ในชีวิตของคนปกติ เรามักเผชิญปัญหากับคนรอบข้างไม่มากก็น้อย เราอาจมีปัญหากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สร้างเรื่องปวดหัว จนถึงเพื่อนร่วมงานที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ แต่ทั้งคนในบ้านคุณหรือเพื่อนร่วมงาน อาจไม่เลวร้ายเท่ากับคนแย่ผู้กลายเป็นผู้บังคับบัญชาของเรา อย่างที่คนทั่วไปมักบ่นถึง ‘เจ้านายเฮงซวย’ หรือหากเป็นผู้ถืออำนาจอันเป็นทางการตามกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ การมีผู้นำไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่หรือมาจากทางอื่นที่ไม่อาจพิสูจน์ด้วยการนับจำนวนคะแนนเสียงของประชาชน ถ้าบังเอิญได้ผู้นำที่ไม่ดี ประชาชนจะเผชิญปัญหาอย่างถ้วนหน้าโดยไม่ต้องเฉพาะเจาะจงกล่าวหาว่าจะเป็นผู้นำคนใดคนหนึ่งอย่างปรากฏตามสื่อหรือทวิตเตอร์

แต่ทำไมคนคนหนึ่งถึงได้กลายเป็น ‘ผู้นำอสรพิษ’ ‘เจ้านายร้ายกาจ’ ทำไมผู้คนถึงทนกับการมีคนร้ายกาจครองอำนาจ ถ้าเป็นพนักงานในองค์กร เราก็จะแปลกใจว่า ทำไมถึงไม่ลาออกไปให้พ้น หรือทำไมประชาชนถึงไม่เดินขบวนไล่ผู้นำตั้งแต่ที่เขาผู้นั้นสำแดงพิษสงออกมา

เพื่อพยายามตอบคำถามเหล่านี้ ในทางวิชาการการศึกษาด้านภาวะผู้นำ (leadership) จึงเสนอแนวคิดผู้นำเป็นพิษ (Toxic leadership) หรือผู้นำเชิงทำลายล้าง (Destructive leadership) จนสรุปคุณลักษณะของผู้นำแบบนี้ไว้ว่า มันเป็น

“พฤติกรรมของผู้นำที่ละเมิดผลประโยชน์อันชอบธรรมขององค์กรอย่างซ้ำซากและเป็นระบบ โดยบ่อนเซาะและ/หรือทำลายเป้าหมาย งาน ทรัพยากร และประสิทธิผลขององค์กร รวมถึงแรงจูงใจ ความผาสุก หรือความพึงพอใจต่องานที่ทำของผู้ใต้บังคับบัญชา” [1]

ประโยชน์ของการศึกษาตามแนวคิดผู้นำเป็นพิษ เพื่อมุ่งหาคุณลักษณะและผลลัพธ์ที่เกี่ยวพันกับผู้นำแบบนี้ผ่านการสำรวจ ‘ด้านมืด’ ของตัวผู้นำ [2] ควบคู่กับจากการศึกษาถึงความมีประสิทธิภาพหรือไร้ประสิทธิภาพของผู้นำที่เคยศึกษากันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว เนื่องจากเคยมีข้อสังเกตต่อการวิเคราะห์ความเป็นผู้นำของอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่? การสงสัยว่าผู้นำอาณาจักรไรซ์ที่สามผู้เริ่มสงครามโลกครั้งที่สองและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเป็นระบบว่าอาจมี ‘ความดี’ จึงสร้างข้อโต้แย้งอย่างเผ็ดร้อน นำไปสู่การแยกพิจารณา ‘ความดีของผู้นำ’ ในสองลักษณะ 

