ถือเป็นการควบรวมกิจการในภาคอุตสาหกรรมเกษตรครั้งใหญ่ ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) อนุญาตให้ไบเออร์ (Bayer) บริษัทยาฆ่าแมลงของเยอรมนี ซื้อมอนซานโต (Monsanto) บริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ในราคา 62,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.2 ล้านล้านบาท)

ล่าสุดเมื่อเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อนุญาตให้เกิดการควบรวมครั้งนี้แล้ว กระทรวงยุติธรรมเห็นชอบ  หลังจากไบเออร์ยอมขายเมล็ดพันธุ์และสินทรัพย์เพิ่มเติม ให้แก่บริษัท BASF SE ซึ่งเป็นบริษัทเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า และประนีประนอมกันในเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมดิจิทัล

จากดีลนี้ ทำให้หุ้นของมอนซานโต พุ่งขึ้น 6.6% ที่มูลค่า $125.66 สูงสุดในรอบ 4 ปี การควบรวมกิจการครั้งนี้ทำให้เกิดบริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 25% หรือราวหนึ่งในสี่ของตลาดเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลงของโลก

การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรสร้างความกังวลต่อกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเกษตรกรเกี่ยวกับอำนาจทางการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่

วิโนนาห์ ฮอว์เทอร์ (Wenonah Hauter) ผู้อำนวยการ Food & Water Watch กลุ่มนักรณรงค์ให้ความเห็นว่า การตกลงซื้อขายครั้งนี้ เป็นการลดการแข่งขันในการขายเมล็ดพันธุ์และสารเคมีแก่เกษตรกรที่เผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เธอเห็นว่า สิ่งที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ดำเนินการไปนั้น ไม่ค่อยช่วยแก้ปัญหาการถือครองข้อมูลจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของเกษตรกร พันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ หรืออุตสาหกรรมสารเคมีในการเกษตร

เมื่อเดือนที่แล้ว ในช่วงของการพิจารณาการซื้อขายครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมบอกว่า ทางกระทรวงตระหนักดีว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมถูกห้ามในยุโรป แต่ใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เวลานี้ ยังมี จีน บราซิล และออสเตรเลียที่อนุญาตให้ทั้งสองบริษัทสามารถควบรวมกิจการได้แล้วเช่นกัน

 

ภาพ: ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมละคร ประท้วง บ.มอนซานโต เมื่อ 20 พ.ค. 2017 ที่อาร์เจนตินา จาก REUTERS/Agustin Marcarian 

ที่มา:

Tags: , , , ,