“ดนตรีร็อกในบริบทที่ผิวเผินที่สุดคือฟังแล้วมันสนุก ฟังแล้วอยู่กับปัจจุบัน ลืมทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งภายหลัง สิ่งนี้กลายเป็นวิธีการทำสมาธิของผม คนรอบตัวจะรู้ว่าเวลาทำงาน ทิม พิธาจะต้องเปิด Iron Maiden หรือ Metallica ไปด้วย”
หลายคนอาจรู้จัก ‘ทิม’ – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะนักการเมืองหนุ่มผู้มีอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแห่งพรรคก้าวไกล แต่อีกด้าน เขาคือผู้หลงใหลและยึดมั่นในจิตวิญญาณของดนตรี ดังที่ได้เห็นจากคำแถลงในวันที่เข้ารับหนังสือจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีและธุรกิจกลางคืน ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 ระบาด
นอกจากวงอะไรจ๊ะ และเสียงตีคอร์ด D ของ เดฟ โกรล (Dave Grohl) พิธายังมีรสนิยมและความชื่นชอบส่วนตัวอีกมากที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้มาก่อน บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เขาจะมาเล่าถึงวงดนตรีและบทเพลงต่างๆ ที่หล่อหลอมให้กลายเป็นตัวตนในทุกวันนี้ รวมทั้งข้อเสนอของเขาที่อยากพัฒนาวงการดนตรีเมืองไทยให้ไปได้ไกลถึงระดับโลก
ทิม พิธา ในวัยเด็กโตมากับดนตรีประเภทไหน
ถ้าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นระหว่างดนตรีกับผม จะเป็นช่วงมัธยมที่เพลงถูกส่งต่อมาจากคุณพ่ออีกทีหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นยุคเฮฟวีเมทัลครองเมือง ผมก็จะคลุกคลีอยู่กับ Iron Maiden, Black Sabbath, ACDC และชอบเลียนแบบท่าทางของ มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger) สมัยนั้นรู้จักวงดนตรีขนาดนี้ก็เจ๋งแล้ว เพราะกว่าจะได้ฟังแต่ละอัลบั้มก็ยากแสนยาก ต้องมาแลกเทปคาสเซ็ตกับเพื่อน บางเทปในประเทศไทยไม่มี ก็ต้องรอเพื่อนหรือผมไปต่างประเทศแล้วหิ้วกลับมา จำได้ว่า Aerosmith มีเทปเดียวแลกกันฟังทั้งกลุ่ม วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น
พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มสนใจวงดนตรีในเมืองไทย แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์เฮฟวีเมทัลไว้อยู่ อย่าง The Olarn Project, Dezember และ Ebola ช่วงนั้นจะเป็นสภาวะที่เริ่มค้นหาวงดนตรีใหม่ๆ หาเพลงที่ถูกจริตตัวเองมากขึ้นทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงใหม่ๆ จนกระทั่งถึงยุคหนึ่งที่เด็กไทยทุกคนต้องเริ่มตั้งวงเล่นดนตรีกัน ตอนนั้นเป็นคิวของดนตรีกรันจ์ และ Nirvana ก็กลายเป็นวงดนตรียอดนิยมในทันที จำได้ว่าวงของผมต้องมาตัดสินกันว่าใครจะได้เป็นมือกีตาร์ด้วยการแข่งโซโล่เพลง Smells Like Teen Spirit เพราะทุกคนเล่นเป็นกันแต่กีตาร์ เรียนมาจากโรงเรียนเดียวกัน (หัวเราะ)
