มี ‘การ์ตูน’ เรื่องหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะอยากเขียนถึงไม่น้อย เพราะเคยเป็นเรื่องโปรดของผมตอนสมัยเด็ก และมันโด่งดังมากๆ ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนฐานวิธีคิดทางการเมืองของคนดูไปเลยก็พอจะว่าได้ เรื่องที่ว่าก็คือ กันดั้ม (Gundam) นั่นเองครับ
ผมจงใจใช้คำว่า ‘การ์ตูน’ เพราะกันดั้มนั้น แม้จะมีฉบับมังหงะด้วยหลายภาค แต่จุดเริ่มต้นของกันดั้มนั้นมันคือ ‘อนิเมะ’ มากกว่า และมันก็โด่งดัง เป็นที่รู้จักผ่านอนิเมะมากกว่าด้วย ฉะนั้นวันนี้อาจจะถือว่ามาแปลกไปบ้างสักหน่อย เพราะเป็นคอลัมน์ชื่อ Theories of Manga แต่ก็ขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับอนิเมะสักนิดละกันนะครับ (ออกจะแลดูแบ่งเส้นชัดเจนตรงนี้ขึ้นมาแบบดูจุกจิกและกะทันหันอยู่บ้าง แต่เอาจริงๆ ก็คงแค่เป็นเพราะโดยส่วนตัวผมเป็นคนบ้าคลั่งมังหงะมาก แต่กลับรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้อินกับอนิเมะสักเท่าไหร่นัก เพราะผมคิดว่ามันขาดลักษณะเด่นที่จำเพาะแบบของมังหงะไป ตามที่เคยพูดถึงในตอนที่ชื่อ ‘วิธีอ่านมังหงะฯ’ น่ะนะครับ)
ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานอย่างการพูดถึงจุดกำเนิดของเรื่องกันดั้มกันก่อน กั้นดั้มเริ่มต้นโดยบริษัท ซันไรซ์ (Sunrise) ในฐานะอนิเมะซีรี่ส์ฉายทางทีวี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 1979 โดยกันดั้มจัดเป็นอนิเมะหมวดที่เรียกกันว่า Mecha (อ่านว่า “เม็ค-ค่ะ”) หรือหุ่นยักษ์ โดยจะเป็นหุ่นยนต์ที่มีคนบังคับหรือไม่มีก็ได้ (อย่าง โดราเอมอน นั้นเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีคนบังคับ แต่ก็ไม่ถูกนับอยู่ในหมวด Mecha เพราะขนาดมันไม่ได้ใหญ่ยักษ์) ซึ่งหมวดหุ่นยนต์นี้ ก็ยังแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือสายที่เรียกว่า Super Robot และสายที่เรียกว่า Real Robot โดยผลงานดังๆ ก่อนหน้ากันดั้มนั้น แทบจะทั้งหมดเป็นสายที่เรียกว่า Super Robot (เช่น Mazinger Z, Astro Boy, ฯลฯ) ฉะนั้น ในเซ้นส์นี้ จะเรียกว่ากันดั้มคือผลงานที่ปูทางหรือจะเรียกว่าสร้างหมวดย่อย (sub-genre) ที่เรียกว่า ‘Real Robot’ ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจของสังคมก็ว่าได้
ความต่างที่สำคัญของสาย Super Robot กับสาย Real Robot นั้น หลักๆ แล้วอยู่ที่ความสามารถหรือสมรรถนะของตัวหุ่นเอง โดยหุ่นสายซูเปอร์โรบอทนั้นมักจะมีความสามารถเหนือธรรมชาติต่างๆ ได้ เช่นการแปลงร่าง การกลายพันธุ์ มีเวทมนตร์ หรือการดึงพลังจักรวาลประดามีมาใช้ และหุ่นในกลุ่มนี้โดยมากแล้วจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า