เพียงกาแล็กซีไกลโพ้นที่ปรากฏเป็นเส้นขีดแสนจางในกล้องโทรทรรศน์ ก็ทำให้ใครบางคนใจเต้นรัวแล้วร้องเสียงหลงออกมา เรียกให้คนที่เหลือพากันกรูมาต่อคิว

นั่นคือบรรยากาศอุ่นๆ ที่เราเห็นในความมืดของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อุณหภูมิขณะนั้นอยู่ราว 11 องศาเซลเซียส ท้องฟ้ากระจ่างจนเห็นดวงดาวเต็มฟ้า แต่ก็มีบางช่วงที่ฟ้าปิด หรือมีเมฆมาบังดวงดาวเอาไว้

กว่าจะมาถึงตรงนี้ เราใช้เวลาสองชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ นั่งรถไต่ขึ้นดอยอินทนนท์ ผ่านเหล่าดอกพญาเสือโคร่งสีชมพูแซมต้นไม้เขียวในฤดูหนาว จนมาถึงบริเวณสถานีทวนสัญญาณทีโอที ที่ความสูง 2,457 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อันเป็นที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติ

หอดูดาวนี้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตรไว้ภายใน พร้อมระบบโดมอัตโนมัติ ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเพียงไม่กี่แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้สังเกตการณ์ได้ทั้งซีกฟ้าเหนือและใต้ได้ตลอดปี

ไม่บ่อยนักที่คนธรรมดาอย่างพวกเรา 120 กว่าชีวิตจะได้ขึ้นมาเยือนหอดูดาวแห่งนี้กับตาตัวเอง (แถมยังได้แตะกล้องจริงๆ ด้วย) เพราะหอดูดาวใหญ่ขนาดนี้เขาใช้ทำวิจัยเป็นหลัก ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม

และโครงการ ‘เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ’ ก็จัดขึ้นเพียงปีละสองหน รับลงทะเบียนเข้าร่วมได้ฟรี

…แต่ก็เต็มเร็วมากภายใน 5 นาทีเท่านั้น

กล้องโทรทรรศน์ใหญ่กว่าใครในอาเซียน

แหงนหน้ามองอาคารทรงกระบอกและโดมที่สูงรวมกันราวตึก 6 ชั้น (19 เมตร) กล้องโทรทรรศน์ตั้งอยู่บนฐาน (pier) ในขณะที่ตัวโดมและภายในอาคารสามารถหมุนไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนที่กวาดพิกัดของกล้อง (co-rotating dome) และโดมมีช่องเปิด-ปิดกว้าง 3 เมตร

ตอนอาคารหมุนตามหน้ากล้อง โครงสร้างอาคารจะนิ่งจนเราไม่รู้สึกว่าหมุนอยู่ กระทั่งเมื่อมองผ่านช่องอาคารออกไปนั่นแหละ ถึงได้รู้ตัว

บันไดที่เดินขึ้นไปเป็นบันไดวน และพื้นข้างบนเป็นตะแกรงที่เดินแล้วเคร้งคร้างเล็กน้อย… และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใส่กระโปรง เพราะคนข้างล่างจะมองขึ้นมาเห็นสิ่งลี้ลับของเรา

เสาเข็มที่นี่ต้องลงลึกไปถึง 21 เมตร เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงทนทาน วิทยากรบอกว่ากล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่อย่างนี้ ฐานกล้องจะแยกกับฐานของอาคาร เพื่อให้มั่นคงไม่สั่นไหวไปตามการกระทบกระเทือนภายในอาคาร ให้ภาพในจอนิ่งและดาวไม่ดิ้นออกนอกกล้อง

ว่าแต่ทำไมหอดูดาวแห่งชาติต้องมาตั้งที่ดอยอินทนนท์ ก็เพราะว่าเป็นดอยที่อยู่สูงเกิน 2,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่ทัศนวิสัยเหมาะกับการดูดาว ไม่ค่อยมีอะไรมากั้นรบกวนสายตา และแถมเป็นดอยที่มีถนนตัดเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องตัดถนนเพิ่ม ระหว่างก่อสร้างก็จะได้สะดวก

ตลอดทั้งปี จะมีการเปิดกล้องเพียง 180 วัน หรือเท่ากับ 6 เดือนในช่วงฟ้าโปร่ง และมีการซ่อมบำรุงขณะช่วงเวลาใช้กล้อง 2 วัน เนื่องจากระหว่างการซ่อมจะต้องมีการทดสอบใช้งานไปด้วย

กระจกบานยักษ์ที่ใช้เวลาทำกันเป็นเดือน

เจ้าหน้าที่ค่อยๆ โยกกล้องเอียงทำมุมลงมาจนตัวเราเข้าไปอยู่ ‘ใน’ กล้อง คืออยู่ระหว่างกระจกที่ทำหน้าที่สะท้อนแสงไปรวมกันที่ช่องมอง กับแกนของกล้องส่วนอื่นๆ

