Toy Story 4 เป็นแฟรนไชส์ที่ต่อมาจาก ภาค 1, 2 และ 3 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยภาคแรกเริ่มออกฉายในปี 1995 และภาคที่ 4 นี้ทิ้งห่างจากภาค 3 ถึง 9 ปี ตัวแฟรนไชส์นี้มีธีมที่เล่นกับความเป็น ‘มานุษยรูปนิยม’ (Anthropomorphism) ซึ่งก็คือการเอาลักษณะ ความคิดอ่านแบบมนุษย์เข้าไปใส่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยเชื่อว่าของเล่นทุกชิ้นมีชีวิตเป็นของตัวเองตอนที่มนุษย์ไม่ได้มองอยู่ 

ในภาคแรกนั้น หนังเล่นกับเรื่องของการถูกแทนที่ โดยเล่าเรื่องของ ‘วู้ดดี้’ ตุ๊กตาคาวบอยตัวโปรดของเด็กชายชื่อแอนดี้ซึ่งกำลังจะถูกแทนที่โดย ‘บัซ ไลท์เยียร์’ ตุ๊กตานักบินอวกาศที่แอนดี้ได้เป็นของขวัญวันเกิด วู้ดดี้พยายามแกล้งบัซ แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้บัซหล่นจากหน้าต่างห้อง ทำให้วู้ดดี้และบัซต้องออกไปผจญโลกภายนอกด้วยกันจนกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด 

ขณะที่ภาคที่ 2 เน้นเรื่องการได้รับการจดจำ วู้ดดี้ถูกขโมยไปเพื่อที่จะขายให้กับพิพิธภัณฑ์ของเล่น ทำให้เขาได้พบกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่ในเซ็ตของเล่นหายากของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ‘เจสซี่’ คาวบอยสาว และ ‘บูลส์อาย’  ม้าของวู้ดดี้ ในภาคนี้วู้ดดี้ต้องเลือกระหว่างการกลับไปหาแอนดี้ ผู้ซึ่งอาจจะไม่เล่นกับเขาอีกแล้วเมื่อโตขึ้น กับการเป็นของสะสมในพิพิธภัณฑ์ ที่ซึ่งเขาจะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล ดูเหมือนว่าภาคที่ 2 นี้จะทำงานกับประเด็นเรื่องความหมายในการมีชีวิตของเหล่าของเล่นในเรื่องสเกลเวลา ทำให้ของเล่นตั้งคำถามว่า เจ้าของของพวกเขาจะยังเป็นเด็กและเล่นกับพวกเขาไปอีกนานเท่าไหร่ และยังตั้งคำถามว่า ของเล่นเหมาะจะอยู่กับเด็กหรือเป็นของสะสมมากกว่ากัน 

ส่วนภาคที่ 3 นั้นมีประเด็นเรื่องเจ้าของใหม่ เมื่อแอนดี้ขึ้นมหาวิทยาลัย เหล่าของเล่นของเขาก็ถูกนำไปบริจาคให้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกเล่นโดยเด็กๆ ไม่ซ้ำหน้ากัน ประเด็นที่ถูกยกขึ้นมานั้นก็คือ การไม่มีเจ้าของคนใดคนหนึ่งถือเป็นอิสรภาพของเหล่าของเล่น เพราะพวกเขาจะได้ไม่ต้องมีพันธะและผูกพันกับเด็กแค่คนเดียวซึ่งในวันหนึ่งอาจไม่เล่นพวกเขาอีกแล้ว 