โดยหุ่นสายซูเปอร์โรบอทบางตัวอาจจะมีขนาดใหญ่เท่ากับกาแล็คซี่ทั้งกาแล็คซี่ หรือใหญ่เท่าจักรวาลเลยก็มีครับ และด้วยความสามารถที่เหนือธรรมชาติ กับขนาดที่มักจะใหญ่จนล้นฟ้าเหนือกว่าความสามารถในทางการรับรู้ต่างๆ นี้ ผมมักจะพานนึกถึงซุนหงอคงกับพระยูไลในเรื่องไซอิ๋ว ที่ไม่ว่าหงอคงจะวิ่ง ม้วนหน้า กระโดดข้ามโลกข้ามมิติยังไงก็ยังอยู่บนฝ่ามือของพระยูไลเท่านั้น
มันจึงมีลักษณะของความ Omnipresence หรือ ‘ปรากฏอยู่ด้วยทุกที่ทุกเวลา’ มีอำนาจอันที่ยิ่งใหญ่ของการ “อยู่ด้วยไปทุกๆ ที่ จะหนีจะหลบอย่างไรก็ไม่ได้ไม่พ้น” ซึ่งสิ่งนี้เอง เอาจริงๆ แล้วเป็นฐานสำคัญของความเชื่อแบบที่เรียกว่า Theological Romanticism ครับ เป็นความเชื่อแบบมีจุดยึดโยงทางจิตวิญญาณ (Spiritual focus) ในทางศาสนา ว่าง่ายๆ ก็คือ มันเป็นคุณสมบัติสำคัญของ ‘พระเจ้า’ นั่นเอง ในแง่นี้ซูเปอร์โรบอทเลยดูจะคล้ายๆ เป็นภาพสะท้อนของการตีความพระเจ้าใน ‘รูปร่างใหม่’ เสียมากกว่า และ คนที่เรียกได้ว่าเป็นตัวพ่อของสายนี้ก็คือโกะ นากาอิ (Go Nagai)
ในขณะที่หุ่นยนต์ยักษ์สายพลังเหนือธรรมชาติกำลังครองตลาด ก็มีกลุ่มผู้สร้างอนิเมะ หรือที่เรียกกันว่าอนิเมเตอร์ของบริษัทซันไรซ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ อย่างโยชิยูกิ โทมิโอะ (Yoshiyuki Tomino) ผู้เป็นอนิเมเตอร์สาย Mecha ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุค เขาอยากจะเสนอมุมมองใหม่ของโลกหุ่นยักษ์ขึ้นมา โดยเป็นหุ่นที่มันสมจริงมากขึ้น มีฐานทางสมรรถนะที่เป็นไปได้ มีความเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับวิธีการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์ (ว่าง่ายๆ ก็คือ ที่มาที่ไปของสเป็คหุ่นนั้นสามารถอธิบายได้ เช่น แบตเตอร์รี่จากพลังงานเธอร์โมนิวเคลียร์ เป็นต้น) และการออกแบบตัวหุ่นเองนั้นก็ต้องสอดคล้องกับความสมจริงดังกล่าว ซึ่งในจุดนี้เอง อีกหนึ่งคนที่สำคัญมากๆ ในการกำเนิดขึ้นของโมบิลสูทกันดั้มก็โผล่เข้ามา นั่นคือคุนิโอะ โอคาวะระ (Kunio Okawara) ซึ่งเป็นนักออกแบบหุ่นยักษ์สำหรับอนิเมะ (ตอนนั้นยังไม่ดังนัก แต่ตอนนี้ดังมากๆ แล้ว)
จากความต้องการให้สมจริง และสอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผล ในวิธีการคิด การสร้าง และดำเนินเรื่องของเรื่องกันดั้มนั้น เป็นการทำลายฐานวิธีคิดที่วางฐานอยู่บนความเชื่อในเชิงจิตวิญญาณลง กันดั้มอยู่บนแนวคิดที่ว่า “ทุกสิ่งต้องสามารถมีคำอธิบายอันเป็นเหตุเป็นผลได้” มนุษย์และหุ่นยนต์ต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกเชิงเหตุผลและอยู่บนพื้นฐานของการคิดคำนวณ
