“I want one moment in time
When I’m more than I thought I could be
When all of my dreams are a heartbeat away
And the answers are all up to me”
ท่อนหนึ่งจากเพลง One Moment in Time ของศิลปินวิตนีย์ ฮิวสตัน ซึ่งเป็นศิลปินที่ เพียว-เอกพันธ์ วรรณสุทธิ์ ชื่นชม และใช้เป็นเพลงประกวดในรอบสุดท้ายของเวที The Voice All Stars และทำให้เขามีวินาทีที่ชื่อตนเองถูกประกาศให้คว้าแชมป์เวทีดังกล่าวเป็นคนแรกของประเทศไทย
ย้อนกลับไป 12 ปีก่อน เพียว ในวัย 18 ปี คว้าแชมป์รายการร้องเพลงเวทีใหญ่ของประเทศไทยอย่าง KPN เส้นทางดนตรีของเขาดูจะสดใส ด้วยวัยที่ยังน้อยและความสามารถที่ถูกพูดถึงอย่างมาก
หากแต่สิ่งที่วาดฝันไว้กลับไม่เป็นดังคาด โลกของมืออาชีพทำให้เขาพบว่าตัวเองยังอ่อนประสบการณ์ และทำให้ท้ายที่สุด ชื่อของเพียวจึงค่อยๆ หายไป ความผิดหวังทำให้เขาต้องฟอร์มวงดนตรีเพื่อเข้าสู่การร้องเพลงในโลกกลางคืนตามผับ บาร์ ร้านเหล้า แต่ก็เป็นเวทีกลางคืนนี่เอง ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาสกิลการร้อง การทำงาน และเติบโตในฐานะนักร้องอย่างมืออาชีพที่แท้จริง
เพียวกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในฐานะผู้เข้าประกวดเวที The Voice ซีซัน 6 เมื่อปี 2560 แต่ก็ทำได้เพียงแค่ใกล้เคียงการคว้าแชมป์เท่านั้น
กระทั่งปี 2565 เพียวกลับมาพร้อมภาพลักษณ์ที่เติบโตขึ้นใน The Voice All Stars และสไตล์การแต่งตัวที่บ่งบอกความเป็นตัวตน พร้อมกับสกิลการร้องเพลงอันทรงพลัง ที่ได้รับคำชื่นชมทั้งจากโค้ช รวมถึงคนดูทั้งไทยและต่างชาติ จนถูกพูดถึงในแทบทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนเวที
และในที่สุด เพียวก็คว้าแชมป์สำเร็จ หลังจากรอคอยมา 12 ปี
The Momentum ชวนเพียวที่เพิ่งคว้าแชมป์ The Voice All Stars คนแรกของประเทศไทยสดๆ ร้อนๆ มาย้อนเส้นทางชีวิต จากเด็กต่างจังหวัดที่ชื่นชอบการร้องเพลง รักทาทายัง, มารายห์ แครี และวิตนีย์ ฮิวสตัน กับความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงวันที่ ‘เสียง’ พาเขามาถึงจุดสูงสุดของการร้องเพลง
ชีวิตของคุณกับดนตรีเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่เกิดเลย เพราะที่บ้านชอบฟังเพลงมาก คุณพ่อชอบฟังเพลงลูกทุ่ง และเปิดวิทยุเอฟเอ็มตลอดเวลา เพลงแรกที่จำได้น่าจะเป็นเพลง ‘ยาใจคนจน’ ของพี่ไมค์ ภิรมย์พร พ่อเปิดบ่อยมาก เราก็รู้สึกชอบไปด้วย มันเหมือนการได้หลีกหนีอะไรบางอย่างในชีวิตไปอยู่กับดนตรี แล้วพอได้อยู่กับดนตรีก็รู้สึกว่าสนุกจังเลย
คุณมาเริ่มชอบร้องเพลงตอนไหน
