เมื่อกลางปีที่แล้ว อันโตนิโอ กูเตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชติ ประกาศว่า ‘ยุคโลกร้อน’ (Global Warming) สิ้นสุดแล้ว ขณะนี้เราทุกคนกำลังเข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’ (Global Boiling)
สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้ประจักษ์ขึ้นด้วยอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อากาศร้อนในเดือนเมษายน ภาวะทะเลเดือดที่อุณภูมิทะเลในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตามมาด้วยผลกระทบมากมายหลายอย่าง เช่นการฟอกขาวของปะการัง เหล่านี้ล้วนเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลกระทบที่มาจากภาวะโลกรวนทั้งนั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกใบนี้
หากย้อนดูสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ทะเลน้ำใส หาดสวยของไทย ‘ภูเก็ต’ นับเป็นปลายทางอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพราะมีทั้งความสะดวกสบายครบครัน แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม จนถูกขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ความงามเหล่านี้กำลังถูกทำลายลง
ทั้งการไม่ดูแลรักษาธรรมชาติ การรุกล้ำพื้นที่หาด อุทยาน ทำลายปะการัง ปัญหาขยะ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นปัญหาที่ทับถมและยังไม่ถูกสะสางเสียที
ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ เป็นหนึ่งในเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ออกมาบอกเล่าตีแผ่เรื่องราวสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ตอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นคนอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เขาพูดและขับเคลื่อนไม่ได้จำกัดแค่ในภูเก็ตเท่านั้น
The Momentum พูดคุยกับ โบ๊ท-วรัญญู บุญสิทธิ์ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ออกมาสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยแบบท้าชน เราคุยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม อะไรคือทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไข่มุกอันดามัน ไปจนถึงผลกระทบที่มาจากการขัดขวางผลประโยชน์กับนายทุนและหน่วยงานรัฐ หลายครั้งถูกข่มขู่ ตั้งค่าหัว จนนำไปสู่คำถามว่า “กูทำไปเพื่ออะไรวะ”
นั่นสิ แล้วเขาขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมไปเพื่ออะไร?
หรือคำถามควรจะเปลี่ยนเป็นว่า แล้วทำไมพวกเราถึงยังไม่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมกัน (วะ)?
จุดเริ่มต้นของเพจขยะมรสุมมาจากไหน ทำไมถึงนึกทำเพจฯ เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม
ไม่ได้อยากทำนะ (หัวเราะ) จะเล่าอย่างไรดี คือตอนนั้นอยู่กับเพื่อนประมาณสามคน ก็นั่งคุยกันและรู้สึกว่าเหมือนเรากำลังมองข้ามหรือลืมอะไรไปหรือเปล่า ผมก็นั่งเล่นเฟซบุ๊กเปิดมาเจอเพจฯ ภูเก็ตลงรูปภาพหาดไม้ขาวที่มีขยะเยอะ ก็นั่งอ่านคอมเมนต์ไปเจอความเห็นประมาณว่า
“มึงจะถ่ายทำไม”
“ประจานบ้านเมืองเหรอ เพราะขยะมันขึ้นมาแบบนี้ทุกปี”
“เป็นเรื่องธรรมชาติพวกมึงไม่รู้เหรอ”
