หากพูดถึงวงดนตรีที่เป็นพี่น้อง (Sibling Bands) หลายคนอาจมีภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวมากมาย แต่ถ้าหากพูดให้แคบลงว่าเป็นวงดนตรีพี่น้องสัญชาติไทย ชื่อของพี่น้องนักดนตรีที่ผุดมาในหัว อย่างไรก็คงไม่พ้น ป้อง-ปกป้อง จิตดี และเพลง-ต้องตา จิตดี แห่งวง Plastic Plastic คู่ดูโอพี่ชายน้องสาวที่มีเอกลักษณ์อย่างยิ่งในวงการอินดี้ป็อป

จากคู่พี่น้องที่เติบโตในบ้านที่มีเครื่องดนตรีและเสียงเพลงคลออยู่ในอากาศ การลองหยิบนิดเล่นหน่อย กลายเป็นการทดลองดนตรีใหม่ๆ และพัฒนาความเป็น Plastic Plastic ออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังกว่าสิบปี ผ่าน 2 อัลบั้มใหญ่ 1 EP ย่อย และอีกหลายเพลงเดี่ยว ที่ร้อยเรียงบอกเล่าเรื่องราวมาโดยตลอด

การเดินทางอันยาวนานกว่า 12 ปีของวง Plastic Plastic ถึงเวลาแล้วที่พวกเขากำลังจะมีคอนเสิร์ตครั้งแรกในชื่อ PLASTIC PLASTIC Dear Friends’ Concert แด่เพื่อนๆ ที่เติบโตมาด้วยกัน และทุกความสัมพันธ์

ปกป้องและต้องตา แห่งบ้านจิตดี

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ความสัมพันธ์ของพวกคุณเป็นอย่างไร ทั้งคู่ต่างเติบโตด้วยความฝันที่จะเป็นนักดนตรีเหมือนกันไหม

ปกป้อง: ไม่เชิงว่าทะเลาะกัน แต่ก็ไม่ได้รักกันขนาดนั้น (หัวเราะ) เราต่างคนต่างมีเส้นทางของตัวเองในวัยเด็ก เติบโตมากับดนตรีคนละแบบ ผมก็มีวง เพลง (ต้องตา) ก็มีวง เพียงแต่เราทั้งคู่สนใจดนตรีกันมาตั้งแต่เด็ก

ต้องตา: เราเติบโตมาในบ้านที่มีเสียงเพลงและเครื่องดนตรีอยู่แล้ว พ่อเล่นกีตาร์กับเปียโน แม่ร้องเพลง ทั้งคู่เจอกันในวงดนตรี เราเลยเติบโตมากับการมีเครื่องดนตรีอยู่ในบ้าน แล้วครอบครัวเราเคยมีร้านอาหารที่มีบาร์ ซึ่งมีนักดนตรีมาเล่นดนตรี พวกเราก็มีไปแจมๆ กับเขาบ้างเลยเริ่มเล่นดนตรีจากตรงนั้น 

แต่ช่วงเด็กๆ เพลงก็ไปในทางของเพลง ไปประกวดร้องเพลง ตั้งวงกับเพื่อน ส่วนพี่ป้องเขาสายชาวร็อกประกวด Hot Wave แนวเราค่อนข้างต่างกัน แต่ว่าก็มีจุดที่ร่วมกันอยู่

ในวันนั้น ต้องตามองปกป้องในฐานะพี่ชายคนหนึ่งอย่างไร และปกป้องมองต้องตาในฐานะน้องสาวคนหนึ่งอย่างไร

ต้องตา: พี่ป้องเขาเป็นคนติสต์คนหนึ่ง เขาไม่เหมือนคนอื่น ตอนนั้นเขาไม่ได้เดินในเส้นทางที่เด็กทั่วไปเดิน ตั้งแต่อนุบาลเลย เขาเริ่มตีกลองตั้งแต่อนุบาลสอง ตั้งแต่ก่อนคนอื่นเขาจะเริ่มเล่นดนตรีกันอีก คือตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นทำไม่ได้ แต่เขาก็เริ่มทำอะไรที่ชาวบ้านเขาไม่ทำกัน แล้วก็ช่วงเด็กๆ เลย คนอื่นเขายังไม่เริ่มอัดเพลงกัน พี่ป้องก็เริ่มอัดแล้ว