การที่ทุกอย่างอยู่ในวิธีคิดแบบ “If X, then Y” หรือที่เราเรียกกันในทางโลกปรัชญาว่า Hypothetical Imperative นี้เอง ทำให้หุ่นยักษ์ในสาย Real Robot นั้น ไม่ได้มีขนาดที่ดูเว่อร์เกินจริง แบบใหญ่เท่าโลกทั้งใบ หรือจักรวาลทั้งจักรวาล โดยมากแล้วขนาดจะใหญ่กว่ารถถัง ไปจนถึงสูงเท่าๆ กับตึกหลายชั้น (Code Geass – Gundam) เป็นหลัก มีคนบังคับอยู่ในห้องบังคับภายในที่มีลักษณ์แบบค็อกพิต (แทนที่แบบเดิมที่บางครั้งก็บังคับด้วยลูกแก้วมนตราอะไรบ้าง)
ความพยายามสมจริงของกันดั้มนั้น ในตอนแรกคุนิโอะ โอคาวะระถึงกับออกแบบมาให้เป็นสีขาวล้วนทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ เพราะมองว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในการสู้รบจริงในอวกาศนั้น ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีลวดลายสีสันอะไรมากมายนัก การมีลวดลายสีสันยิ่งจะเป็นโทษในการรบจริงเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายความต้องการสมจริงของเขาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความเป็นจริงของโลกจริงของโลกทุนนิยม เมื่อสปอนเซอร์ที่สนับสนุนโครงการอนิเมะกันดั้มที่ยังไม่ทันคลอดนั้น บอกว่าให้เติมสีลงไปด้วย เพราะไม่งั้นมันขายจะขายไม่ได้ และเค้าอาจจะเลิกสนับสนุนทุน สุดท้ายก็ต้องยอมตามกันไป ฉะนั้นการที่ทุกวันนี้เรามีกันดั้มเท่ๆ โผล่มาให้เห็นไม่ขาดนั้น ก็คงจะต้องขอบคุณนายทุนที่บีบบังคับให้ไม่สมจริงเกินไปด้วยแหละครับ
นอกจากที่ตัวหุ่นมันดูสมจริงแล้ว เนื้อเรื่องก็สมจริงด้วยการที่มันไม่หลบหนีหรือออดแอดที่จะแสดงภาพความรุนแรง เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักแต่แรกของกันดั้มคือคนดูกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายถึงผู้ใหญ่อยู่แล้ว (แต่สุดท้ายก็ดังในหมู่เด็กด้วยอยู่ดี) ทั้งตัวเทคโนโลยีก็ดูราวกับจะไปถึงได้ และเนื้อเรื่องก็ดูจะโยงเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองโลกได้โดยไม่ยากเย็น ทำให้เรื่องกันดั้มดังเป็นพลุแตกมากๆ และขนาดที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนกระแสของอนิเมะและมังหงะในญี่ปุ่น (รวมไปถึงทั่วโลกด้วยในเวลาต่อมา) จาก Super Robot กลายเป็น Real Robot กันแทบจะเกลี้ยงตลาดและแทบจะทำให้สาย Super Robot จนล้มครืนไปช่วงหนึ่งทีเดียว
ความฮ็อตของกันดั้มนี้ก็ยังคงเรืองรองมายันปัจจุบัน ดังที่เราจะเห็นได้จากยอดมูลค่ารวมจากสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับกันดั้มนั้น อยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก (อันดับ 1 – 3 คือ โปเกมอน, เฮลโลคิตตี้, และวินนีย์ เดอะพูห์, …, Star wars 5th , Harry Potter 10th , Marvel Universe 11th , Spiderman 12th , Batman 13th , Dragonball 15th ฯลฯ)