อ่านเสร็จก็นั่งมองหน้ากับเพื่อนว่ามันใช่เหรอวะ ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตีสาม ใกล้จะเช้าแล้ว เลยคิดว่าจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่หาดไม้ขาวดีกว่า แต่ลืมไปว่าหาดตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก พระอาทิตย์ขึ้นอีกฝั่งหนึ่ง ผมก็ไปพร้อมกับถุงดำหนึ่งใบ กะว่าจะไปเก็บขยะเล่นๆ และถ่ายรูปมา เพราะดันไปตอบกลับในคอมเมนต์ว่าเดี๋ยวผมไปเก็บขยะให้เอง
เป็นไงตอบแม่งอย่างหล่อ พอไปถึงขยะยาวประมาณสิบกิโลเมตร เฉพาะตรงที่ผมยืนอยู่ปริมาณขยะน่าจะประมาณรถสิบล้อสองคัน ผมไม่ได้เดินไปไหนเลยก็นั่งเก็บขยะรอบตัวใส่ถุงดำที่พกมาก็นึกในใจว่า แม่งสงครามมันเกิดขึ้นแล้วโว้ยย
สงครามเกิดขึ้นแปลว่าอะไร
ผมรู้สึกพ่ายแพ้กับคำที่เราบอกว่าเดี๋ยวผมเก็บเองครับ แต่เก็บได้นิดเดียว (หัวเราะ) มันอายเขา ผมเลยชวนเพื่อนไปเก็บอีกอาทิตย์ถัดไป ก็เก็บตรงจุดชมวิว เก็บตรงหาดแรกเริ่ม เราก็ถ่ายรูปแล้วแชร์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนนั้นยังไม่มีเพจ พอลงรูป เขาเอาเราไปออกข่าว โรงเรียนนำนักเรียนมาเก็บ หน่วยงานรัฐมาเก็บขยะ ผมเลยรู้ว่ามันอิมแพ็กมากจนถึงกับออกข่าว
วันหนึ่งน้องในทีมที่ไปเก็บขยะด้วยกันก็ถามผมว่า เราทำเพจเฟซบุ๊กดีไหมเพราะภาพมันหายหมดเลย และกระจายไปตามคนที่ถ่าย ในช่วงแรกที่ก่อตั้งเพจ ผมก็ชวนคนไปเก็บขยะทุกวันอาทิตย์
การที่เราเปิดเพจเฟซบุ๊กและนัดรวมตัวไปเก็บขยะมันส่งผลในวงกว้างอย่างไรบ้าง
แรกเริ่มก็เป็นพวกเพื่อนผม แก๊งรถฮาร์เลย์ แก๊งรถรีเบล แก๊งรถคาวาซากิ ส่วนใหญ่จะเป็นแก๊งไบเกอร์ภูเก็ตที่ไปเก็บขยะกัน เก็บหมดจนสุดท้ายอุทยานฯ เห็นเราทำก็มาเก็บตาม จนไม่มีขยะให้เก็บแล้ว ผมก็กลับไปขี่รถเล่นเหมือนเดิม แต่พอขับรถมาบ้านตัวเองที่หาดป่าตองขยะมันเยอะมาก
แต่ผมจำครั้งแรกที่ตัวเองเก็บขยะที่หาดไม้ขาวได้ว่า พอเราลงรูปไป มันมีหน่วยงานต่างๆ มาจัดการ ดังนั้น ผมเลยเริ่มเก็บขยะใส่ถุงดำวันละหนึ่งถุง สถานที่เดิม หาดเดิม ลงภาพซ้ำๆ ลงเรื่อยๆ แต่กลับไม่มีใครสนใจ เทศบาลไม่สนใจ สุดท้ายผมทนไม่ไหวเลยแบกขยะมาประมาณห้าสิบถุง แล้ววางตรงม้านั่งวางยาวเลย และถ่ายรูปลงเพจเฟซบุ๊ก โป้งเข้าไปขยะหายหมดทั้งหาด ผมก็เอ้า ก็ทำได้นี่ แต่ถ้าไม่เกิดประเด็นพวกคุณก็ไม่สนใจ ผมก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ถ้าคุณจะนำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบเดิมที่รายงานไปวันๆ มันจะไม่ได้ผลอะไรเลย
ทำเพจ ‘ขยะมรสุม’ เก็บขยะ ตีแผ่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาประมาณหกปี นอกจากการได้ข้อสรุปว่า ไม่สามารถรายงานปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป มีสิ่งอื่นที่ประทับใจไหม?
พวกคอมเมนต์ที่มองว่าขยะเป็นเรื่องปกติ หายไปเลย ตลอดระยะเวลาการทำเพจสองปีแรก ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีใครนิ่งเฉยอีกต่อไป
ตอนนี้ยังจัดทริปเก็บขยะในจังหวัดภูเก็ตอยู่หรือเปล่า
ตอนนี้ผมดูที่พังงา ภูเก็ต กระบี่ และระยอง ยังมีออกทริปอยู่ ก็ขับรถไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เราไม่ได้เก็บขยะด้วยมืออีกต่อไปแล้ว เราเก็บด้วยโทรศัพท์ จากเคย Work Hard ตอนนี้ Work Smart ต้องรู้ว่าเราต้องแท็กใคร ตรงพื้นที่นี่คุยกับใคร หน่วยงานไหน สื่อมีพลังมากพอที่จะทำให้หน่วยงานเหล่านั้นสะดุ้งตกใจ สื่อมีพลังมากพอที่สามารถโทรไปหาผู้อำนวยการสักคนแล้วบอกว่า ถ้าพี่ช่วยผมเก็บขยะ ผมจะไม่ลงรูปขยะเหล่านี้ลงเพจเฟซบุ๊ก
แปลว่าคุณก็ถามและประสานหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย?