ปกป้อง: ที่เพลงว่าก็จะเป็นช่วงมัธยม เริ่มมีวงกับเพื่อน แค่อยากอัดเสียงเก็บไว้ฟังว่าที่เราเล่นเป็นอย่างไร ก็อัดลงเครื่องเทป มันจะมีไมค์ในตัวเครื่องก็อัดลงเทป จนเราก็ศึกษาการอัดเสียงเพิ่ม พัฒนามาเรื่อยๆ จากเทปมา MP3 มาคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรม มีอุปกรณ์เสริม ดังนั้น เรื่องการอัดเสียงเราเริ่มมาตั้งแต่มัธยมเลย

ส่วนเพลงจริงๆ ก็เป็นคนแปลกเหมือนกัน (หัวเราะ) ก็เริ่มเปียโนตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นเรามองเพลงแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้นี่มันปีศาจ เป็นเทพเปียโนคนหนึ่งในตอนนั้น ร้องเพลงก็เพราะ มีร้องเพลงประกวดด้วย บางทีก็ให้มาช่วยเล่นเปียโนเหมือนกัน ไม่รู้พรสวรรค์หรือแสวง 

หลายคนมองว่าคุณคือคู่พี่น้องที่ดูรักกันมากๆ ในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นไหม

ต้องตา: เอ่อ ไม่ชอบคำนี้เลย (หัวเราะ) มันเป็นคำที่ดีนะ แล้วภาพก็อาจจะเหมือนอย่างนั้น แต่ว่าถ้าให้คิดคำขึ้นมาเอง อาจบอกว่าเราเป็นพี่น้องที่เข้าใจกันมากๆ ดีกว่า ไม่งั้นมันดูเลี่ยนไป

ปกป้อง: เข้าใจกันมากๆ แต่ก็ยังด่ากันได้ 

ต้องตา: ก็มีความรักอยู่แหละ แค่ไม่อยากให้เอามาเป็นตัวหลัก เพราะความเข้าใจมาก่อน (ยิ้ม)

เคยมีเรื่องทะเลาะกันแรงๆ บ้างไหม ตอนนั้นเป็นเรื่องอะไร และสุดท้ายปรับความเข้าใจกันได้อย่างไร

ต้องตา: ไม่เคยทะเลาะกันเลย ถ้ามีก็คือเล็กน้อยมาก ด้วยความที่พี่ป้องเป็นคนที่ไม่เคยทะเลาะกับใคร เป็นคนปล่อยวาง

ปกป้อง: ถ้ามีอะไรไม่ตรงกันก็จะต่างคนต่างอยู่ ไม่เอาเรื่องนั้นมาเป็นปัญหา

ต้องตา: ก็คุยและรับฟังกัน แล้วสุดท้ายก็จะมีหนึ่งคนที่ยอม อาจเพราะด้วยความที่เป็นคนแบบไม่อะไรกับใครทั้งคู่ ไม่อยากปะทะกับคนอื่น แต่บางทีก็ไม่ได้ยอม แต่ก็ไม่แรง จริงๆ คำถามนี้เจอเยอะมาก แล้วก็นึกนานมากทุกครั้ง เพราะไม่ค่อยมีเรื่องให้ทะเลาะกัน

 

ปกป้องและต้องตา แห่งวง Plastic Plastic 

ก่อนจะมีวง Plastic Plastic เคยมีกิจกรรมหรือทำอะไรร่วมกันมาก่อนบ้างไหม

ต้องตา: แล้วแต่วัย ถ้าตอนเด็กก็มีเล่นเกม ดูการ์ตูน เราไม่ได้โตกันมาคนละขั้วขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ไปด้วยกันทุกอย่าง บางทีเพลงก็ไม่ได้ไปยุ่งกับทางของเขา เวลาเขาไปเป็นชาวร็อกอะไรเพื่อนมาบ้านก็ไม่ได้เข้าไปเล่นกับเขา 

