‘เปิดไทม์ไลน์’ เป็นพาดหัวข่าวที่น่าจะเห็นกันทุกคนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ หรือถ้ามีข่าวพบผู้ป่วยรายใหม่ในจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่ สิ่งมักจะทำเป็นอย่างแรกคือตามหาไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายนั้น เพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยด้วยหรือไม่ 

แต่เราจะเปิดอ่านไทม์ไลน์กันอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก?

  1. เช็คว่าเป็นไทม์ไลน์จริง

อย่างแรกต้องเช็กว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม เพราะสังคมออนไลน์สามารถส่งต่อข้อความหรือรูปภาพกันได้ง่าย บางครั้งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ จึงควรตรวจสอบว่าเป็นไทม์ไลน์ที่เผยแพร่โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัด หรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ

  1. หาจุดอ้างอิงในไทม์ไลน์

เนื่องจากไทม์ไลน์ผู้ป่วยเป็นผลการสอบสวนโรค จึงมีรายละเอียดว่าผู้ป่วยทำกิจกรรมอะไร ที่ไหน เมื่อไร ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน เรื่อยจนมาถึงวันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ และถูกรวบรวมไว้ในสไลด์หรือ Infographic ภาพเดียว เราจึงควรตั้งหลักจากจุดอ้างอิง 2 จุด คือ 

  • วันเริ่มป่วย (onset date) เป็นวันแรกที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยเป็นอาการใดก่อนก็ได้ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

  • วันแยกกัก (isolation date) เป็นวันที่ผู้ป่วยแยกตัวออกจากชุมชน ซึ่งก็คือวันที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาในห้องแยกโรคที่โรงพยาบาล

ความสำคัญของ ‘วันเริ่มป่วย’ ก็คือผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ ยกตัวอย่าง นาย ก. เริ่มมีอาการวันที่ 20 ธ.ค. 63 ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 63 เป็นต้นมาก็มีโอกาสได้รับเชื้อต่อจากผู้ป่วย จนกระทั่งนาย ก. ไปตรวจหาเชื้อ แล้วเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงอยู่ระหว่าง 2 จุดอ้างอิงนี้ (2 วันก่อนเริ่มป่วย จนถึงวันแยกกัก) ไม่ใช่ทุกสถานที่และเวลาทั้งหมดบนไทม์ไลน์

ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการจะถือว่า ‘วันที่ตรวจพบเชื้อ’ เสมือนเป็นวันเริ่มป่วย ยกตัวอย่าง นาย ข. เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของนาย ก. ได้รับการตรวจหาเชื้อวันที่ 25 ธ.ค. 63 ทราบผลว่าพบเชื้อในวันถัดมา แต่ยังไม่มีอาการ ก็จะเริ่มนับผู้ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 63

ในขณะที่ ‘จุดเริ่มต้น’ บนไทม์ไลน์ มักจะย้อนจาก ‘วันเริ่มป่วย’ กลับไป 2 สัปดาห์ ซึ่งเท่ากับระยะฟักตัวที่นานที่สุดของโควิด-19 ทั้งนี้ก็เพื่อค้นหาแหล่งโรคว่าผู้ป่วยรายนั้นติดเชื้อมาจากใคร เช่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในการระบาดระลอกล่าสุด มีประวัติเดินทางไปซื้อ-ขายวัตถุดิบที่ตลาดกลางกุ้ง

  1. ประเมินความเสี่ยงบนไทม์ไลน์

อย่างต่อมาคือ การประเมินความเสี่ยงของตัวเอง เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องใน ‘สถานที่’ และ ‘เวลา’ เดียวกันกับผู้ป่วย ทว่าแต่ละคนไม่ได้มีความเสี่ยงเท่ากันหมด ขึ้นกับว่าเราเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ กับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าแค่เดินสวนกัน หรืออยู่ห่างกันไกลก็ถือว่าไม่มีความเสี่ยง

โดย ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค ได้แก่

  • อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน

  • พูดคุยในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาที

  • ถูกผู้ป่วยไอ/จามรด

  • อยู่ในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ ในระยะ 1 เมตร นานเกิน 15 นาที 

กรณียานพาหนะ 

  • รถตู้หรือรถทัวร์ คือผู้โดยสารคันเดียวกันทั้งหมด

  • เครื่องบิน คือผู้ที่นั่งแถวเดียวกันและสองแถวหน้า-หลัง เพราะอากาศบนเครื่องบินหมุนเวียนมากกว่าและมีแผงกรองอากาศ HEPA

