข้าจริง คำว่า “เพศกำเนิด” ก็ดูเหมือนจะยังคงมีปัญหาในตัวของมันเองด้วยซ้ำ เพราะในโลกหลังสมัยใหม่ที่นักคิดจำนวนไม่น้อยนำเสนอว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่มีอะไรติดตัวมาแต่กำเนิด อวัยวะเพศไม่ใช่ตัวกำหนดพฤติกรรมทางเพศ รวมถึงเพศวิถีและเพศเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและเป็นสิ่งประกอบสร้างผ่านสัญญะทางสังคม เพราะฉะนั้น คำว่า “เพศกำเนิด” ในความหมายของตัวมันเองยังคงฟ้องนัยยะลึกๆ ว่า เพศของมนุษย์ถูกกำหนดโดยอวัยวะเพศ และการผิดเพี้ยนไปจากเพศกำเนิดก็ยังถือเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องได้รับข้อยกเว้น

กล่าวคือ การยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า รัฐยังคงใช้อวัยวะเพศในการแบ่งประเภทของพลเมือง และรัฐต้องการเอาพลเมืองที่มีเพศและวัยที่แข็งแรงที่สุดมาใช้ประโยชน์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการแบ่งแยกนี้อยู่บนพื้นฐานของความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่เชื่อว่าผู้ชายแข็งแกร่งและเหมาะสมในการปกป้องประเทศจากภัยความมั่นคง

ขณะเดียวกัน มันก็ได้บอกเป็นนัยว่า เรื่องแบบนี้ผู้หญิงทำไม่ได้ แต่ความน่าภาคภูมิใจของผู้ชายนี้กลับเป็นภาระให้แก่ผู้ชายเองที่ต้องมาแบกรับภาระที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ หนักกว่านั้นคือ คนรักเพศเดียวกันและผู้หญิงข้ามเพศ ที่ต้องโดนบ่วงแห่จากการแบ่งพลเมืองจากอวัยวะเพศของรัฐไปเต็มๆ

พูดให้ถึงที่สุดคือ การเกณฑ์ทหารบนฐานของการแบ่งแยกทางเพศนี้ไม่เป็นผลดีกับใครเลย ซึ่งผิดกับในหลายประเทศที่เขาเลิกแบ่งพลเมืองจากอวัยวะเพศไปแล้ว การยกเลิกคำนำหน้าชื่อ การยกเลิกห้องน้ำแบ่งเพศ สิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในรัฐที่เข้าใจมิติของความหลากหลายทางเพศและเชื่อในความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน มันจึงน่าเสียดายมากว่า ในช่วงที่สังคมถกเถียงเรื่องการเกณฑ์ทหาร คนรักเพศเดียวกันและผู้หญิงข้ามเพศควรฉกฉวยโอกาสนี้ด้วยซ้ำเพื่อขจัดเครื่องมือของรัฐที่แฝงด้วยอคติทางเพศนี้ออกไป… แต่ก็ไร้ซึ่งสัญญาณที่จะเกิดขึ้นได้

ตราบเท่าที่เรายังคงสนุกสนานกับการเป็นคนพิเศษแบบพิกลพิการหรือตัวตลกให้กับคนในสังคม ความฝันที่ได้มาซึ่งสังคมที่ปราศจากอคติทางเพศก็จะยังคงเป็นฝันลมๆแล้งๆ เพราะสำนึกของการอยากเป็นคนพิเศษไม่มีทางจะทำให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียม

 

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.posttoday.com/politic/report/424568

ที่มาภาพเปิด: Athit Perawongmetha/REUTERS

 

หมายเหตุ: บทความนี้แก้ไขเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2562