สำหรับทริปทัศนศึกษา ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือค่ายเพาเวอร์กรีน 12 ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังออกจากเมืองมินาคามิ และเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว เราก็เดินทางเข้าสู่กรุงโตเกียวทันที

ที่แรกที่เราไปเยือนไม่ใช่ชินจูกุหรือชิบูย่า แต่เป็น ‘ชินโกโต’ โรงงานเผาขยะที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียว (Shin-Koto Incineration Plant) ดำเนินการ 24 ชั่วโมง สามารถเผาขยะได้ 1,600-1,800 ตันต่อวัน พร้อมควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด และความร้อนในการเผาขยะก็ถูกนำไปแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าที่สร้างรายได้กับโรงงานกว่าปีละ 9.9 ล้านเยน

ที่นั่น เราได้ทำความรู้จักโมเดลจัดการขยะที่น่ายกมาไว้ที่เมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่อันที่จริง ถึงเป็นองค์แสงสุริยเทพมาเอง ก็คงยกมาดื้อๆ ไม่ได้ เพราะตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไทยอาจจะยังไม่ได้สร้างตัวเองให้เหมาะกับโมเดลอย่างนี้เท่าไหร่นัก (มองไปที่โซฟาลอยเท้งเต้งในคลองแสนแสบ หรือถังแยกขยะที่ได้รับขยะหลากชนิดลงไปอย่างไม่แคร์ป้ายบอกประเภท…)

ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ชินโกโต เราพบว่าบรรยากาศภายในโรงงานขยะนับว่าสะอาดมากๆ หากเทียบว่าที่นี่บรรจุขยะไว้มากมายแค่ไหน ส่วนแรกที่ได้ชมคือท่าจอดรถที่ให้รถขนขยะที่เผาได้เข้ามาสู่หลุมพักขยะขนาดใหญ่ ภายในหลุมพักขยะมีเครนขนาดยักษ์จับขยะขึ้นมาแล้วปล่อยทิ้งลงไปรอบหนึ่งก่อนเพื่อไม่ให้ขยะจับตัวกันเป็นก้อน จะได้สะดวกต่อการเผาไหม้ แล้วค่อยจับอีกรอบก่อนส่งเข้าสู่เตาเผาขยะ ซึ่งไม่ได้แค่เผาแล้วจบไป แต่ยังมีกระบวนการอีกมากที่รองรับอยู่ ให้ก่อมลพิษน้อยที่สุดและสร้างประโยชน์สูงสุด อันเป็นส่วนหนึ่งของโตเกียวโมเดลที่เราจะเล่าในบทความนี้

วิธีจัดการขยะ ให้คลีนตั้งแต่ต้นจนจบ

‘โตเกียวโมเดล’ คือการผสานระบบจัดการของเสียภายในพื้นที่ 23 เขตของกรุงโตเกียว เข้ากับความเข้มแข็งในการจัดการอย่างเป็นแบบแผน โดยภาพรวมของโตเกียวโมเดลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ

1) แยกขยะ ชาวโตเกียวแท้ต้องแยกขยะเป็น ที่นี่แยกขยะอย่างเข้มงวด ภาครัฐประชาสัมพันธ์ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และแจกโบรชัวร์เกี่ยวกับการแยกขยะอย่างละเอียดสู่ประชาชน พร้อมกับปลูกจิตสำนึกกันตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งนี่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้กระบวนการกำจัดขยะในขั้นต่อๆ ไปดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) รวบรวมและขนย้าย การรวบรวมจัดเก็บขยะโดยแบ่งพื้นที่อย่างเป็นระบบ รถขยะประมาณ 1,500 คัน จะหมุนเวียนไปเก็บขยะประมาณ 340,000 จุดทั่วโตเกียว ตามเส้นทางที่ถูกวางแผนไม่ให้กระทบปัญหาการจราจร กับทั้งมีบริการเก็บขยะตามบ้านผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ไม่สะดวกออกมาทิ้งขยะข้างนอก

70% ของรถขยะทั้งหมด มีเครื่องบีบอัดขนาดเล็กอยู่ภายใน ซึ่งจะช่วยลดปริมาตรขยะแต่ละชิ้นตั้งแต่ก่อนถึงโรงงาน ขยะที่เผาได้จะถูกส่งสู่โรงงานเผาขยะ ขยะเผาไม่ได้อย่างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเซรามิก จะถูกจนย้ายไปยัง ‘ศูนย์จัดการขยะเผาไม่ได้’ เพื่อคัดแยกและแยกส่วนในลำดับต่อไป

3) แยกขยะอีกรอบหนึ่งที่โรงงาน เพื่อเก็บรายละเอียด จึงมีการคัดแยกอีกรอบสำหรับขยะเผาได้ เช่นการใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่แยกเอาเหล็กและอลูมิเนียมไปใช้ต่อ ส่วนที่เผาได้ก็เข้าเตาเผาที่มีความร้อน 800 องศาเซลเซียสรออยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