อย่างแรกคือ ผู้นำที่ดีจากมุมมองด้านสมรรถนะหรือประสิทธิผล (การจัดระบบรถไฟเพื่อขนส่งชาวยิวไปสู่ค่ายกักกัน การสังหารหมู่ด้วยห้องรมแก๊สและการเผาศพชาวยิวอย่างรวดเร็ว ฯลฯ ที่นำโดยฮิตเลอร์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความชั่วร้ายผิดมนุษย์ถือเป็นความดีตามมุมมองนี้หรือ?) กับอย่างต่อมา ผู้นำที่ดีจากมุมมองทางศีลธรรม (การสังหารหมู่เพราะเหตุทางเชื้อชาติของฮิตเลอร์ไม่สามารถเรียกได้ว่าเขาเป็นคนมีศีลธรรมดีได้อย่างแน่นอน) [3] 

แนวคิด ‘ผู้นำเป็นพิษ’ จึงช่วยในการตัดสินผู้นำโดยอาศัยมุมมองทางจริยธรรมหรือการ ‘รู้ดีรู้ชั่ว’ ในตัวผู้นำ

Jean Lipman-Blumen ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะและพฤติกรรมองค์การแห่ง Claremont Graduate University เขียนหนังสือชื่อ The Allure of Toxic Leaders: Why We Follow Destructive Bosses and Corrupt Politicians – and How We Can Survive Them นอกจากจะนำเสนอคุณลักษณะผู้นำเป็นพิษแล้ว เธอยังตั้งคำถามสำคัญอีกประการหนึ่งว่า ทำไมผู้คน ทั้งลูกน้องในองค์กรธุรกิจ จนถึงประชาชนในการปกครองของผู้นำทางการเมือง ถึง ‘อยู่ทน’ หรือ ‘อยู่เป็น’ ต่อสภาพการทำงานหรือใช้ชีวิตที่เป็นพิษอันเกิดจากผู้นำเหล่านี้

Lipman-Blumen ชี้ถึงหลักฐานว่า ทำไมผู้คนถึงปล่อยให้ผู้นำในโลกการเมืองเหล่านี้ครองตำแหน่งอย่างยาวนาน ผู้นำจะอาศัยกลวิธี 2 ประการ คือ หนึ่ง นำความความทุกข์ทน (angst) ของผู้คนมากำหนดสิ่งที่ประชาชนต้องการ [4] ผู้นำเพียงแต่นำความทุกข์นี้มาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมของผู้นำว่าสามารถเป็นผู้พิทักษ์รักษาสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมว่ามีความสูงส่งและไม่ควรถูกตั้งข้อสงสัย และ สอง อาศัยแรงจูงใจทางจิตวิทยาและความคาดหวังทางวัฒนธรรมที่กำหนดพฤติกรรมของผู้คน ถ้าหากความคาดหวังของผู้นำในสังคมพุทธคือการแสดงออกถึงความศรัทธาในศาสนา การไปทำบุญหรือร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การอ้างหลักธรรมคำสอนของผู้นำก็ดูจะเข้าที แม้การอ้างหลักธรรมอาจไม่เข้ากับการกระทำที่ชวนสงสัย ตรวจสอบไม่ได้ หรือการอ้างธรรมเพื่อยกตนของผู้นำก็ตาม

แต่สิ่งที่ Lipman-Blumen เสนออีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสร้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง (rationalization) เพื่อทำในสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘การควบคุมมายาคติ’ ชักชวนให้ผู้คนเห็นว่า พวกเขาไม่สามารถหรือไม่ควรแม้แต่จะพยายามจะโค่นล้มผู้นำทำพิษลงจากอำนาจ กระบวนการสร้างเหตุผลเข้าข้างตนเองในที่นี้ คือการที่ผู้คนมีคำอธิบายต่อตัวเอง (หรือหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง) ถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้ หรือทำไม่ได้  (why we can or cannot act) เช่น ถ้าเราเป็นเด็กดีเราก็ไม่ควรตั้งคำถามต่อสิ่งที่พ่อแม่ทำ (เด็กอย่าเถียงผู้ใหญ่) หรือคนที่ไม่มีการศึกษาตามระบบก็ควรเชื่อในตัวบุคคลที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่า ว่าจะสามารถตัดสินใจทำเรื่องที่ถูกต้องได้ดีกว่าแม้จะสวนทางกับข้อเท็จจริงหรือมโนธรรมสำนึกก็ตาม 

