ใครที่หลงเสน่ห์งานออกแบบบนกระดาษ อาจจะอินกับพิพิธภัณฑ์การพิมพ์แห่งนี้ เพราะมีทั้งส่วนนิทรรศการหมุนเวียนที่นำเอางานของกราฟิกดีไซน์เนอร์ปัจจุบันมาให้เราเปิดหูเปิดตา และส่วนนิทรรศการหลักซึ่งเล่าบทบาทของงานพิมพ์ในประวัติศาสตร์โลก ที่พาเราไปไกลกว่ากระดาษและหยดหมึก

Printing Museum หรือ พิพิธภัณฑ์การพิมพ์ ตั้งอยู่ในเขตบุงเกียว กรุงโตเกียว ในอาคารสำนักงานของบริษัท Toppan บริษัทการพิมพ์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1900

แต่ไม่ต้องห่วงว่าบรรยากาศจะเหมือนโชว์รูมขายของของบริษัท เพราะนี่คือพิพิธภัณฑ์จริงๆ ที่มีการดีไซน์สัดส่วนการเล่าเรื่องให้เราอิ่มครบ

พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นส่วนแกลเลอรี (PP gallery) ที่ชั้น 1 นิทรรศการถาวร ห้องเวิร์กช็อป และห้องฉาย VR ที่ชั้นใต้ดิน

Graphic Trial การทดลองของกราฟิกดีไซน์เนอร์

เมื่อเดินเข้ามาในส่วนแรก เราจะเข้าสู่นิทรรศการของ PP Gallery ซึ่งขณะที่ไปคือช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2018 กำลังมีงานนิทรรศการจัดแสดงโปสเตอร์ ‘Graphic Trial 2018’ ซึ่งมาในธีม Passion  (ความหลงใหล)

นิทรรศการ Graphic Trial สำรวจความเป็นไปได้ระหว่างงานดีไซน์กับเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซ็ต ด้วยการเชิญชวนนักออกแบบมาร่วม ‘ทดลอง’ กับบุคลากรของ Toppan ผลิตงานออกมาเป็นโปสเตอร์ขนาด B-1 ที่แหวกแนว ไม่ได้จำกัดแค่ ‘หมึก’ กับ ‘กระดาษ’ ครั้งนี้จัดขึ้นครั้งที่ 13 แล้ว

แสดงให้เห็นว่า เมื่อเทคโนโลยีมีข้อจำกัดน้อยลงเรื่อยๆ การออกแบบจึงไปได้ไกลด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่หลากหลายขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่แค่จัดแสดงผลงานปลายทางอย่างโปสเตอร์ แต่จัดวางตัวอย่างที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นกระบวนการทำงานระหว่างทาง และการคิดสะระตะของนักออกแบบ พร้อมวิดีโอสั้นๆ ที่นักออกแบบพูดอธิบายคอนเซปต์ของตัวเองให้เราฟัง

ในบรรดานักออกแบบ 4 คนที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดง มีกราฟิกดีไซเนอร์ไทย คือ สันติ ลอรัชวี แห่งแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ไปร่วมแสดง กับฮารุยุกิ ซูซุกิ (Haruyuki Suzuki) อะกิระ อูโนะ (Akira Uno) และโยชิฮิโระ ยางิ (Yoshihiro Yagi)

สันติใช้แนวคิดเกี่ยวกับวงกลม มาพูดถึง ‘ตัวตน’ ที่ถูกเส้นสายรอบนอกเข้ามากระทบกับเส้นรอบวง และกำหนดแพทเทิร์นข้างในวงกลม เปรียบเหมือนกับตัวตนของเราที่ถูกเร้าด้วยสิ่งภายนอก เกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึก และเขาเลือกใช้สีขาว-ดำในเฉดที่แตกต่างกันมาเล่นกับความหมายนี้ เฉดที่แตกต่างแสดงให้เราเห็นความหลากหลายของเทคนิคการพิมพ์ที่เป็นไปได้หลายแนวทาง

ผลงานของ ฮารุยุกิ ซูซุกิ ใช้วัสดุผสมโลหะที่มีความแวววาว และการพิมพ์สีสองสีในแนวตรง (front) และด้านข้าง (rear) บนวัสดุพลาสติก PET ใส เพื่อเล่นกับสายตาเมื่อเปลี่ยนองศาการมอง เกิดเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสีสัน

ศึกษาอดีตด้วยงานพิมพ์

ลงมาที่ชั้นใต้ดิน เราจะพบกับส่วนนิทรรศการหลักที่ต้องซื้อบัตรเข้าชม ซึ่งราคาราว 90 บาทเท่านั้น

โซนแรกเป็นการเล่าภาพรวมของวิวัฒนาการการจารึกภาพและอักษรลงบนวัตถุ พร้อมรูปจำลองที่ละเอียดประณีต แสดงภาพคนวาดถ้ำ การสลักหิน ทำบล็อกพิมพ์ หมุนแท่นพิมพ์ ฯลฯ จากวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก มีเครื่องฉายรูปร่างเหมือนโอ่งที่รอให้เราไปชะโงกมอง แต่อาจจะเมื่อยนิดหน่อยหากดูนานเกินไป

แต่นี่ก็เป็นเหมือนอินโทรเท่านั้น เพราะที่สุดโถง เราจะเข้าสู่นิทรรศการถาวรที่เล่าเรื่องการพิมพ์บนแกนสามอย่าง ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี และสไตล์ สะท้อนให้เห็นว่า การพิมพ์ในฐานะ ‘สื่อ’ ได้ก่อร่างสร้างอารยธรรมของเราขึ้นมาอย่างไร

