วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ ‘อนาคตคาร์บอนเครดิต’ เนื่องในงานเฉลิมฉลองปีที่ 20 ของหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้นว่า วันนี้ไม่มีประเทศไหนไม่พูดถึงคำว่า Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีการวิเคราะห์กันว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี โลกจะมีความเสี่ยง 10 ประการ และ 5 ใน 10 ประการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุณหภูมิของโลกที่อุ่นขึ้น มลพิษ หรือเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ปัญหาสภาพอากาศจะหนักหนาขึ้นทุกปี หากย้อนกลับไปในช่วงปี 2564-2565 ประเทศไทยเจอปรากฏการณ์ลานินญา อีก 2-3 ปีหลังจากนี้ ประเทศไทยจะประสบปัญหาเอลนินโญ และรัฐบาลชุดต่อไปจากนั้นก็ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีก
สำหรับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยผลิตก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เท่านั้น และหากเทียบกับขนาดแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ทว่าหากเทียบกับการเกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติ ประเทศไทยกลับอยู่ใน 1-10 อันดับแรกที่เกิดความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้เมื่อปี 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแล้วว่าประเทศไทยจะไปสู่ภาวะ ‘คาร์บอนเป็นกลาง’ หรือ Carbon Neutral ในปี 2593 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon ภายในปี 2608 ฉะนั้นจะต้องมีการประกาศแผนระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
“เราคาดว่า อีก 2 ปีจากนี้ไปจะเป็น Peak Year ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่เกือบ 390 ล้านตันคาร์บอน ฉะนั้น กว่าจะไปถึงปี 2593 และ 2608 แต่ละภาคส่วนจะต้องมีมาตรการในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ และต้องทำให้สอดคล้องกับแผนระยะสั้นและระยะยาว”
วราวุธระบุว่าขณะนี้ ภาคที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือภาคพลังงานและขนส่ง ต่อมาคือภาคอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2.25 ล้านตันคาร์บอน ภาคการกำจัดของเสียต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2.6 ล้านตันคาร์บอน ส่วนภาคการเกษตร ซึ่งประเทศไทยมีเกษตรกรหลายสิบล้านชีวิต ก็ยังต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตันคาร์บอน
ทั้งนี้มีการพัฒนากลไกต่างๆ ในการจัดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ทั้งสิ้น 141 โครงการ ประกอบด้วยทั้งพลังงานทางเลือก การจัดการของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สีเขียว พลังงานทดแทนจากของเสียที่เกิดขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนแล้ว คิดเป็นมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าคาร์บอนเครดิตต่อตันคาร์บอนยังคงอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าบาทเท่านั้น ไม่ได้สูงเท่ากับภูมิภาคอื่นๆ โดยก้าวต่อไปจะมีการพัฒนาระบบ T-VER ให้เป็น Premium T-VER ซึ่งสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น และจับมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านดาวเทียมต่อไป
อีกส่วนหนึ่งที่วราวุธระบุว่าทำไปแล้ว คือให้ชาวนาปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว จากเดิมที่ปลูกกันมาตลอดทั้งชีวิต และในทุกขั้นตอนต้องมีน้ำค้างในนาข้าวตลอด 3-4 เดือน ได้ทำให้เกิดก๊าซมีเทนและเกิดก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกข้าวแบบ ‘เปียกสลับแห้ง’ โดยระหว่างช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องจะมีการระบายน้ำออกจากนาทั้งหมด
“คำถามคือถ้าเอาน้ำออกจากนาหมด ข้าวจะตายไหม นอกจากไม่ตายแล้ว จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20-30% น้ำใช้น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง พลังงานที่ใช้ในการสูบน้ำเข้านาหายไปอีกครึ่งหนึ่ง แต่ลดก๊าซมีเทนไปได้ถึง 70% และได้คาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นจากชาวนา หลายคนอาจถามว่าชาวนาจะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งได้เหรอ ได้ครับ ทำไมผมถึงรู้ เพราะอยู่ที่บ้านผม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ทำมาแล้ว อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ปลูกข้าวในแปลงทดลองเปียกสลับแห้ง โดยยังมีที่จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี สำหรับวิธีการปลูกข้าวเช่นนี้จะทำให้ชาวนาขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละ 500 บาทต่อปี
“ประเทศไทยมีนาข้าวทั้งสิ้น 60 ล้านไร่ ถ้าไร่หนึ่งขายคาร์บอนเครดิตปีละ 500 บาท ก็เท่ากับเราได้ 3 หมื่นล้านบาทที่อยู่ในกระเป๋าชาวนา เป็นการลดหนี้สินครัวเรือนให้ชาวนาทุกคน และเข้ากระเป๋าชาวนาโดยตรง ไม่ใช่กระเป๋านายทุนเท่านั้น”
ขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีการปรับส่วนราชการใหม่ ตั้งกรมใหม่ขึ้น ปรับเปลี่ยนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Change and Environment Department) เพื่อทำภารกิจรองรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรับมือกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง โดยกรมใหม่จะมีเจ้าหน้าที่ 545 คน สามารถทำงานได้ทันทีในเดือนพฤษภาคมและมีงบประมาณตั้งต้นทั้งสิ้น 460 ล้านบาท
วราวุธยังระบุด้วยว่าหลังจากนี้ ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามา หรือรัฐบาลไหนจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาลต่อไป ทุกคนจะถูก ‘บังคับ’ ให้ต้องทำทั้งเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’ ของประเทศในการยืนอยู่บนสังคมโลกต่อจากนี้ ซึ่งหากไม่ทำตอนนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะเริ่มตอนไหน ต้องตั้งคำถามว่าจะให้ประเทศอื่นบังคับ หรือคนไทยจะเปลี่ยนกันเอง ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อในศักยภาพของคนไทย และศักยภาพของภาคธุรกิจในประเทศไทยว่าหากเดินหน้าไปด้วยกัน และร่วมกันเปลี่ยนในเรื่องนี้ ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
ด้าน สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้น กล่าวตอนหนึ่งว่าภารกิจหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้นคือให้ทุกคนตื่นตัวด้วยการส่งเสริมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยืนยันว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายใหม่ที่นอกเหนือจากการแข่งขันธรรมดา จากนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบกับความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน และอยู่นิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป
สุรพงษ์ยังระบุอีกด้วยว่า นอกจากหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้นจะเป็น ‘สื่อกลาง’ ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้กับนักลงทุนในตลาดทุนทั้งในวันที่สดใสหรือเจอวิกฤตแล้ว อีกภารกิจหนึ่งคือจะพาบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและสู้กับภัยคุกคามทางธรรมชาติ รวมถึงจะผลักดันให้ทุกคนมองเห็นเรื่องประเด็น ‘คาร์บอนเครดิต’ ว่าเป็นประเด็นสำคัญ และวาระสำคัญของโลกในอนาคตอันใกล้
Tags: คาร์บอนเครดิต, วราวุธ ศิลปอาชา