ดังนั้น ถ้าช่วงประถมเลยคิดว่าเป็นเล่นเกมกับดูการ์ตูน เล่นดนตรีด้วยกันยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ช่วงมัธยมก็จะมีบ้างที่เพลงแต่งเพลงขึ้นมา แล้วให้พี่ป้องช่วยทำเพลงนี้ขึ้นมาให้หน่อย แต่ทำในนามของเพลงเอง ไม่ใช่นามวงสองพี่น้อง ตอนนั้นเราก็เริ่มทำเพลงด้วยกันแล้ว แต่ยังไม่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน

ปกป้อง: เหมือนเราทำกิจกรรมทางดนตรีด้วยกันมากกว่า

ต้องตา: เหมือนเราไปแต่งเพลงกับเพื่อนมา แล้วก็บอกว่าให้พี่ป้องทำดนตรีให้หน่อย

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า สองพี่น้องเราอาจจะลองมาเล่นดนตรีด้วยกันได้นะ

ต้องตา: ตอนเด็กยังไม่เคยคิดว่าจะรวมเป็นวงดนตรีกัน เหมือนมองว่าพวกนี้เป็นงานอดิเรกมากกว่า

ปกป้อง: เมื่อก่อนจะเน้นไปที่การประกวดดนตรีมากกว่า เหมือนกับถ้าร้องเพลงเก่งก็ไปแข่งเวทีประกวดร้องเพลง ถ้าเล่นดนตรีเก่งก็ไปประกวดดนตรีมากกว่า 

ตอนนั้นเพลงที่ทำเป็นแนว Plastic Plastic เลยไหม

ต้องตา: ตอนนั้นยังเด็กน้อยมาก เพลงก็จะเป็นคนละแนวกับตอนนี้เลย เนื้อเพลงก็เขียนแบบเด็กๆ เลย จำได้เลยชื่อเพลง ‘โทรหากันหน่อย’ (หัวเราะ) ตอน ม.1 เนื้อหาเพลงก็ตามนั้นเลย โทรหากันหน่อยได้ไหม เธอคงจะเข้าใจว่าฉันคิดถึง 

โปรเจกต์ Plastic Plastic หรือความคิดที่อยากจะทำวงดนตรีเกิดขึ้นตอนไหน

ต้องตา: ตอนนั้นพวกเราลองแต่งเพลงส่งเข้าประกวดกับคลื่อนวิทยุ 98.5 Good FM แล้ว โจทย์คือ ‘แต่งเพลงรักในแบบที่ไม่เหมือนใคร’ ตอนนั้นก็ส่งเดโมเพลง Elastic ไป แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำวงมายาวๆ ด้วย คิดว่าจะทำแค่ประกวดนี้

ปกป้อง: แล้วมันต้องกรอกชื่อวงดนตรีสำหรับประกวดด้วย ก็เลยใส่ชื่อ Plastic Plastic ไปขำๆ ด้วยซ้ำ เพราะมันคล้องกับชื่อเพลง Elastic 

ต้องตา: จนเพลง Elastic เข้ารอบ ได้ไปเล่นรอบสุดท้าย แล้วก็ชนะการประกวด จนกรรมการเวทีนั้นคือ พี่มอย (สามขวัญ ตันสมพงษ์ – ผู้บริหารค่าย What The Duck ในปัจจุบัน) ชวนไปเป็นศิลปินที่ค่าย ตอนนั้นคือค่าย Believe Records

ถ้า Elastic เป็นเพลงที่ทำให้ Plastic Plastic เริ่มเข้าสู่วงการดนตรีอย่างจริงจัง อยากรู้ว่าในวันนั้น คุณแต่งเพลงนี้ด้วยคอนเซปต์เพลงอย่างไร

ต้องตา: ก็เป็นแนวเพลงประกวด ที่ตั้งชื่อเพลงว่า Elastic เพราะอยากได้อะไรที่แปลกๆ ในตอนนั้น เพื่อให้ดูมีอะไรมากกว่าแค่ฉันรักเธอ ซึ่งท่อนฮุกก็ค่อนข้างมีความ Catchy ติดหูดี

พอมีคนชวนไปเข้าค่ายเพลง ทำวงดนตรี เริ่มคิดว่าต้องจริงจังกับ Plastic Plastic ขึ้นหรือยัง

