สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ กำแพงภาษี (Tariff) เปรียบเสมือนเรื่องสยองขวัญที่อาจารย์เศรษฐศาสตร์มักหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์มาเล่าในห้องเรียน หากเป็นตำราของนักเรียนอเมริกันก็คงหนีไม่พ้นกฎหมายกำแพงภาษีของฮอว์ลีย์และสมูท (Hawley-Smoot Tariff Act) เมื่อปี 1930 ซึ่งผลักดันโดยรีด สมูท (Reed Smoot) และวิลลิส ฮอว์ลีย์ (Willis Hawley) สองสมาชิกพรรครีพับลิกัน ที่โปรนโยบายปกป้องนิยม (Protectionism) อย่างออกหน้าออกตา โดยหวังว่ากำแพงภาษีจะช่วยให้ชาวอเมริกันมีงานทำ และกีดกันไม่ให้สินค้าของชาวต่างชาติมารุกล้ำในตลาดในประเทศ

เรียกได้ว่าเป็นนโยบายโดยอเมริกัน เพื่ออเมริกัน แบบอเมริกันต้องมาก่อน!

แน่นอนครับว่า นโยบายดังกล่าวย่อมมีกระแสต่อต้านจากนักเศรษฐศาสตร์ แต่ในขณะนั้น เสียงของเหล่าเกษตรกรและหนุ่มสาวโรงงานอเมริกันชนต่างก็กำลังหวาดกลัวกระแสโลกาภิวัตน์ที่อาจทำให้พวกเขาตกงาน สุดท้ายกฎหมายนี้ก็คลอดออกมาโดยระบุว่า จะจัดเก็บภาษีขาเข้าของสินค้ากว่า 20,000 รายการ

เมื่อสหรัฐฯ เดินหน้าปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศแบบออกหน้าออกตา แน่นอนว่าประเทศอื่นย่อมไม่อยู่เฉย ต่างก็ประกาศนโยบายต่อต้านกำแพงภาษีดังกล่าว โดยรวมตัวกันตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าอเมริกันเช่นกัน เกิดเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ ทำให้การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงราว 26 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)

สองปีหลังจากที่กฎหมายกำแพงภาษีของฮอว์ลีย์และสมูทถูกบังคับใช้ ไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองท่านจะถูกโหวตออกจากตำแหน่ง และสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาร่วมทศวรรษเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าโลกที่เป็นผลพวงมาจากกฎหมายดังกล่าว

เขียนมาซะยาว หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าการค้าระหว่างประเทศมันจะสำคัญอะไรกันนักกันหนา อย่างประเทศไทยที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปิดประเทศแบบภูฏานอย่างที่ท่านนายกฯ เคยเปรยไว้ก็ดูจะเป็นยูโทเปียไม่น้อย

ก่อนที่เราจะฝันหวานไปกว่านี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสองหมู่บ้าน คือหมู่บ้านป้อมใหญ่ และหมู่บ้านเปรมชนะ ในโลกที่มีสินค้าสองประเภทคือนาฬิกา และหนังสัตว์ โดยสมมติว่าหมู่บ้านป้อมใหญ่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกา ในขณะที่หมู่บ้านเปรมชนะมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตหนังสัตว์

ก่อนทั้งสองหมู่บ้านจะทำมาค้าขายระหว่างกัน ต่างก็ต้องพึ่งพาทรัพยากรทั้งกำลังคนและเงินลงทุนในการผลิตสินค้าทั้งสองประเภท (แม้ว่าจะไม่เชี่ยวชาญก็ตาม) เพื่อตอบสนองความต้องการภายในหมู่บ้าน อย่างไรก็ดี การใช้ทรัพยากรในลักษณะดังกล่าวถือว่าไร้ประสิทธิภาพ หากเปรียบเทียบกับกรณีที่มีการค้าระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านสามารถเน้นผลิตสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ (ใช้ทรัพยากรต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ) แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างสองระบบเศรษฐกิจ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น หรือสินค้ามีราคาถูกลง (สำหรับใครที่สนใจ ผู้เขียนแสดงการคำนวณเปรียบเทียบคร่าวๆ ไว้ในตอนท้ายของบทความ)

นี่คือหัวใจของเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่คำนึงถึงความได้เปรียบในการผลิตซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ต้นทุนแรงงาน ลักษณะสภาพภูมิอากาศ รวมถึงระดับการพัฒนาเทคโนโลยี โลกอุดมคติของการค้าระหว่างประเทศคือการซื้อขายสินค้าได้อย่างเสรี เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้าที่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด แล้วจึงนำมาแลกเปลี่ยนกัน