ใช่ แต่ถ้าเขาไม่มาทำ ผมลงรูปนะ พร้อมกับข้อตกลงว่าผมจะไม่มาพื้นที่นี้เป็นเวลาหกเดือน ผมก็จะไปดูแลขยะที่อื่นต่อ
หากมาดูเฟซบุ๊กแฟนเพจขยะมรสุมดีๆ จะพบว่า คุณพูดหลายเรื่องมาก ขยะ ทะเล การรุกล้ำ หรือแม้แต่ผู้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสี่จังหวัดที่เอ่ยข้างต้น สรุปแล้วเฟซบุ๊กแฟนเพจคุณสื่อสารอะไรบ้าง
ผมชั่งน้ำหนัก หากสิ่งไหนคิดว่าทำแล้วมันส่งผลดีต่อคน ทำแล้วหาดมันใสขึ้นสะอาดขึ้น ใครที่ได้ประโยชน์ก็ทุกคนไหม ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ทุกคนได้ประโยชน์ ผมไม่คิดเยอะก็ทำ
ผมแค่อยากทำให้สังคมมันปกติ อยู่ในตรรกะของความเป็นมนุษย์ ผมพูดอย่างง่ายๆ เลย คือถ้าจานมันสกปรกคุณก็ต้องเช็ด หากร่างกายเราสกปรกก็ต้องอาบน้ำ รถน้ำมันหมดก็ต้องเติม หิวก็กิน ง่วงก็นอน ผมอยากได้แค่นี้ ไม่ได้อยากทำเพจเฟซบุ๊กให้มันโต ผมอยากเลิกทำมัน ไม่ได้อยากให้ลูกผมต้องมาเก็บขยะเหมือนผมอีก ไม่สนุกหรอก ใครจะอยากขี่รถไปหาลูกปืน ไปเก็บขยะ คุณคิดว่าผมสนุกเหรอ ดูหน้าผมสิไม่มีแล้วนะรอยยิ้ม เหนื่อยจนถามตัวเองว่า กูทำไปทำไมวะ
แล้วทำไปทำไม?
มีกูอยู่คนเดียว คือถ้าผมไม่ทำ คนอื่นชาวบ้านส่งข่าวมาทุกวันแล้วใครจะทำ แต่ถ้าอนาคตมีคนสืบทอด มีคนรับทำต่อมันก็ดี อย่างเช่นวันนี้ตอนที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ ผมใช้แค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวผมก็ช่วยคนอื่นได้ ทำไมเราจะไม่ทำ
บางทีกรณีใหญ่ๆ ผมทำตอนนั่งส้วม ตื่นมาตอนเช้าไปส่งลูกไปโรงเรียนก็ได้หนึ่งโพสต์ กลับจากส่งลูกก็ทำต่อได้ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเข้าใจไหม แต่ผมทำเรื่องเหล่านี้จนกลายเป็นปกติ มันเรียบง่ายสุดๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องมีอะไรเลย
ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะกระทบหลายภาคส่วน การที่ออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้โดนแรงกระแทกอะไรบ้างไหม
วันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ผมโดนขู่ยิง และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ผมโดนตั้งค่าหัว ประมาณ 3 แสนบาทหรือ 1 ล้านบาทก็ไม่รู้
กลัวไหม พอจะรู้หรือเปล่าว่าใครเป็นคนตั้งค่าหัว
ถ้าเขาจะยิงคุณ เขาไม่มาตั้งค่าหัวให้วุ่นวายหรอก คุณต้องไปกลัวคนที่ไม่พูดและเงียบดีกว่า ผมรู้ว่าเป็นใคร วันหนึ่งหากเขากับผมเจอหน้ากัน ผมจะถามเขาต่อหน้าเลยว่า