หลังจากนั้นก็เป็นไปตามยุคสมัย Oasis หรือ Green Day ในยุค 1990-2000 ก็ต้องวงพวกนี้แหละ ช่วงนั้นจำได้ว่าตัวเองเริ่มออกไปดูคอนเสิร์ตจริงๆ บ้างแล้ว วงต่างประเทศที่ผมได้ดูสดครั้งแรกคือ Radiohead มาแสดงที่มาบุญครอง ตอนนั้นราคาบัตรน่าจะยังหลักร้อยอยู่เลย มาพูดตอนนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้วที่ไปดูตอนนั้น เพราะถ้าจะมาหาดูตอนนี้คงเป็นเรื่องยาก
ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือผมได้มีโอกาสตามคุณพ่อไปเมืองซีแอตเทิล เมืองแห่งดนตรีกรันจ์ หลังจากที่ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) นักร้องนำวง Nirvana ฆ่าตัวตายพอดี ผมเห็นเลยว่าบรรยากาศในเมืองเป็นอย่างไร เห็นเลยว่าความยิ่งใหญ่ของกรันจ์และตัวเคิร์ตเองนั้นได้สร้างศรัทธาให้คนในเมืองขนาดไหน ดนตรีที่พวกเราฟังกัน มันมีพลังของตัวเองอยู่จริงๆ นะ
สุดท้ายช่วงมหาวิทยาลัย ที่ผมกลับมาอยู่ธรรมศาสตร์ ก็มาสนใจทั้งดนตรีและหนังไทยแล้ว เป็นช่วงที่ผมเริ่มรู้สึกว่า เพลงและหนังของไทยเอาเข้าจริงไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยนะ ทั้งเรื่องคุณภาพและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ยังจำได้เลยว่ามีวันหนึ่งต้องตัดสินใจว่าจะดูวงไหนดี ระหว่าง Silly Fools หรือ Red Hot Chili Peppers ที่มาแสดงคอนเสิร์ตพร้อมกัน เพราะถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ สองวงนี้เล่นคอนเสิร์ตได้ดีไม่แพ้กันเลยนะ
พูดได้เต็มปากว่าเติบโตมากับดนตรีร็อก คุณมองว่าดนตรีประเภทนี้มีความพิเศษอย่างไร
ในบริบทที่ผิวเผินที่สุดคือฟังแล้วมันสนุก ฟังแล้วอยู่กับปัจจุบัน ลืมทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งภายหลังสิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำสมาธิของผม คนรอบตัวจะรู้ว่าเวลาทำงาน ทิม พิธาจะต้องเปิด Iron Maiden หรือ Metallica ไปด้วย และผมเชื่อว่าไม่ใช่ผมคนเดียวแน่ที่เป็นแบบนี้ (หัวเราะ)
แต่เมื่อปอกหัวหอม มองให้ลึกลงไปเรื่อยๆ ด้วยความเพลงร็อกมันคือชีวิต มันคือจังหวะ สำหรับผม เพลงร็อกที่ดีมันต้องมีจังหวะเร็วเข้า-ออก มีหนัก-เบา มีจังหวะที่กระชากอารมณ์ขึ้นมาอย่างมหาศาล และลงได้อย่างสวยงาม ต้องมี Riff & Rhythm คล้ายคลึงกับชีวิตของมนุษย์ที่มีจังหวะหลากหลายไม่ต่างกัน
แล้วถ้าปอกให้ลึกลงไปอีก ดนตรีร็อกคือการปลดปล่อยนะ ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ปลดแอกบางอย่างที่กดทับผู้คน ออซซี ออสบอร์น (Ozzy Osbourne) นักร้องนำวง Black Sabbath ที่เคยเป็นช่างประปา เป็นคนงานก่อสร้าง เขาก็ใช้ดนตรีในการปลดพันธนาการชีวิตที่ถูกจองจำอยู่ในโลกใบนี้ ก่อนที่ดนตรีของเขาจะถึงหูคนอื่น และสร้างชื่อให้เขาในเวลาต่อมา ผมจึงสัมผัสได้ถึงการเอาชีวิตรอด สัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความโหยหาที่มันจริงใจ เพราะนี่คือชีวิตที่เขาเป็น
ดนตรีร็อกพิเศษมากนะ มันสามารถไปลั่นกระดิ่งในใจของผู้คนดังได้ สามารถส่งต่อพลังชีวิตให้กับอีกคนได้มีชีวิตต่อไป ให้พอทนอยู่บนโลกใบนี้ได้ มันเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
แล้วสำหรับดนตรีแนวอื่นๆ คุณสนใจฟังเพลงแนวไหนอีกบ้างไหม
