กระแสความนิยมรองเท้าสนีกเกอร์ยังแรงดีไม่มีทีท่าว่าจะตก เห็นได้ชัดจากตัวเลขการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีของธุรกิจนี้ในตลาดโลก รู้กันหรือไม่ว่าประชากรโลกรุ่นหนุ่มสาวโดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญผู้อุดหนุนรองเท้าสนีกเกอร์ เฉพาะปี 2014 พวกเขาเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับรองเท้าประเภทนี้ไปถึง 21 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และในปี 2018 มูลค่าของธุรกิจสนีกเกอร์ในตลาดโลกขึ้นไปแตะอยู่ที่ 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าระหว่างปี ค.ศ. 2019-2024 จะมีแนวโน้มอัตราเติบโตเฉลี่ยในแต่ละปีถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าอาจขยับจะมูลค่าขึ้นไปแตะถึง 88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2024 

ส่วนสำคัญนอกจากปัจจัยของตลาดออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ยังเป็นเพราะประชากรโลกรุ่นหนุ่มสาวซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดของสินค้าชนิดนี้มีกิจกรรมทางกีฬา จากกระแสเทรนด์รักสุขภาพที่ฟีเวอร์ ทั้งยังมีความสนใจในเรื่องของเทรนด์แฟชั่น ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ไปจนถึงระดับไฮเอนด์ ก็ล้วนต่างไม่ยอมพลาดที่จะเข้ามาแบ่งสันปันส่วนในตลาดสนีกเกอร์   

และนั่นทำให้สนีกเกอร์กลายเป็นทั้งแฟชั่นไอเท็มสุดฮิต ของสะสมที่ทรงคุณค่าทั้งทางใจและทางการตลาด ที่นับวันก็จะเต็มไปด้วยแร์ไอเท็มรุ่นหายากราคาสูงลิบลิ่ว เหมือนกับสนีกเกอร์ที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ ที่บอกเลยว่าสาวกสนีกเกอร์ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด

กับงานที่สยามดิสคัฟเวอรี่เขาเพิ่งจัดขึ้น ‘Future Lab Volume 1 : Sneaker’ ที่นอกจากจะจัดแสดงสนีกเกอร์รุ่นหายากเบอร์สุดร่วม 100 คู่เอาไว้ภายในงานเดียวแล้ว คนรักสนีกเกอร์ยังสามารถร่วมสนุกออกแบบและสั่งทำสนีกเกอร์เฉพาะตัว ที่บ่งบอกถึงตัวตน เป็น Limited Edition สำหรับคุณเพียงคนเดียวได้อีกด้วย 

‘Future Lab’ เป็นโปรเจ็กต์ต่อเนื่องที่ทาง สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม ได้คิดขึ้นมาเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางด้านการค้าปลีก ที่มีความคิดสร้างสรรค์และล้ำสมัย เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาค้นพบ (Experiment) สร้างสรรค์ (Create) และพัฒนา (Cultivate) เน้นการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงมอบให้ทุกคนได้ประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ ‘อุสรา ยงปิยะกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง ได้กล่าวถึงที่มาของงานนี้ให้ฟังว่า

“พื้นที่ ‘Future Lab’ ได้ถูกคิดขึ้นมาโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า โดยได้ผสมผสานหลากหลายกลุ่มสินค้าตามเรื่องราว และความสนใจของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งช่วงนี้เป็นยุคของการสร้างความเป็นตัวตนเฉพาะบุคคลขั้นสูงสุด (Hyper-individualization) ที่เราต่างก็มองหาเอกลักษณ์และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยแรงบันดาลใจจากผลงานที่แปลกตา สร้างความเป็นตัวตนเฉพาะบุคคล”

“สยามดิสคัฟเวอรี่จึงได้รังสรรค์ ‘Future Lab’ ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองและร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ล้ำสมัยและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เหมือนใครและมีความโดดเด่น ภายใต้ปรัชญา ‘Your Edition’ ฟิวเจอร์ แล็บ เป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวของสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งจะพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามธีมต่างๆ ในแต่ละตอน แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สนุกและให้ความรู้ ทั้งยังจัดให้มีพื้นที่สำหรับการทดลองเพื่อการออกแบบ ทำเวิร์กช็อป และจัดกิจกรรม