ความยิ่งใหญ่ของกันดั้มนั้นไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านี้ครับ จนกระทั่งในปัจจุบันในกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นก็ยังมีโครงการพัฒนาเครื่องจักรช่วยพัฒนากำลังของคน (ขนาดเล็ก) ที่ใช้ชื่อตามเรื่องนี้อยู่ ว่า ‘โครงการกั้นดั้ม’ หรือกระทั่งเคยมีมติเสนองบประมาณที่จะสร้างหุ่นยนต์จริงๆ ขึ้นมาด้วยในรัฐสภาไดเอ็ตของญี่ปุ่น (ใช้งบตัวหนึ่งมากกว่า 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) แต่ญัตติต้องตกไป เพราะถูกมองว่าเป็นนโยบาย “ล่อขอคะแนนเสียงโอตาคุ”
นอกจากนั้นยังมีงานสัมมนาและจัดเวทีวิจัยในการหาความเป็นไปได้ในการสร้างกันดั้มขึ้นมาจริงๆ หลายครั้ง หรือการประชุมวิชาการที่รวมนักวิชาการจากแทบทุกสาขาทั้งวิทย์และศิลป์ ยันภาษาศาสตร์ว่าจะมีความเป็นไปได้ในการจะสร้างโลกแบบ Universal Century หรือการรวมรัฐทุกรัฐให้เป็นหนึ่งเดียวในนามสหพันธรัฐโลกอย่างในเรื่องกันดั้มได้ไหม เป็นต้น
ฉะนั้นเราอาจจะพูดแบบหยาบๆ กว้างๆ ได้ว่าความสำคัญของกันดั้มในแง่มุมมองทางความคิด ภาพรวมที่มันสร้าง Perceptional turn ในสังคมญี่ปุ่นและโลกของผู้เสพอนิเมะนั้น ก็คือ การแทนที่วิธีคิดแบบ Theological romanticism มาเป็นการสร้างโครงเรื่องเนื้อหาของโลกการ์ตูนแบบ Enlightenment Rationality หรือ Materialistic Reasoning (การให้เหตุผลเชิงวัตถุ) แทน อย่างน้อยๆ ก็กับอนิเมะและมังหงะในหมวด Mecha ซึ่งก็ใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าโลกการ์ตูนขอญี่ปุ่นจะปลดแอกตัวเองออกจากบ่วงวิธีคิดของ Enlightenment Rationality นี้ได้ โดยเฉพาะในหมวดการ์ตูน Mecha ที่ดูจะปลดแอกตัวเองยากเป็นพิเศษ
นอกจากตัวหุ่นยนต์ในเรื่องกันดั้มเองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว ตัวเนื้อเรื่องของกันดั้มเองก็เป็นที่พูดถึงเสมอมา แต่เนื่องจากกันดั้มมีทั้งหมดถึง 44 ภาค (และยังคงจะมีต่อไปเรื่อยๆ) รวมถึงจักรวาลซ้อนจักรวาลมากมายแบบเดียวกับพวกมาร์เวลและดีซี การจะสรุปเนื้อเรื่องของทุกภาคคงจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามเนื้อเรื่องของแทบทุกภาคนั้น จะเรียกว่ามีกลิ่นอายของภาคแรก หรือ Mobile Suit Gundam หรือบางครั้งแฟนๆ จะเรียกกันว่า Gundam 0079 (เพราะฉายครั้งแรกในปี 1979 และปีที่เริ่มต้นในตัวเรื่องก็คือปี Universal Century 0079)
เนื้อเรื่องมักเป็นเรื่องของสงครามการปลดแอก (Emancipation war) จากฝั่งจักรวรรดิ ที่โดยมากก็คือ ‘รัฐบาลโลก/สหพันธรัฐโลก’ ซึ่งสามารถรวบรวมอำนาจอธิปไตยและการบริหารทุกอย่างไว้ได้ภายใต้ข้อตกลงเดียวกันได้ ทั้งยังมีอาณานิคม ‘นอกโลก’ อยู่มากมาย ทั้งโคโลนีในอวกาศต่างๆ และอาณานิคมบนดวงจันทร์ เป็นต้น (และการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐโลกนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินกลางรวมกันที่เรียกกันว่าปี Universal Century ซึ่งเป็นระบบนับปีหลักของเรื่องครับ)
