หากถามว่าเมืองหลวงของละครเวทีอยู่ที่ไหน คำตอบที่ได้อาจแตกต่างกันไป แต่พนันได้เลยว่านิวยอร์กคือหนึ่งในนั้น และอาจเป็นคำตอบที่มีคนตอบมากที่สุดด้วยซ้ำ ศิลปินละครไทยหลายคนเฝ้าฝันอยากไปใช้ชีวิตทำละครเวทีอยู่นิวยอร์ก คราวนี้เราเองมีโอกาสดีได้สัมภาษณ์สาวไทยไฟแรงท่วม ผู้ใช้ชีวิตอย่างที่ใครหลายคนฝัน จึงอยากชวนมาฟังกันว่าความฝันในชีวิตจริงเป็นอย่างไรบ้าง

แวว—ฑิตยา สินุธก เป็นนักแต่งเพลงละครในนิวยอร์ก โดยเธอแต่งเพลงให้กับทั้งละครออฟบรอดเวย์ (จำนวน 100-499 ที่นั่ง) และออฟ-ออฟบรอดเวย์ (จำนวนจำกัดไม่เกิน 100 ที่นั่ง) เธอตั้งใจไปทำงานนี้เป็นอาชีพหลัก และนี่คือเส้นทางของเธอ

ทำไมเลือกมาอเมริกา

มาตามความฝันค่ะ ตอนเด็กๆ เห็น yearbook ของแม่ตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา เลยอยากมาบ้าง

ทำไมถึงมาทำละครเวที

สมัยเด็กๆ แม่ชอบเปิดละครเพลงให้ดู พวก The Sound of Music หรือการ์ตูนดิสนีย์ แถมแม่เป็นแฟนเพลงของบาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streinsand) ด้วยก็เลยโตมากับเพลงละคร แต่ก็ไม่ค่อยได้ดูละครเพลงเท่าไรนะตอนอยู่ไทย

พอมาแลกเปลี่ยนที่อเมริกา บังเอิญว่าโรงเรียนของลูกโฮสต์จะเล่นเรื่อง Grease ผู้ปกครองเลยพาลูกๆ ไปดูละครเรื่องนี้ที่มาทัวร์รัฐใกล้ๆ เราก็เลยไปดูด้วย ถ้าถามตอนนี้ว่า Grease เป็นละครเพลงที่ชอบไหม ก็คงตอบว่าไม่ใช่ละครที่ชอบที่สุด แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ดูละครเพลงจริงๆ จังๆ ในชีวิต และเป็นละครเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเรา

ตอนนั้นก็คิดนะว่ามันเป็นศาสตร์ที่เหมือนเป็น magic จริงๆ คนดูสามารถหัวเราะหรือร้องไห้ไปกับตัวละครได้ เป็นศิลปะที่ทำให้คนทั่วๆ ไปดูได้เอนจอยไปกับมันได้ ก็เลยติดตามละครเวทีตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ

เรียนอะไรมา ถึงได้มาทำงานด้านนี้

ตอน ม.ปลายเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดลค่ะ เรียนป.ตรีที่ Berklee College of Music ในบอสตัน วันหนึ่งไปหาอาจารย์ที่ห้องพัก เห็นบอร์ดติดประกาศมีโปสเตอร์เล็กๆ อันหนึ่งของ New York University’s Tisch School of the Arts โปรแกรม Graduate Musical Theatre Writing เป็นโปรแกรมเขียนละครเพลง ยังจำได้ว่าตอนนั้นแปลกใจว่ามีโปรแกรมอย่างนี้ในโลกด้วยเหรอ พอจบตรีก็เลยลองสมัครเข้าคณะนี้ดูค่ะ เขาก็ตอบรับเข้าเรียน

ต้องบอกเลยว่าตอนเริ่มเรียนโท อาจารย์เคยเตือนไว้ว่าเรียนหนักนะ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าไม่หรอก ผ่านป.ตรีมาแล้ว ทำงานหามรุ่งมาแล้ว ทำได้ แต่พอเรียนจริง เออ หนักจริง เรียนหนักแต่ก็สนุก ตอนจบต้องทำวิทยานิพนธ์ คณะเราคือต้องเขียนละครยาวหนึ่งเรื่อง