ส่วนระดับความเสี่ยง ‘สูง’ หรือ ‘ต่ำ’ แยกกันด้วยการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัว (PPE) ที่เหมาะสม ซึ่งคนทั่วไปคือหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ดังนั้น หากคุณสวมหน้ากากตลอดเวลาขณะสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก็จะถือว่าเป็น ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ’ (เราจึงควรสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน)

ยิ่งถ้าหากไม่ได้อยู่ใกล้ผู้ป่วยเลย และสวมหน้ากากตลอดเวลาก็ยิ่ง ‘ไม่มีความเสี่ยง’ เลย

  1. การปฏิบัติตัวตามความเสี่ยง

ขอสรุปก่อนนะครับว่า เมื่ออ่านไทม์ไลน์ผู้ป่วยแล้ว จะแบ่งคนออกเป็นอย่างน้อย 4 กลุ่ม คือ (1) ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (2) ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ (3) ผู้ที่เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วย แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด และ (4) ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไทม์ไลน์ผู้ป่วย

สาเหตุที่ต้องแบ่งเช่นนี้ก็เพราะแต่ละกลุ่มมีความเสี่ยงต่างกัน การปฏิบัติตัวหลังพบกับผู้ป่วยย่อมแตกต่างกัน (ความกังวลของเราก็ควรต่างกันด้วย)

  • ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ต้องกักตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน นับจากวันสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย เพราะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ หากมีอาการจะได้รับการตรวจหาเชื้อทันที แต่ถ้าหากยังไม่มีอาการ ควรตรวจในวันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยเป็นต้นไป เพราะต้องรอระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-6 วันก่อน

  • ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว แต่เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และสังเกตอาการตนเองจนครบ 14 วัน นับจากวันสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย ตรวจหาเชื้อ เมื่อมีอาการ (ยังไม่ต้องไปรับการตรวจหาเชื้อ) แต่ถ้าตรวจก่อนมีอาการอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

  • ผู้ที่เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วย แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด เป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำมาก คือต่ำกว่า 2 กลุ่มแรก เพียงแต่อาจได้นับเชื้อจากการสัมผัสทางอ้อม เช่น หยิบจับสิ่งของต่อจากผู้ป่วย แล้วนำมาขึ้นมาสัมผัสใบหน้า (โอกาสเกิดต่ำมาก) ควรสังเกตอาการตนเองจนครบ 14 วัน หากมีอาการก็เข้าเกณฑ์ที่สามารถตรวจหาเชื้อได้

  • ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไทม์ไลน์ผู้ป่วย ไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้ แต่ควรสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยรายถัดไป

  1. ข้อจำกัดของไทม์ไลน์

ไทม์ไลน์เป็นผลการสอบสวนโรคที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วย จึงมีข้อจำกัดในการนึกย้อนประวัติกลับไปในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะตรวจพบว่าติดเชื้อ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ไทม์ไลน์ที่ถูกต้องในครั้งแรก ส่วนใหญ่ไทม์ไลน์จะมีการปรับแก้หลังจากสัมภาษณ์คนใกล้ชิดเพิ่มเติม

ยิ่งผู้ป่วยมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม/กิจการผิดกฎหมาย ผิดบรรทัดฐานหรือค่านิยมของสังคม ผู้ป่วยก็มีแนวโน้มที่จะปกปิดประวัติในส่วนนั้น ยกตัวอย่างไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาที่ไม่ยอมรับว่าลักลอบเข้าประเทศ หรือให้ข้อมูลว่าไปเที่ยวงานเทศกาลดนตรี ดังนั้นเราจึงต้องติดตามข่าวความคืบหน้าจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทุกวัน ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเองก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้ป่วยด้วยว่าอาจต้องสอบสวนจากพยานแวดล้อมเพิ่มเติมด้วย และเมื่อมีข้อมูลใหม่ก็ต้องรีบแจ้งประชาชนว่ามีการแก้ไขไทม์ไลน์

โดยสรุปแล้ว ‘ไทม์ไลน์’ เป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อทั้งการควบคุมโรค ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วย ต้องประเมินความเสี่ยงและปฏิบัติตามระดับความเสี่ยงของตัวเอง และทั้งการสร้างความ ‘ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก’ เพื่อความเสี่ยงในการติดเชื้อจำกัดเฉพาะในไทม์ไลน์เท่านั้น

Tags: , , , ,