เมื่อพูดคำว่า Swoon ในบริบทของภาษาศาสตร์ จะเป็นคำกิริยาที่แปลความหมายได้ว่า ‘เป็นลมสลบเหมือด’ ขณะเดียวกันหากนำคำนี้ไปแปลความหมายในบริบทของภาษาวัยรุ่น จะมีความหมายประมาณว่า ‘คลั่งรักหัวปักหัวปำ’ ซึ่งทั้ง 2 ความหมาย เมื่อพิจารณาดูแล้วมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ทว่าในบริบทของภาษาศิลปะแล้วนั้น คำว่า Swoon มีเพียงความหมายเดียว คือชื่อในวงการของหนึ่งในศิลปินหญิงเบอร์ต้นของวงการสตรีทอาร์ต อย่าง คาเลโดเนีย เคอร์รี (Caledonia Curry )ที่นอกจากจะเป็นคนสำคัญในวงการศิลปะแล้ว ยังเป็นแขกคนพิเศษที่เราอยากชวนคุยและทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น

The Momentum เดินทางไปพื้นที่ศิลปะขนาดพันกว่าตารางเมตรใจกลางกรุงเทพฯ อย่างเอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) สถานที่ที่กำลังจัดแสดงนิทรรศการ Homecoming ที่ชั้น 1 รายล้อมไปด้วยผลงานภาพพิมพ์ งานวิดีโออาร์ต และศิลปะจัดวาง ที่ Swoon ทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดความเข้มแข็งและการเกิดใหม่ที่แฝงตัวอยู่ในเศษซากจากหายนะในสังคม และเป็นสถานที่ที่เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ แคล์ลี (Callie) ชื่อที่ศิลปินหญิงคนนี้ใช้แนะนำตัวเอง ณ วินาทีแรกที่ได้ทักทายกัน ก่อนที่พวกเราจะนั่งพูดคุยกันถึงแรงบันดาลใจจากอดีตที่สะท้อนในผลงานปัจจุบัน และเส้นทางศิลปะในอนาคตที่เธอกำลังสำรวจอยู่

Homecoming: บ้านที่ไม่ใช่บ้านและผลงานจากแรงบันดาลใจในอดีต

หากผู้อ่านสังเกตชื่อนิทรรศการของเธอก็อาจจะแปลกใจว่า นิทรรศการที่สร้างสรรค์โดยศิลปินผู้มีพื้นเพมาจากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำไมถึงเลือกใช้ชื่อแบบนี้ ทั้งที่ผลงานจัดแสดงอยู่ในประเทศไทย ซึ่งห่างจากบ้านเกิดของเธอไปไกลหลายหมื่นกิโลเมตร พวกเราเองก็สงสัยเช่นกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินระดับโลกกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยเริ่มจากจุดไหน และทำไมนิทรรศการครั้งนี้จึงเหมือนการได้กลับคืนสู่บ้านของเธอ

แคล์ลีเล่าย้อนกลับไปถึงเรื่องราวครูคนหนึ่งที่พยายามเก็บเงินเพื่อพาลูกสาวและครอบครัวไปเที่ยวในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเป็นประจำ จนกระทั่งประเทศเล็กๆ ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทย ไปสะดุดตาเขาเข้าและกลายเป็นหมุดหมายหนึ่งที่เขาอยากมาเยือนให้ได้สักครั้ง แต่ความจริงที่ว่าเขาอายุเยอะเกินกว่าจะออกไปผจญภัยในอีกซีกโลกนั่นเอง ทำให้เขาต้องพับความฝันนั้น และส่งต่อมันให้ลูกสาว ซึ่งเรื่องเล่านี้คือเหตุการณ์เมื่อปี 2007 หรือ 18 ปีที่แล้ว ที่แคล์ลีในวัย 30 ปี ได้รับของขวัญชิ้นพิเศษจากพ่อ นั่นคือโอกาสในการมาเที่ยวไทยครั้งแรก

“ฉันคิดว่าทุกวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนะ แต่วัฒนธรรมไทยมันทรงพลังเป็นพิเศษ ภาษาของลวดลาย ภาษาของเครื่องเทศ ภาษาของสถาปัตยกรรม ฉันชอบหลายสิ่งหลายอย่างทั่วโลก แต่ฉันรักความรู้สึกแบบไทยๆ มากจริงๆ