ประมาณ 6 ขวบ ตอนอยู่ชั้น ป.1 ที่โรงเรียนมีงาน เขาก็ประกาศว่าใครอยากร้องเพลงให้ขึ้นมาบนเวที เราอยากร้องเพลงมาก แต่พอวิ่งไปใกล้ถึงเวทีแล้วล้ม เพื่อนก็เหยียบ เลยไม่ได้ขึ้นเวที (หัวเราะ) เราอยากขึ้นไปร้องเพลง รู้สึกว่าอยากถ่ายทอดสิ่งที่ได้ฟังมาให้คนอื่นได้ฟังด้วย
แต่การขึ้นเวทีครั้งแรกคือตอน ป.4 เราไปแข่งอ่านทำนองเสนาะ แล้วได้ที่สองของอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ดีใจมาก
แล้วถ้าเป็นเรื่องประกวดร้องเพลงล่ะ เวทีไหนคือเวทีแรกในชีวิต
น่าจะตอนเราอยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนไพโรจน์วิชชาลัย (จังหวัดร้อยเอ็ด) เราไปประกวดร้องเพลงภาษาอังกฤษระดับจังหวัด แล้วก็ได้ที่ 1 ตอนนั้นร้องเพลง I think of you ของพี่ทาทายัง เราชอบพี่ทาทามาก เป็นไอดอลคนหนึ่งเลย อัลบั้ม I Believe คือร้องได้หมด เทปอัลบั้มแรกที่เราซื้อก็น่าจะเป็นของพี่ทาทานี่แหละ
ความรู้สึกของเด็ก ม.2 ที่ได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดร้องเพลงครั้งแรกเป็นอย่างไร
รู้สึกว่า อุ๊ย เราร้องเพลงเพราะเหรอ แสดงว่าเรามีความสามารถด้านนี้ ซึ่งเราก็รักดนตรีมากอยู่แล้ว อยากทำงานด้านนี้ อยากเต้น ชอบเต้น เวลาอยู่ในห้องเรียนก็ชอบเอนเตอร์เทนเพื่อน พอตัวเองได้ออกไปประกวดจริงๆ แล้วได้ที่ 1 ก็รู้สึกมั่นใจเล็กๆ และคิดว่าน่าจะไปทางนี้ได้
ความจริงเราเป็นคนขี้อาย ขี้กลัวเวทีมาก แต่ชอบเอนเตอร์เทนเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ชอบยุให้ขึ้นเวที แล้วเพื่อนก็จะจอยเว่อร์ และพอเราได้ขึ้นเวทีจริงๆ มันก็เหมือนเป็นไฟต์บังคับให้เราต้องร้องต้องแสดงออกไป
ฟีดแบ็กเวลาร้องเพลงในวัยเด็กจากเพื่อนหรือคนรอบข้างเป็นอย่างไร
เพื่อนก็ชอบและบอกว่า ‘เสียงดีนะเนี่ย’ เขาจะชอบให้ร้องเพลงสากล มาดอนน่า มารายห์ แครี วิตนีย์ ฮิวสตัน เราก็ร้องหมดเลย ตอนอยู่ ม.ปลาย เราเรียนห้องฝรั่งเศส จำได้ว่าตอนเที่ยงจะมีรายการเพลงของช่อง MTV ก็ต้องรีบขึ้นไปดู เพราะจะมีมิวสิกวิดีโอที่มาจากต่างประเทศ เราตื่นเต้นมาก ตอนนั้นเพลง 4 Minutes ของมาดอนนากำลังดัง กะเทยก็ปีนโต๊ะเต้นกันห้องพังเลยค่ะ (หัวเราะ)
นอกจากทาทายัง มีใครที่เป็นไอดอลในการร้องเพลงภาษาอังกฤษในวัยเด็กของคุณอีกไหม
ถ้าเป็นเพลงสากล เราจะดูมิวสิคัลที่มาทำเป็นภาพยนตร์ ชื่อ Cinderella ที่วิตนีย์ ฮิวสตัน แสดงกับ แบรนดี ตอนนั้นไม่รู้จักเลย เพราะเราอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกจนถึง ม.2 ตอนนั้นคุณแม่ซื้อวีดิโอ Cinderella มาไว้ที่บ้าน เราก็ชอบเปิดดู พอเห็นวิตนีย์ในเรื่องก็รู้สึกว่า โห ใครนะ หัวฟู ใส่ชุดเลิศมาก ฉันอยากใส่ชุดแบบนี้ พอวิตนีย์ร้อง Impossible ก็คิดว่า ‘ฉันอยากร้องแบบนี้’ This is how I want to grow up to be. I want to sing like this.