“สำหรับ ‘Future Lab’ ครั้งแรก ด้วยเทรนด์ของรองเท้าสนีกเกอร์ที่มาแรงมาก เราจึงประเดิมด้วยงาน ‘Future Lab Volume 1 : Sneaker’ ซึ่งจัดขึ้นไปจนถึง 9 ก.พ. 2563 ณ ชั้นจี สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม และหลังจากงานนี้สยามดิสคัฟเวอรี่ของเราก็จะจัดให้มี ‘Future Lab’ ใน Volumn ต่อๆ ไปตามมาอีก”  

‘Future Lab Volume 1 : Sneaker’

ประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญได้แก่ นิทรรศการ ‘The 100 (sold out) Exhibition Curated by Soul4street’ ที่รวบรวมสุดยอดรองเท้าสนีกเกอร์ยอดนิยมรุ่นหายาก นับร้อยคู่มาไว้ให้ชม สำหรับความพิเศษของนิทรรศการนี้ คือสนีกเกอร์หายากทั้งร้อยคู่นั้นเป็นผลงานคัดสรรมาเป็นพิเศษ โดย Soul4street’ เว็บไซต์ชื่อดังผู้เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข่าวสารให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่มีความชอบและไลฟ์สไตล์ทางด้านสตรีทแฟชั่น ซึ่งได้รับมอบหมายจากทางสยามดิสคัฟเวอรี่ให้เป็นคิวเรเตอร์ของงาน สำหรับงานนิทรรศการดังกล่าว ‘บิ๊ก – พิสุทธิ์ นำศรีเจริญกุล’ ในฐานะนักสะสมรองเท้าตัวจริง ผู้มีรองเท้าในคอลเลกชันส่วนตัวมากกว่า 400 คู่ ได้เล่าให้เราว่า 

“รองเท้าหลายรุ่นที่จัดแสดงในงานนี้เป็นรองเท้าในตำนานที่หายาก ซึ่งเราแทบไม่มีโอกาสได้เห็นกันง่ายๆ ตามท้องถนนหรือในร้านค้าสมัยนี้ บางคู่บางคนอาจจะเคยได้เห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น อย่างตัวผมเองบางคู่ก็ยังไม่เคยได้เห็นของจริงที่ไหนมาก่อนเลย ซึ่งการที่ได้ชมของจริงเช่นนี้ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และให้ความรู้กับเราได้เหมือนกันนะครับ

“เพราะทางผู้จัดเขาไม่ได้เอามาเพียงแค่จัดแสดงเท่านั้น แต่ยังมีการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับที่มาที่ไป และความน่าทึ่งของรองเท้ารุ่นนั้นๆ ได้มากกว่าที่เราไปยืนดูแล้วเห็นว่าสวย หากได้รู้ว่ารองเท้าแต่ละคู่ออกมาเมื่อไหร่ และทำไมจึงได้รับความนิยม สมัยนั้นมีแฟชั่นอย่างไร และวนกลับมาเป็นต้นแบบที่ฮิตอีกในสมัยหนึ่ง”

เมื่อถามถึงรองเท้าคู่ประทับใจซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในนิทรรศการนี้ สนีกเกอร์เฮดหนุ่มผู้ชื่นชอบกีฬาสเก็ตบอร์ดคนนี้กล่าวว่า คือ Nike Dunk Low Pro SB x Supreme สนีกเกอร์สำหรับชาวสเก็ตบอร์ดรุ่น Limited Edition ที่วางตลาดในปี 2002 ซึ่งออกมาเพียง 2 สี คือ Black Cement และ White Cement นับเป็นรองเท้าสนีกเกอร์ในยุคแรกๆ ที่มีคนเข้าคิวรอแถวต่อซื้อกันอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ ส่วนรองเท้าคู่อื่นๆ ที่จัดแสดงในงานก็อย่างอาทิ Air Jordan 1 Retro High OG ‘Ignite Shanghai’ สนีกเกอร์สีขาว ดำ แดง ทอง สไตล์จีน ปั๊มดาวจม ขึ้นแท่นรุ่นหายากที่ออกมาในปี 2013 และอีกทั้งหมดนับร้อยคู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะรวบรวมเอาไว้ในที่เดียวแบบนี้ คนที่ชอบและรักสนีกเกอร์จริงๆ จึงไม่ควรที่จะพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