“ฉันรู้สึกว่าตัวเองได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีไทยในทุกระดับ เช่น ตอนฉันไปวัดที่สวยงามที่สุด ฉันก็รู้สึกทึ่งกับความงามของมัน แต่เมื่อฉันไปเดินตามถนนในตลาด ฉันก็รู้สึกตื่นตากับกันสาด กระจก หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปในแบบของมัน” แคล์ลีกล่าวถึงความพิเศษของวัฒนธรรมไทยที่เธอได้เห็นตอนที่มาประเทศไทยครั้งแรก

เธอเล่าต่อว่า แรงบันดาลใจทั้งหลายที่เคยได้รับหลังจากได้มาเยือนประเทศไทยครั้งแรก ยังคงสะท้อนอยู่ในผลงานของเธออยู่ตลอด เห็นได้จากผลงานสร้างชื่ออย่าง Swimming Cities of Serenissima เรือที่สร้างจากวัสดุเหลือใช้ที่แล่นเข้าสู่งานเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) ในปี 2009 โดยเธอได้ไอเดียการสร้างเรือลำนั้นจากการได้เห็นเรือหางยาวในแม่น้ำของไทย จนหยิบนำเครื่องยนต์เรือหางยาวไปเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้น

จากตอนที่เริ่มพูดคุย เราเข้าใจ (เอาเอง) ว่า เธอคือคนให้กำเนิดชื่อนิทรรศการนี้เอง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มีคนอื่นตั้งชื่อให้ แต่ในฐานะศิลปินเจ้าของผลงาน เธอมองว่าชื่อนี้มีความหมายกับเธอ และสามารถสื่อสารเจตนารมณ์ของผลงานศิลปะที่ทำได้เป็นอย่างดี

“ฉันไม่ได้ตั้งชื่อนิทรรศการว่า Homecoming หรอกนะ แต่ฉันคิดว่าคนที่ตั้งให้ พวกเขาคงสัมผัสอะไรบางอย่างได้ และตอนที่ฉันเห็นชื่อนี้ครั้งแรก ฉันพูดว่า ‘นี่มันสมบูรณ์แบบ’ เพราะสำหรับฉันชื่อนี้มันหมายถึง การนำงานที่ฉันสร้างขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความรู้สึกแบบไทยๆ กลับคืนสู่บ้านเกิดและกล่าวขอบคุณวัฒนธรรมไทยไปด้วย

“หลายปีในอาชีพของฉัน งานของฉันได้รับอิทธิพลจากทั่วทุกมุม แต่งานมากมายในนิทรรศการนี้ได้รับอิทธิพลและเชื่อมโยงกับประเทศไทยจริงๆ และฉันคิดว่ามันแทบจะเป็นเหมือนกับจดหมายรักเล็กๆ น้อยๆ ถึงประเทศไทย” แคล์ลีพูดถึงที่มาของชื่อนิทรรศการ

ศิลปะจากความไม่ตั้งใจ แต่เป็นเหมือนไดอารีบันทึกสิ่งที่พบเจอ

หลายครั้งผลงานศิลปะสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจของศิลปินที่จะถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่าง และบางครั้งก็สร้างจากเป้าหมายที่กำหนดอย่างเป็นแบบแผนโดยศิลปินเจ้าของผลงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ศิลปินมักนำมาใช้ในการสร้างผลงานศิลปะบางชิ้นคือ ความบังเอิญของสิ่งที่ผ่านตาและไปจับใจพวกเขาทันทีในวินาทีที่เห็น ซึ่งเหตุการณ์อย่างหลังก็เคยเกิดกับแคล์ลีเช่นกัน

“บางครั้งก็มาจากเพื่อน บางครั้งก็เป็นครอบครัว บางครั้งก็เป็นคนที่ฉันทำงานด้วยในชุมชน และบางครั้งมันก็เป็นแค่ช่วงเวลาบนถนน ที่ฉันแค่สังเกตและก็บันทึกมัน”

หนึ่งในผลงานจากนิทรรศการนี้อย่าง Girl From Ranong Province คือตัวอย่างผลงานศิลปะที่นำความบังเอิญมาสร้างเป็นชิ้นงานที่สวยงามและมีค่า ไม่ต่างกับงานที่ออกแบบวางแผนอย่างตั้งใจ