ก็มีนะ ปัจจุบันผมก็ไม่ได้ฟังร็อกเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนเด็กๆ แล้ว ก็มีเปลี่ยนโหมดบ้าง ทุกวันนี้เวลาเจอเพลงใหม่ๆ ใน Spotify จะรู้สึกประทับใจมาก ซึ่งก็มีหลากหลายแนวเลย
อย่างเช่น FKJ ผมทึ่งเขามาก คนอะไรนอกจากจะแต่งเพลงดี เรียบเรียงเพราะ ยังเล่นเปียโนเก่งอีก เล่นกีตาร์ก็เป็น พอไปฟังเพลงเขามากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเราก็มีแต่จะตื่นเต้นเอง ซึ่งทุกวันนี้ผมเจอคนแบบนี้เยอะมากเลย วงอย่าง Iron & Wine หรือเขียนไขและวาณิชของไทยเรา ก็เป็นวงประเภทนี้ที่ผมได้รู้จัก
หรือถ้าให้อธิบายเป็นแนวเพลง ช่วงนี้ผมก็สนใจดนตรีแจ๊ซ ที่ถ้าไปบอกตัวเองในวัยเด็กว่าชอบแนวนี้ต้องโดนล้อแน่นอน (หัวเราะ) คือผมไม่ได้สนใจว่าต้องเป็นดนตรีร็อกเท่านั้นไง ดนตรีแบบไหนที่ทำงานกับหัวใจ กับอารมณ์ได้ ก็ถือว่าผ่าน นักดนตรีอย่าง บิล อีแวนส์ (Bill Evans), เชต เบเกอร์ (Chet Baker), ออสการ์ ปีเตอร์สัน (Oscar Peterson) ก็เป็นของดีที่ได้มารู้จักตอนเป็นผู้ใหญ่
ถ้าให้อธิบายว่าสิ่งที่ตัวคุณในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลกำลังทำอยู่เป็นบทเพลง มันควรจะเป็นเพลงไหนดี
ก็คงเป็น Testify ของวง Rage Against the Machine แล้วก็ Youth of the Nation ของวง P.O.D.
ผมพยายามเป็นตัวแทนในการนำเสนอความหวังและความโกรธแค้นของผู้คนในรุ่นนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับคนรุ่นผม และคนรุ่นผมที่ตั้งคำถามคนรุ่นก่อนหน้า และต่อไปอีกเรื่อยๆ เป็นการนำเสนอเรื่องราวของความยุ่งเหยิง ความวุ่นวาย ความเละเทะ ที่ส่งมาตั้งแต่ช่วง 6 ตุลา 2519 มาถึงพฤษภาทมิฬ มาถึงพฤษภา 2553 จนถึงรุ่นนี้มันก็ยังไม่จบ มันยังมีการ Rage Against the Machine อยู่ ซึ่ง the Machine ที่ว่านี้ก็คือกลุ่มคนที่หวังรักษาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการเตียง ต้องการวัคซีน ต้องการยาได้ในปัจจุบัน
แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังมีความหวังแบบเพลงของ P.O.D. ซึ่งพูดถึงประเทศที่ขอฝากให้คนรุ่นใหม่ ท่อนคอรัสที่เยาวชนร่วมตะโกนร้อง “we are, we are youth of the nation” มันส่งพลังได้อย่างรุนแรง มันคือความหวังของผู้คนที่กำลังประกอบกันอยู่ ซึ่งผมและพรรคก้าวไกลก็ทำหน้าที่เป็นมือกลอง เพียงแค่เคาะจังหวะเฉยๆ เพราะประชาชนคือนักร้องหลัก คือส่วนสำคัญของเพลงนี้ แล้วมันจะกลายเป็น Youth of the Nation ที่สมบูรณ์
ในปัจจุบันที่วงการดนตรีได้รับผลกระทบถ้วนหน้า จนหลายชีวิตล้มเลิกอาชีพนี้ไป คุณในฐานะตัวแทนของประชาชนและผู้ชื่นชอบในเสียงเพลง จะปลุกความหวังให้คนดนตรีอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ถ้าเราเข้าใจก็จะหายุทธศาสตร์และวิธีการที่เห็นเด่นชัดมากขึ้น