นอกจากนิทรรศการจัดแสดงสนีกเกอร์รุ่นหายากเบอร์สุดแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งใน ‘Future Lab Volume 1 : Sneaker’ จัดให้มีก็คือพื้นที่ ‘Hyper-personalize powered by Converse’ ซึ่งเหล่าสาวกสนีกเกอร์ผู้ใฝ่ฝันอยากมีรองเท้ารุ่น Limited Edition ที่ออกแบบสั่งทำเฉพาะ และบ่งบอกถึงตัวตนของตัวเอง ก็สามารถสั่งทำได้ในงานนี้ ทั้งนี้ ‘โย – อภิชิต วิวัฒน์เวคิน’ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ Converse ได้เล่าถึงความน่าสนใจในส่วนนี้ว่า

Converse ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานนี้ด้วยการให้บริการสั่งทำรองเท้าเป็นพิเศษตามความต้องการ ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การปักหมุด ตัดเย็บ เปลี่ยนเชือก หรือแม้กระทั่งการถอดพื้นรองเท้าแล้วนำมาประกบเปลี่ยนใหม่ใส่พื้นของรองเท้าอีกคู่หนึ่ง นำรองเท้าสองคู่มารวมกันเป็นคู่เดียว ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกแบบรองเท้าได้อย่างอิสระมาก คือปกติการออกแบบรองเท้าแบบ Custom เราจะเห็นได้บ่อยอยู่ในวงการรองเท้าอยู่แล้ว แต่สำหรับงานนี้ผมมองเห็นว่ามันทำได้มากกว่าปกติ เพราะเขามีเทคนิคและทางเลือกให้เราได้เยอะมากครับ ซึ่งผมว่าเสน่ห์มันอยู่ตรงที่เราได้ใส่ไอเดียและตัวตนของเราลงไปในรองเท้าด้วย

นอกจากเทคนิคต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ ในเรื่องของค่าใช้จ่ายก็ถือว่าไม่ได้สูงเลย ผู้ที่ต้องการสั่งทำรองเท้าคู่พิเศษ​ สามารถจะนำรองเท้า Converse ที่ซื้อใหม่พร้อมใบเสร็จรับเงิน และขอใช้บริการสั่งทำ ซึ่งแม้คุณจะไม่ได้มีหัวทางด้านการออกแบบหรือศิลปะอะไรมากมาย แต่หากฝันจะเป็นเจ้าของสนีกเกอร์เก๋ๆ เฉพาะตัว ก็ไม่ได้เป็นปัญหาไม่ เพราะภายในงานนี้ยังมีศิลปินทั้งไทยและต่างชาติถึง 50 ชีวิต ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้า ซึ่งมีความโดดเด่นเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ที่จะสลับหมุนเวียนกันมาอยู่ใน Future Lab ทุกวันมาช่วยให้คำแนะนำเพื่อคอยให้คำปรึกษา และสร้างสรรค์ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้เป็นรูปร่าง เพื่อให้ ‘Your Edition’ ของทุกคนได้เป็นจริง

ทั้งนี้ ศิลปินส่วนหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของ Future Lab ได้แก่ ‘AUNTYS HASE / BLAQ LYTE’ โดย Nick Supreda (นิค – สุปรีดา) ชาวไทยที่ไปเติบโตอยู่แคลิฟอร์เนีย เป็นสเก็ตบอร์ดเลิฟเวอร์ กับปาร์ตี้ออแกไนเซอร์ตัวยง เจ้าของคลับฮิปฮ็อป Blaq Lyte ในกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นเจ้าของร้าน Auntys Haus ที่รวบรวมแบรนด์สตรีตแวร์ที่กำลังมาแรงระดับโลก การ Collab กันในงาน Future Lab นี้เลยเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากการทำเสื้อผ้า ‘YETI OUT’ กลุ่มศิลปินที่ประกอบด้วยทั้งนักดนตรี และ DJ, โปรโมเตอร์, โปรดิวเซอร์ และกราฟิกดีไซเนอร์ Yeti Out ก่อตั้งขึ้นที่ลอนดอน ในปี  2010 ก่อนที่จะย้ายมายังเอเชีย เคยจัดปาร์ตี้ซีรีส์ ตามที่ต่างๆ ทำทั้งอาร์ตโชว์ Live Performance และงานบันทึกเสียง