4) ขั้นตอนการเผา การเผาขยะนับเป็นการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยจะช่วยลดปริมาตรขยะได้ถึง 95% หลังจากที่มันกลายเป็นเถ้าแล้ว ในขั้นตอนนี้มีการกำหนดมาตรฐานการป้องกันมลภาวะอย่างเข้มงวด ตามตัวเลขในระเบียบของประเทศและในระดับชุมชน มีการควบคุมปริมาณสารไดออกซิน สารตะกั่ว สารปรอท ไฮโดรเจนคลอไรด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ให้อยู่ต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ตลอดเวลา

ก๊าซจากการเผาไหม้จะถูกส่งต่อไปยังท่อลดอุณหภูมิ เข้าสู่กระบวนการกำจัดสารอันตราย ผ่านเครื่องกรองฝุ่น และเครื่องทำความสะอาดควันด้วยท่อกระตุ้นปฏิกิริยาเคมี ก๊าซที่สะอาดแล้วจึงจะถูกปล่อยออกทางปล่องควัน ส่วนน้ำจะถูกส่งเข้าสู่เครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนจะปล่อยออกสู่ทะเล โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

5) รวบรวมพลังงาน ด้วยการใช้เทคนิก Thermal Recycle ความร้อนที่ได้จากขั้นตอนนี้จะนำไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงานและขายให้กับเอกชน ทั้งยังมีการนำความร้อนไปใช้สำหรับกิจกรรมอันหลากหลาย เช่นศูนย์กีฬา บ่อน้ำร้อน หรือสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการศึกษาพันธุ์พืชเขตร้อน

ข้อมูลจากปี 2013 ระบุว่า ในแต่ละปี โรงงานเผาขยะในโตเกียวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,100,000,000 กิโลวัตต์ มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 9,800,000,000 เยน ผลิตความร้อน 54,700 หมื่นกิกะจูล (gigajoule) รายได้จากการจำหน่ายความร้อน 183,000,000 เยน ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการกระบวนการจัดการขยะในอนาคต

6) การกำจัดขั้นสุดท้าย เถ้า slack ที่ได้จากการเผาไหม้ถูกนำไปอัดเป็นอิฐบล็อก หรือคอนกรีต เพื่อใช้ในการก่อสร้างสาธารณะ รวมถึงนำขยะที่ถูกย่อยจนละเอียดและผ่านกระบวนการกำจัดมลพิษแล้วไปถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ เช่นโรงงานทำความสะอาด สวนพฤกษศาสตร์ และสวนสาธารณะ เป็นต้น

ภายในสวนศึกษาพันธุ์พืชเขตร้อน ที่ใช้ความร้อนจากเตาเผาขยะในการรักษาอุณหภูมิตลอดปี

เป็นที่รู้จักในชื่อ Yumenoshima Tropical Greenhouse

บริเวณนี้ทั้งหมดเกิดจากการถมทะเล

เพราะประชาชนคือคนที่แคร์

ไกด์บอกกับเราว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ ‘วัฒนธรรมหน้าบาง’ หลายครั้งมันแปรเปลี่ยนในทางที่ดีกลายเป็นความใส่ใจ ดังนั้น เสียงจากมวลชนจึงมีพลังอย่างยิ่ง หลายองค์กรพยายามแสดงความโปร่งใสและแชร์ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออกแบบวิธีการทำงานให้เป็นมิตรกับชาวเมืองมากที่สุด

โรงงานขยะชินโกโตก็เป็นเช่นนั้น ทางโรงงานมีการวัดค่าความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์ ด้านหน้าโรงงานก็มีป้ายดิจิทัลแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซที่ปราศจากสารก่อมลพิษแบบเรียลไทม์

ในกรณีที่จะมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างอาคาร พวกเขาก็จะจัดงานชี้แจงและจัดงานอภิปรายให้ประชาชนมีส่วนร่วมพร้อมติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังรักษาสิ่งแวดล้อมระหว่างรื้อถอนหรือก่อสร้าง บริเวณก่อสร้างจะคลุมด้วยเต๊นท์สีขาวด้วยดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งออกแบบวิธีทำงานให้เกิดเสียงรบกวน กลิ่นไม่พึงประสงค์ และแรงสั่นสะเทือนน้อยที่สุดด้วย

เราเห็นโตเกียวโมเดลที่ทำให้บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ แต่หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โตเกียวเองก็เจ็บมาเยอะ เราอยากชวนไปดูไทม์ไลน์คร่าวๆ เกี่ยวกับปัญหาและวิธีบริหารจัดการของเขาว่ามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร

Timeline: หนึ่งศตวรรษกับขยะมหานคร

1900-1955  

ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมือง การจัดการขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น มีการใช้ระบบผู้รับเหมาจัดเก็บขยะ

  • 1930 เริ่มมีการเผาขยะ
1955-1973

เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มีขยะจำนวนมากในโตเกียว ส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบ

  • 1963 มีการผลักดันมาตรการเร่งด่วน เพื่อจัดการสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
  • 1971 รัฐบาลประกาศ ‘สงครามขยะ’ นั่นคือมาตรการจัดการกับขยะขั้นเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่านมา พื้นที่จัดเก็บขยะมีไม่พอ เกิดจากการที่ชาวเมืองทิ้งขยะโดยไร้การจัดการ ทั้งยังมีปัญหาลักลอบนำขยะไปทิ้งทะเลจนเกิดโรคมินามาตะ โรงงานขยะขนาดใหญ่อย่างชินโกโตในยุคนั้นก็ไม่สามารถจัดการกับมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ให้สัญญา ชาวเมืองโกโตจึงลุกขึ้นมาประท้วงกดดันรัฐบาล
  • 1973 เริ่มมีการรณรงค์ให้แยกขยะจากครัวเรือนและองค์กร ทั้งยังสนับสนุนแนวคิดรีไซเคิล โดยสื่อสารกับประชาชนผ่านงานอภิปรายหรือการชี้แจงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
1973-1985

เศรษฐกิจคงตัว แต่โตเกียวก็ยังต้องรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ โรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานขยะจึงต้องเริ่มวางระบบป้องกันมลภาวะอย่างจริงจัง

1985-1990

เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว ลักษณะขยะก็หลากหลายมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี

  • 1989 เริ่มแคมเปญโตเกียวสลิม ที่สนับสนุนให้ครัวเรือน สำนักงาน โรงงาน ลดปริมาณขยะที่ตนผลิต และรีไซเคิลกระป๋อง แก้ว หรือพลาสติก
1991-ปัจจุบัน

เป็นยุคที่การจัดการขยะก้าวหน้าที่สุด โตเกียวใช้แนวคิด 3R นั่นคือ Reduce, Reuse และ Recycle พร้อมรับมือกันปัญหาสารไดออกซิน ที่เกิดจากการเผาไหม้ในกระบวนการอุตสาหกรรม

  • 1991 กำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ให้เจ้าของขยะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ
  • 1993 เริ่มใช้ถุงขยะโปร่งแสง ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขณะเผา
  • 1999 บังคับใช้กฎหมายป้องกันสารไดออกซิน
  • 2000 บังคับกฎหมายพื้นฐานการสร้างสังคมหมุนเวียน (recycle และ reuse) และกำหนดกฎหมายรีไซเคิลแต่ละประเภท
  • 2000 โอนถ่ายงานทำความสะอาดให้ 23 เขตของโตเกียวจัดการในเขตของตัวเอง
  • 2008 เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงานเผาขยะ เช่น เตาเผาก๊าซ เครื่องกรองฝุ่น เพื่อลดมลพิษที่โรงงานขยะปล่อยออกไป
  • 2009 เริ่มใช้ระบบ Thermal Recycle ที่จะเปลี่ยนความร้อนจากการเผาขยะไปใช้ประโยชน์ต่างๆ

 

มาถึงปัจจุบัน โรงงานขยะชินโกโตเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้คนและหน่วยงานเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ตลอดทั้งปี ขณะที่โตเกียวโมเดลก็เป็นตัวอย่างให้หลายๆ ประเทศได้ศึกษา รวมถึงยังมีความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการขยะในประเทศต่างๆ อย่างเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย คาซัคสถาน บราซิล รวมถึงรัสเซีย

และสำหรับการไปดูงานของเยาวชนไทยทั้ง 3 คนที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นผู้นำหรือผู้บริหาร ก็พอทำให้เรามีหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรากฐานโมเดลการจัดการขยะในบ้านเราได้

“เราก็อยากให้น้องๆ ได้มาเปิดโลกทัศน์ในสถานที่จริง รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือสภาพแวดล้อมของเมืองโตเกียว เพื่อพวกเขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริงในบ้านเรา” อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าว

ฝ่าย รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นประธานค่าย เพิ่มเติมว่า

“เราอยากให้เด็กมีความมุ่งมั่น และมีสำนึกรักสิ่งแวดล้อม รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิต และอยากพัฒนาตัวเองเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากับท้องถิ่นของตัวเอง พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต โดยไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องโตขึ้นไปเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย เขาจะเป็นอะไรก็ได้ ที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

จากทริปทัศนศึกษาอันหลากหลาย ตั้งแต่แช่มช้าละมุนละไมจากมินาคามิ มาสู่ความฉับไวของโตเกียว เราสนใจว่า เยาวชนที่มาเข้าค่ายเพาเวอร์กรีน ได้เห็นมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อมกันอย่างไรบ้าง