ภาพพิมพ์เทคนิค Silk Screen ที่ฉายให้เราเห็นภาพครึ่งบนของผู้หญิงปริศนาจากระนองคนหนึ่งกำลังนั่งมองอะไรบางอย่าง ในขณะที่ครึ่งล่างของเธอเต็มไปด้วยสถานที่ต่างๆ ในไทยที่แคล์ลีนำมาร้อยเรียงปะปนกันอย่างซับซ้อนแต่สวยงาม

“ฉันขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านที่ต่างๆ และก็หยุดที่หนึ่งเพื่อหาอะไรกิน ฉันเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำบาร์เทนเดอร์อยู่ ตอนนั้นมันเหมือนกับสายฟ้าฟาด ฉันรู้สึกว่า ‘โอ้ เธอสวยมาก เธอมีเสน่ห์มาก’ มันดูลึกลับเล็กน้อย เหมือนกับบางคนที่มีออร่าบางอย่าง ซึ่งเธอก็มีมัน ฉันเลยรู้สึกว่า อยากวาดรูปเธอ ฉันถ่ายรูปเธอเก็บไว้ จากนั้นก็ทักทายเธอ และฉันก็วาดรูปเธอ แต่จนตอนนี้ฉันยังไม่รู้แม้แต่ชื่อของเธอเลยด้วยซ้ำ”

แคล์ลีให้ความหมายของการทำงานศิลปะว่า เป็นเหมือนการสังเกตการณ์ ที่ถึงแม้ว่าในอดีตเธอจะไม่สามารถสังเกตเห็นมันได้ เพราะกำแพงภาษา แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงไปของสังคม ทำให้เธอเริ่มสัมผัสกับสิ่งที่เธอไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนได้ชัดขึ้น

“ตอนที่ฉันอยู่ที่นี่ เมื่อปี 2007 ฉันพูดภาษาไทยไม่ได้ และคนส่วนใหญ่ในตอนนั้นก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ มันเลยไม่ง่ายนักที่จะพูดคุยกับชุมชนเหมือนตอนนี้ ที่เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าทึ่งมาก เพราะมีผู้คนมากมายแบ่งปันว่าสิ่งที่พวกเขาทำคืออะไร หรือพวกเขากำลังคิดอย่างไร และมันให้ความรู้สึกเหมือนฉันได้ลงลึกและได้เห็นสิ่งที่ฉันมองไม่เห็นมาก่อน”

กลิ่นอายปัญหาสังคมที่กลมกลืนในลายเส้นศิลปะ

นอกจากแรงบันดาลใจที่เคยได้รับจากวัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิตแบบไทยๆ ไปจนถึงความบังเอิญในชีวิตจะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของเธอ อีกสิ่งหนึ่งที่เธอมักหยิบมาใช้เวลาสร้างชิ้นงานคือ การนำความเจ็บปวดของโลกมาถ่ายทอดให้สวยงาม จนบางครั้งคนดูอย่างเรา อาจจะเกือบลืมไปเลยว่า ความงามที่เรากำลังยืนจ้องมันด้วยความชื่นชมพัฒนามาจากการแตกสลายของใครสักคน

ผลงานศิลปะหลายชิ้นในนิทรรศการ Homecoming ก็เช่นกัน เพราะแคล์ลีหยิบนำฝันร้ายอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว มาเล่าได้อย่างละเอียดผ่านการนำสิ่งของที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่เธอพบเจอระหว่างพำนักอยู่ที่เชียงใหม่ 2 สัปดาห์ เช่น ไม้กวาดซี่ห่างๆ ที่ไม่สามารถเก็บเศษผงบนพื้นได้แล้ว บานไม้สีเขียวที่เดาว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นโครงสร้างบ้านสักหลังในเชียงใหม่ ไปจนถึงเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักจนยากที่จะบอกได้ว่า มันเคยเป็นอะไรมาก่อน

เธอหยิบนำของที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญและความหมายกับบ้านของใครสักคน จนกระทั่งฝันร้ายจะเปลี่ยนพวกมันเป็นเพียงเศษซากความทรงจำที่ไม่สามารถแม้แต่จะระบุเจ้าของได้ มาเป็นผลงานที่มีคุณค่าด้วยการใช้เทคนิค Paper Cut ที่เธอทำร่วมกับ Hello Print Friend Studios ชุบชีวิตเศษซากเหล่านั้นให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง

“ฉันรวบรวมวัตถุบางอย่างมาจากกองน้ำท่วม เพราะว่ามีน้ำท่วมเมื่อไม่นานมานี้ และบางส่วนก็มาจากตลาดนัด เพราะฉันแค่รู้สึกว่างานศิลปะมันเป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์มากๆ ถ้าคุณเอาอะไรบางอย่างจากภัยพิบัติหรือหายนะ แล้วคุณเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งที่สวยงาม มันจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ทุกคนสามารถรับรู้และเข้าใจได้โดยสัญชาตญาณ”

ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเอาความเจ็บปวดของผู้คนและสังคมมาเล่าผ่านงานสร้างสรรค์ เพราะหากเคยได้เห็นหรือติดตามผลงานของแคล์ลีมาบ้าง พวกคุณอาจจะได้เห็นว่า ผลงานศิลปะหลายๆ ชิ้นของเธอล้วนมาจากปัญหาในสังคมที่บางทีมีเพียงแค่ศิลปะเท่านั้น ที่สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างแยบยล ทำให้ผลงานของเธอกลายเป็นเหมือนเครื่องมือเพื่อเรียกร้อง ขับเคลื่อน ไปจนถึงต่อต้านความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโลก

“ฉันคิดว่าเราทุกคนรู้สึกกังวลเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างในโลกกันทั้งนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น แต่คุณรู้อะไรไหม เห็นได้ชัดว่า พวกเราไม่สามารถช่วยเหลือทุกเรื่องได้ แต่ฉันคิดว่าแต่ละคนมีทักษะบางอย่าง และแต่ละคนมีปัญหาที่รู้สึกกังวลกับมันจริงๆ บางครั้งเมื่อคุณนำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับปัญหาที่คุณกังวลอยู่ คุณสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“คุณรู้สึกถึงความเจ็บปวดของโลกใช่ไหม มันเจ็บปวด จนคุณเริ่มคิดว่า คุณทำอะไรกับมันได้บ้าง สำหรับฉัน ฉันคิดว่ามีวิธีที่ต่างออกไปเมื่อพูดถึงการขับเคลื่อนสังคม ด้านหนึ่งคือการจัดการประท้วงเล็กๆ บนถนน แต่มันยังมีอีกด้านหนึ่งคือการสร้างชุมชน การสร้างสิ่งใหม่ ไปจนถึงการสร้างทางเลือกอื่นๆ” แคล์ลีพูดถึงการแก้ปัญหาสังคมด้วยแนวทางใหม่

จากนั้นแคล์ลีก็ยกเหตุการณ์ที่เธอเคยเข้าไปปรับปรุงโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้างด้วยความสามารถทางศิลปะบวกกับความตั้งใจอันล้นเปี่ยมในการช่วยเหลือสังคม จนโบสถ์เก่าๆ ที่รอวันพังทลายได้กลายเป็นบ้านใหม่สำหรับอดีตนักโทษที่เคยถูกจำคุก

“อเมริกาจำคุกผู้คนมากกว่าประเทศไหนในโลก และหลายครั้งก็มาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนถึงตอนนี้ในอเมริกาก็ยังเอนเอียงไปทางการลงโทษ ไม่ใช่การฟื้นฟู ซึ่งในมุมมองของฉันคือ ถ้ามีใครทำอะไรผิด ก็อาจเป็นเพราะพวกเขากำลังมีปัญหาหรือกำลังเจ็บปวดอยู่

“ฉันจึงคิดว่ามันจะดีกว่าไหม ถ้าเราพยายามช่วยพวกเขาไม่ให้มีปัญหา มากกว่าที่จะลงโทษและทำให้ปัญหาของพวกเขาแย่ลง เพราะถ้าคุณทำให้ปัญหาของพวกเขาแย่ลง เมื่อพวกเขาออกไปสู่สังคมอีกครั้ง พวกเขาก็ยังคงมีปัญหาอยู่ดี และพวกเขาก็จะทำสิ่งเดิมอีกครั้ง