ต้องตา: ตอนนั้นไม่ค่อยคิดอะไรเพราะยังเด็กมาก ก็เลยเข้าเลย ได้รู้จักพี่โต (สิงโต นำโชค) ได้รู้จักวง Musketeers, 25 hours ที่อยู่ค่าย Believe Records อยู่แล้ว ซึ่งพวกเขาดังมาก เราก็ตื่นเต้นมาก ไม่คิดอะไรเยอะ เข้าเลย ตอนนั้นพร้อมเซ็นสัญญาแล้ว (หัวเราะ)

เพลงถัดมาที่น่าสนใจคงจะเป็น ‘วันศุกร์’ ที่ทำให้คนรู้จักวง Plastic Plastic มากขึ้น

ต้องตา: จำได้ว่าตอนทำเพลงนี้ พวกเราเริ่มจากดนตรีก่อน เนื้อเพลงมาทีหลัง ตอนนั้นน่าจะเริ่มจากการอยากลองอะไรใหม่ๆ เราอยากลองทำ Harmony สองเสียงเข้าไปพร้อมกัน เอามาผสมกับเมโลดีแรก จำได้ว่าสนุกตรงที่จับสองเมโลดีมาซ้อนกันอยู่

ปกป้อง: ก็เป็นช่วงทดลองดนตรี ซึ่งเนื้อหาจริงๆ คือเหมือนกับเวลาเราทำอะไรที่ชอบหรืออยู่กับใครที่รู้สึกดี ก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว นี่คือคอนเซปต์ของเนื้อเพลง

ถ้าถามว่า วง Plastic Plastic เป็นวงดนตรีประเภทไหน ทำเพลงอย่างไร และให้ใครฟัง

ปกป้อง: ตอนนี้ ก็คงเป็นอินดี้ป็อปวงหนึ่ง

ต้องตา: ยากมากในการจำกัดความว่าเราเป็นอะไร เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นอะไร 

คือไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร แต่คือเราจะทำอะไรที่เราชอบที่สุด ณ ตอนนั้น โดยที่มันจะเกิดขึ้นจากเราทำนั้น หมายถึงว่า เราจะไม่ได้ดูว่าช่วงไหนคนฟังอะไร ชอบแบบไหน แต่ดูจากตัวเราเป็นหลัก

ปกป้อง: ที่จริงก็ไม่เชิงทดลอง แต่เป็นแนวเราชอบอะไร อยากทำอะไรในตอนนั้น แล้วก็ทำมากกว่า 

ต้องตา: พูดง่ายๆ ก็อาจจะเป็นแบบที่เราสนุกกับกระบวนการระหว่างทำมากกว่า เราไม่ได้มองว่าเพลงนี้เราจะทำให้ได้แบบนี้ อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ แต่เราสนุกและมีความสุขกับตรงนั้น อย่างในตอนนี้เราสนุกกับการเดินไปอัดเสียงนู่นเสียงนี่ อันนี้คือความสุขระหว่างการทำเพลงของเรา

ช่วงระหว่างการทำเพลง มีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกสนุกมากไหม

ต้องตา: จำได้ว่าตอนทำอัลบั้ม Anything Goes เราชอบไปเอาเสียงที่อยู่รอบตัวมาใส่ ประมาณว่าชอบไปอัดเสียง อัด Ambience มาใส่ในเพลง เช่น เสียงน้ำแข็งในแก้ว เสียงเครื่องจักรตอนก่อสร้าง เราก็อัดมาใช้ทำดนตรี

ปกป้อง: ผมชอบเพลงช่วงล่าสุดที่กำลังทำ (ยังไม่ได้ปล่อยเป็น EP.) พักหลังผมจะอินกับการใช้เสียงสดๆ จริงๆ ไปกับเสียงร้องคน เช่น อยากได้เสียงคอรัสเยอะๆ แทนที่เราจะอัดเสียงเราซ้ำกันหลายรอบ แต่เราเกณฑ์คนจริงๆ มา 10 คนแล้วร้องสดพร้อมกันในห้องเดียวกัน 

ซึ่งก็ปรากฏเป็นเพลง Dear Friends ที่เพิ่งปล่อยไป

ต้องตา: มันคือความสนุกและความสุขระหว่างทำจริงๆ ได้เจอเพื่อนด้วย แล้วก็ได้ทดลองสิ่งใหม่อย่างการร้องเพลงไปพร้อมกัน 