เรื่องราวของ Mobile Suit Gundam (และแทบทุกภาคต่อๆ มาก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน) ก็คืออาณานิคมในอวกาศแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Zeon ประกาศอิสรภาพจากรัฐบาลสหพันธรัฐโลก (Earth Federation) แล้วต่างฝ่ายต่างก็ทำสงครามกัน แต่แม้ว่าฝั่ง Zeon จะมีขนาดที่เล็กกว่า แต่ก็สู้กันได้อย่างสูสี เพราะมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์รบที่นำสมัยกว่า จากการแอบทดลองลับๆ ซึ่งเรียกว่า Mobile Suit
มาถึงตรงนี้คนที่ไม่เคยดูอาจจะเข้าใจว่าเรื่องกันดั้มนั้นต้องอยู่ฝั่งที่พยายามปลดแอกตัวเองแน่เลย ซึ่งไม่เสมอไปนะครับ อย่างภาคแรกนี้ ตัวพระเอก Amuro Ray นั้นอยู่ฝั่งรัฐบาลโลก (ฝั่งจักรวรรดิ) ในขณะที่ตัวคู่แข่งพระเอกอยู่ฝั่งปลดแอกตัวเอง หรือก็คือฝ่ายอาณานิคมอวกาศ Zeon นั่นเอง ในขณะที่ในบางภาค อย่าง Gundam Wing ซึ่งเป็นอีกภาคที่ดังมากๆ และมีโครงเรื่องพื้นฐานคล้ายๆ กัน ฝ่ายพระเอกที่ขับกันดั้ม (มีกัน 5 คน) กลับอยู่ฝั่งฝ่ายปลดแอก หรือขยับมาภาคที่ดังมากๆ อีกสองภาคอย่าง Gundam Seed และ Seed Destiny ซึ่งเป็นภาคต่อนั้น แม้ตอนแรกตัวพระเอกทั้งสอง อย่าง Kira Yamato และ Athrun Zala นั้นต่างอยู่กันคนละฝ่าย แล้วมาจบลงที่การร่วมมือกัน สนับสนุน ‘ฝ่ายที่สาม’ ซึ่งเป็นกลางระหว่างความขัดแย้งแทนไปเสีย เป็นต้น
ที่เนื้อเรื่องมีการสลับไปมาลักษณะนี้ แม้โครงเรื่องโดยหลักจะมีความคล้ายกันก็เพราะเนื้อเรื่องของกันดั้มนั้นแทบจะไม่มีครั้งไหนเลยที่เขียนโดยมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งผิดเต็มประตู หรือถูกต้องไปเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะของเนื้อเรื่องที่เหล่าอนิเมเตอร์ของเรื่องนี้ใช้เป็นตัวชูโรงในฐานะ ‘ความสมจริง’ ของตัวเรื่องของพวกเขา ที่ไม่มีใครขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องไปเสียหมด และไม่มีใครเลวร้ายจนไม่มีที่มาที่ไป รวมไปถึงการเน้นอย่างย้ำแล้วย้ำอีกว่า “Freedom is not free.” หรือเสรีภาพมันไม่ได้ไร้ซึ่งราคา ลักษณะของการเป็นโลกสีเทาๆ นี้เอง ก็พอจะพบเห็นได้ในการ์ตูนฝรั่งในช่วงยุคสงครามเย็นเช่นกัน (ก็อาจจะพูดได้อีกว่าฝั่งญี่ปุ่นมาก่อน) ลักษณะโครงเรื่องที่สมจริงมีความอมเทาแบบที่ว่านี้เอง ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนหุ่นยักษ์สาย Super Robot ที่ก่อนหน้านั้นมักจะมีความดำขาวชัดเจน ก็ต้องกลับไปตั้งหลักใหม่ และก็ตั้งลำกลับมาได้ใหม่ อย่างการมาของเรื่อง Neon Genesis Evangelion ในปี 1995 เป็นต้น