ชีวิตของของเล่นในแฟรนไชส์ Toy Story นั้นผูกพันอยู่กับหมุดหมายไม่กี่อย่าง หมุดหมายแรก พวกเขาจะต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อเจ้าของเสมอในยามที่ต้องการ เป็นผู้คอยเฝ้าดูการเติบโตของเจ้าของอย่างปรารถนาดี หมุดหมายที่สอง การได้รับความรักจากเด็กคนหนึ่งถือเป็นความสุขสูงสุดของชีวิต ด้วยเหตุนั้น การถูกลืม ถูกทิ้ง ถูกแทนที่ จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนามากที่สุดด้วย ของเล่นหลายชิ้นในทุกภาคมีอดีตอันแสนขมขื่นกับเจ้าของเก่า ไม่ว่าจะเป็นเจสซี่ในภาค 2 ซึ่งถูกเจ้าของเก่าบริจาคไป และถูกเก็บเข้ากรุไว้เพื่อรอขายเป็นเวลานาน หรือล็อตโซ ตุ๊กตาหมีสีชมพูกลิ่นสตอร์วเบอร์รี่ในภาค 3 ที่ถูกลืมไว้นอกบ้านและกลับมาพบว่าเจ้าของซื้อตัวใหม่มาแทนเขา วู้ดดี้เป็นตัวแทนของของเล่นที่มีชีวิตค่อนข้างสมบูรณ์แบบ เพราะเจ้าของดูแลและรักเขามากกว่าของเล่นชิ้นอื่นๆ และยังคิดจะเก็บเขาไว้กับตัวเองแม้โตขึ้นแล้ว (อย่างน้อยก็ ณ เวลาหนึ่ง ก่อนที่เขาจะเติบโตขึ้นไปและสนใจเรื่องอื่น) เป้าหมายชีวิตของวู้ดดี้นั้นผูกโยงอยู่กับเจ้าของเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เจ้าของคนเก่า คือแอนดี้ และเจ้าของใหม่ในภาค 4 นามว่า ‘บอนนี่’

ในภาค 4 นี้ วู้ดดี้ได้พบกับฟอร์คกี้ ของเล่นที่บอนนี่สร้างขึ้นมาจากส้อมและเศษขยะ ฟอร์คกี้นั้นคิดว่าตนเองเป็นขยะ และจะโยนตัวเองทิ้งถังขยะเสมอเมื่อมีโอกาส ประเด็นเรื่องความหมายในการมีชีวิตอยู่ของของเล่นถูกจุดประกายจากตรงนี้ – จุดไหนที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างการเป็นของเล่นหรือขยะ? วู้ดดี้ต้องทำหน้าที่เป็นครูของฟอร์คกี้เพื่อสอนให้เขารู้จักนิยามของของเล่น ฉากหนึ่งที่น่าจดจำก็คือฉากที่วู้ดดี้กับฟอร์คกี้เดินไปตามถนนและพูดคุยกันเกี่ยวกับความหมายของการมีชีวิต ซึ่งวู้ดดี้ได้เล่าเรื่องของแอนดี้ให้ฟอร์คกี้ฟัง และยังพูดถึงหน้าที่ที่ของเล่นพึงมีแก่เจ้าของ นั่นก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งในวัยเด็กอันงดงามของเจ้าของ เพื่อให้พวกเขาหรือเธอเติบโตขึ้นได้อย่างดี ฟอร์คกี้เป็นของเล่นชิ้นสำคัญของบอนนี่ เพราะบอนนี่แนบชิดกับเขาทางความรู้สึกและเห็นเขาเป็นเพื่อนในวันที่เธอไม่มีใครเมื่อต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนใหม่