วงการละครเวทีในนิวยอร์กที่การแข่งขันสูงมาก ทำยังไงถึงฝ่ากำแพงเข้าไปได้

จริงๆ เหมือนเป็นดวงเหมือนกันค่ะ ตอนเรียน ป.ตรีก็ไม่คิดว่าจะเขียนละครได้ด้วยตัวเอง เหมือนเป็นฝันเกินเอื้อมไป ตอนนั้นที่คิดคือเรียนให้จบแล้วกลับมาทำงานอะไรสักอย่างที่ไทย อาจจะเป็น music director เป็น arranger หรือเป็น vocal coach ไม่ได้คิดว่าจะเขียนละครเอง

พอจบโท ละครที่เขียนได้ไปเล่นและเวิร์กช็อปที่ Yale Institute for Music Theatre ก็ถือว่าค่อนข้างโชคดีมากๆ เพราะจบมาไม่ถึงปีก็มีโอกาสได้ทำละครเรื่องนี้ต่อ แล้วก็ได้ ลี ซิลเวอร์แมน (Leigh Silverman) ซึ่งเป็นผู้กำกับละครบรอดเวย์มาช่วยเวิร์กช็อปด้วย หลังจากนั้นก็มีทำละครไปเรื่อยๆ มีไปเวิร์กชอป ไปเป็น Artist-in-Residence หลายๆ ที่ทั่วอเมริกาค่ะ

แต่เราก็เชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะว่าคนเราจะโชคดีไปตลอดไม่ได้หรอก การส่งละครไปประกวดหรือเพื่อขอคอมมิชชั่นที่นี่การแข่งขันมันสูง เราก็ต้องทำงานหนักมากๆ ด้วย 

 

ประสบการณ์ที่ประทับใจสุดในการทำงานนี้คืออะไร

เรื่องที่ประทับใจที่สุดอาจจะเป็นตอนได้รางวัลโจนาธาน ลาร์สัน (Jonathan Larson Grant—รางวัลทรงเกียรติที่จะมอบให้คนทำละครเพลงในอเมริกาเป็นประจำทุกปี) เมื่อสองปีที่แล้วค่ะ

เราอาจจะเริ่มรักละครเพลงช้าไปหน่อยเทียบกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันและโตในนิวยอร์ก ความรู้เรื่องละครเพลงเราสู้เขาไม่ได้ค่ะ บางคนเหมือนเป็นสารานุกรมเลย ตอนหนังเรื่อง Rent เริ่มเข้าฉาย คนชอบร้องเพลง Seasons of Love ในหอบ่อยๆ เราฟังไปฟังมาก็กูเกิลเพลงดู ก็เลยรู้จักละครเรื่องนี้และโจนาธาน ลาร์สัน (ผู้แต่ง Rent) หลังจากนั้นไม่กี่ปี Rent กำลังจะปิดการแสดงในนิวยอร์ก เราเลยไปนิวยอร์ก จำได้ว่าก่อนจะดู เราก็ฟังเพลงมาแล้ว รู้เนื้อหมดแล้ว แต่ตอนไปดูเราร้องไห้ หันไปดูคนข้างๆ เขาก็ร้องไห้ มันเป็นความประทับใจที่เราจะไม่ลืมเลย

เราเพิ่งมารู้จัก Rent รู้จักลาร์สัน รู้จักรางวัลนี้ก็ตอนเข้ามหาลัยแล้ว ตอนนั้นเหมือนความฝันลมๆ แล้งๆ ไม่คิดว่าจะได้รางวัลจริงๆในชีวิตนี้ ยิ่งตอนได้โอกาสทำคอนเสิร์ตของตัวเองที่ Adelphi University ซึ่งเป็นมหาลัยที่ลาร์สันจบมา ก็รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ เลยค่ะ 

 

มีอีกหลายเหตุการณ์น่าประทับใจค่ะ อาจจะฟังดูโรคจิตนิดนึง แต่เวลาดูละครตัวเองเหมือนไม่ได้ดูเลย เพราะแทนที่จะมองเวที เรามองคนดูเสียมากกว่า มองว่าเขาหัวเราะมุขที่เขียนไหม ร้องไห้ตอนมันซึ้งไหม ดูแม้กระทั่งเขาปรบมือหลังเพลงจบไหม คือบางเพลงเราก็อยากให้ปรบมือ บางเพลงเราก็ไม่อยาก รู้สึกหายเหนื่อยเวลาคนดู react อย่างที่เราวางแผนไว้ค่ะ

