“ความคิดสร้างสรรค์มันเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่มี Action ผลลัพธ์ก็จะไม่เกิดขึ้น”
คำกล่าวข้างต้นเป็นของ กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ นักธุรกิจชื่อดัง ในฐานะประธานบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (Thoresen Thai Agencies) ที่ได้อธิบายแนวคิดโครงการ TTA LAB ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั่วทั้งประเทศ โดยไม่มีเกณฑ์การรับสมัครนอกจากอายุ เพียงแค่เด็กและเยาวชนคนไหนมีไอเดีย ความมุ่งมั่น และอยากพัฒนาบ้านเกิดก็สามารถเข้าร่วมได้
หลายคนอาจสงสัยว่า TTA LAB คือโครงการอะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับเยาวชน เนื่องจากโปรเจกต์นี้เป็นโครงการน้องใหม่ที่ริเริ่มด้วยคุณกึ้ง โดยต้องการเป็นเวทีเล็กๆ ที่สร้างความมั่นใจและต่อยอดไอเดียให้เด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 15-25 ปี ส่วนทาง TTA LAB จะมีผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์คอยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเด็กเยาวชนที่เข้าร่วม
นอกจากนี้หากทีมไหนมีไอเดียริเริ่มสร้างสรรค์ และมีไฟพร้อมลุยต่อ ทาง TTA LAB ก็จะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ โดย TTA LAB มอบเงินทุน ส่วนเด็ก-เยาวชนลงแรงและไอเดีย
“จริงๆ โครงการนี้เกิดขึ้นจากคุณกึ้ง ด้วยการที่เขาเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว พอเราเริ่มเล็งเห็นว่า ลงทุนกับอะไรที่จะส่งผลต่ออนาคตได้มากที่สุด นั่นคือคุณค่าของมนุษย์ดังนั้นเราจึงตั้งคำถามกันว่า ทำไมเราถึงไม่ลงทุนกับมนุษย์ กับคนที่จะส่งผลถึงอนาคต” พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์
คอลัมน์ The Chair สัปดาห์นี้คุยกับ กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ริเริ่มโครงการ, พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์ Managing Director ของโปรเจกต์ และนดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เบื้องลึกเบื้องหลังโปรเจกต์ ที่มา สิ่งได้จากการทำงานกับเด็ก รวมไปถึงพวกเขาได้อะไรกลับมาจากโครงการนี้บ้าง
จุดบรรจบของความคิดสร้างสรรค์ พลังงาน และประสบการณ์ ของแต่ละเจเนเรชัน
คุณกึ้งเล่าที่มาของโครงการ TTA LAB ว่า เกิดจากการที่เขาเป็นคนชอบเดินทางมีโอกาสได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ ตามสถานที่ต่างๆ และได้เห็นศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และยังมองเห็นศักยภาพของคนแต่ละช่วงวัย
“สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือคนรุ่นใหม่จะมีไอเดีย มีพลังงานในการทำงาน แต่ยังประสบการณ์น้อย ต่างกับคนเจเนเรชันแบบผม ที่โตพอมีประสบการณ์แต่พลังงานเริ่มน้อยลง ตรงนี้เลยกลายเป็นจุดกึ่งกลางซึ่งกันและกัน ผมไม่ได้ไปสอนเขา แต่ผมจะมาแชร์ความรู้และจุดแข็งของกันและกัน” คุณกึ้ง