พัฒนาการที่สำคัญไม่ได้เกิดกับฟอร์คกี้ ซึ่งเริ่มเชื่อว่าตัวเองเป็นของเล่นจริงๆ เพียงตัวเดียว แต่เกิดขึ้นกับตัวละครอีกตัวที่จากไปในภาค 3 นั่นคือ ‘โบ พีพ’ ตุ๊กตาผู้หญิงเลี้ยงแกะ ซึ่งถูกนำไปให้คนอื่นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ประโยคหนึ่งก่อนจากไปของโบก็คือ “มีเด็กทำของเล่นหายทุกวัน” และพวกเขาก็อาจจะเจอของใหม่ในไม่ช้า โบได้กลายเป็นของเล่นที่อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีเจ้าของ และเธอก็เห็นว่านั่นเป็นอิสรภาพด้วย ในขณะที่วู้ดดี้เรียกเธอว่าเป็น ‘ของเล่นหลงทาง’ (lost toy) เพราะเขายังยึดโยงอยู่กับความเข้าใจในจุดหมายของของเล่นแบบเก่าๆ ดูเหมือนว่าในภาคนี้ ผู้สร้างต้องการทำให้โบเป็นตัวละครที่มีมิติมากขึ้น เพราะในภาค 1 และ 2 โบไม่ได้มีที่มาที่ไป และไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลยนอกจากเป็นผู้หญิงของวู้ดดี้

อีกตัวละครสำคัญก็คือ ‘แก็บบี้ แก็บบี้’ ตุ๊กตายุคเก่าที่กล่องเสียงพังและถูกขายให้ร้านขายของเก่า เธอไม่เคยถูกเล่นโดยเจ้าของคนไหน ทำให้เธอต้องการกล่องเสียงของวู้ดดี้เพื่อทำให้ตัวเองสมบูรณ์และถูกเลือก เธอเป็นอีกคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกับวู้ดดี้ นั่นคือ การถูกรักโดยเจ้าของคนใดคนหนึ่งเป็นความฝันอันสูงสุด แม้ว่าเธอจะดูเหมือนตัวร้ายในทีแรก แต่หนังก็ไม่ได้ตัดสินเธอ และให้เธอได้มีโอกาสเลือกชีวิตของตัวเอง

ในส่วนของวู้ดดี้นั้นก็มีพัฒนาการขึ้นจากภาคก่อนๆ อย่างมาก ในช่วงแรกของหนัง เขายังติดอยู่กับแนวคิดแบบเดิมๆ ที่จะต้องอยู่กับเจ้าของไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การตามหาฟอร์คกี้เป็นสิ่งที่เขายึดเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด เพราะมันเป็นเพียง ‘สิ่งเดียวที่เหลือให้ทำ’ สำหรับเขา แต่ท้ายที่สุด เมื่อเขาได้พบกับโบอีกครั้ง และเห็นทางเลือกต่างๆ ในชีวิตของของเล่นมากขึ้น เขาก็เริ่มเปลี่ยนใจ และมีวิธีนิยามเป้าหมายชีวิตตัวเองแบบใหม่ๆ และตัดสินใจในแบบที่ไม่เหมือนเดิม

สาสน์สำคัญที่ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของเรื่องอยู่ในคำพูดที่โบพูดกับ ‘ดุ๊ค คาบูม’ ของเล่นนักซิ่งที่ถูกทิ้งเพราะเขากระโดดข้ามสิ่งกีดขวางไม่ได้เหมือนในโฆษณาโทรทัศน์ นั่นคือ “จงเป็นตัวเองในตอนนี้ให้ดีที่สุดโดยไม่ยึดติดกับอดีต” โบทำให้ดุ๊คสามารถกลับมากระโดดได้อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับทำให้วู้ดดี้สามารถไปต่อได้ ธีมที่สำคัญของหนังภาคนี้ นอกจากจะเป็นธีมเดิม เช่น มิตรภาพ ความหมายของการถูกรัก การเป็นเจ้าของ และความเจ็บปวดจากการสูญเสียแล้ว ก็ยังมีเรื่องการค้นหาความหมายในการมีอยู่ของชีวิต และเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเล่นในจักรวาล Toy Story และดูเหมือนจะเน้นย้ำความสำคัญของการ ‘เลือก’ ในสิ่งที่เป็นตนเอง อันเป็นสาส์นสำคัญที่ส่งให้แก่เด็กๆ ที่ดูหนังเรื่องนี้และจะต้องเลือกอะไรอีกหลายอย่างเมื่อเติบโตขึ้นไปในอนาคต

Tags: ,