“พรุ่งนี้ขี้เกียจทำกับข้าว เดี๋ยวลองสั่งอาหารผ่านแอปฯ นี้ดีกว่า” เพื่อนเราพูดขึ้นตอนค่ำวันหนึ่งในบรูจ ประเทศเบลเยี่ยม พลางหยิบมือถือหาอาหารที่ถูกใจผ่านแอปพลิเคชั่น ผ่านไปไม่ถึงสิบนาทีเธอก็เลือกสั่งอาหารหนึ่งชุดจากร้าน t’ Brugs Pittahuis อีกหนึ่งชุดจากร้าน Exki และอีกชุดจากร้านขนมปัง Panos
ทว่าแอปฯ ที่เราเพิ่งสั่งอาหารกันไปไม่ใช่บริการที่ชวนคนสั่งให้นั่งแอ้งแม้งรอรับอาหารหน้าจอทีวีเหมือนที่นิยมในบ้านเราแต่อย่างใด เพราะแอปฯ Too Good to Go นี้ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ ‘อาหารเหลือ’ ผ่านแอปฯ แล้วไปรับเองที่ร้านอาหารตามเวลาที่กำหนด โดยที่ร้านค้าที่ร่วมโครงการมีทั้งใหญ่เล็กในเมืองต่างๆ เพราะเล็งเห็นว่ามันคือหนึ่งทางออกไม่ให้อาหารในแต่ละวันกลายเป็นขยะตอนปิดร้าน
แอปฯ จะคอยบอกว่าจำนวนมื้ออาหารเหลือที่ถูกซื้อไปในแต่ละเดือนในพื้นที่ที่คุณดาวน์โหลดให้นักรบต่อสู้ขยะได้ชื่นใจ
วิธีง่ายๆ ที่ทำให้แอปฯ นี้ถูกดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 21 ล้านครั้งทั่วโลก (โดยส่วนใหญ่เป็นทวีปยุโรป) คือ ตรวจสอบว่า ณ เวลานั้นมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านใดยังมีชุดมื้ออาหารที่ทางแอปฯ เรียกว่า ‘Magic Box’ ให้คุณเลือกซื้อได้ โดยที่ทางร้านจะเป็นผู้กำหนดเวลารับกล่องมหัศจรรย์นี้ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตอนเย็นหรือหัวค่ำก่อนปิดร้าน หรือก่อนเที่ยงสำหรับชุดมื้อเช้าจากโรงแรม เพื่อทางร้านจะได้เลือกอาหารที่ขายไม่หมดในวันนั้นมาจัดชุดกล่องมหัศจรรย์ในราคามิตรภาพ
โดยส่วนใหญ่อาหารหนึ่งมื้อจะมีราคาประมาณ 3-6 ยูโรจากราคาเต็มประมาณ 12-15 ยูโร และที่มันได้ชื่อว่ากล่องมหัศจรรย์เพราะคนซื้อจะไม่รู้ล่วงหน้าว่าเปิดมาจะเจออะไรบ้างในมื้อนั้นๆ ทำได้เพียงการคาดเดาได้จากประเภทของร้านที่เข้าร่วม เช่น ร้านขนมปัง ร้านอาหารตะวันออกกลาง ร้านอาหารเอเชีย ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือโรงแรม ประมาณว่าถ้าคุณสั่งกล่องมหัศจรรย์จากร้านส้มตำ คุณจะไม่มีทางรู้ว่าจะได้ ไก่ย่าง ส้มตำ หรือลาบ แต่ที่แน่ๆ จะได้อาหารอีสาน
อย่าเพิ่งคิดว่าแอปฯ ดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นแผนการตลาดให้กับผู้ประกอบการ แต่มันคืออีกหนึ่งความพยายามของคนยุคปัจจุบันที่ต้องการชะลอภาวะโลกร้อน และการจัดการขยะในปัจจุบัน ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือขยะที่มนุษย์ไม่ต้องการในตอนจบของกระบวนการบริโภคอีกต่อไป หากแต่หมายถึงการจัดการที่มีขึ้นในทุกขั้นตอนที่เป็นไปได้เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุดหรือชะลอการเดินทางของวัตถุชิ้นหนึ่งให้ถึงปลายทางที่ถังขยะให้ช้าที่สุด
ด้วยความคิดที่จะชะลอการเกิดขยะทำให้เกิดแอปฯ Too Good To Go ขึ้นเมื่อประมาณสามปีก่อนในลอนดอน มุ่งหวังที่จะลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นในเมืองราว 210,000 ตันต่อปี ซึ่งในช่วงเริ่มต้นผู้บริโภค (ที่ทางแอปฯ เรียกเก๋ๆ ว่า Waste Warriors หรือนักรบสู้ขยะ) สามารถหาซื้อ ‘อาหารเหลือ’ ผ่านแอปฯ นี้ในราคาเพียง 2-3.8 ปอนด์ และถ้าใครคุ้นเคยกับลอนดอนจะรู้ว่าอาหารสักมื้อดีๆ ในราคาแบบนี้แทบไม่มีทางเป็นจริงได้เลย