“ดังนั้น สิ่งที่ฉันทำในกรณีนี้คือ ฉันทำงานกับคนที่ทำงานเพื่อช่วยผู้คนแก้ปัญหาของพวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะไม่กลับไปทำสิ่งที่เป็นอันตรายอีก” แคล์ลีกล่าวถึงแนวคิดของเธอต่อการลงโทษผู้คนในสังคม

แคล์ลีเปรียบเทียบสิ่งที่เธอทำว่าเป็นเหมือนการแสดงจุดยืนทางการเมือง และศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

“ฉันเชื่อในเพื่อนมนุษย์ ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีความดีโดยธรรมชาติอยู่ และถ้าเราช่วยพวกเขาให้ค้นพบความดีข้างในตัวเอง พวกเขาจะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์และรักในชุมชนของพวกเขามากขึ้น

“ศิลปะมีประโยชน์มากในบริบทนี้ เพราะศิลปะช่วยให้ผู้คนจินตนาการถึงวิธีแก้ปัญหาที่ต่างออกไป ในขณะเดียวกันยังสามารถทำให้พื้นที่สวยงามขึ้น คุณสามารถแก้ปัญหาด้วยสีสันและพื้นผิว และนำจิตวิญญาณไปสู่พื้นที่หนึ่งได้ ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนสังคม สามารถทำงานร่วมกันและหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันได้” แคล์ลีกล่าวถึงการนำศิลปะเข้ามาแก้ปัญหาสังคม

เมื่อได้ฟังแบบนั้นเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้เธอกำลังใช้ศิลปะของเธอทำงานกับปัญหาสังคมเรื่องอะไรอยู่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็น่าตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะมันเป็นรูปแบบงานศิลป์ที่เราไม่เคยเห็นผู้หญิงชื่อแคล์ลี หรือศิลปินหญิงชื่อ Swoon ทำมาก่อน

“ตอนนี้ฉันกำลังทำนิทานอยู่ (หัวเราะ) มันแตกต่างออกไปมาก แต่จริงๆ แล้วแกนหลักมันคล้ายกัน เพราะนิทานที่ฉันกำลังทำอยู่มันเกี่ยวกับวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับผู้คนที่ต่อสู้กับการเสพติด ในอดีตประเทศของฉัน พวกเราเชื่อจริงๆ ว่าถ้าใครติดยา ก็เป็นเพราะพวกเขาเป็นคนไม่ดี แต่สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ โดยปกติแล้วถ้าใครติดยา ก็เพราะพวกเขากำลังเจ็บปวด กำลังทุกข์ทรมาน

“นิทานของฉันจึงเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า จริงๆ แล้วมีวิธีที่ดีกว่าในการช่วยเหลือผู้คนจากการเสพติด โดยฉันจะสอดแทรกข้อความทางการเมืองแฝงอยู่ในเรื่องด้วย แต่จะนำเสนอในทางที่ต่างออกไป” แคล์ลีพูดถึงผลงานใหม่ที่เธอกำลังทำ

หนทางฟื้นฟูจิตใจของมนุษย์จักจั่น

โดยทั่วไปเมื่อคิดถึงงานศิลปะ มันเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณเป็นอย่างมาก มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แคล์ลี ศิลปินผู้สร้างผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากความเจ็บปวดในชีวิตส่วนตัวอย่างการเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้สารโอปิออยด์ (Opioids) และแอลกอฮอล์ขั้นรุนแรง รวมทั้งความเจ็บปวดของส่วนรวมอย่างปัญหาสังคมในหลายๆ ประเด็น จะมีช่วงเวลาที่ต้องการถอยไปตั้งหลัก ฟื้นฟู พักผ่อน หรือแม้กระทั่งทำงานเพื่อเยียวยาจิตใจ

“โอ้ พระเจ้า สิ่งแรกที่ฉันค้นพบคือ การตระหนักว่าตัวเองไม่สามารถทำทุกอย่างได้เสมอไป บางครั้งฉันต้องจบโปรเจกต์ หรือฉันต้องให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนบ้าง หรือไม่ก็ทำงานกับประเด็นอะไรบางอย่าง เช่น ตอนที่ฉันทำ Cicada ที่จริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนชิ้นงานที่ทำเพื่อสุขภาพจิตของฉันเอง”