ปัญหาช่วงโควิด-19 ที่คนดนตรีได้รับผลกระทบอย่างหนัก เราต้องยอมรับว่ามันเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องรู้ว่าความเสี่ยงในสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือสิ่งที่จะทำคืออะไร ต้องรู้ว่าควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ความเสี่ยงที่กลัวอยู่นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แค่นี้เอง รับรู้ความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และหาวิธีที่จะไม่ให้ความเสี่ยงเกิดขึ้น
แต่มันก็ไม่เกิดขึ้นให้ผมเห็นในประเทศนี้ ทุกคนต่างรู้กันดีว่า การสั่งวัคซีนที่หลากหลายมาตุนไว้ก่อน รวมถึงการออกแบบระบบสาธารณสุขที่ดีพอ จะทำให้ธุรกิจทั้งกลางวันและกลางคืนก็ไม่ต้องปิดอย่างนี้ มองออกไปต่างประเทศ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษกลับมาระบาดหลายหมื่นคน แต่เขาก็ยังสามารถที่จะเปิดผับและทำกิจกรรมทุกอย่างได้ต่อ เพราะมีคนเสียชีวิตเพียงหลักสิบ
แล้วทุกการระบาดทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก การระบาดหนักๆ ก็มีกรณีให้ศึกษามากมายทั้งจากสหรัฐอเมริกา อินเดีย แต่ผมก็ยังไม่เห็นการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเลย ประชาชนก็เลยต้องมารับผลกระทบทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
ในขณะเดียวกัน ความไร้ประสิทธิภาพยังมาควบคู่กับมายาคติที่คิดว่า อะไรเป็นธุรกิจที่เริ่มหลังหกโมงเย็นเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็น เป็นธุรกิจที่ไม่ดี ซึ่งมันจะทำแบบนี้ไม่ได้แล้วในช่วงเวลาแบบนี้ กลุ่มคนเหล่านี้เขาต้องเสียสละที่จะทำมาหากิน ที่จะหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวของเขา รัฐบาลที่หยิบยืมโอกาสเหล่านี้ของเขา ก็ควรต้องมีการตอบแทนและรับผิดชอบคนกลุ่มนี้บ้าง
มันถึงเวลาที่ต้องเริ่มคิดแล้วว่าความปกติใหม่ของธุรกิจบันเทิงและกลางคืนควรจะเป็นอย่างไร เลิกใช้วิธีเหมารวมว่าอะไรเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ หรืออะไรที่เปิดกลางคืนคือธุรกิจสีเทา ต้องสั่งปิดไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ทั้งที่ความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย คุณจะพิจารณาจากมุมมองของตัวเองแล้วไปตัดสิทธิ์วิธีทำมาหากินของเขาได้อย่างไร คุณจะตัดสินว่าธุรกิจที่เริ่มตอนหกโมงเช้า มีคุณค่ากว่าธุรกิจที่เริ่มต้นตอนหกโมงเย็นได้อย่างไร
ที่สำคัญคืออยากให้ผู้บริหารมองผลกระทบในด้านอื่นที่สัมพันธ์กับธุรกิจแบบนี้ด้วย คนใช้แรงงานยกของ ลูกจ้างพนักงาน คนขับแท็กซี่ที่เคยรอรับลูกค้าตอนตีสอง หรือพ่อค้าร้านกวยจั๊บหน้าแซกโซโฟนผับที่เวลาไปดูวงทีโบนแล้วต้องออกมากินต่อ มันมีวงจรตรงนี้อยู่ ซึ่งรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ละเลยมาเป็นเวลานาน มันอาจจะยอมรับได้ถ้าเป็นแค่ 10 วันแรก แต่นี่มัน 400 กว่าวันแล้ว
แล้วจะให้เขาปรับตัวไปทำอย่างอื่น ผมถามว่าสมมติมีคนมาบังคับให้พวกเราไปเป็นนักดนตรีภายในวันสองวันจะทำได้ไหม ตัวผมที่ยังโซโล่กีตาร์เพลง Smells Like Teen Spirit สู้เพื่อนๆ ไม่ได้นี่ไม่ต้องหวัง แล้วจะไปบังคับให้คนอื่นไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัดได้อย่างไร
ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมาคิดในะระยะสั้น จะใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ได้อย่างไรโดยที่ไม่ไปเหมารวมเขา ถ้าเป็นคนที่มีความเสี่ยงน้อย ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว มีวัคซีนพาสปอร์ต สามารถเว้นระยะห่างได้ กินแอลกอออล์ในปริมาณที่เหมาะสมได้ไหม ก็ว่ากันไป แล้วแต่จะออกแบบ ถ้าจะให้ดีก็ไปคุยกับคนธุรกิจประเภทนี้ แล้วหาตรงกลางร่วมกันที่รับได้ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เผด็จการที่สั่งปิดตลอดเวลา มันจะได้คืนสิทธิในการทำมาหากิน ถึงเวลาที่ต้องคืนชีวิตของพวกเขากลับไป
หนึ่งในปัญหาตลอดกาลของการจัดทำคอนเสิร์ตไทย คือการมีสปอนเซอร์เพียงไม่กี่เจ้า จนทำให้การจัดคอนเสิร์ตต่อปีของประเทศไทยเป็นไปได้อย่างจำกัด และมักจะเกิดขึ้นในงานขนาดใหญ่เท่านั้น คุณคิดว่าเราควรจะมองถึงการปลดล็อกคอนเสิร์ตไทยให้มีการกระจายความหลากหลาย เหมือนกับการปลดล็อกคราฟต์เบียร์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันไหม
ภาพใหญ่ก็ต้องทำลายทุนผูกขาด พูดกันตามตรง การที่บริษัทไหนจะมาเป็นสปอนเซอร์อะไรได้ คือคุณต้องมีเม็ดเงินที่เพียงพอและต้องได้รับประโยชน์จากดนตรีกลับไป แต่ถ้าคุณไม่ทำลายทุนผูกขาดจากเจ้าใหญ่ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธนาคาร อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่มีทุนเหลือเฟือ จนสามารถนำดนตรีมาทำการตลาดได้ มันก็ยังเป็นวนเวียนแบบนี้ต่อไปไม่รู้จบ
แต่ถ้าสามารถทำลายทุนผูกขาดให้ SMEs สามารถลืมตาอ้าปากได้ ผมยกตัวอย่างกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าเราสามารถสร้างคราฟต์เบียร์ที่มาจากสินค้าการเกษตรของภาคนั้น มันมีอะไรที่มีอัตลักษณ์อยู่ในสินค้าและอาหาร คุณคิดดูว่าเงินจะหลั่งไหลเข้ามามากขนาดไหน ถ้านำไปผูกกับดนตรี
ยกตัวอย่าง คนทำสุราพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างมังคุด มาเป็นสปอนเซอร์ในการจัดคอนเสิร์ตจ๊อบ บรรจบ, ศรีราชาร็อคเกอร์ หรือวงอีสานแดนซ์ในเร็กเก้บาร์ คุณลองคิดดูสิ เร็กเก้กับเบียร์มังคุด ได้ยินก็รู้สึกว่าไม่ธรรมดาแล้ว มันจะไม่ใช่แค่อยากจะมาฟังเพลง แต่มันจะเป็นการมาเอา Vibe มาซึมซับบรรยากาศ ซึ่งแบบนี้มันจะชวนฐานลูกค้าคนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้ฟังเร็กเก้หรือไม่ได้กินเบียร์ตามมาที่งานได้ เพราะมันแปลก น่าสนใจ จนกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่รายย่อยอยู่ได้
แต่ถ้าคุณมัวแต่ปิดกั้นแบบนี้ ถึงจะเอาดนตรีใส่ รายได้ก็ไม่ตามมา มันก็ไม่เกิดการสปอนเซอร์โดยเจ้าอื่นๆ ดังนั้น หากจะทำลายวงจรตรงนี้คือ ต้องทำลายทุนนิยมผูกขาดและสร้างวัฒนธรรมหลากหลายให้เอื้อต่อธุรกิจหลากหลายแบบเข้ามามีส่วนร่วมกับดนตรีและคอนเสิร์ต
นอกจากการแก้ปัญหาแล้ว คุณมองเรื่องการพัฒนาสื่อบันเทิงให้ทัดเทียมกับระดับโลกไว้อย่างไร
