ทุกวันนี้หลายประเทศต่างเผชิญวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่เจอทั้งคลื่นความร้อนมากกว่า 40 องศาเซลเซียลแผ่เข้าปกคลุมหลายรัฐ และพายุไอดาพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ขณะประชาชนอีกนับล้านไม่มีไฟฟ้าใช้

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำให้เห็นว่านี่เป็นวิกฤตใหญ่ของโลกที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นคนรุ่นหลังอาจประสบชะตากรรมเลวร้ายเกินคาดเดา  ‘Climate cafe’ หรือ คาเฟ่พูดคุยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นในหมู่ผู้ที่กำลังวิตกกังวลต่อปัญหานี้เช่นกัน 

แม้ประวัติความเป็นมาของ Climate cafe จะไม่แน่ชัดว่ามีจุดเริ่มต้นเมื่อใด แต่คาดการณ์ว่าอาจมีพื้นฐานมาจาก ‘คาเฟ่แห่งความตาย’ ที่มีขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร สำหรับเป็นพื้นที่ให้ผู้คนมาพูดคุยเกี่ยวกับความตายพลางจิบชาแกล้มเบเกอรีไปพร้อมกัน 

ประกอบกับเมื่อปี 2015 เจสส์ เปปเปอร์ (Jess Pepper) ได้ริเริ่มเปิด Climate cafe ขึ้นมาในเมืองดันเคลด์ และเมืองเบอร์นัม ของสกอตแลนด์ นี่จึงอาจนับเป็น Climate cafe แห่งแรกของโลกก็ว่าได้ 

เปปเปอร์เล่าว่า หลังเธอให้ข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่คนในท้องถิ่น จากนั้นจึงเริ่มมีคนที่สนใจเดินมาถามว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง ตรงนี้เองทำให้เธอตระหนักได้ว่า คนเรานั้นต้องพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดกิจกรรมครั้งเดียวแล้วจบ Climate cafe จึงถือกำเนิดขึ้นมา โดย Climate cafe จะมีบรรยากาศเป็นทางการน้อยกว่ากิจกรรมของกลุ่มนักเคลื่อนไหว ทุกคนสามารถเข้าร่วมการสนทนา และมีส่วนร่วมในแสดงความคิดเห็นได้ ตามความมุ่งมั่นของเปเปอร์ที่เชื่อว่า เราควรให้การต้อนรับผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนหรือเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 

จากคาเฟ่ที่ทุกคนนัดพบปะกันต่อยอดไปสู่งานเทศกาลในชื่อ Sussex Green Ideas ที่มีการออกบูธต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องการให้ความรู้เรื่องรีไซเคิล การขายผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อโลก ตลอดจนการจัดแสดงดนตรี และการเล่นเกมต่างๆ  นอกจากนี้ Climate cafe ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่ในสหราชอาณาจักร แต่ขยายไปสู่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองพีล รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา รวมไปถึงหลายเมืองในประเทศฝรั่งเศสด้วย 

คีรัต ดามี (Keerat Dhami) ผู้ก่อตั้ง Climate cafe ในเมืองพีล รัฐออนแทรีโอ เพิ่งจัดกิจกรรมทางออนไลน์ให้บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ มาพูดคุยถึงผลกระทบทางจิตใจในการทำงานของพวกเขา เธอเผยว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นคนขาว เธอเข้าใจความวิตกกังวลของพวกเขาได้เป็นอย่างดี แต่การมีผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งจากฝั่งตะวันออกกลาง และแถบชายฝั่งประเทศเม็กซิโก มันช่วยเปิดมุมมองให้ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่าเดิม 

ดร. ซาราห์ เจเคต เรย์ (Sarah Jaquette Ray) หัวหน้าแผนกการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของ  Humboldt State University  รัฐแคลิฟอร์เนีย และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความวิตกกังวลด้านสภาพอากาศ กล่าวว่าการทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นปัจเจกน้อยลง คือกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับความเหนื่อยหน่ายและความสิ้นหวังจากวิกฤตด้านสภาพอากาศ เนื่องจากบางคนบนโลกโดยเฉพาะในหมู่ประเทศร่ำรวย รับรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ปัญหานี้ยังคงถูกละเลยซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจมากกว่าที่ทุกคนคิด มีข้อมูลระบุว่าชาวอเมริกัน 607 คน อายุระหว่าง 27-45 ปีถึง 59.8 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่อยากมีลูก และกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกกังวลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กรุ่นหลังที่ต้องอยู่ท่ามกลางโลกที่มีสภาพภูมิอากาศเลวร้ายกว่าที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ทาง: https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2685862808372073) ดังนั้น การถือกำเนิดขึ้นของ Climate cafe จึงไม่เพียงแค่เป็นพื้นที่ของคนที่มีมุมมองตรงกัน แต่หมายถึงการเป็นพื้นที่ปรับทุกข์ให้พวกเขาด้วย 

อ้างอิง: 

https://www.theguardian.com/environment/2021/sep/04/anxiety-and-biscuits-climate-cafes-popping-up-around-world

https://climatecafes.org/

Tags: , , ,