นอกจากนี้ Lipman-Blumen ยังสัมภาษณ์บุคคลที่ตกเป็นเป้าของเจ้านายอสรพิษว่า มักสร้างเหตุผลเข้าข้างตนเองอย่างสม่ำเสมอซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดการควบคุมมายาคติที่กำหนดความเชื่อฝังหัวของผู้คนว่า อะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ (why we should or should not act) [5] จนควบคุมพฤติกรรมของคนในองค์กรเมื่อยามเจอเจ้านายอสรพิษ หรือพลเมืองเมื่อเจอผู้นำทางการเมืองที่พิษสงร้าย กล่าวในภาษาปัจจุบันคือผู้นำร้ายๆ ทำให้เรา ‘อยู่เป็น’   

กลวิธีของผู้นำเหล่านี้ที่ทำให้เรา ‘อยู่เป็น’ จะสร้างแรงกดดันที่เล่นกับความต้องการทางกายและความต้องการทางจิตใจของเรา ทำให้เรารู้สึกว่า แม้ผู้นำเหล่านี้จะ ‘ร้าย’ แต่เราก็ขาดผู้นำเหล่านี้ไม่ได้ หรือการเผชิญหน้าต่อต้านผู้นำอาจเจอบทลงโทษที่ส่งผลร้ายต่อกายและใจของผู้ต่อต้านในอนาคต คนที่กล้าต่อต้านเจ้านายคนล่าสุดลงเอยด้วยการถูกไล่ออก หรือผู้นำคนนี้ไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิดและคุณอาจได้ผู้นำที่เลวร้ายกว่านี้ [6] 

เราอาจได้ยินว่าผู้นำในบางประเทศอาจตามจับกุมคนที่เห็นต่างจนทำให้คุณไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา การสร้างภาพว่าผู้นำคนนี้ดีที่สุดเพราะผู้นำคนอื่นอาจเลวร้ายหรือโกงกินมากกว่า  

ารศึกษาเรื่องผู้นำเป็นพิษไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในโลกทางธุรกิจ แต่มีอิทธิพลต่อการศึกษาผู้นำในองค์กรหนึ่งที่เผชิญปัญหาผู้นำพิษสงร้ายคือ กองทัพ จากกรณีของกองทัพสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้นำกองทัพอสรพิษเหล่านี้ดูจะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันจนเป็นปกติ ทหารหลายคนจะรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อคนพิษสงร้ายเหล่านี้ได้เลื่อนตำแหน่งและมีอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ “เราทุกคนที่รู้ระแคะระคายต่างก็ร้องไห้เมื่อมีประกาศการเลื่อนยศ ‘พระเจ้า พวกเขาทำแบบนั้นกับกองทัพได้อย่างไร ? มันเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นกับพวกเขา? พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่?’” [7] 

นายทหารเหล่านี้มักสร้างแรงกดดันที่ไม่จำเป็นในองค์กร มีค่านิยมในเชิงลบ และปราศจากความหวัง อีกทั้งวัฒนธรรมทหารมีส่วนสร้างผลร้ายต่อทหารด้วยกันเอง โดยเฉพาะวัฒนธรรม ‘ปิดปากเงียบ’ ต่อความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจ และยากที่จะมีผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดจะรายงานถึงการมีนายทหารพิษสงร้ายเพราะจะถูกมองว่าเป็นพวกขี้ฟ้อง (whiner) [8] จนผู้นำเป็นพิษในกองทัพเหล่านี้ถือเป็นฝันร้ายของหน่วยการแพทย์ที่ต้องดูแลสุขภาพจิตของทหาร พวกเขาส่งผลต่อการฆ่าตัวตายของทหารผู้ใต้บังคับบัญชา จากการศึกษาพบว่ามีการฆ่าตัวตายของทหารอเมริกันที่ประจำการในสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักเพราะนายทหารเหล่านี้มากถึงแปดกรณี แม้จะเป็นการศึกษาขนาดเล็กแต่มากเพียงพอที่จะตั้งคำถามว่าผู้นำอสรพิษมีบทบาทต่อการฆ่าตัวตายของทหารมากเพียงใด [9] 