ธุรกิจบันเทิงไม่ว่าจะหนัง ละคร ดนตรี มันมีการปรับตัวค่อนข้างที่จะรุนแรงในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า Content Business มันเปลี่ยนไปพอสมควร ดังนั้นมันถึงเวลาที่ต้องเริ่มไล่กวดทางวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าธุรกิจทุกประเภทเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการส่งออกข้าว ธุรกิจยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ มันจะไม่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป
แต่กลับกัน ธุรกิจประเภทคอนเทนต์ ธุรกิจวัฒนธรรม สตรีมมิง อีสปอร์ต พวกนี้หุ้นขึ้นด้วยซ้ำ มันก็เป็นจุดที่รัฐบาลควรต้องคุยกับเอกชน คุยกับคนรุ่นใหม่ ถ้าต้องการจะไล่กวดความก้าวหน้าของธุรกิจวัฒนธรรม ประเทศไทยจะทำอะไรได้บ้าง ทำแพลตฟอร์มใหม่สู้เขาทันไหม ทำอย่างไรที่จะเอาจุดแข็งของประเทศไทยที่มีอยู่ในเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของการทำอาหาร เรื่องของการท่องเที่ยว มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ต้องมานั่งคิดกันใหม่ คิดให้ใหญ่ คิดให้ครบ
ตอนเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ผมได้มีโอกาสคุยกับคนที่อยู่เบื้องหลังกระแส Korean Wave ที่ดังพลุแตกในปัจจุบัน เขาเล่าให้ฟังว่ามันไม่ใช่แค่การฝึกนักดนตรีให้ดี เปลี่ยนจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษแล้วมันจะระเบิดได้อย่างทุกวันนี้ มันเป็นการเตรียมตัวของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงการศึกษา ไปจนถึงภาคเอกชนที่ร่วมใจและเห็นตรงกันว่า Content is king ต้องนำเสนอความเป็นเกาหลีที่มีการประยุกต์ จนแม้แต่คนอเมริกันที่คนฟังภาษาเกาหลีไม่ออกจะต้องยอมรับให้ได้ พวกเราเห็นว่าเกาหลีไม่ได้เปิดช่องละครที่ไม่ได้มีภาษาเกาหลีอย่างเดียว แต่ยังมีช่องอย่าง KBS ที่มีภาษาอังกฤษสอดแทรก มีเนื้อหาที่เป็นเกาหลีครึ่งหนึ่ง และเนื้อหาทั่วไปที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้เช่นความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาเสริมให้ความเป็นเกาหลีมันเข้าถึงทุกชาติ
ไหนจะเรื่องวัฒนธรรมอย่างแฟนด้อม ที่พัฒนาจากการตลาดที่เฉียบขาด หรือเพลงฮุกดังๆ ที่ติดหูมาตลอด เขามีการวิจัย มีวิทยาศาสตร์มารองรับ นี่คือคำว่าครบของผม เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่พวกเขาร่วมกันคิด และเห็นพ้องต้องกันว่าควรพัฒนาให้เป็นมรดกของชาติ
ดังนั้นการจะทำเพลง จะสร้างหนัง เราจะเอาแค่คนกลุ่มหนึ่งมาแก้ปัญหาไม่ได้ มันต้องมีการประกอบด้วยวิธีคิดอีกหลายแขนงโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และสถิติ Netflix เขารู้ว่าคอนเทนต์แบบไหนจะอยู่กับคน เขาเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วสร้างศิลปะที่ใหม่และเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น