ความจริงตอนแรกเราไม่รู้จักวิตนีย์ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร จนเราอยู่ประมาณ ม.2 เราไปเข้าค่ายที่คริสตจักรเมืองไทย ที่กรุงเทพ พี่ๆ ที่ค่ายเปิดเพลง When you believe ของวิตนีย์กับมารายห์ให้ฟัง ก็เลยไปศึกษาต่อ แล้วก็ได้รู้ว่า อ้าว เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็กแล้วนี่นา หลังจากนั้นก็ชอบมาก น้ำตาไหลทุกครั้งที่ฟังวิตนีย์ร้อง รู้สึกหลงใหล และอยากเป็นแบบนั้น อยากร้องแบบนั้น
วิตนีย์ ฮิวสตัน พิเศษอย่างไรในความคิดของคุณ
วิตนีย์ พิเศษตรงที่ร้องอะไรก็รู้สึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณ ทุกคำ ทุกโน้ต ไม่ว่าจะเป็นเพลงกอสเปล (Gospel) หรือเพลงป็อปปกติ ถ้าทุกคนได้ยินจะสัมผัสได้ว่า มันเหมือนไม่ใช่เสียงมนุษย์ร้องแล้ว คือคนอื่นร้องดีเยอะก็จริง แต่พอวิตนีย์ร้องมันเข้าไปในจิตวิญญาณของคน นี่คือข้อพิเศษของวิตนีย์ ขนาดที่เราไม่รู้จักวิตนีย์ตอนเด็ก แต่พอได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันเข้าไปในจิตใจของเรา มันทำให้เราตกหลุมรักวิตนีย์และก็อยากจะร้องเพลงแบบเขา
เวทีใหญ่ที่ทำให้คนเริ่มรู้จักชื่อคุณคือการประกวด KPN เมื่อปี 2553 ทำไมถึงไปประกวด แล้วบรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร
ตอนนั้นเราอายุ 18 ปี เรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เราเห็นประกาศรับสมัครติดอยู่หน้าลิฟต์ ก็เลยลองไปประกวดแบบงงๆ จำได้ว่าวันนั้นเพิ่งร้องเพลงที่โบสถ์เสร็จ แล้วก็ใส่ชุดนักศึกษาไปร้องออดิชันต่อที่เซ็นทรัลเวิลด์เลย ความตั้งใจตอนนั้นคืออยากไปร้อง อยากไปขึ้นเวทีเฉยๆ แต่ผลสุดท้ายคือเข้ารอบไปเรื่อยๆ เราก็อธิษฐานกับพระเจ้าว่า ถ้าได้เข้ารอบเรื่อยๆ จะทำให้เต็มที่ สุดท้ายก็เข้าไปถึงรอบสุดท้าย และได้เป็นแชมป์
จากเด็ก ม.2 ที่ได้แชมป์ประกวดร้องเพลงในวันนั้น จนมาถึงการคว้ารางวัลแชมป์เวทีใหญ่ในวัย 18 ปี ความรู้สึกเป็นอย่างไร
รู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จมาก ฉันนี่สุดยอดมากเลย แต่พอหลังจากนั้น เราได้เรียนรู้ว่า เรายังไม่รู้จักการทำงานในวงการจริงๆ ก็เลยไม่มีงาน แล้วก็ติดเรียนด้วย ความมืออาชีพยังไม่มี พอมาเจออะไรแบบนี้มันช็อก คือพอได้รับงานจริงๆ ได้ไปเจอบรรยากาศที่ต้องเป๊ะ แล้วเราเป็นเด็กอายุ 18 ที่จัดการความตื่นเต้นและความกลัวของตัวเองยังไม่ได้ บางทีก็ร้องหลุดแล้วกลัวจนสั่นไปหมด จากนั้นก็ไม่มีงานจ้าง เราก็หายไปเลย และเริ่มต้นใหม่คือไปตั้งวงใหม่ เพื่อเริ่มร้องเพลงกลางคืน ได้ค่าตัววันละ 500 ก็เริ่มมีคนจ้างงานนอกมา เริ่มได้เรียนรู้ว่า อ๋อ เราต้องทำงานแบบนี้นะ ขึ้นเวทีต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องเอนเตอร์เทนอย่างไร ทุกอย่างเริ่มมาจากร้านเหล้า
เล่าบรรยากาศการร้องเพลงกลางคืนให้ฟังหน่อย