คุณกึ้งยังเสริมต่อว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเขาไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วผิดพลาดหรือประสบผลสำเร็จ เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ดังนั้นนี่จึงเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ลองผิดลองถูกมาแนะนำและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ด้านคุณพีเจเสริมเกี่ยวกับโครงการว่า TTA LAB เปรียบดัง Networking Community จุดศูนย์รวมของเด็กและเยาวชนที่ทุกคนมีไอเดียสร้างสรรค์ และมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศ ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ TTA LAB จึงถูกลดทอนออก เพื่อหาเด็กที่มีแพสชัน มี Motivation และ Ambition หากให้สรุปความสั้นๆ เธอกล่าวว่านี่คือแหล่งรวมของเด็กที่มีพลังอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง
“จริงๆ โครงการนี้เกิดขึ้นจากคุณกึ้ง ด้วยการที่เขาเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว พอเราเริ่มเล็งเห็นว่าลงทุนกับอะไรที่จะส่งผลต่ออนาคตได้มากที่สุด นั่นคือคุณค่าของมนุษย์ดังนั้นเราจึงตั้งคำถามกันว่า ทำไมเราถึงไม่ลงทุนกับมนุษย์ กับคนที่จะส่งผลถึงอนาคต”
คุณพีเจอธิบายต่อว่า นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยมีคุณนดา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษา โดยเธออธิบายถึงโครงการนี้แบบสั้นๆ ว่า
“TTA LAB เปิดพื้นที่ไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นทั่วประเทศ หมายถึงเราลงพื้นที่ร่วมกับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ตรงนี้มันเป็นเวทีที่มีค่าและมีความหมายเป็นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้เด็กและเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง”
Vision and ideas are nothing without action.
“มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เรารู้สึกว่า เมื่อเด็กได้ค้นพบตัวตนของเขา ได้เจอในสิ่งที่อยากทำในพื้นที่ปลอดภัย มีเวทีให้เขาแสดงออกอย่างถูกต้อง มีเพื่อนๆ ในคอมมูนิตี้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ มันคงกลายเป็นเอฟเฟกต์เหมือนขั้นบันไดต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามีก้าวแรกแล้วก้าวต่อไปคงจะเกิดขึ้นอีก”
คุณพีเจอธิบายต่อว่า บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นคุณค่าในทรัพยากรมนุษย์ และอยากเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างคน เพื่อที่วันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้จะได้มาอยู่เคียงข้างกันในบริษัท
“โครงการนี้เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวเหมือนกัน เพราะเป็นการทำงานที่ท้าทายมาก ต้องทำงานกับความไม่รู้ วางแผนไม่เหมือนธุรกิจอื่นที่สามารถการันตีกำไรได้ จึงเหมือนเป็นการทำงานกับอนาคต ได้เห็นมุมมองของเด็กเยาวชน เห็นเป็น Business Long Term ในอีก 10 ปีข้างหน้า”
ด้านคุณนดากล่าวว่า “ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียเป็นสิ่งที่สำคัญต่อเด็กและเยาวชนมากๆ ถ้าวันนี้เราไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน บางทีห้องเรียนที่มีอยู่บางครั้งไม่ตอบโจทย์กับทักษะในชีวิตประจำวันที่ต้องเจอ
“การไม่ออกมาหาประสบการณ์ข้างนอก มันอาจจะทำให้เราไม่มีทักษะชีวิตกับผู้อื่นในสังคมหรือในอนาคต การที่เขามีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรม โครงการ TTA LAB ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการสร้างประสบการณ์”