ถามว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนั้นได้ไหม มองกลับมาเมืองไทย มันต้องเริ่มใหม่กันหมดเลย อันดับแรกต้องกำจัดทัศนคติที่ว่า ‘วัฒนธรรมมีไว้รักษา’ ก่อน เพราะในความจริงมันต้องทำให้ระเบิด อย่าปิดกั้นเอาไว้ เลิกได้แล้วกับการที่วัฒนธรรมเป็นแบบไหนต้องควบคุมเอาไว้ให้เป็นแบบนั้นตลอดไป มันไม่ใช่การรักษา แต่มันเป็นการจองจำ อาหารต้องเป็นแบบเดิม ศิลปะต่างๆ อย่าทำให้แปลง อย่าให้เป็นสมัยนิยม อย่าให้มันเหมือนฝรั่ง เรื่องแบบนี้มันต้องถูกกะเทาะออกมาจากวัฒนธรรมกันก่อน
มันต้องเปลี่ยนได้แล้ว ผู้บริหารต้องมองว่าวัฒนธรรมรวมถึงกฎหมายควบคุมต่างๆ มันต้องระเบิดทิ้ง ให้ความสร้างสรรค์มันเกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นอะไรแบบนี้ได้ก็ต้องมีเสรีภาพการพูดก่อนอันดับแรก (หัวเราะ) อีกอย่างคือความหลากหลาย อันไหนที่ไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม คนบางรุ่น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปควบคุม แต่ให้สังคมตกผลึกของมันเองว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคม
ถ้าวิธีคิดเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ก็จะเปลี่ยนตาม พอยุทธศาสตร์เปลี่ยนตาม งบประมาณก็จะเปลี่ยนตาม แล้วก็เงื่อนไขของงบประมาณ ไม่ใช่ว่าถ้าจะมารับจากกองทุนในการสร้างหนัง คุณต้องสร้างหนังที่ผดุงความยุติธรรม พูดถึงค่านิยมดีงามของประเทศ จะต้องมีศีลธรรม มีขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมปรากฏในหนัง มันไม่ได้ คนที่ทำหนังเขามีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่อยากสร้างหนังเสียดสี อยากตั้งคำถาม ทำให้เกิดการขบคิด คุณก็ต้องให้พื้นที่เขาด้วยเช่นกัน
ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น มันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นกลายเป็นงูกินหาง ผู้ผลิตทำแบบเดิม ผู้บริโภคก็เสพแบบเดิม ชินกับสิ่งที่เขาต้องการรักษาไว้ ทำให้ประเทศไทยไม่มีอะไรใหม่ๆ เป็นที่นิยมในสากล ไม่มีความเป็นไทยที่ร่วมสมัยจนต่างชาติเข้าใจได้ ยังคงเป็นชาติที่บริโภคและเสพวัฒนธรรมของเขาอย่างเดียว
ถ้าจะทำปรากฏการณ์วัฒนธรรมระเบิดเกิดขึ้นได้จริง มองว่าหน้าที่ของผู้นำควรทำอย่างไร
ในฐานะตัวแทน ส.ส. คือการพูดแทนประชาชน ขณะที่เพดานจะต่ำเตี้ยขนาดนี้ ยังมีศิลปินดีๆ ใหม่ๆ ที่เป็นระดับโลก มีผู้กำกับหนังชื่อก้องโลก มีแร็ปเปอร์หน้าใหม่ที่ไรห์มเขายิ่งใหญ่ไม่แพ้ต้นกำเนิดจากอเมริกา ถ้าเขาได้รับการสนับสนุน เขาคงยิ่งใหญ่ในเอเชียได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
อันที่สองคือผลักดันยุทธศาสตร์ ผลักดันกฎหมายการตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องของ Culture Managment หรือการบริหารวัฒนธรรมของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อโอบรับความหลากหลายได้มากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายทางวัฒนธรรม และเอื้อให้เกิดการยอมรับความแตกต่างทางสังคมได้
Tags: ดนตรี, ทิม พิธา, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พรรคก้าวไกล, The Frame, คนกลางคืน, อะไรจ๊ะ