หน้าตาแอปฯ ที่สั่ง ‘อาหารเหลือ’ ในราคาน่าคบที่มีทั้งมื้ออาหารสำหรับคนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติ
ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินข่าวกลุ่มนักเคลื่อนไหวขอความร่วมมือจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งให้บริจาคอาหารสดหรืออาหารกระป๋องที่ใกล้หมดอายุให้กับคนไร้บ้านหรือองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารแจกคนไร้บ้านหรือขายในราคาถูก แทนการปล่อยทิ้งไว้ให้หมดอายุหรือกลายเป็นขยะไปแบบไร้ประโยชน์ หรือมีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กที่ต่อรองกับผู้ผลิตเพื่อนำเอาสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายในราคาที่ต่ำมาก หรือผลิตภัณฑ์นมหมดอายุเมื่อวานมาวางขายในราคาที่เกือบเหมือนแจกฟรีโดยให้ผู้บริโภคเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้หรือไม่ เพราะเราทราบกันดีว่าวันหมดอายุนั้นมักถูกกำหนดให้เร็วกว่าความเป็นจริงด้วยเหตุผลนานาประการ
คนไทยอาจจะเคยชินกับร้านขนมปัง โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ตจะลดราคาสินค้าและอาหารปรุงสุกในชั่วโมงสุดท้ายก่อนที่จะปิด หรือร้านอาหารบุฟเฟต์แบบกินไม่อั้นมีการตั้งกฎเกณฑ์ค่าปรับตามปริมาณอาหารที่เหลือบนโต๊ะ ไม่ว่าเหตุผลของผู้ประกอบการคืออะไร แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยลดปริมาณขยะอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น
แต่แอปฯ Too Good To Go (toogoodtogo.org) ล้ำหน้ากว่านั้นที่มองเห็นแนวคิดให้ผู้คนแวะซื้อ ‘อาหารเหลือ’ ตามร้านที่เข้าร่วมโครงการในราคาสบายกระเป๋าน่าจะเป็นทางออกที่ทุกคนได้ประโยชน์ ร้านอาหารไม่ต้องทิ้งอาหารเหลือ ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารคุณภาพดีและรสชาติดี (ถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของอาหารแต่ละชนิด) จากร้านอาหารในราคาย่อมเยา และประโยชน์สูงสุดคือโลกเรามีขยะน้อยลง ซึ่งเป็นการช่วยชะลอภาวะโลกร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง
ผ่านไปสามปีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากกว่า 42,000 รายจาก 15 ประเทศ และยังคงตั้งเป้าหาผู้ประกอบการเข้าร่วมช่วยกันลดปริมาณขยะอาหารให้ครบ 75,000 รายภายในปีนี้ จนถึงปัจจุบันแอปฯ นี้ได้ช่วยไม่ให้อาหารกลายเป็นขยะไปแล้วกว่า 20 ล้านมื้อ
เห็นตัวเลขที่แอปฯ นี้สามารถช่วยการลดขยะอาหารแล้วก็ได้แต่หวังว่าตัวเลขของขยะอาหารบนโลกนี้จะลดลงบ้าง เพราะองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่าทุกปีจะมีอาหารประมาณ 1.3 พันล้านตัน หรือประมาณหนึ่งในสามของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์บริโภคทั่วโลกถูกทิ้งเป็นขยะ และขยะอาหารเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนถึงร้อยละแปด การที่เราต้องสูญเสียอาหารไปจำนวนมหาศาลนี้นอกจากจะคิดเป็นมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 9.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือประมาณ 28 ล้านล้านบาท) เรายังปล่อยให้คนอีกเกือบ 800 ล้านคนทั่วโลกหิวโหยโดยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์