“Vision and ideas are nothing without action.” คือคำกล่าวของคุณกึ้งที่อธิบายว่า การมีความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่ดี แต่หากไร้ซึ่งการลงมือก็จะไม่เกิดผลลัพธ์อะไรเกิดขึ้น หรือจะไม่สามารถรู้ได้ว่าความคิดของเราจะออกมาประสบผลสำเร็จหรือไม่ หากเราไม่ได้ลงมือทำจริงๆ
ความมุ่งมั่น พลัง และความตั้งใจ คืออีกสิ่งที่คุณกึ้งให้ความสำคัญไม่แพ้กับไอเดีย เพราะหากมีไอเดียเรื่องธุรกิจที่สร้างสรรค์น่าสนใจ แต่ขาดความมุมานะตั้งใจก็อาจทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ยาก โดยเขามองว่า แม้ไอเดียจะดีแค่ไหนแต่ความตั้งใจคือสิ่งสำคัญ เพราะธุรกิจที่สำเร็จส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากความผิดพลาด เรียนรู้ ทำใหม่ นั่นคือการไม่ยอมแพ้ และนี่คือผลสำเร็จของชัยชนะ
นอกจากการให้ความสำคัญ กับความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจของเด็กและเยาวชน ผ่านการให้โอกาส และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดแล้ว TTA LAB ยังเปิดห้องเรียนนอกตำรา ให้กับเด็กเยาวชนที่เข้าร่วม โดยจัดเวิร์กช็อปการเรียนการสอนตามความสนใจของคนเข้าร่วม เช่น วิชา Branding, การทำ Storytelling, Digital Marketing, Finance เบื้องต้น Design Thinking และกฎหมายพื้นฐาน เช่น การจดแจ้งจดทะเบียน รวมไปถึงการ Pitching งาน ผ่านการนำเสนอไอเดียและขายงานจริงๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีประสบการณ์เป็นการฝึก Soft Skill การรับฟีดแบ็ก และให้ฟีดแบ็กในชีวิตจริง
“แน่นอนว่า การที่คุณกึ้งเป็นพาร์ตเนอร์ครึ่งหนึ่งกับเด็กครึ่งหนึ่ง ก็คือการแสดงความจริงใจกับเด็ก เป็นการให้คำมั่นว่าเราจะไม่ทิ้งเขาแน่ๆ เราจะทำกันต่อไป ถ้ามีอุปสรรคหรือเกิดอะไรขึ้นเราก็จะอยู่ตรงนั้นเพื่อคอยช่วยเหลือ ไม่ใช่ให้เงินทุนแล้วแยกย้ายกันไป
“มากไปกว่านั้น โจทย์ที่เราจะทำในแต่ละปีเราก็จะปรับตามเทรนด์ และคงมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าทีมเราก็ต้องทำงานเรียลไทม์มากขึ้น จากแต่ก่อนเราเป็น Business Development ทำ Year Plan กว้างๆ ตอนนี้เรารับจากเด็กด้วย เด็กตั้งโจทย์เราปรับ วิชาที่เราหามาจัดเวิร์กช็อปก็เกิดจากเด็กๆ หมดเลยว่าเขาอยากเรียนอะไร” คุณพีเจเสริม
ด้านคุณกึ้งกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้แค่แลกเปลี่ยนความรู้ แต่จะสร้างธุรกิจพร้อมกันไปด้วย “ผมไม่ได้อยากให้น้องๆ มานั่งเสี่ยงเป็นภาระทางการเงินของเขา ผมต้องหาการลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้นผมจะเตรียม Funding ให้ทุกๆ ไอเดียที่ดีและคิดว่าสามารถทำเป็นโปรเจกต์ได้
“ผมลงเงิน คุณลงแรงและแบ่งกันตาม Percentage คุณเอาไปเลยครึ่งหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่คุณต้องทำคือคุณต้องทำงานลงแรงมีทีมงานตั้งใจทำงาน แต่ถ้าเกิดว่าธุรกิจกำไรเราแบ่งกัน ถ้าขาดทุน คุณขาดทุนพลังงานขาดทุนแรง แต่ส่วนผมขาดทุนทางการเงินแทน แต่สิ่งที่ผมจะให้คือประสบการณ์ ความรู้ โครงสร้างในการสร้างธุรกิจที่ดีขึ้นมา และให้ไอเดียว่า