ช่วงแรกก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่ขึ้นเวที อย่างที่บอกว่าเป็นคนขี้กลัว อีกอย่างคือไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร ต้องแอ๊บแมนไหม เพราะว่าสมัยนั้นเราก็ยัง in the closet (ยังไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ) แต่พอมาทำงานจริงๆ ลูกค้าจะชอบให้ออกสาว เขาชอบความสนุก มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราได้เป็นตัวของตัวเอง หลังจากนั้นเริ่มได้ไปร้องเพลงหลายที่
เคยร้องเพลงมากสุดกี่คิวในหนึ่งวัน
เราเคยร้องแปดชั่วโมง ช่วงนั้นคือวิ่งงานเช้า กลางวัน เย็น ถึงดึก เคยนับได้ว่า 8 เบรก เบรกละ 45 นาที (หัวเราะ)
เพลงที่เล่นกลางคืนในช่วงนั้นเป็นเพลงแนวไหน
เล่นหมดเลยค่ะ เพลงพี่ปูพงสิทธิ์ เพลงลูกทุ่ง จนถึงวิตนีย์ และเพลงแจ๊ซ เพราะเราเรียนเอกแจ๊ซ ทำให้ร้องได้หมดทุกแนว ตอนนั้นเพลงที่ลูกค้าขอบ่อยๆ น่าจะเป็นเพลง ‘ขอใจเธอแลกเบอร์โทร’ เพลง ‘ขัดใจ’ เพลง ‘ใจนักเลง’ แล้วก็เพลง ‘รักเดียว’ ของพี่ปู-พงษ์สิทธิ์ ลองคิดดู ให้กะเทยไปร้อง “บอกให้รู้ไว้ หัวใจรักจริง…” แล้วก็ยังมีเพลง ‘ภูมิแพ้กรุงเทพ’ ของพี่ป้าง-นครินทร์ กับพี่ตั๊กแตน-ชลดา เราก็ต้องให้เพื่อนนักร้องที่เป็นผู้หญิงเป็นพี่ป้าง แล้วเราเป็นพี่ตั๊กแตน (หัวเราะ)
ตอนนั้นก็ร้องเพลงกลางคืนประมาณ 5-6 ปี ก่อนจะมาประกวด The Voice 6
ทำไมถึงกลับมาประกวด The Voice 6
ตอนนั้นพี่ปลาทอง (ธัญนันท์ ทองศรีธนพงษ์) ที่เคยประกวด KPN ชวนเรามา เขาบอกว่าคนจะได้จำได้ว่าเรายังทำงานร้องเพลงอยู่ จะได้มีคนจ้าง เพราะตอนนั้นงานจ้างก็น้อย วงที่เราทำก็ยังไม่ลงตัว ก็เลยตัดสินใจไปประกวด ผลคือเข้าถึงแค่รอบ 8 คนสุดท้าย แต่ตอนนั้นไม่รู้สึกอกหัก รู้สึกว่าดีใจที่ตัดสินใจมา เพราะได้เจอเพื่อน ได้คอนเนกชันเยอะมาก เพราะ The Voice เป็นเวทีที่ทั่วโลกรู้จัก มันสนุกจนพี่ดาขึ้นมาเต้นกับเราบนเวที พี่สิงโต นำโชค ก็มาขอลายเซ็นเรา ดีใจมากที่พี่ๆ ยังจำเราได้ ที่สำคัญคือได้เจอพี่เบน (เบนจามิน เจมส์ ดูลลี) วงเกียร์ไนท์ ตอนนั้นพี่เบนร้องเพลง You’ll Never Walk Alone รอบสุดท้าย พอเราได้ฟังพี่เบนร้อง ก็น้ำตาไหลอยู่บนเวทีเลย รู้สึกว่าเพลงนี้มันสัมผัสเข้าไปในใจ
The Voice 6 เป็นจุดที่ทำให้คนเริ่มกลับมารู้จักอีกครั้งใช่ไหม หลังจบเวทีนี้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปไหม
เปลี่ยนไปนิดหน่อย แต่ไม่มาก ถ้าเป็นเรื่องของการร้องเพลง เรายังไม่พัฒนาเหมือนตอนนี้ พอกลับไปดูจะรู้เลยว่าคนละเลเวล ถ้านับเป็นยุค KPN เราจะร้องเยอะ เน้นเทคนิค เน้นฟาด เพราะเรียนมา เลยร้องแบบใส่เยอะไว้ก่อน พอมา The Voice 6 ก็เริ่มเข้าใจว่า ท่อนนี้ต้องพ่นไฟนะ ท่อนนี้ต้องร้องให้เพราะ ท่อนนี้ต้องสื่อสารกับเนื้อเพลง แล้วก็เรนจ์ (Range) เสียงเราตอน The Voice 6 ยังไม่ได้กว้างมาก