“สิ่งที่อิมแพกต์ผมมากคือการจัดการเมืองที่โตเกียว ที่พยายามอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เช่นการตัดถนนไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ หรือการเติบโตเชิงอุตสาหกรรมก็ไม่จำเป็นต้องบดบังพื้นที่ทางธรรมชาติโดยไม่สนใจ ผมว่า สิ่งที่ยากถ้าจะทำให้เกิดในบ้านเรา อาจเป็นเรื่องความร่วมมือของคน หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ อีกอย่างกฎหมายของที่นี่ก็ค่อนข้างเข้มแข็ง เราเองก็อาจต้องใส่ใจกันตรงนี้มากขึ้นด้วยครับ” ไอซ์—อัครพันธ์ ทวีศักดิ์ ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี บอกกับเรา

ส่วน มายด์—ฐานิญา เมธาสมิทธ์กุล ชั้น ม.4 โรงเรียนธิดานุเคราะห์ จังหวัดสงขลา เล่าว่า “ที่ผ่านมาพออ่านๆ ข่าวแล้วรู้สึกว่าทำไมประเทศไทยยังจัดการไม่ค่อยดีเลย ซึ่งที่นี่เราก็ได้เห็นวิธีจัดการปัญหาที่น่าสนใจ อย่างการนำเถ้าขยะไปถมทะเล หรือนำความร้อนไปสร้างแหล่งศึกษาพันธุ์พืชเขตร้อน มันคือการมองอย่างรอบด้านมากที่สุด บ้านเราเองก็มีโรงงานเผาขยะอีกหลายแห่ง ที่น่าจะจัดการให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น”

ส่วนเด็กสาวอีกคนอย่าง นันท์—ภัทรลดา สิทธิพล ชั้น ม.4 โรงเรียนสารคามพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นว่า “ชาวญี่ปุ่นปลูกฝันกันมาตั้งแต่เด็ก และการที่ผู้ใหญ่เริ่มทำให้เด็กเห็นก่อนก็สำคัญ บางคนพูด สั่งสอน แต่ตัวเองไม่ทำ เด็กจะเห็นว่าทำแล้วดีได้ยังไง ประเทศญี่ปุ่นเองมีด้านลบของตัวเองค่ะ แต่ด้านดีที่เราลองหยิบมาปรับใช้ได้ก็มีมาก ที่เราเป็นกันอย่างนี้ เราจะไม่เปลี่ยนอะไรเลยเหรอคะ เราเองชอบโมเดลที่มินาคามิ ที่เขาอนุรักษ์พื้นที่ป่ากันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการร่วมมือของคนในชุมชนเอง มีพลังยิ่งกว่าการช่วยเหลือจากรัฐอีกค่ะ”

นั่นคือความเห็นจากเด็กๆ อายุ 17-18 ที่เราเชื่อว่าพวกเขาจะยังไม่หมดพลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงกันไปง่ายๆ

“เพราะประเทศไทย จริงๆ เรามีทรัพยากรที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เราไม่ค่อยเจอมหันตภัยแบบญี่ปุ่น เพียงแต่จิตสาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเรายังมีความต่าง เราจึงพยายามเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งดูๆ แล้ว เขาก็ใช้เวลาเนิ่นนานเหมือนกัน ดังนั้น หากเราเริ่มต้นตอนนี้มันอาจจะยังไม่เห็นผลทันตา แต่สิ่งสำคัญคือเราควรเริ่มกันเสียที” —คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าว

ปล. เราเองก็เริ่มเตือนตัวเองให้แยกขยะทุกครั้ง ไม่ว่ารถขยะบางคันจะแยกขยะแล้วแต่บางคันยังไม่แยกก็เถอะ อย่างน้อยการเริ่มจากเราเองในฐานะประชาชน มันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรขนาดนั้น

…….

 

ขอขอบคุณ

ทริปทัศนศึกษา ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือค่ายเพาเวอร์กรีน 12 ด้านการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รวมถึงคุณกัณวีร์ วัตราเศรษฐ์ และคุณพรรษณา นิไกโดะ ไกด์ผู้ร่วมมอบความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นตลอดเส้นทาง

 

แหล่งอ้างอิง

เอกสารจาก สหพันธ์ความร่วมมือฝ่ายควบคุมความสะอาดพื้นที่ 23 เขต กรุงโตเกียว

http://edition.cnn.com/ASIANOW/asiaweek/asiacities/tokyo.html

Fact Box

  • ปัจจุบันโตเกียวเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 และจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีเป็นอันดับที่ 12 ของโลก จากดัชนี Global Power City Index
Tags: , , , ,