“ไอเดียบางอย่างที่เขามี เขาสามารถสร้าง Commercial ได้ไหม สามารถที่จะทำเป็นธุรกิจได้ไหม ถ้าทำได้ ต่อยอด แต่ถ้าทำไม่ได้เราก็จะแชร์กันว่า ทำอย่างไรให้ได้ หรือถ้าทำไม่ได้เราก็จะต้องแชร์กันว่าอย่าเพิ่งทำดีไหม หรือถ้ามั่นใจมากๆ ก็ทำเพราะบางธุรกิจไม่สามารถมีใครตอบได้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี ก็ทำเลย ผิดไม่เป็นไร อย่างน้อยเรามีประสบการณ์ร่วมกัน เพราะการลงทุนของผม ผมไม่ได้ลงทุนเยอะ ผมสามารถซัพพอร์ตได้ ก็ถือว่าเราได้ความรู้ร่วมกัน”
ด้านคุณนดากล่าวว่า นอกจากมุมมองของประธานสภาเด็กและเยาวชนแล้ว เธอยังเล็งเห็นในฐานะเยาวชนเองคนหนึ่งว่า โครงการนี้มอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม
“ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นเด็กต่างจังหวัด ถ้าโครงการนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่สามจังหวัด มันน้อยมากที่เด็กจะมีโอกาสมาเข้าใกล้ชิดโครงการที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไอเดียและพัฒนาเศรษฐกิจ
“โอกาสต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มาบ่อยๆ และเด็กและเยาวชนสนใจโครงการเหล่านี้มากๆ เพราะเขามีสิ่งที่อยากจะทำเยอะมาก แต่อาจจะยังไม่มีพื้นที่และในมุมมองของเราการที่เด็กและเยาวชนมีโอกาส ทำให้เขามีพื้นที่สร้างสรรค์ มีพื้นที่ให้เขาได้คิด มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นและได้แสดงศักยภาพตามความสามารถเป็นสิ่งที่ดีมาก”
เวทีขนาดเล็ก แต่ส่งมอบโอกาสขนาดใหญ่ให้เด็ก เยาวชน และสังคม
ปัญหาสังคม วิกฤตภาวะทางการเงิน ส่งผลให้เด็ก-เยาวชนต้องประกอบอาชีพที่ไม่อยากทำ หรือเกิดมาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็น เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินต่างๆ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คุณกึ้งมองเห็นและคิดว่า หากเด็ก-เยาวชนมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ สิ่งเหล่านี้ก็จะคืนกลับสู่สังคมและส่งผลในภาพรวม เหล่านี้ยังไม่รวมถึงศักยภาพของเยาวชนที่จะมีความมั่นใจมากขึ้น หากได้ทำสิ่งที่รักและก็จะอยากทำให้สิ่งนั้นสำเร็จ
“สิ่งหนึ่งในโครงการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทำเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนว่า คุณจะทำอะไรให้สังคมได้บ้างไหม หรือครอบครัวก็ได้ เพื่อนก็ได้ สังคมก็ได้ จังหวัดก็ได้ ถ้าเป็นโครงการช่วยเหลือต่อ นี่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาด้วย” คุณกึ้งเสริม
“พีเจคิดว่า นี่คือสิ่งที่พีเจก็ตามหาตอนที่ยังเด็ก เราก็ต้องการผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส ไม่ใช่ให้ความรู้ ให้โอกาสแล้วก็จบ แต่อยากทำอะไรลองพูดออกมา แต่ให้เด็กเป็นคนตั้งต้น ให้เราลองเดิน แต่มีผู้ใหญ่คอยช่วยดูแล ในฐานะที่เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่งเราก็อยากให้มีสิ่งนี้
“ส่วนในมุมของผู้จัดโครงการ เรารู้สึกว่า มันยังไม่มีเวทีที่จะทำให้เด็กเอาความแอดวานซ์เหล่านั้นมาต่อยอดหรือทำให้เกิดเป็นอะไรขึ้นมาจริงๆ เลยอยากเป็นเวทีเล็กๆ ที่ให้เด็กเริ่ม เด็กคิด เด็กสร้าง และผู้ใหญ่สนับสนุน” คุณพีเจทิ้งท้าย
Tags: Branded Content, เฉลิมชัย มหากิจศิริ, หริสวรรณ ศิริวงศ์, TTALAB, เด็กเยาวชน, โอกาส, สร้างสรรค์, ยั่งยืน, นดา บินร่อหีม