โลกอุดมคติของการค้าระหว่างประเทศคือการซื้อขายสินค้าได้อย่างเสรี เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้าที่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด แล้วจึงนำมาแลกเปลี่ยนกัน

ในทางกลับกัน ประเทศที่เลือกไม่ทำการค้าระหว่างประเทศ จะต้องจำใจผลิตสินค้าซึ่งตนเองไม่มีความรู้ ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง และได้สินค้าที่มีคุณภาพต่ำ หากเทียบกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งเชี่ยวชาญกว่า

นอกจากนี้ การค้าขายระหว่างประเทศยังเป็นการเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้นและมีความต้องการที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น นั่นหมายความว่าเรามีโอกาสใหม่ๆ ที่จะผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อจำหน่ายให้กับประเทศอื่นๆ เป็นการสร้างอาชีพ อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก

เมื่อการค้าระหว่างประเทศสร้างประโยชน์โพดผลมากมายขนาดนี้ แล้วเราจะมีกำแพงภาษีไปเพื่ออะไร?

เหตุผลของนโยบายดังกล่าวมีสามแนวทาง ทางแรกคือปกป้องอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เพราะยังไม่ปีกกล้าขาแข็งพอที่แข่งกับคู่แข่งเขี้ยวลากดินในตลาดโลกได้ ทางที่สองคือปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งกำลังตกยุคตกสมัย และโดนต่างชาติใช้ข้อได้เปรียบ เช่น ต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่งสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาด คำตอบดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญของนักการเมืองหลายยุคหลายสมัย เพราะต้องการปกป้องทั้งปากท้องของฐานเสียงไม่ให้เอาใจออกห่าง

ส่วนเหตุผลสุดท้าย คือการตั้งกำแพงภาษีเพื่อตอบโต้กับประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีก่อนแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะเป็นพากันลงนรกที่เรียกว่า ‘สงครามการค้า’ นั่นเอง ส่วนกลุ่มประเทศที่ซวยที่สุดก็หนีไม่พ้นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เช่น ประเทศไทย และประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น เหล่าประเทศขนาดเล็กต่างๆ ที่กำลังการผลิตไม่เพียงพอจะตอบสนองความต้องการทุกด้านของประชาชน

หลังจากบทเรียนเรื่องกำแพงภาษีของฮอว์ลีย์และสมูท ที่ตัวแทนจากทุกรัฐต่างต้องการยัด ‘สินค้าสำคัญ’ เข้าไปในลิสต์ดังกล่าวจนยืดยาวราว 20,000 รายการเพื่อแลกกับการโหวตให้กฎหมายผ่าน อำนาจการประกาศกำแพงภาษีรอบนี้ อยู่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขวัญใจมวลมหาอเมริกันชน

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศกำแพงภาษี ‘กระตุกหนวดมังกร’ สองรายการคือเหล็กกล้า 25 เปอร์เซ็นต์ และอลูมิเนียม 10 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รับคำเตือนจากเหล่าสมาคมพ่อค้าในสหรัฐฯ ให้งดเว้นการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศจีน แต่มีหรือที่ทรัมป์จะรับฟัง ยังยืนกรานตั้งกำแพงภาษีต่อไปจนกระทั่งจีนทนไม่ไหว ออกนโยบายกำแพงภาษีโต้กลับ 128 รายการเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทรัมป์เองก็ไม่รอช้า ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 เมษายนว่าจะตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าเทคโนโลยีจากจีน 1,300 รายการ คิดเป็นมูลค่านำเข้าราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่าจีนใช้วิธีสกปรกเพื่อขโมยเทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกัน เช้าวันถัดมา จีนโต้ด้วยกำแพงภาษีสินค้า 106 รายการตั้งแต่สินค้าเกษตรอย่างถั่วเหลือง ไปจนถึงชิ้นส่วนเครื่องบินคิดเป็นมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกัน

กราฟแสดงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและจีนระหว่าง ค.ศ. 2000 – 2016 ช้อมูลจากสำนักงานสถิติสหรัฐอเมริกา (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

บอกได้คำเดียวว่า นี่มันพล็อตโบร่ำโบราณของสงครามการค้าชัดๆ แต่โชคดีที่ศตวรรษที่ 21 ยังมีองค์กรโลกบาลเพื่อปกป้องการค้าระหว่างประเทศชื่อว่าองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ตบโต๊ะให้ทั้งสองประเทศหยุดการละเล่นดังกล่าวและนั่งคุยกัน โดย WTO เสนอตัวเป็นคนกลางให้

