หลังจากมีข่าวมาสักระยะถึงการควบรวมกิจการของสองธนาคารใหญ่อย่าง ธ.ทหารไทย หรือ TMB และธ.ธนชาต โดยล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ ทั้งสองธนาคารได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ถึงการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเข้าสู่การควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าธุรกรรมสูงถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาตั้งชื่อธนาคารใหม่ วิเคราะห์จุดแข็งของแต่ละแบงก์ ปรับโครงสร้างให้พร้อม เพื่อให้การควบรวมกิจการเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้

สำหรับการควบรวมทั้งสองธนาคาร จะทำให้ขนาดและศักยภาพของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยภายหลังการควบรวมกิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน กลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของประเทศไทย

ธนาคารทั้งสองแห่งต่างมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน โดย TBM โดดเด่นในเรื่องการระดมเงินฝาก ที่มักนำเสนอผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนธนาคารทั่วไป ส่วนธนชาตมีจุดแข็งที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งน่าจะทำให้การควบรวมทั้งสองธนาคารต่างเสริมซึ่งกันและกัน

โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-Binding Memorandum of Understanding) กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ING Groep N.V., บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการเจรจาร่วมกันต่อไป เพื่อการควบควมของสองธนาคาร

ทั้งนี้มูลค่าในการควบรวมกิจการน่าจะสูงถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท แต่อาจมีการปรับมูลค่าในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากทำการประเมินสินทรัพย์และหนี้สิน โดยธนาคารทหารไทยจะจัดหาเงินทุนโดยการออกตราสารหนี้และหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาทเพื่อขายให้แก่ทุนธนชาต และโนวาสโกเทีย ส่วนเงินทุนที่เหลืออีก 40,000-45,000 ล้านบาทจะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร รวมทั้งอาจออกหุ้นเพื่อเสนอขายให้กับประชาชน และ/หรือ บุคคลในวงจำกัดกับนักลงทุนรายใหม่หรือนักลงทุนรายเดิม

ขณะที่ธ.ธนชาต ก็จะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยอาจมีการขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อให้ขนาดของธุรกิจมีความเหมาะสมในการควบรวมกับ TMB เมื่อปรับโครงสร้างเสร็จแล้วทั้ง 2 ธนาคารจะรวมกิจการโดยใช้วิธีโอนกิจการทั้งหมด ทำให้กระทรวงการคลังและไอเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทยและบริษัททุนธนชาต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารธนชาตจะถือหุ้นในธนาคารใหม่ไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนโนวาสโกเทียจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยแทน

ส่วนบุคลากรและพนักงานของทั้งสองธนาคาร ก็จะมีการเร่งสร้างความเข้าใจและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมไม่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ที่มา:

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562

https://www.thairath.co.th/content/1506121

https://www.posttoday.com/finance/news/581626

Tags: , ,