แต่พอมา The Voice All Star เหมือนการร้องเราพัฒนาไปอีกเลเวลหนึ่ง เพราะได้ฝึกร้องเพลงยากๆ ของวิตนีย์ มารายห์ แบบไม่ลดคีย์ ทำให้ตอนนี้ถ้าได้วอร์มเสียงจริงๆ เราสามารถร้องท็อปโน๊ตไปได้ถึง G เลย ก็รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นเยอะ คนก็เลยเริ่มรู้ว่า อ๋อ คนนี้เอง ที่เคยได้แชมป์ KPN ตอนอายุ 18 บวกกับเราก็ยังร้องเพลงกลางคืนอยู่ ทำให้เริ่มมีกลุ่มแฟนเพลงหนาแน่นขึ้น และก็เริ่มมีคนจ้างงานบ้าง
ซึ่งในมุมหนึ่งมันทำให้คนอาจจดจำคุณในมุมของการเป็น ‘นักร้องกลางคืน’ มากกว่า ‘ศิลปิน’ เหมือนคุณมาประกวดเสร็จ ก็กลับไปร้องกลางคืนต่อ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร
เราว่าให้ศิลปินบางคนไปร้องกลางคืนก็ไม่ได้นะ มันยากกว่ามาก ศิลปินบางคนถ้าเจอลูกค้าบางคนที่ไม่เอา ไม่ฟัง เล่นโทรศัพท์ เขาเสียเซลฟ์นะ แต่ถ้านักร้องกลางคืนเจอแบบนี้ เขาจะไม่แคร์ ก็เล่นไปสิ ฉันก็จะร้องให้คนอื่นที่ฟัง นักร้องกลางคืนจะมีภูมิคุ้มกันบางอย่าง เจอคนเมาฉันก็อยู่ได้ เจอคนนิสัยไม่ดีมาหน้าเวทีฉันก็เอาอยู่ เหมือนเจอมาทุกรูปแบบ อีกอย่าง เราคิดว่านักร้องกลางคืนบางคนเก่งมาก ร้องภาษาอังกฤษดีมาก สามารถไปร้องทั่วโลกได้เลย
มันทำให้คุณเสียดายหรือท้อไหม ที่พื้นที่ของคุณอาจอยู่แค่การเป็นนักร้องกลางคืน แทนที่จะได้เป็นศิลปิน ออกซิงเกิล ออกอัลบั้ม เหมือนศิลปิน
เราไม่ได้รู้สึกว่าการร้องเพลงกลางคืนมันด้อยกว่าการเป็นศิลปิน เพราะการร้องเพลงกลางคืน มันมีหลากหลายแบบมาก เราเองก็ไม่ได้ร้องแค่ร้านเหล้า เราร้องที่โรงแรมหรือแจ๊ซบาร์ด้วย ซึ่งเวลาไปร้องแจ๊ซบาร์ เราเล่นเพลงลึกมาก มันค่อนข้างคล้ายกับการศึกษาเลยนะ คือถ้าไปฟังในแจ๊ซบาร์จริงๆ จะเหมือนพวกนักดนตรีเก่งๆ มาแจมกัน เราคิดว่ามันเฟื่องฟูและหลากหลายกว่าเพลงในตลาดทั่วไปอีกด้วยซ้ำ
คุณร้องเพลงกลางคืนมาเป็นสิบปี รู้สึกไหมว่ามันอาจเป็นพื้นที่ของฉันตลอดไปจากนี้
เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องร้องเพลงกลางคืนตลอดไป เพราะก็มีความฝันว่าอยากทำวงไปเล่นตามแจ๊ซเฟสติวัล ไปเล่นต่างประเทศ ก็ตอนนี้ก็กำลังเริ่มทำวง เริ่มมีงานต่างประเทศติดต่อมาแล้ว รู้สึกว่าเราไปทางนี้ได้ และการร้องกลางคืนมันช่วยเตรียมความพร้อมให้เราเยอะมากพอสมควร
การร้องเพลงกลางคืนให้ประสบการณ์เจ๋งๆ อะไรกับคุณบ้าง
เราเคยได้เล่นกับ คีตัน คาร์เตอร์ (Keaton Carter) ที่ได้แกรมมีอวอร์ดส์ และได้ร้องแจมกับนักร้องจากอเมริกาหลายคนที่ร้องกลางคืนเหมือนกัน ก็กลายเป็นเพื่อนกัน ศิลปินต่างประเทศจะมีความชิลและเป็นตัวของตัวเองมาก อย่างศิลปินไทยจะรู้สึกว่าเวลาอยู่บนเวทีฉันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ศิลปินต่างประเทศเขาจะให้ความสำคัญในด้านดนตรี ให้ความรู้สึกกับกับดนตรีมากกว่าภาพลักษณ์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ และพยายามจะร้องเพลงให้เป็นตัวเองมากที่สุดบนเวที