นอกจากในแง่ของตัวโครงเรื่องแล้ว ผมคิดว่าเรื่องของตัวละครก็น่าสนใจครับ สิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมตลอดมาในซีรี่ส์กันดั้มนั้นก็คือ ตัวเอก หรือกลุ่มพระเอกจะเป็น ‘เด็กผู้ชาย’ เสมอ ในเซนส์ที่ว่าต้องเป็นเด็กวัยรุ่นละอ่อนลงไปเท่านั้นด้วย ในขณะที่ตัวร้ายหรือตัวคู่แข่งหลักมักจะเป็นผู้ใหญ่ในช่วงไพร์มไทม์ อย่าง Char Aznabel ที่เป็นคู่แข่งของ Amuro Ray ใน Mobile Suit Gundam ภาคแรกเลย ตัว Amuro Ray เองก็เป็นเด็กวัยรุ่นละอ่อน และแนวโน้มความเป็นเด็กละอ่อนนี้ดูจะอายุลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ด้วย ไม่ว่าจะภาค Wing, Seed, Seed: Destiny, Unicorn, Age และอื่นๆ ก็ดูตัวเอกจะอายุอานามลดน้อยถอยร่นลงไปเรื่อยๆ
ความเป็นเด็กของตัวละครนี้เอง ดูจะขัดกับจุดยืนในการสร้างบทที่สมจริงของทีมอนิเมเตอร์ผู้สร้างไม่น้อย ซึ่งจริงๆ มันก็ขัดแหละครับ เพราะตอนแรกทีมผู้สร้างไม่ได้อยากให้ตัวเอกเด็กขนาดนั้น (ขนาด Amuro Ray) แต่เพราะคำขอร้องแกมบังคับของสปอนเซอร์เจ้าเดิมนี่เองที่บอกว่า “เป็นเด็กขายได้ดีกว่า” สุดท้ายทีมผู้สร้างก็เลยต้องยอมตาม และพยายามหาข้ออ้างให้ดูสมจริงกับความเป็นเด็กนี้ ด้วยการใช้ความไม่สมจริง อย่างการอธิบายว่า Amuro Ray นั้นเป็นเด็กผู้ซึ่งมีความสามารถพิเศษสูงที่เรียกว่า Newtype ครับ ซึ่งก็เป็นความลักลั่นที่ตลกดี ที่พยายามสร้างความสมจริงด้วยการใช้ความไม่สมจริงเข้ามาสวม และตลกมากขึ้นไปอีก หากเราจะมองว่าโปรเจ็คต์กันดั้มนี้ พยายามจะสร้าง หุ่นยนต์สำหรับสู้รบในอวกาศที่สมจริงที่สุด เพื่อมาต้านกระแสของหุ่นยนต์แบบ Super Robot แต่พร้อมๆ กันไป ตัวมนุษย์ในเรื่องกันดั้มเอง อย่างกลุ่มตัวเอกนั้นกลับถูกเขียนขึ้นมาในฐานะที่เป็น Superhuman ไปแทนเสีย
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องแกมบังคับของฝ่ายสปอนเซอร์ที่ให้ขาย ‘ความเป็นเด็ก’ นั้น ก็ดูจะเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งว่า สุดท้ายแล้วคนที่เข้าใจความเป็นจริงและรสนิยมในการเลือกรับความจริงของสังคมหนึ่งๆ ที่สุดนั้นดูจะเป็นนักการตลาด ไม่ใช่อนิเมเตอร์หรือนักวิชาการที่ไหน เรื่องกันดั้มเองก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งครับ ที่นักการตลาดของฝ่ายสปอนเซอร์ดูจะเข้าใจความเป็นจริงของสังคมญี่ปุ่นมากกว่าทีมผู้สร้าง เพราะนับจากภาคแรกฉายไป และกันดั้มดังระเบิดระเบ้อขนาดที่ภาคต่อๆ มาแทบไม่ต้องง้อสปอนเซอร์ใดๆ อีก แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์ตัวเอกให้เป็นเด็กต่อไปเรื่อยๆ ด้วย และก็อย่างที่บอกไปว่ามีแนวโน้มที่จะเด็กลงเรื่อยๆ อีกต่างหาก ในแง่นี้มันก็ดูจะสะท้อนรสนิยมที่นิยมเด็กของสังคมญี่ปุ่นไม่น้อยทีเดียว (หึหึ)