แคล์ลียกตัวอย่างถึงผลงาน Cicada หุ่นสต็อปโมชันผสมผสานกับอาร์ตวิดีโอที่ชวนสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผ่านอุปมาอุปไมยของวัฏจักรชีวิตของจักจั่น ที่จัดแสดงภายในนิทรรศการนี้และเป็นที่แรกในเอเชียว่า เป็นผลงานที่เธอทำเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตใจของตัวเธอเอง

“ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก ฉันอาศัยอยู่ที่ฟลอริดา เราไม่มีของเล่นมากนัก ฉันเลยออกไปเล่นข้างนอกกับจักจั่น พวกมันจะลอกคราบและทิ้งคราบไว้ สำหรับฉันมันเป็นเหมือนกับสุนัขตัวเล็กๆ ที่ฉันสามารถเล่นกับมันได้ พวกมันเหมือนของเล่นของฉัน ฉันเลยรักมันมาตั้งแต่ฉันยังเป็นเด็ก แต่เมื่อโตขึ้น ฉันได้เรียนรู้สัญลักษณ์ของการลอกคราบนั้น มันเหมือนกับการพูดถึงการเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ การเติบโต”

เธออธิบายวัฏจักรชีวิตของจักจั่นอย่างเรียบง่าย ก่อนที่จะนำมาเปรียบเทียบกับการสร้างงานศิลปะและชีวิตมนุษย์ที่เธอมองว่า มันไม่ได้ต่างอะไรจากการลอกคราบของจักจั่น

“จักจั่นบางตัวลงไปอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายปี แต่พวกมันก็สามารถกลับขึ้นมาลอกคราบและใช้ชีวิตต่อได้ มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการสร้างผลงานศิลปะที่สวยงาม ในแง่ที่ว่าคุณสามารถหายไป ไปจำศีลอด ไปเปลี่ยนแปลง ไปเติบโต ไปพักผ่อน ไปแสวงหาความปลอดภัย แต่คุณก็ได้รับสติปัญญาในช่วงนั้น และเมื่อกลับมา มันเหมือนกับการเกิดใหม่

“ฉันรักการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์นั้น เพราะฉันคิดว่าในชีวิตของเราทุกคน เรามีช่วงเวลาแบบนั้น ช่วงที่เราอยากอยู่เงียบๆ เพื่อรักษาอะไรบางอย่าง ที่แม้ว่าจะปลีกวิเวกออกไป ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราหยุดไปด้วย เรายังคงเปลี่ยนแปลง เรายังคงเติบโตในช่วงเวลานั้น” เธออธิบายชีวิตจักจั่นที่ถูกสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์

แคล์ลีเล่าต่อว่า ชีวิตช่วงที่ผ่านมาของเธอเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งการสูญเสียพ่อแม่ และการทุ่มเทเวลาไปกับการเดินทางทั่วโลกเพื่อทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ซึ่งสิ่งที่จะเยียวยาความเศร้าและความเหนื่อยล้าเหล่านั้นได้คือ เวลาและพื้นที่ส่วนตัว

“ฉันแค่ต้องการเวลาสำหรับตัวเอง ฉันต้องการอยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวกับจินตนาการเท่านั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสังคมหรือคนอื่นๆ แต่เป็นพื้นที่สำหรับฉันคนเดียว อย่างนิทานที่ฉันทำอยู่ จริงๆ มันมาจากเรื่องส่วนตัวมากๆ มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งในวัยเด็กของฉัน ในด้านหนึ่งการทำงานกับเรื่องนี้มันเป็นเหมือนการเยียวยา แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้ฉันสั่นคลอน”

นอกเหนือจากการทำงานศิลปะเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ แคลล์ลียังคงเชื่อว่า มีสิ่งอื่นๆ ที่เธอสามารถทำเพื่อพาตัวเองไปสู่การเติบโตได้

“ฉันต้องฝึกฝนในสิ่งที่เรียกว่า รูปแบบการดูแลตัวเองแบบดั้งเดิมมากขึ้น เช่น ไปนวดผ่อนคลาย นอนแช่น้ำ ให้วันพักผ่อนกับตัวเองบ้าง หรือพยายามให้แน่ใจว่า ฉันเคารพในขีดจำกัดตัวเองมากพอ”