“พี่ วันที่ 3 มกราคม เวลาประมาณสองทุ่ม พี่พูดว่าจะยิงผมเหรอ”
เจอหมดครับ โดนขู่ โดนตั้งค่าหัว โดนยิง ผมเหมือนตายไปแล้ว ถามว่าเรากลัวไหมเหรอ ก็กลัว แรกๆ กลัวมาก และตอนนี้ก็ยังกลัวมีใครบ้างที่ไม่กลัวตาย
แต่คุณมีลูก มีครอบครัว สิ่งเหล่านี้ทำให้กังวลมากขึ้นไหม
ใช่ มีลูกสองคน คือตอนผมยังเด็ก พ่อผมก็ทำงานแบบเดียวที่ผมทำตอนนี้ โดนยิงเหมือนกัน โดนสิบล้อไล่ชน พ่อผมเป็นผู้ตรวจการกรมประมง อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านผมทำงานอนุรักษ์มาตลอด
ชีวิตที่ผมเล่าให้พวกคุณฟังเหมือนสนุกฉิบหายเลย ไปสุดทุกทาง เวลาเล่าให้คนอื่นฟังมันสนุก แต่ความเป็นจริงมันเครียดมาก ผมเคยเครียดมากๆ 3 วัน 3 คืน จัดการกับข้อมูลที่จะลงเฟซบุ๊กแฟนเพจ อ่านรื้อข้อมูลทั้งหมด เปิดบันทึกการจับกุม ไปคุยแหล่งข่าว ต้องหาอีกว่าสามารถเปิดเผยได้ไหม ทุกอย่างผมต้องรู้ภายในคืนนั้นเพื่อที่จะไปพูดกับผู้ว่าฯ ในวันถัดไปว่าจะเอาอย่างไรต่อ
เคยมีคนขอเจรจาหรือยื่นเงินเพื่อให้เลิกพูดเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์พวกเขาไหม เพราะหลายครั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าโพสต์ของคุณก็ขัดขวางผลประโยชน์เหมือนกัน เช่น การสร้างรีสอร์ตและธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
5 ล้านบาท เขามาเจรจา คือถ้าผมได้ 5 ล้านบาทจริงๆ ผมก็คิดนะจะเอาเงินนี้ไปสอนลูกอย่างไรดี ก็จะบอกลูกว่าเงินนี้พ่อทำชั่วมา รับสตางค์มา ลูกเอาไปใช้จ่ายให้สนุกเลย แต่ในเงื่อนไขคือผมต้องเห็นเงินก่อน หิ้วมาเลย หรืออีกคนบอกว่าจะให้ผม 1 ล้านบาท ผมบอกเอานะ ซื้อรถมอเตอร์ไซค์เวสป้ามาจอดหน้าบ้านผมเลย พร้อมเลขทะเบียนรถโอนลอยเลย เอาสิ จะปิดเพจให้เลย แล้วค่อยไปเปิดเพจใหม่รอบสองก็ได้
ถ้าเอาสตางค์มาให้ผม คุณกล้าเอาเงินวางไว้บนโต๊ะแล้วให้ผมถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กไหม แคปชันจะบอกว่ารับเงินครับ เดี๋ยวผมจะปิดเพจแล้ว กล้าไหม ถ้ามึงกล้าจ่ายกูก็กล้า ผมผิดอะไร ไม่ผิดกฎหมายข้อไหนใช่ไหม แต่ผมผิด ผิดต่อสังคม ผิดต่อเพื่อน ผมจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนต้องหลบไปให้ไกลอย่ามาคบใครอีก แล้วไปใช้เงินนั้นให้สนุกไปเลย
โดนขู่ฆ่า ตั้งค่าหัว ขัดแข้งขัดขาเรื่องผลประโยชน์ไปไหนมาไหนต้องพกปืนหรือเปล่า
เสียเวลา ถ้าเขาจะยิงคงตายไปนานแล้ว ผมก็ชั่งน้ำหนักว่าเขายิงเรา เขาได้อะไร แต่ผมมีวิธี ถ้าผมทำเรื่องหนักๆ ผมจะแชร์ไปให้เพื่อนผมอีกสามแฟนเพจ ผมก็จะบอกว่างวดนี้หารครึ่งกันนะ
หารอะไร?