นิทรรศการแบ่งโซนการเล่าเรื่องออกเป็น 5 ส่วนหลักตามยุคสมัยของการพิมพ์ ตั้งแต่สมัยที่การพิมพ์มีเพื่อพิมพ์รูปภาพ สู่หนังสือและตัวอักษร มาจนถึงยุคคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ตั้งแต่แรกเริ่มที่การพิมพ์มีขึ้นเพื่อสนองความศรัทธาทางศาสนา อย่างการพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าซ้ำๆ เพื่อเพิ่มแต้มบุญแล้วใส่ลงในเจดีย์ไม้เป็นล้านๆ องค์ เหมือนกับความเชื่อที่ว่า ยิ่งท่องบทสวดหลายรอบเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่คำขอพรจะเป็นจริง

หรือตัวอย่างการพิมพ์ภาพวาดสีแดงเอาไว้ติดหน้าบ้านเพื่อไล่โรคร้ายในญี่ปุ่น เพราะสมัยก่อนผู้คนยังไม่รู้จักสาเหตุของโรคภัยต่างๆ คิดว่ามาจากพลังชั่วร้าย จึงใช้ภาพสีแดงซึ่งเป็นสีที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายเป็นยันต์กันไม่ให้สิ่งอัปมงคลเข้ามาในบ้าน

ความเชื่อเหล่านี้ส่งให้การพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นเพื่อ ‘ผลิตซ้ำ’ โดยไม่ต้องเปลืองแรง นำมาสู่การพัฒนาการพิมพ์ ซึ่งประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แม่พิมพ์ หมึก วัสดุพิมพ์ (เช่น กระดาษ) และแรงกด (pressure) นี่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการพิมพ์ทุกยุคทุกสมัย เช่นแท่นพิมพ์กูเตนแบร์ก ผสานเทคโนโลยีเครื่องกดคั้นน้ำเพื่อทำไวน์ เข้ากับเทคนิคการหล่อเหล็กทำเหรียญ ซึ่งกลายมาเป็นแม่พิมพ์ในรูปแบบของ ‘ตัวเรียงพิมพ์’ แทนอักษรต่างๆ

นิทรรศการเล่าผ่านสิ่งของและจอภาพ (แถมเก้าอี้นั่ง) เพื่อเล่าให้เราฟังว่า ในบางมิติ สิ่งพิมพ์ช่วยทำให้คนในสังคมเป็นหนึ่งเดียว ให้อยู่ใต้ภาษาและระบบความคิดเดียวกัน เช่น กฎหมายที่มีร่วมกันเพื่อเป็นระเบียบสังคม ในขณะเดียวกัน บางครั้งการพิมพ์ก็เป็นเครื่องมือแพร่องค์ความรู้ที่แตกต่าง จนปฏิวัติระเบียบสังคมและวิทยาการ เช่น ความคิดทางปรัชญาการเมือง หรือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของชาร์ลส์ ดาร์วิน และกาลิเลโอ เป็นต้น

การพิมพ์ภาพคลื่นและภูเขาไฟ ‘Under the Wave off Kanagawa’ ของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ ที่ต้องใช้บล็อก 8 บล็อก พิมพ์แต่ละสีทีละชั้น จนออกมาเป็นภาพศิลปะสุดคลาสสิก

เกมเรียงพิมพ์แบบจับเวลา ใช้ตัวอักษรญี่ปุ่นมาเรียงลำดับ 1-4 ตามโจทย์ที่กำหนดให้

เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้า การพิมพ์ก็กลายเป็นเครื่องมือในการย่อส่วนองค์ความรู้ต่างๆ เช่นการพิมพ์ตัวหนังสือขนาดจิ๋วลงบนแผ่นฟิล์ม ทำให้บรรจุข้อมูลได้จำนวนมาก

นอกจากการพิมพ์แล้ว การทำหนังสือ ก็ยังต้องอาศัยทักษะและศิลปะอื่นๆ เช่น การออกแบบตัวอักษร การเข้าเล่ม ฯลฯ ซึ่งนิทรรศการนี้แนะนำแง่มุมเหล่านี้แบบย่นย่อ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า กว่าจะพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มออกมาได้นั้นไม่ใช่แค่การใช้เครื่องจักรพิมพ์ซ้ำๆ ออกมา แต่คือความใส่ใจที่อยู่ในกระบวนการผลิต

ห้องเวิร์กช็อปสำหรับทำกิจกรรมสำหรับงานพิมพ์ต่างๆ

สุดท้ายแล้ว Printing Museum อาจไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่หวือหวาหรือกว้างขวางนัก แต่คิดว่าสำหรับคนรักหนังสือและงานพิมพ์ การได้รับรู้ว่ามีคนให้ความสำคัญกับศาสตร์นี้จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ทำให้รู้สึกอิ่มใจดีเหมือนกัน

Fact Box

  • อยู่ใกล้สถานีรถไฟ Iidabashi และ Edogawabashi
  • บุคคลทั่วไป ห้ามถ่ายรูปในส่วนนิทรรศการหลัก
  • เวลาเปิด-ปิด 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
  • ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 300 เยน / นักศึกษา 200 เยน / นักเรียนมัธยมศึกษา 100 เยน / มาเป็นกลุ่มตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป คนละ 50 เยน / นักเรียนประถมศึกษาและเด็กกว่า เข้าชมฟรี
  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.printing-museum.org/en
Tags: , , , , ,