คุณรู้สึกขอบคุณอะไรมากที่สุดจากการร้องเพลงกลางคืนที่ผ่านมา
ขอบคุณความลำบากในการร้องเพลงกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นบางทีก็ซาวด์ไม่ดี ต้องร้องแข่งกับเสียงดนตรี ทำให้เสียงเสีย หรือการขี่มอเตอร์ไซค์ไปร้องเพลงกลางคืน มันก็ลำบาก พอไปถึงร้าน ถอดหมวกกันน็อก ผมก็จะแฟบ ก็ต้องนั่งยีผมก่อนขึ้นเวที แต่อยากกลับไปแก้ไขให้มันดีขึ้นไหม ไม่ เรารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ หมายถึงความลำบากในชีวิตทำให้คนฟังได้รู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าการร้องเพลงที่ออกมาจากข้างในชีวิตเรา
มาในปีนี้ ทำไมคุณตัดสินใจกลับมาประกวดเวที The Voice All Stars
ตอนนั้นพี่ๆ ที่ The Voice All Stars โทรมาชวน แต่ตอนแรกยังไม่ตัดสินใจ เพราะช่วงนั้นพี่ที่สนิทมากคนหนึ่งของเราที่ KPN เขาเสีย ซึ่งเราเคยคุยกันว่าจะไปทำโชว์ หลังจากโควิดเราจะไปแต่งหญิงร้องเพลงกัน แต่เขาเสียก่อน ก็เลยคิดว่าไม่อยากไป มันเศร้า แต่หลังจากนั้นเราได้คุยกับพี่ปลาทอง KPN เขาบอกว่า ถ้าเราไป เขาก็จะไป ก็กลับมาคิดอยู่สามวัน สุดท้ายก็ตัดสินใจไป ความตั้งใจแรกคือ อยากให้มีโค้ชหันมา อยากมีงานเข้า เพราะผ่านโควิดมา 2 ปี ไม่มีงานเลย กรอบเว่อร์ (หัวเราะ)
หลายคนที่ตามคุณในการประกวด The Voice All Stars มองว่าแต่ละรอบที่คุณร้องดูมั่นใจมาก จริงๆ คุณมีความกังวลไหม
จริงเหรอคะ ไม่มีความมั่นใจเลย คือก่อนขึ้นเวทีจะกลัวมาก ยิ่งรอบสุดท้าย สั่นจนจะร้องไห้เลย คือเราเป็นคนกลัวเวทีมาตั้งแต่เด็ก
คุณมีวิธีก้าวข้ามความกลัวบนเวทีอย่างไร
ไม่มีเลยค่ะ ขึ้นเวทีแล้วต้องทำให้ได้แค่นั้น เหมือนตอนที่เพื่อนสมัยเด็กบอกว่า “มึงขึ้นไปเลย กูอยากเห็นมึงร้องเพลง มึงขึ้นเวทีแล้วมึงต้องทำ” เราตื่นเต้นและกลัวทุกครั้งที่ขึ้นเวที ซึ่งจริงๆ มันเป็นข้อดีนะ แต่ถ้ากลัวเยอะเกินไปก็ไม่ดี ความจริงช่วง The Voice 6 เรากลัวกว่านี้อีก แต่พอมาครั้งนี้ เราได้ใส่ส้นสูง ได้แต่งตัวในสิ่งที่เราอยากแต่ง มันทำให้มีความมั่นใจมากกว่าเดิมนิดหนึ่ง
เรื่องภาพลักษณ์การเปิดเผยความเป็น LGBTQ และการแต่งกายของคุณก็น่าสนใจ อยากรู้ว่าแรงบันดาลใจในการแต่งตัวของคุณมาจากไหน
ความ Glitter ต้องมาจาก มารายห์ แครี แน่นอนค่ะ มารายห์ แครี คือกะเทย กะเทยคือ มารายห์ แครี แล้วก็ อะรีธา แฟลงคลิน, ไดอานา รอสส์, วิทนีย์ ฮูสตัน เราชอบดีว่า (Divas) เวลาไปซื้อชุดก็จะไปตามประตูน้ำ รองเท้าก็ต้องสั่งตัด เพราะเราไซซ์ใหญ่กว่าผู้หญิง ถ้าไปก็เป็นสวรรค์ของกะเทย มีหมื่นหมดหมื่นแน่นอน
ความ Glitter มันบ่งบอกความเป็นตัวคุณอย่างไร
มันบ่งบอกว่าเราเกิดมาจากบ้านที่เย็บผ้า เพราะบ้านเราทำอุตสาหกรรมเย็บผ้ามาตั้งแต่เด็กเลย เราจะเย็บปักถักร้อยเป็น และทำชุดพอได้ มัน Represent ว่าไม่ต้องกลัวว่าจะแต่งเยอะไป เพราะการแต่งตัวมันสนุกและเราจะใส่อะไรก็ได้