ลูกปืนครับ (หัวเราะ) แบบเราแชร์กันนะ แล้วผมก็ส่งภาพให้ทุกเพจเลยใช้ฟรี ไม่ต้องใส่เครดิต แล้วผมค่อยลงทีหลัง
ทำเพจเฟซบุ๊กมา 6 ปี ในสายตาคุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
การทำให้เป็นประเด็นสังคมขึ้นมาให้มันเป็นข่าว กว่าจะปั้นขึ้นมาได้แต่ละเรื่องยากมาก เช่นตอนผมทำหาดฟรีด้อมที่ภูเก็ต ตอนเช้าผมต้องไปปีนๆ โขดหินแล้วแอบถ่ายรูป เอาโดรนขึ้นไปถ่าย ผมต้องถ่ายเขาทุกวันตลอดระเวลา 2-3 วัน และต้องคอยลงเนื้อหาเรื่อยๆ ต้องประสานงาน ติดแฮชแท็กหน่วยงานทำแบบนี้อยู่ตลอดเวลา คอยอ่าน Inbox จากทางบ้านที่ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม หาข้อมูลเพิ่มต้องทำงานหนัก 2-3 เท่า ถ้าที่อื่นไม่มีใครสนใจ
ความยากคือต้องทำให้เรื่องราวอยู่ในสังคมตลอดเวลา ใครเปิดโซเชียลฯ มาก็เจอ และต้องกดดันคนที่รับผิดชอบให้มากที่สุด และต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของราชการ
คุณมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างไร
ล้าหลัง ห่วยแตก ไร้การจัดการ ตามหลังชาติอื่น 10 ปีได้มั้ง ไม่จริงใจ ไม่มีอะไรดี ไม่ได้กำลังพัฒนาแต่ไม่พัฒนาต่างหาก สิ่งแวดล้อมไม่ได้กำลังจะพัง แต่พังไปแล้ว
ในฐานะคนที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมในภูเก็ต และเป็นคนที่อาศัยอยู่ คุณมองทางออกหรือการแก้ไขปัญหาระยะใกล้ สำหรับสิ่งแวดล้อมเมืองไข่มุกอันดามันอย่างไร
ไม่ต้องอนุรักษ์อะไรหรอก แค่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องมีผม ไม่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก็ได้ ถ้าทุกคนจัดการน้ำเสียของทุกคนในครัวเรือน ทุกคนเสียภาษีให้หน่วยงานรัฐ ดังนั้น หน่วยงานเหล่านี้ควรทำหน้าที่ตัวเองให้ดี ให้เต็มที่ คัดคนเก่งๆ มาทำงานบ้าง
ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ อย่าทำลายก็พอ ไม่ต้องไปปลูกหรอกครับป่า เขาโตของเขาเองได้ ทะเลก็อยู่ของเขาเองได้ แต่อย่าปล่อยน้ำเสียใส่เขา ปะการังก็ไม่ต้องปลูกแต่อย่าทำลายเขา ต้องรักษา ประกาศเขตอนุรักษ์สิ เอากฎหมายมาใช้ มัวแต่ใช้งบปลูกป่า ปลูกปะการัง ใช้ตังค์เก่ง แต่ใช้สมองไม่เป็น
คำถามสุดท้ายคุณจะทำเพจขยะมรสุมไปอีกนานแค่ไหน
3 ปี ถ้าผมอายุ 60 ปี ผมต้องทำเพจบ้าๆ นี้ให้พวกคุณ 10 ปีเลยเหรอ นี่พูดตรงๆ จากใจเลยนะ กูต้องเสียสละเวลาชีวิต 10-20% เวลาแห่งความสุข เวลามีเงินมีทองต้องไปเที่ยวกับลูก ขับรถเล่น ต้องไปขี่รถตากแดดถ่ายน้ำเสียให้พวกมึงเนี่ยนะ โห ทุกคนใช้ชีวิตดูมีความสุขเนาะ นึกออกไหม คือไม่มีผมก็อยู่ได้
ส่วนเพจจะไม่ปิดตัวลง ใครจะเอาไปทำ เอาไปได้เลยครับ อยากได้วันไหนก็เอาไป เพจฯ ไม่ใช่เครื่องมือทำมาหากิน แต่เพจฯ คือเครื่องมือจัดการ เป็นเหมือนคีม ไขควง เป็นเหมือนอุปกรณ์ที่มันแข็งแรง แต่ต้องใช้มันให้ถูกกับงาน
ก็อย่างที่ผมบอก ผมไม่ได้อยากทำเพจเฟซบุ๊กให้มันโต ผมอยากเลิกทำมัน ผมไม่ได้อยาก ให้ลูกผมต้องมาเก็บขยะเหมือนผมอีก ให้ธรรมชาติมันรักษาตัวเองมันเอง เราแค่อย่าทำลายพอ
Tags: ภูเก็ต, Cityscape, The Frame, Faces of the Pearl, ปัญหาขยะ, ขยะมรสุม, ขยะ