ลักษณะของเด็กผู้มีความสามารถพิเศษสูงเป็นพิเศษที่เรียกว่า Newtype ในกันดั้มยุคแรกนั้น ถูกพัฒนาคอนเซปต์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาในภาค Seed และ Seed Destiny ลักษณะเด่นจุดนี้ดูจะถูกผลักให้ไปไกลขึ้นอีก คือ ในทั้งสองภาค เป็นสงครามระหว่างสองฝั่งหลักๆ คือ โลกกับโคโลนี โดยฝั่งโคลีนีจะเป็นมนุษย์ซึ่งถูกเรียกว่า ‘Coordinator’ ซึ่งมีการปรับลักษณะทางพันธุกรรมไปจากมนุษย์หลักบนโลกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นประเด็นความขัดแย้งเริ่มต้นในสองภาคนี้จึงดูจะขับเน้นเรื่อง Racism เอาไว้หนักด้วย และในหมู่ Coordinator ก็มีคนที่ถูกฝังเมล็ดพันธุ์ หรือ Seed ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาคไว้อีกต่างหาก เมื่อ Seed นี้ ‘เบ่งบาน’ ความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไป โดยเฉพาะในการต่อสู้และบังคับหุ่นรบก็จะยิ่งทบทวีไปอีก ผมคิดว่าในสองภาคนี้เป็นสองภาคที่เริ่มต้นมีการขับเน้นและให้คำอธิบายของความสามารถเหนือมนุษย์อย่างจริงจังที่สุด และดูจะพยายามหาทางพยายามอธิบายมันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้จงได้ เพื่อทำให้ ‘ความสมจริงจากความไม่สมจริง’ กลายเป็น ‘ความจริงจากความไม่สมจริงที่สมจริง’ ขึ้นมาแทน
การยกระดับเนื้อเรื่องให้มีความแตกต่างของ ‘พันธุกรรม’ อย่างชัดเจน ทำให้โครงเรื่องของกันดั้มในหลายๆ ครั้งถูกผูกโยงกับประเด็นเรื่องการคัดเลือกพันธุ์และการอยู่รอดทางธรรมชาติ หรือ Survival of the fittest กระทั่งการย้อนไปถึงการต่อสู้ชิงชัยความเป็นหนึ่งในการครองโลกของโฮโมเซเปี้ยนส์ จากมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างโฮโมอิเร็คตัส โฮโมนีแอนเดอร์ธัล หรือโครมันยอง เมื่อหลายหมื่นปีก่อนด้วย แทนที่จะเป็นเพียงเรื่องของสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมและปฏิกิริยาของโคโลนีแต่เพียงเท่านั้น
ด้วยความสมจริงของกันดั้มนี้เอง ทำให้กันดั้มถูก ดู/อ่าน/ตีความ มาแล้วมากมายครับ ในระดับพื้นฐานทั่วไป ก็มักจะเป็นการพูดถึงแนวคิดเรื่องสงครามปลดแอกอย่างที่บอกไป คือ เป็นเรื่องของการเมืองเพื่อการปลดปล่อย ที่ไม่ได้วาดสีสันให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งขาวสะอาดไปเสียหมดด้วย เป็นทั้งเรื่องของ Colonial และ Post-Colonial Politics ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในแง่มุมนี้เองก็คงจะเป็นจุดที่ตัวผู้สร้างเองจงใจเขียนถึงอยู่แล้ว เพราะสะท้อนออกมาในตัวบทอย่างชัดเจนมากๆ