พูดถึงเรื่องนี้ ทุกวันนี้ศิลปินไทยหลายๆ คนก็เริ่มเปิดเผยความเป็นตัวตนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ LGBTQ แต่รวมถึงเรื่อง Real size beauty ด้วย คุณมองอย่างไร
เป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งเราคิดว่าไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องอัตลักษณ์ แต่ควรจะเป็นทั้งเรื่องแนวเพลงและดนตรีที่ต้องหลากหลายมากกว่านี้ ซึ่งสมัยนี้มันเปิดมาก การฟังเพลงของคนไทยก็ลึกมาก อย่างเพลงที่เราร้องในติ๊กตอกบางทีมันเป็นของศิลปินสายลึกมาก แต่ก็มีคนรู้จัก มันทำให้เราเห็นว่าคนไทยเปิดหูไปไกลมาก
คุณอยากให้กำลังใจคนที่อาจจะยังไม่กล้า Come out of the closet อย่างไร
ลองไปเที่ยว Drag Bar ดูค่ะ คุณจะได้เจอความหลุดโลก คือถ้าทำได้สัก 20 เปอร์เซ็นต์ของการเป็น Drag Queen เราว่ามันจะทำให้เรากล้าขึ้น ที่เราไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองเพราะเรากลัวอยู่ ไม่ต้องกลัว (หัวเราะ)
กลับมาที่ The Voice All Stars ในรอบไฟนอลที่คุณใช้เพลง One Moment in Time ของวิตนีย์ ฮิวสตัน ทำไมเลือกเพลงนี้ในรอบที่สำคัญที่สุด
มีคนขอเพลงนี้ในติ๊กต็อกช่องของเราเยอะมาก พอลองร้องดูก็คิดว่าตัวเองร้องได้ เราเลยตัดคลิปสั้นๆ ลงติ๊กต็อก เผอิญคลิปนั้นมีคนดูเกือบห้าแสน ก็คิดว่าคนไทยอาจจะรู้จักเพลงนี้ แล้วเราไม่อยากร้อง I Will Always Love You หรือ I Have Nothing เพราะมันช้ำแล้ว ข้อที่สองคือ อยากอุทิศเพลงนี้ให้พี่ที่เรารักที่เสียไป คือมีคนรู้จักเขาส่งมาให้เราดูว่า พี่เขาเพิ่งร้องเพลงนี้เป็นเพลงคัฟเวอร์เพลงสุดท้ายลงในยูทูบของเขาด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันบังเอิญมาก ก่อนขึ้นเวทีเราก็เลยอธิษฐานว่า ขอมอบเพลงนี้ให้คุณแม่นะ ขอให้คุณแม่อยู่กับหนู ขอบคุณที่เราเกิดมาแล้วได้เป็นเพื่อนกัน แล้วขอบคุณที่ทำให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง ได้รู้สึกว่าขึ้นเวทีแล้วไม่ต้องกลัวอะไร เพราะว่าเวลาอยู่ด้วยกันเราเป็นตัวของตัวเองกันมาก
วินาทีที่ประกาศชื่อคุณเป็นแชมป์ รู้สึกอย่างไร
ความจริงมันมีความรู้สึกลึกๆ ข้างในว่า เราจะได้แชมป์หรือเปล่า เพราะตอนจับฉลาก เราคิดว่าถ้าได้เลข 8 อาจมีลุ้นแชมป์ เพราะเลข 8 คือพระเจ้า (Infinity) แล้วก็จับได้เลข 8 จริงๆ เราก็อธิษฐานกับพระเจ้าว่า ถ้าพระองค์อยากให้ได้ที่ 1 ก็ขอบคุณพระเจ้า พอได้จับมือกับพี่เก่งตอนประกาศแชมป์ เรารู้สึกว่า ไม่แคร์แล้ว อะไรก็ได้ ขอบคุณที่ให้เรามาอยู่ตรงนี้ สุดท้ายก็ได้แชมป์ ดีใจมาก
คุณพูดถึงพระเจ้าบ่อยมาก พระเจ้าสำคัญกับคุณอย่างไร