เรายืนประจันหน้ากับกระจกบานยักษ์ ที่รายละเอียดผิวกระจกเนี้ยบจนกระจกบานไหนในชีวิตก็เทียบไม่ได้

เพราะนี่คือกระจกที่ทำหน้าที่รวมแสงจากระยะไกลมากๆ มาอยู่ตรงตาเรา มันจึงต้องมีผิวเรียบ รับภาพมาได้อย่างไม่คลาดเคลื่อน และเป็นเนื้อกระจกเซรามิกที่ไม่บิดงอตามอุณหภูมิ

กว่าจะเสร็จมาแต่ละบานก็ใช้เวลาหลายเดือน เมื่อใช้งานแล้วก็ต้องคอยนำมาซ่อมบำรุงทุกๆ 2 ปี เพราะอลูมิเนียมจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ภาพไม่ชัดไปด้วย ก็ต้องลอกออกมาเคลือบกันให้ใสกิ๊งอีกหน

แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีเครื่องเคลือบกระจกที่ใหญ่ขนาดจัดการกับกระจกเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติได้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ออกแบบเครื่องฯ ที่ว่านี้ขึ้นมา สามารถควบคุมความหนาของฟิล์มได้ในระดับนาโนเมตร-ไมโครเมตร โดยใช้เทคนิค sputtering คือค่อยๆ พ่นออกมาให้ฟิล์มบางและเรียบสม่ำเสมอ การพัฒนาเครื่องนี้ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท

“ถ้าซื้อมาก็คงไม่ต่ำกว่าล้านเหรียญ (35 ล้านบาท)” ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ NARIT กล่าว

ปัจจุบัน เครื่องเคลือบกระจกนี้ตั้งอยู่ในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะใช้เคลือบกระจกกล้อง 2.4 แล้ว ยังใช้เคลือบกระจกของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่าของสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยได้ด้วย

อะไรก็ไม่ใหญ่เท่าขนาดของท้องฟ้า

ระหว่างรอฟ้ามืดสนิท เพื่อให้ใช้กล้องดูดาวส่องดาวได้ชัด แจ็ค-ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ วิทยากรของ NARIT ก็สอนเราดูดาวไปพลางๆ เริ่มจากค้างคาว ดาวเหนือ ดาวนายพราน เส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า ดาวโจร

การบรรยายเริ่มจากจุดต่อจุด เส้นต่อเส้น เห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มดาวต่างๆ ที่มีต่อฤดูกาล

เราไม่เพียงแต่เห็นจักรวาล แต่เห็นอดีตกาลที่อารยธรรมโบราณได้ใช้เส้นทางของดวงดาวพัฒนาความรู้ขึ้นมา จนเป็นเราทุกวันนี้

“โหราศาสตร์กับดาราศาสตร์ อะไรเกิดก่อนกันครับ” แจ็คถามผ่านไมโครโฟน หลังจากสอนให้เราดูกลุ่มราศีต่างๆ ที่เรียงตัวกันพาดแนวท้องฟ้า บ่งบอกว่านี่คือเดือนอะไร

เด็กๆ ส่งเสียงตอบขึ้นมาหลากหลายคำตอบ

คำตอบของแจ็คชัดเจนว่า คนเราต้องดูดาวเป็นก่อน จึงจะอ่านดาวออกมาเป็นดวงได้

ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แจ็คก็เลียนเสียงเป็นพิธีกรรายการเกมโชว์ที่เกี่ยวกับ 12 ราศี ใช้ปากกาเลเซอร์สีเขียวชี้ขึ้นฟ้า อธิบายว่าหากเชื่อตามหลักโหราศาสตร์ ตอนนี้ดาวอังคารอยู่ใกล้ราศีมีน อาจบ่งบอกว่าชาวราศีมีนจะมีความวุ่นวายในชีวิต ทุกคนยืนนิ่งตั้งใจฟัง

“ฟันธงครับ! เพราะฉะนั้นให้สะเดาะเคราะห์โดยการซื้อมาม่าที่ด้านล่าง” แจ็คพูดตบท้าย ผู้เข้าชมหัวเราะกันครื้นเครง ก่อนจะแยกย้ายไปทำสิ่งที่พวกเขาสนใจกว่า

นั่นคือการมองเห็นไอจางๆ ของเนบิวลาผ่านหน้ากล้อง และจินตนาการถึงชีวิตและความเป็นไปได้ในอวกาศ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงชะตาชีวิตนี้บนดาวที่ชื่อว่าโลก

Fact Box

โครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย ประกอบด้วย

  1. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (เชียงใหม่)
  2. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (เชียงใหม่)
  3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ภูมิภาค (นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา)
  4. เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ (ชิลี อเมริกา จีน ออสเตรเลีย)
  5. กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ (เชียงใหม่) (กำลังก่อสร้าง)
Tags: , ,