การเติบโตของจักจั่นในวันบินที่ไปสู่สิ่งใหม่

หากมองย้อนกลับไป ณ วันแรกที่แคล์ลีสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้เต็มปากก็คงเป็นจังหวะที่ผลงานสตรีทอาร์ตของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะ ซึ่งมันก็ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว เธอจัดแสดงผลงานไปทั่วโลก ตั้งแต่นิวยอร์ก ลอนดอน ไปจนถึงไคโร แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เธอไม่เคยมีผลงานสตรีทอาร์ตในไทยเลย จึงทำให้พวกเราสงสัยว่า มีโอกาสที่คนไทยจะได้เห็นผลงานสตรีทอาร์ตจากเธอบ้างหรือไม่ และคำตอบที่ได้รับก็ชวนให้นึกถึงสิ่งที่เธอเพิ่งตอบเราไปก่อนหน้านี้

เธอตอบด้วยน้ำเสียงจริงใจว่า “อันที่จริง ฉันวางมือจากงานสตรีทอาร์ตแล้วแหละ ฉันกำลังพักจากสตรีทอาร์ตอยู่ แต่คุณรู้ไหม ไม่ใช่ว่าในอนาคตจะเป็นไปไม่ได้เลยนะ เพียงแค่ตอนนี้มันจะยังไม่เกิดขึ้น ตอนนี้ฉันไม่ได้ทำงานสตรีทอาร์ต เพราะฉันต้องการจะโฟกัสกับโปรเจกต์อื่นๆ บ้าง

“ฉันไม่คิดถึงมัน (สตรีทอาร์ต) แล้ว ฉันรักมันนะ ฉันดีใจมากที่ได้ทำมัน แต่ฉันกำลังสำรวจสิ่งต่างๆ มากมาย ดังนั้นตอนนี้ฉันไม่คิดถึงมัน ฉันมีความสุขที่จะสำรวจสิ่งอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ” แคล์ลีกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่องานสตรีทอาร์ต

แม้แคล์ลีจะสร้างสรรค์ผลงานฝากไว้ในโลกศิลปะมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ภาพวาด ภาพพิมพ์ ไปจนประติมากรรม อีกทั้งในอีกไม่ช้าเธอก็กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกวรรณกรรมด้วยนิทานเรื่องใหม่ แต่ความคิดและจินตนาการในการสร้างผลงานของเธอยังคงโลดแล่นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีอีกสิ่งหนึ่งในโลกอีกใบหนึ่งที่เธอกำลังอยากไปสำรวจ 

“ฉันอยากกำกับภาพยนตร์ อย่างนิทานที่ฉันกำลังทำอยู่ ฉันนำมันไปพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ด้วย และตอนนี้ฉันก็ค่อยๆ เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกับนักแสดง และพยายามทำความเข้าใจภาษาของภาพยนตร์ ดังนั้นที่จริงแล้วตอนนี้ฉันอยากกำกับภาพยนตร์สารคดีมากๆ”

การกลับบ้านที่โอบกอดคุณในยามสิ้นหวัง

“นิทรรศการนี้มันค่อนข้างสงบ และฉันรู้สึกเหมือนว่าผลงานแต่ละชิ้น ผู้คนจะมีการตีความของตัวเอง แต่ฉันจินตนาการบ่อยครั้งว่า งานของฉันเหมือนกับในภาพยนตร์อเมริกันสำหรับเด็ก มันจะมีช่วงหนึ่งของเรื่องที่เด็กคิดว่าทุกอย่างสูญสิ้นไปแล้ว แต่แล้วในชั่วขณะหนึ่งเด็กก็จะได้รับแสงสว่างที่บอกพวกเขาว่า หนูสามารถสร้างสิ่งใหม่ได้จากจุดแสงนี้ จากนั้นเด็กก็รับแสงไป

“ความฝันของฉันคือผลงานศิลปะแต่ละชิ้นของฉัน จะต้องมีแสงเล็กๆ นั้น และมันจะบอกคนดูว่า นี่คุณ ไม่เป็นไรนะ มีบางสิ่งที่เป็นไปได้ คุณทำได้” แคล์ลีกล่าวทิ้งท้ายถึงนิทรรศการล่าสุด

Fact Box

นิทรรศการ Homecoming เปิดให้เข้าชมฟรีจนถึง 12 เมษายน 2568 เปิดทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 11.00-18.00 น. (ปิดทำการ อาทิตย์, จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)

Tags: , , , , , , , , , , ,