มากเลยค่ะ บ้านของเราเป็นพุทธหมดเลยนะ เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าพระเจ้าน่าจะเป็นอะไรบางอย่างที่เราต้องไปแก้บน เพราะแม่ชอบไปขอ ไปบนศาลต่างๆ เรารู้จักพระเจ้าตอนประมาณอายุ 15 ปี เพราะตอนนั้นเราไปเรียนภาษาอังกฤษที่ศูนย์ภาษาอังกฤษบ้านโนน ที่มาเปิดใกล้บ้านเรามาก พี่ที่ศูนย์ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคริสเตรียนถามเราว่า มีอะไรให้อธิษฐานเผื่อไหม เราก็บอกว่า ขอให้แม่เราถูกหวยงวดนี้ด้วย พอกลับบ้านไป ปรากฏว่าแม่ถูกหวยจริงๆ เราก็เริ่มคิดในใจว่า พระเจ้าตอบคำขอเราจริงเหรอ ก็เลยลองขอเรื่องที่ใหญ่ขึ้นและสำคัญกับชีวิต คือขอให้ได้ทุนที่ ม.รังสิต เพราะเราไม่มีเงินเรียนจริงๆ เพราะแม่ก็ไม่อยากให้เรียนด้านดนตรี เราก็คิดว่า ถ้าเราได้ตรงนี้จริงๆ เราจะตัดสินใจเชื่อพระเจ้า สุดท้ายก็ได้จริงๆ ก็เลยตัดสินใจเชื่อพระเจ้า
มันจะมีเรื่องละเอียดอ่อนระหว่างมุมมองของคริสเตียนกับการ LGBTQ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกับหลายโบสถ์ ซึ่งตอนเราได้เข้ามาอยู่ในโบสถ์จริงๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในกลุ่มคริสเตียนหลายแห่งจะมีความ Bias กับเกย์มาก และไม่รู้ว่ามีเรื่องนี้พระคัมภีร์ด้วย สังคมในคริสเตียนจะแคบมากในเรื่องเพศและค่อนข้างเข้มงวดมาก แต่ในสมัยนั้นที่เข้าโบสถ์ เราก็ยัง in the closet และพักอยู่ในโบสถ์ด้วย
ตอนนั้นช่วงอายุประมาณยี่สิบต้นๆ จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนบาป เพราะเป็นเกย์ แต่เราเป็นคนที่ชอบขอพระเจ้าและคุยกับพระเจ้าตลอดเวลา ซึ่งพระเจ้าตอบทุกครั้งที่เราขอ รวมถึงพี่ๆ ที่อยู่ศูนย์ภาษาอังกฤษบ้านโนนก็ซัพพอร์ทเรามากในการเป็นเกย์ เขาบอกว่า พระเจ้ารักเรามากนะ พระเจ้าไม่เคยเกลียดที่สร้างเรามาเป็นแบบนี้ และขอให้ภูมิใจที่เป็นแบบนี้ แล้วคนที่เห็นชีวิตเราว่าเป็นเกย์และเป็นคริสเตียน จะได้รู้ว่า พระเจ้ารักที่เราเป็นแบบเรา และพระเจ้าไม่ต้องการให้เราเปลี่ยน
สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราย้อนกลับไปคิดว่า เราก็เป็นเกย์มาตั้งแต่เด็ก ถ้าพระเจ้าเกลียดเรา แล้วทำไมพระเจ้าตอบคำอธิษฐานเรา นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเรารักพระเจ้า เพราะพระเจ้ารักเรา ตั้งแต่เชื่อพระเจ้ามา เราไม่เคยทิ้งพระเจ้าเลย พูดแล้วจะร้องไห้
หลังจากนี้คุณมองภาพตัวเองอย่างไร อยากเห็นตัวเองอยู่จุดไหนในการร้องเพลง
เราอยากทำซิงเกิลออกมาให้เยอะๆ และทำเพลงคัฟเวอร์ออกมาให้เยอะที่สุด และอยากมองไปไกลจนถึงการได้ไปทัวร์ตามแจ๊ซเฟสติวัล ไปต่างประเทศ และไปร้องตามงานต่างๆ
ท้ายที่สุด คุณอยากให้คนจดจำคุณในฐานะศิลปินอย่างไร
อยากให้จำว่าเราเป็น Singer เป็น A person who sing เป็น Vocalist และเป็น Entertainer ค่ะ
Tags: The Frame, เพียว, เพียวเอกพันธ์, TheVoiceAllStars, The Voice Thailand, Purenessly, เอกพันธ์ วรรณสุทธิ์