แต่ทรัมป์ก็คือทรัมป์ เพราะเขาตอกกลับ WTO ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับจีนซึ่งชื่อติดอยู่ในลิสต์ประเทศกำลังพัฒนาทำให้ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา แถมยังไม่มีทีท่าจะลดราวาศอกกับสงครามการค้าที่เริ่มร้อนระอุ

ผู้เขียนบอกได้เลยว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเป็นแค่การ ‘อุ่นเครื่อง’ เพราะมูลค่าสินค้าที่โดนกำแพงภาษียังถือว่าจิ๊บจิ๊บ หากเปรียบเทียบกับสัดส่วนการค้าของทั้งสองประเทศ มวยคู่หยุดโลกคู่นี้จึงยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และอาจกลายเป็นหัวข้อธีสิสของนักศึกษาปริญญาโทในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าด้วยสงครามการค้าในศตวรรษที่ 21

 

 

Did You Know?

หากเราต้องการทราบว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศพึ่งพิงการส่งออกมากแค่ไหน ก็สามารถพิจารณาได้คร่าวๆ จากสัดส่วนสินค้าและบริการส่งออกต่อจีดีพี

ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีสัดส่วนสินค้าและบริการส่งออกต่อจีดีพีอยู่ที่ราว 69 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าถ้าวันหนึ่งประเทศไทยตัดสินใจปิดประเทศเมื่อไหร่ แรงงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ที่ทำงานสร้างมูลค่าคิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ของระบบเศรษฐกิจไทยอาจตกงานเพราะกำลังการจับจ่ายใช้สอยในประเทศนั้นไม่เพียงพอที่จะโอบอุ้มแรงงานเหล่านั้นได้นั่นเอง ฝันของการปิดประเทศจึงเป็นแค่ ‘ยูโทเปียชำรุด’ ของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกอย่างไทย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

สำหรับกรณีศึกษาการค้าระหว่างหมู่บ้านป้อมใหญ่และเปรมชนะ ขอเริ่มจากการตั้งสมมติฐานว่าสองหมู่บ้านมีทรัพยากรคือแรงงาน 100 หน่วย และทุน 50 หน่วยเท่าเทียมกัน โดยการผลิตนาฬิกาหนึ่งเรือน และหนังสัตว์หนึ่งชิ้นของทั้งสองหมู่บ้านจำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรตามตารางด้านล่าง เช่น หมู่บ้านป้อมใหญ่จะต้องใช้แรงงาน 10 หน่วยและทุน 5 หน่วยในการผลิตนาฬิกา 1 เรือน ในขณะที่ต้องใช้แรงงาน 20 หน่วย และทุน 10 หน่วยเพื่อผลิตหนังสัตว์หนึ่งชิ้น (เพราะไม่เชี่ยวชาญ)

หากทั้งสองหมู่บ้านต้องการทั้งนาฬิกาและหนังสัตว์อย่างละ 5 ชิ้น ในสถานการณ์ที่ไม่มีการซื้อขายระหว่างหมู่บ้าน แม้ว่าจะทุ่มเทแรงงานและทุนทั้งหมด แต่หมู่บ้านป้อมใหญ่ก็จะผลิตนาฬิกาได้ 5 เรือน และหนังสัตว์ได้ 2.5 ชิ้น ส่วนหมู่บ้านเปรมชนะจะผลิตนาฬิกาได้ 2.5 เรือนและหนังสัตว์ 5 ชิ้น ภาพรวมเศรษฐกิจสองหมู่บ้านคือ ผลิตหนังสัตว์และนาฬิกาได้รวม 7.5 ชิ้น เหตุผลก็เพราะทั้งสองหมู่บ้านต้องจำใจผลิตสินค้าที่ตนเองไม่ถนัดเพื่อตอบสนองความต้องการนั่นเอง

แต่หากมีการค้าระหว่างกัน ทั้งสองหมู่บ้านก็สามารถทุ่มเทในการผลิตสินค้าที่ตนเองถนัด (ใช้ทรัพยากรในการผลิตต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ) จนเติมเต็มความต้องการในตลาด จะเห็นว่าในกรณีนี้ หมู่บ้านป้อมใหญ่เลือกผลิตนาฬิกา 10 เรือน และนำส่วนเกิน 5 เรือนส่งออกให้กับหมู่บ้านเปรมชนะ เช่นเดียวกับหมู่บ้านเปรมชนะที่เลือกผลิตหนังสัตว์และส่งออกส่วนเกินให้กับหมู่บ้านป้อมใหญ่ จะเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตขึ้นเพราะสามารถผลิตทั้งนาฬิกาและหนังสัตว์ได้อย่างละ 10 ชิ้น

Tags: , , , , , , ,