เช่น ในสหรัฐอเมริกา ซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งผักผลไม้ที่ยังบริโภคได้มากถึงหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณประมาณปีละ 60 ล้านตัน หรือประเทศไทยเอง ที่แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลปริมาณอาหารที่ผลิตและทิ้งไปในแต่ละปีอย่างชัดเจน จะมีเพียงข้อมูลขยะอินทรีย์ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่าปี 2560 มีปริมาณ 17.56 ล้านตัน หรือคิดเป็น 64% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเพียงปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บโดยเทศบาลทั่วประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมขยะอาหารจากภาคธุรกิจที่จ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ
นักรบสู้ขยะจะคาดเดาประเภทอาหารได้จากภาพและคำบรรยายของแต่ละร้าน และมุมซ้ายบนจะคอยบอกจำนวนกล่องอาหารที่ยังสามารถสั่งได้ในตอนนั้น
เย็นวันถัดมาเราเดินไปรับ ‘อาหารเหลือ’ จากร้านที่สั่งเอาไว้แล้วก็ค้นพบว่า อาหารที่ได้มาคุ้มค่าเกินราคาจริง ไม่ว่าจะเป็นชุดพิต้าฟาราเฟล สนนราคาเพียง 3.59 ยูโรที่ไม่มากไม่น้อยแต่เพียงพอสำหรับหนึ่งคนจากร้าน t’ Brugs Pittahuis ชุดอาหารที่ประกอบด้วยซุปฟักทองพร้อมขนมปัง สลัดผัก พายหนึ่งชิ้น และขนมปังสอดไส้อีกสองชิ้นจากร้าน Exki ในราคา 4.5 ยูโร จากปกติ 15 ยูโร และขนมปังทั้งแบบมีไส้และไม่มีไส้มากกว่า 10 ชิ้นจากร้านขนมปัง Panos ในราคา 3.99 ยูโร จากปกติ 12 ยูโร
แม้ว่าอาหารบางอย่างเช่นขนมปังอาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะรับประทาน และคุณค่าทางโภชนาการอาจจะลดลงเล็กน้อย แต่อาหารบางอย่างเช่นพิต้า (แน่นอนว่าก๋วยเตี๋ยวก็ต้องปรุงสดเช่นกัน) นั้นเพิ่งขึ้นมาจากเตาย่างเลย เรียกว่าถ้าเดินออกจากร้านแล้วคุณอยากจะนั่งที่ม้านั่งนอกร้านแล้วกินตอนขนมปังพิต้ากำลังร้อนๆ อาหารของคุณมื้อนั้นก็จะต่างกับคนที่นั่งรับประทานในร้านแค่บรรยากาศในร้านกับความอุ่นจากฮีตเตอร์เท่านั้นเอง
มาถึงตรงนี้แล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าแอปฯ ที่ว่านี้จะขยายตัวไปถึงเอเชียและประเทศไทยในเร็ววัน หรือคงจะดีกว่าถ้าหากคนไทยจะคิดค้นวิธีการจัดการอาหารก่อนที่จะกลายเป็นขยะขึ้นมาเองให้เหมาะกับวิถีชีวิตและอาหารไทย อย่างน้อยทุกคนก็ได้ประโยชน์ ร้านค้าก็มีอาหารเหลือเป็นขยะน้อยลง ลูกค้าก็มีโอกาสได้รับประทานอาหารในราคาที่ย่อมเยา และที่ดีที่สุดคือประเทศไทยของเราจะมีขยะอาหารที่ต้องจัดการในแต่ละวันน้อยลง
พิต้าฟาราเฟลขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ในราคาย่อมเยาจากร้าน t’ Brugs Pittahuis
ชุดอาหารเช้าที่ประกอบด้วยซุปฟักทอง สลัด และขนมปังจากร้าน Exki
ขนมปังหลากชนิดจากร้าน Panos ที่กินได้อีกสองสามวัน
Tags: ขยะอาหาร, แอปพลิเคชัน, สภาวะโลกร้อน