ถ้าเราพิจารณาความรุนแรงในกองทัพที่ปล่อยให้นายทหารสารพัดพิษดำรงอยู่ก็เกิดจากวัฒนธรรมของทหารด้วยกันเอง ความกดดันที่มีต่อทหารชั้นผู้น้อยส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตและกาย ถ้านายทหารเหล่านี้ไปอยู่ในโลกนอกสังคมทหารที่มีลักษณะเปิดเสรีมากกว่าและไม่ได้มีวัฒนธรรมการเชื่อฟังแบบทหาร อาจไปสร้างความไม่พอใจต่อผู้คนจากพฤติกรรมดังกล่าว

การตระหนักถึงผู้นำเป็นพิษเหล่านี้ย่อมสำคัญต่อสุขภาพกายและใจของเรา หรือดีต่อการเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ควรตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องอดทนต่อผู้นำการเมืองและ ‘อยู่เป็น’ ด้วยการให้คำอธิบายเพื่อเข้าข้างตัวเองว่าเรา ‘อยู่ได้’ จุดเริ่มต้นที่ดีของการพิจารณาว่าผู้นำที่ปกครองเราเขาเป็นพิษหรือไม่จึงกลับไปสู่การใช้มุมมองทางศีลธรรมเพื่อ ‘รู้ดีรู้ชั่ว’ ต่อตัวผู้นำว่าได้ละเมิดต่อประโยชน์สาธารณะและมีพฤติกรรมที่กระทบกับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอย่างไร ?

อ้างอิง

-Einarsen, Ståle, Merethe Schanke Aasland, and Anders Skogstad. “Destructive Leadership Behaviour: A Definition and Conceptual Model.” The Leadership Quarterly 18, no. 3 (2007): 207–16.

-Lipman-Blumen, J. The Allure of Toxic Leaders: Why We Follow Destructive Bosses and Corrupt Politicians–and How We Can Survive Them. Oxford University Press, 2006.

-“Army Takes on Its Own Toxic Leaders.” 6 January 2014, accessed 12 March, 2020, https://www.npr.org/2014/01/06/259422776/army-takes-on-its-own-toxic-leaders.

-Reed, George E. “Toxic Leadership.” Military Review 84, no. 4 (July – August 2004): 67-71.

-Schedlitzki, D., and G. Edwards. Studying Leadership: Traditional and Critical Approaches. London: SAGE Publications, 2017.

เชิงอรรถ

[1] Ståle Einarsen, Merethe Schanke Aasland, and Anders Skogstad, “Destructive leadership behaviour: A definition and conceptual model,” The Leadership Quarterly 18, no. 3 (2007): 208.

[2] Einarsen, Aasland, and Skogstad, “Destructive leadership behaviour: A definition and conceptual model,” 208.

[3] D. Schedlitzki and G. Edwards, Studying Leadership: Traditional and Critical Approaches (London: SAGE Publications, 2017), 277.

[4] J. Lipman-Blumen, The Allure of Toxic Leaders: Why We Follow Destructive Bosses and Corrupt Politicians–and how We Can Survive Them (Oxford University Press, 2006), 208-09.

[5] Lipman-Blumen, The Allure of Toxic Leaders: Why We Follow Destructive Bosses and Corrupt Politicians–and how We Can Survive Them, 210.

[6] Lipman-Blumen, The Allure of Toxic Leaders: Why We Follow Destructive Bosses and Corrupt Politicians–and how We Can Survive Them, 213-14.

[7] George E. Reed, “Toxic Leadership,” Military Review 84, no. 4 (July – August 2004): 68.

[8] Reed, “Toxic Leadership,” ibid.

[9] “Army Takes On Its Own Toxic Leaders,” 6 January 2014, accessed 12 March, 2020, https://www.npr.org/2014/01/06/259422776/army-takes-on-its-own-toxic-leaders.

Tags: , , ,