ยกตัวอย่างเพลงของ Plastic Plastic สัก 3 เพลง รู้สึกว่าชอบหรือสนุกมากๆ ตอนทำ

ต้องตา: ถ้าให้ตอบตอนนี้มันก็จะเป็นเพลง Dear Friends (หัวเราะ) เพราะว่าเพลง ณ ปัจจุบันจะเป็นเพลงที่ชอบเสมอเลย เราก็ยังอยู่ในโมเมนต์นี้ มันก็ยังชอบอยู่

Dear Friends ที่กำลังชอบในตอนนี้ เราแต่งจากความรู้สึกจริงๆ รู้สึกว่าอินกับเรื่องราวที่ตัวเองแต่ง ซึ่งกระบวนการก็สนุก อย่างที่บอกว่าชวนเพื่อนมาร้องเพลง

ปกป้อง: ผมก็ชอบเซตใหม่

ต้องตา: อีกเพลงที่ชอบคือ Love is growing เพราะว่ามันจะมีช่วงเวลาที่รู้สึกนึกได้แบบฉับพลันว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากๆ มันสปาร์กสำหรับการได้สิ่งที่จะเขียนสำหรับเพลง

ซึ่งเนื้อหาในเพลง เป็นมุมมองใหม่ของความรัก เกิดจากแม่ฟังพอดแคสต์รายการหนึ่งมา เขาพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาความรักของเพลโต (Plato) ว่าความรักจะเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นฝ่ายรัก 

ปกติเราจะมองว่า ความรักเกิดจากคนสองคนที่รักกัน ความรักของเราจะอยู่ที่เขา ส่วนเขามอบให้เรา แต่ที่จริงความรักอาจจะเกิดขึ้นจากฝ่ายเรา แค่นั้นอาจจะเพียงพอแล้ว ก็เลยได้อันนี้มา รู้สึกว่าเจ๋งดี ดังนั้น ช่วงหลังๆ ก็จะเป็นเพลงที่มาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเลย 

แต่บางทีมันก็เกิดมาจากอะไรที่ง่ายๆ เช่นได้คำคำหนึ่งมาแล้วแต่งต่อ โดยที่เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำนี้ แค่เราสนุกที่จะแต่งมัน มีไอเดียกับคำนี้ อันนี้เป็นหนึ่งรูปแบบ

ปกป้อง: อย่างเพลง Pillow Pillow 

ต้องตา: ตอนแต่งเพลงนี้คือ รู้สึกว่าคำมันน่าเล่นก็แต่งต่อ ทั้งที่มันก็ไม่ได้มีความหมายกับเราจริงๆ เหมือนแต่งหนังสือ Fiction นิทานสักเรื่องหนึ่งจากจินตนาการ

ปกป้อง: ส่วนอะไรที่มาจากเรื่องของพวกเราจริงๆ ก็คงจะเป็นหมวดหมู่สารคดี (Documentary) มากกว่า

ต้องตา: ซึ่งในช่วงหลังนี้ ตั้งแต่ Butterflies, Love is growing คือมาจากเรื่องจริงหมดเลย ทำให้เราอินกับตอนอัดตอนร้องเพลงนี้มาก เพราะมันจริง

ถ้าถามว่าความแตกต่างของการทำเพลงของ Plastic Plastic ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คือการเปลี่ยนจากนิทานเป็นการเล่าแบบสารคดีอย่างเดียวไหม

ต้องตา: ก็ไม่เชิง มีสลับๆ กัน แต่แค่ความลึกของการใคร่ครวญของเพลงเยอะขึ้น จากแต่ก่อนเป็นแค่การบ่น อาจเป็นสารคดีก็จริง แต่เราอาจจะยังไม่ได้ตกตะกอนกับมันเท่านี้ เช่น เพลง Hate you, Love you ไม่ชอบคนนี้ว่ะ เซ็ง จบ แต่ไม่รู้ว่าเซ็งเพราะอะไร ยังไม่ได้ตกตะกอนกับตัวเอง แต่เพลงในตอนนี้คือการคิดมาแล้ว เราไม่ได้บ่นไปเลยแค่ว่ารู้สึกอะไร แต่ใคร่ครวญว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร 