แต่การ ‘อ่าน’ (ในความหมายว่า เสพและตีความ) กั้นดั้มนั้นอาจจะสามารถทำได้ในระดับที่ลึกลงไปกว่านั้นด้วย เช่น การที่อาจจะต้องมาพิจารณาว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่จะต้องสถาปนาอนิเมะหุ่นยนต์ในลักษณะแบบ Real Robot ที่มีกลไกการทำงานอย่างเป็นเหตุเป็นผลเชิงวัตถุแบบนี้ขึ้นมาที่บางครั้งกระทั่งผู้สร้างหรือเหล่าอนิเมเตอร์เองก็อาจจะไม่ได้รู้ตัว
จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ โปรเจคต์นี้เริ่มต้นมาในช่วงต้น ทศวรรษที่ 1970s และมาสำเร็จในช่วงปลายทศวรรษ ตัวทีมผู้สร้างเองก็เป็นคนที่เกิดและเติบโตในช่วงปลายสงคราม จนกระทั่งมีชีวิตวัยทำงานในยุคที่เรียกว่าเป็น Economic Miracle ของญี่ปุ่น ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแรงก้าวกระโดดเป็นอย่างจัด ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เองมันแฝงอยู่ในวิถีความคิดความเชื่อในการออกแบบทั้งตัวหุ่นและโครงเรื่องให้สลับหลุดออกจากความคิดที่บูชาค่านิยมเชิงจิตวิญญาณต่างๆ ที่ถือกันมา การเชื่อและขับเคลื่อนเพื่อสิ่งที่คิดไปเองว่ายิ่งใหญ่กว่าตน จนนำมาซึ่งความฉิบหายนับประการไม่ถ้วน ฉะนั้นพวกเขาจึงเสนอมุมมองแบบที่ยึดกับความเป็นเหตุเป็นผลเชิงวัตถุ (Materialistic reasoning) ที่เป็นกลไกสำคัญให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาได้โดยเร็ว
ไม่เพียงเท่านั้น กันดั้มยังดูจะทำหน้าที่ในฐานะบทตอบกลับเส้นเรื่องแบบที่อิงตามขนบเดิมๆ วิถีคิดแบบอนุรักษ์นิยม ที่สังคมญี่ปุ่นมักจะถูกทำให้ต้องปิดปาก สงบเงียบกับหลายๆ เรื่องที่เป็นการกระทำของจักรวรรดิอย่างสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นในแง่นี้ เราก็อาจจะมีวิธีการมอง การอ่านกันดั้มในอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเลยก็ได้ นั่นคือแบบที่เรียกว่า ‘อุปมานิทัศน์’ หรือ Allegory คือในขณะที่ตัวเรื่องตามที่ตาเห็นและเสพได้นั้นกำลังเล่าเรื่องหุ่นยนต์สองฝั่งสู้รบกัน แต่เนื้อเรื่องจริงๆ ที่มันกำลังพูดถึงอยู่นั้นเป็นเรื่องอื่นไปเลย บทที่หุ่นยนต์ตีกันนั้นเป็นเพียงแค่ฉากสมมติที่อุปมาขึ้นไว้เพื่อเล่าเรื่องอื่นที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิงก็ได้ จะเรียกว่า กันดั้มทำหน้าที่เป็นเสมือนสื่อขบถที่ ‘เข้ารหัสไว้’ ให้รอดพ้นสายตาการตรวจสอบของสหรัฐอเมริกาก็ยังได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอะไร เราอ่านงานวรรณกรรมมากมายหลายเรื่อง อย่าง Animal Farm หรือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ก็ในลักษณะเดียวกันนี้เองครับ
ขอให้สนุกกับมังหงะครับ
Tags: Gundam, Theories of Manga, real robot, super robot