ตลอดจนเสื้อยืดสกรีนพิมพ์ลายสุดคูล ‘OKOKOK’ สตรีทแวร์ชื่อดังจากเกาะฮ่องกง ที่สั่นสะเทือนวงการแฟชั่น ด้วยดีไซน์อันที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะ DIY วัฒนธรรมเสมือนจริง และกลิ่นอายของฝั่งตะวันออก40’s & Shorties’ แบรนด์สตรีทสุดเจ๋งจากลอสแองเจลิส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มศิลปิน  Rap is Now กับ Smile Club ที่คนไทยคุ้นเคย และยังมีศิลปินอื่นๆ อีกมากมายร่วม 50 ชีวิต ที่จะสลับหมุนเวียนกันมาอยู่ใน Future Lab ทุกวันมาช่วยให้คำแนะนำ รวมถึงยังจัดให้มี Shoes Designer ปักหลักประจำอยู่ภายในงานอีกด้วย

หลังจากให้โจทย์การผลิตไปทาง ‘Hyper-personalize powered by Converse’ ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน โดยใช้เวลารอเพียงประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ผลิตออกมาสวยงามแล้วยังต้องแข็งแรงสวมใส่ได้จริง ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเฉพาะการผลิตก็จะตกอยู่ที่ราวๆ 2,000 บาท โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับวัสดุ และเทคนิคที่ใช้ในการผลิต) ซึ่งนับว่าไม่แพงเลย สำหรับรองเท้าสั่งทำพิเศษสำหรับเราแค่คนเดียว

เรียกได้ว่างานนี้ไม่ได้มีดีแค่ไปดูไปชมนิทรรศการจัดแสดงสนีกเกอร์หายากเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสสั่งทำรองเท้า Limited Edition ในแบบของเราเองอีกด้วย ใครที่ชื่นชอบสนีกเกอร์และอยากมาตามหาแรงบันดาลใจ ร่วมออกแบบสนีกเกอร์สุดพิเศษกับศิลปิน และสร้าง ‘Your Edition’ ที่บ่งบอกถึงตัวตน มาเจอกันได้ที่ ‘ฟิวเจอร์ แล็บ’ นับตั้งแต่นี้ไปจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ชั้น G สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม และคอยติดตามข่าวโปรเจ็กต์ดีๆ ให้แรงบันดาลใจอย่างนี้กันได้ว่า Future Lab ใน Volumn ถัดไป สยามดิสคัฟเวอรี่เขาจะขนอะไรน่าตื่นเต้นมาให้เราได้ชมและมีส่วนร่วมกันอีก

 

อ้างอิง

Fact Box

  • 3 ผู้เล่นใหญ่ที่สุดในตลาดรองเท้ากีฬา ได้แก่ Adidas, Nike, และ Under Armor ในแต่ละปี สร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นถึง 49 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และแม้ว่า Adidas กับ Nike จะเป็นผู้ครองตลาดหลัก แต่ก็ยังมีผู้เล่นรายย่อยรายใหม่ๆ ที่เข้ามาขอปันส่วนแบ่งในตลาดอยู่ตลอดเวลา
  • ทวีปอเมริกาเหนือเป็นตลาดสนีกเกอร์ที่ใหญ่และมีมูลค่าสูงสุดในปี 2018 ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยเทรนด์รักสุขภาพที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ ในบรรดาประเทศต่างๆ ในอเมริกาเหนือ ประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของสนีกเกอร์คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าสนีกเกอร์คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันเลยก็ว่าได้
  • ผู้คนทุกช่วงวัยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็สวมใส่สนีกเกอร์กันหมด นอกจากนี้สนีกเกอร์ยังเป็นเรื่องของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์อีกด้วย ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจึงเลือกที่จะสวมใส่รองเท้าที่สวมใส่สบายมากกว่า อันเป็นผลทำให้ความต้องการในตลาดของสนีกเกอร์นั้นเพิ่มมากขึ้น และแผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งนี้นวัตกรรมการผลิตที่พัฒนาก้าวหน้า ซึ่งเน้นในเรื่องของการ Custommize และ Personalize รวมไปถึงเทรนด์การผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน ก็ยังได้เพิ่มยอดขายและมูลค่าให้กับรองเท้าประเภทนี้อีกด้วย
Tags: , ,