วิธีการเขียนเพลงเปลี่ยนไปบ้างไหม พอต้องเล่าเรื่องลึกซึ้งขึ้น

ต้องตา: ไม่เชิงเปลี่ยนขนาดนั้น ปกติคิดอะไรได้ก็จดในสมุดและช่วงนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ แต่แค่เรื่องที่เราสนใจจะเขียนมันเปลี่ยนไปเฉยๆ แต่วิธีแต่งเราเหมือนเดิม ซึ่งมีหลายวิธี เช่น พี่ป้องคิดดนตรีมาก่อนแล้วก็ส่งเพลงมา เราก็เอามาใส่เนื้อร้อง แต่ช่วงหลังพอมันมาจากความรู้สึกของเราแล้ว ก็จะไม่เริ่มแบบนั้น ก็จะเริ่มจากไอเดียแทน

ปกป้อง: ขึ้นอยู่กับเราอยากจะได้อะไรในเพลงนั้นก่อน ถ้าเริ่มจากดนตรีก็ดนตรีก่อน เนื้อหาก็เนื้อหาก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้ความสำคัญกับอีกอัน หลังๆ ก็มีตัวช่วยอย่าง AI คือสมัยนี้สมมติเราหาคำคล้องจองในบางประโยคไม่ได้ เราก็ถาม AI ว่าอยากได้คำเนื้อหาประมาณนี้ลงท้ายด้วยคำแบบนี้ ก็เป็นตัวช่วยที่ดี แต่แก่นไอเดียหลักก็ยังสำคัญที่สุด

ต้องตา: สุดท้ายเราก็ต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าเราอยากจะสื่ออะไร เพราะ AI ช่วยเราไม่ได้ในเรื่องนี้ (หัวเราะ)

 

เพลงหนึ่งเพลงมีวิธีคิดต่างกัน มีการเริ่มต้นก็ต่างกัน พอเอามารวมเป็น EP. หรืออัลบั้ม มีวิธีคิดแตกต่างออกไปไหม

ต้องตา: เหมือนธรรมชาติที่ในช่วงนั้นมันจะสนใจสิ่งหนึ่ง แล้วพอทำเพลงในช่วงนั้นมันก็เลยจะใกล้ๆ กัน

ปกป้อง: เป็นแบบช่วงนี้เราจะเริ่มประมาณนี้ อยากทำเพลงแนวนี้ คือเริ่มจากสิ่งที่สนใจก่อน

ต้องตา: แต่เราก็มีการตีกรอบความสนใจว่าอัลบั้มนี้น่าจะประมาณนี้นะ

ยกตัวอย่าง EP. Mojito พวกคุณมีวิธีคิดอย่างไร

ต้องตา: ตอนนั้นเราเริ่มมีคอนเซปต์ว่าเราอยากอัดเครื่องดนตรีจริง 

ปกป้อง: คือก่อนหน้านั้นเป็น EP. Anything Goes ที่เราใช้อิเล็กทรอนิกส์ เราเลยอยากเปลี่ยนบ้าง ก็เลยวางกรอบไว้ว่า เป็นอัลบั้มที่ทำดนตรีสดให้ซาวนด์แตกต่างจากอีพีก่อนหน้า

ต้องตา: ในอีพีจะมีเพลงฮัม, ร้อน, กลิ่นดอกไม้, childhood paradise เนื้อหาจะมีกลิ่นดอกไม้ที่มีความขมขื่น เพราะแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเกิดขึ้นช่วงที่ช่วงหมาของเราตาย ส่วน Hate you, Love you จะมีความขม แต่ก็จะมีเพลงฮัมที่หวานหน่อย ส่วนเพลงร้อน ก็มาจากอารมณ์ร้อน เราเลยเปรียบเทียบเพลงทั้งหมดในอัลบั้มเป็นเหมือน Mojito ค็อกเทลที่มีความเปรี้ยว ซ่า หวาน ขม อยู่ในแก้วเดียวกัน

ปกป้อง: แต่ละเพลงในอีพี อารมณ์มันต่างกัน เหมือนรส Mojito ที่มีหลายรส

 

ปกป้องและต้องตา แห่งค่าย What The Duck

จะมีช่วงหนึ่งที่ Plastic Plastic กลายเป็นวงอิสระไม่มีค่าย เพราะอะไรถึงตัดสินใจกลับมาสังกัดค่ายอีกครั้ง