เรื่องแย่ๆ เวลาทำละครที่นี่ล่ะ 

จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร แต่เพราะการทำละครที่นี่โดยเฉพาะเวลาเป็นช่วงพัฒนาบท การเปลี่ยนแปลงในบท ในเนื้อเพลง หรือในเพลงมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรียกได้ว่าถ้าไม่มีแก้อะไรช่วงทำ reading หรือเวิร์กช็อปละครจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากๆ

เรื่องตัดเพลงทิ้งด้วย การตัดเพลง ตัดเนื้อ ตัดบทออกเป็นเรื่องปกติของที่นี่ ในคอมพ์เรามีแฟ้มหนึ่งชื่อ dead babies คือเอาเพลงที่โดนตัดจากละครหลายๆ เรื่องมาเก็บไว้ด้วยกัน บางเพลงเอากลับมาใช้อีกเรื่องได้ บางเพลงทุกวันนี้ยังตายไม่ฟื้นค่ะ

มีตอนทำเวิร์กช็อปละครครั้งหนึ่ง เราเล่นไปแล้วรอบหนึ่งและจะเล่นรอบสุดท้ายวันถัดมา เล่นรอบแรกเสร็จผู้กำกับมาถามเราว่า “คิดยังไงถ้าจะเอาเพลงนี้ไปให้อีกตัวละครร้องแทน” ในแง่การเล่าเรื่องมันก็ทำให้ละครออกมาดีขึ้น แต่การต้องบอกนักแสดงว่าเพลงของคุณโดนตัดนะ แล้วไม่ใช่แค่ตัดไปเลยแต่เอาไปให้คนอื่นร้องแทน เราเองเป็นคนเขียนเพลงยังรู้สึกผิดเลย นักแสดงคนนี้น่ารักมากๆ เขาชอบเพลงนี้มากๆ เราเองเขียนเพลงนี้ให้เหมาะกับเสียงของเขาด้วยซ้ำ ตอนกำลังตัดสินใจกันเราเดินออกมาจากห้องซ้อม นักแสดงคนนี้เขาก็เดินมาพอดีแล้วยิ้มให้เรา โห ตอนนั้นรู้สึกแย่มากๆ แต่โชคดี ที่คนเขียนบทเขาใช้วิธีประนีประนอม คือให้ร้องกันทั้งสองตัวละคร 

อีกเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแย่ๆ แต่เป็นเรื่องจริงคือ การทำงานในวงการนี้มันแข่งขันสูง หลายๆ ที่คนสมัครมาเป็นร้อยๆ คน อาจจะมีคนได้แค่สองสามคน เราต้องฝึกตัวเองให้ยอมรับการโดนปฏิเสธให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยอมแพ้

ปกติตัวเราเองเวลาส่งงานไปประกวด พอกดปุ่ม submit ไปแล้ว คำถามแรกที่จะมีอยู่ในใจคือ “ถ้าปีนี้เรายังไม่ได้ เราจะทำผลงานเราให้ดีขึ้นสำหรับปีหน้ายังไง” มันตอบไม่ได้เลย มันควบคุมไม่ได้เลย ทุกอย่างมัน subjective แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือควบคุมจิตใจเรา ไม่ได้ก็เอาใหม่ปีหน้า ถ้าได้ก็ต้องทำออกมาให้ได้ดีที่สุด

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้างคะ?

ตอนนี้กำลังเขียนละครเรื่อง Half the Sky อยู่ค่ะ เมื่อปี 2018 ได้คอมมิชชั่นบทละครฉบับร่าง (First Draft) จากโรงละคร 5th Avenue Theatre เป็นละครเพลงเรื่องแรกที่เราเขียน เป็นเรื่องของผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่กำลังปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ค่ะ 

ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนที่เลือกเรื่องมาเขียนจากข่าวหรือหัวข้อที่มีคนมาพูดให้ฟัง พอเราสนใจมันก็จะกลายมาเป็นไอเดียของเรื่องค่ะ ตอนเราเรียนป.ตรีปีสองมีข่าวเกี่ยวกับเอเวอร์เรสเยอะ เราอ่านข่าวแล้วก็สนใจยอดเขาลูกนี้ ถามว่าชีวิตนี้จะกล้าไปปีนเองไหม ตอบตรงๆ เลยว่าไม่น่ารอด เพราะกลัวความสูงมากๆ ขนาดที่ว่าเคยจะเป็นลมตอนข้ามสะพานสูงๆ ตอนนี้ผ่านไปเกือบ 10 ปีแล้วเราก็ยังกูเกิลเอเวอร์เรส ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด

จนโรงละคร 5th Avenue Theatre ประกาศรับ proposal เพื่อคอมมิชชั่นบทละครฉบับร่าง เราก็เลยสมัครไปกับคนเขียนบทอีกคนด้วยไอเดียนี้ ปรากฏได้เป็นหนึ่งในสี่เรื่องที่เขาคอมมิชชั่นค่ะ ปีก่อนหน้านี้ก็มีเอาไปเวิร์กช็อปที่ Theater Mu กะ Theater Latté Da และก็เพิ่งทำพรีเซนเทชั่นในนิวยอร์กเสร็จไป

อีกอย่าง ปีนี้กำลังจะเริ่มทำละครเกี่ยวกับนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่นชื่อฮิซาโกะ โคยามะ (Hisako Koyama) ซึ่งเป็นคนเก็บข้อมูลเรื่องจุดบอดบนดวงอาทิตย์มากที่สุดคนหนึ่งค่ะ

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย อยากเห็นวงการละครไทยเป็นอย่างไร เพื่อให้คนทำงานได้มีโอกาสใหม่ๆ ในการทำสิ่งที่ตัวเองตั้งใจมากขึ้น

ถ้าถามในมุมคนเขียนละคร อยากให้มีกองทุนที่ช่วยสนับสนุนนักเขียนละคร อยากให้มีองค์กรหรือคณะละครที่สามารถทำ Writers group ให้นักเขียนได้มาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนความคิด มาพรีเซนต์เพลงหรือบทละครที่กำลังเขียนอยู่ ตอนเราจบมาใหม่ๆ ในนิวยอร์กมีโปรแกรมเมนเทอร์ของ New York Foundation for the Arts เขาจับคู่เรากับเมนเทอร์ที่ทำงานสาขาคล้ายๆ เรา ซึ่งเราว่าเป็นโปรแกรมที่ดีมากๆ 

ตอนนั้นเราจับคู่กับนักดนตรีแจ๊สที่ไม่ชอบละครเพลง ตอนเจอกันครั้งแรกเหวอมาก แต่เรากับเขากำลังจะเขียนโปรเจกต์เกี่ยวกับเกาะ Hart Island เหมือนกัน (เป็นเกาะหนึ่งในนิวยอร์กที่ใช้ฝังศพคนยากไร้หรือเสียชีวิตโดยระบุตัวตนไม่ได้ ฝังศพคนมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ฝังไปแล้วประมาณล้านกว่าคน) เมนเทอร์เราก็เลยช่วยแนะนำให้รู้จักคนที่ทำงานเกี่ยวกับเกาะนี้ 

ถ้าถามเรื่องการศึกษา อยากให้มีคนไทยไปเรียนด้านเขียนละครเพลงค่ะ เราเป็นคนแรกและคนเดียวที่เรียนจบด้านนี้ที่ NYU ยังจำได้เลยว่าตอนไปสอบสัมภาษณ์ อาจารย์เขาตื่นเต้นกันมากๆ เลยที่มีคนไทยมาสมัคร ก็อยากให้มีคนมาเรียนเพิ่มค่ะ

ตอนนี้เราเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิละครไทยด้วย ก็อยากจะช่วยให้การสนับสนุนและส่งเสริมทรัพยากรด้านต่างๆ ในวงการละครไทยมีมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณเช่นกันค่ะ

.

ถ้าเคยฟังเพลง New York, New York ของแฟรงค์ ซินาตร้า ก็คงจะคุ้นหูว่า If I can make it there, I’ll make it anywhere เป็นท่อนที่เหมาะกับคุณแววผู้ make it happen ในนิวยอร์ก (และหลายเมืองทั่วอเมริกา) มากๆ เชื่อเหลือเกินว่าอนาคตจะไปได้ไกลไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน น่าจับตา

เรา—ผู้เขียนเองมีกำลังใจทุกทีเวลาได้ยินเรื่องราวของศิลปินไทยที่เต็มไปด้วยความมานะและความสามารถ แต่แน่นอนว่ากว่าจะประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติได้คงไม่ใช่แค่ตื่นเช้า หวีผม ทานน้ำส้มแล้วจะปังเลย มันต้องอาศัยการสนับสนุนมากมายเป็นเวลาหลายปี

ถ้าอยากเห็นละครเวทีไทยร่วมสมัยเติบโตงอกงาม เราทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันผลักดัน

Tags: , , ,