ต้องตา: คืออยากโฟกัสกับการทำเพลงไปเลยมากกว่า คือตอนทำเองมันต้องโฟกัสหลายอย่าง ทั้งโปรโมต ลงเพลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือการประสานงานต่างๆ 

ปกป้อง: มันเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่ดนตรีเกินไป

ต้องตา: พอมาอยู่กับ What The Duck ก็ลดสิ่งเหล่านี้ไป พวกเราก็ได้กลับมาโฟกัสกับการทำเพลงได้เต็มที่

จนถึงวันนี้ Plastic Plastic กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งคอนเสิร์ตครั้งแรกและคอนเสิร์ตครบรอบ 12 ปีด้วย วางแผนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ปกป้อง: มันจะมีมาตั้งนานแล้ว ไม่รู้เหมือนกันทำไมก่อนหน้านี้ก็ไม่มีสักที

ต้องตา: น่าจะมีตั้งแต่ 10 ปีแล้ว คือเราก็ไม่ค่อยได้จัดคอนเสิร์ตที่มีแค่เรา แล้วเราก็ไม่ค่อยมีงานเล่นด้วย เรางานเล่นน้อย เลยยังไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม ส่วนใหญ่งานอีเวนต์มักจะถูกจำกัดด้วยเวลา เราเลยอยากเล่นเพลงพวกนี้ แล้วก็อยากทำอะไรที่มันเป็นเราทั้งสี เสียง แสง อาร์ต รูปแบบในงานภาพรวม

คอนเสิร์ตในครั้งนี้คนดูจะได้เห็นอะไรบ้างจาก Plastic Plastic นอกจากเพลง

ต้องตา: คิดว่าเป็นเรื่องโชว์

ปกป้อง: จะมีหลายอย่างที่จะนำมาเล่นจริงๆ ที่ปกติเราไม่ได้เล่นจริงๆ เช่น ครั้งนี้เราเอาคนมาเล่นเยอะได้ เครื่องสาย ประสานเสียง เป็นโชว์ที่ Scale Up ขึ้นไปอีก

ต้องตา: เราให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเกิดขึ้นในโชว์มากๆ

การทำวงดนตรีที่ชื่อ Plastic Plastic ให้อะไรกับทั้งสองคนในฐานะพี่น้องที่ทำงานร่วมกันบ้าง

ต้องตา: คิดว่ามันทำให้เพลงเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต ทั้งในขั้นตอนของการแต่งเพลงมันทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วก็ในขั้นตอนของดนตรี ทั้งการซ้อมและแสดงสด เหมือนเป็นการยืนยันว่า นี่คือสิ่งที่เราจะเป็น สิ่งที่เราจะทำ แล้วก็รู้สึกดีที่เพลงที่เราแต่งขึ้นได้ทำงานกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่พวกเราชอบแล้วก็จบอีกต่อไป การได้ Feedback กลับมาแล้วก็เหมือนได้พลังในการใช้ชีวิตต่อ

ปกป้อง: จริงๆ ก็คล้ายกัน แต่ผมจะออกแนวได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำแล้วอยากทำมากๆ เหมือนได้ทำอีกขั้วหนึ่งที่เราอยากทำจริงๆ เหมือนได้พักผ่อน

สุดท้ายแล้ว จากวันนั้นที่เป็นเด็กพี่น้องทำเพลงด้วยกัน จนถึงวันนี้ที่กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่แล้ว ย้อนเวลากลับไปตอนนั้นจะอยากบอกอะไรกับตัวเองไหม

ต้องตา: ก็คงขอบคุณตัวเองที่กล้าเริ่มทำอะไรที่ชอบ ที่ต้องการ

ปกป้อง: ของผมก็คงเป็นทำดีแล้วครับ (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่ามาไม่ผิดทาง

Fact Box

คอนเสิร์ต PLASTIC PLASTIC Dear Friends' Concert เป็นทั้งคอนเสิร์ตครบรอบ 12 ปี และเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง Plastic Plastic ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ที่ KBank Siam Pic-Ganesha Theatre (โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ) โดยบัตรทุกที่นั่งจำหน่ายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดขาย

Tags: , , , , , ,