ย้อนไปในช่วงที่กระแสดนตรีอินดี้บ้านเราเริ่มได้รับความนิยม มีค่ายเพลงอินดี้เกิดขึ้นและส่งศิลปินหลากหลายแนวออกมาทำความรู้จักแฟนเพลง มีเทศกาลดนตรีน้อยใหญ่รองรับกระแสการเติบโตของวงการเพลงอินดี้ จนทุกวันนี้แทบจะครองสัดส่วนคนฟังเพลงมากที่สุดในตลาดดนตรีไทย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อเก้าปีก่อน Minimal Records ค่ายเพลงเล็กๆ ในเชียงใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น

‘เมธ’ – สุเมธ ยอดแก้ว คือหัวเรือใหญ่ของ Minimal Records ที่มีเป้าหมายในการปักหลักทำเพลงอยู่ที่เชียงใหม่ สนับสนุนศิลปินท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมดนตรีที่เข้มแข็งขึ้นในเชียงใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ศิลปินจากท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องอพยพเข้าเมืองหลวงเสมอไป แต่สามารถสร้างชื่อและยืนหยัดในวงการดนตรีได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ตาม

เก้าปีที่ผ่านมา Minimal Records ส่งศิลปินอินดี้จากเชียงใหม่ไปให้คนกรุงเทพทำความรู้จักหลายวง อาทิ Solitude Is Bliss, Yonlapa, สภาพสุภาพ, Migrate To The Ocean และ Sirimongkol เกิดเป็นสำเนียงและเอกลักษณ์แบบอินดี้เชียงใหม่ที่คนฟังเพลงหลงรัก บางวงได้รับความนิยม ถึงขั้นเคยไปคว้ารางวัลในเวทีใหญ่ระดับประเทศมาแล้วด้วยซ้ำ และทำให้คนฟังเพลงเริ่มหันมามองศิลปินจากต่างจังหวัดมากขึ้น

ในวันนี้ที่สถานการณ์ดูจะยากลำบาก Minimal Records เองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากค่ายเพลงอินดี้ใหญ่ๆ เราชวน ‘เมธ’ ผู้ควบตำแหน่งเจ้าของค่าย และอาจารย์สอนแอนิเมชัน วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาพูดคุยถึงเรื่องราวตลอดเก้าปีของค่ายเล็กๆ ในเชียงใหม่แห่งนี้ การเติบโต วิธีคิด รวมถึงทิศทางในอนาคต ในยุคที่นอกจากต้องคิดเรื่องการทำเพลง อาจจะต้องออกแรงคิดหนักขึ้นไปอีก เพื่อแสวงหาหนทางอยู่รอดให้ได้

อย่างไรก็ดี เขายังยืนยันเช่นเดิมเหมือนเก้าปีที่ผ่านมา ว่า Minimal Records จะยืนหยัดเป็นฐานทัพเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนแวดวงดนตรีอินดี้ของเชียงใหม่ต่อไป (แฟนเพลงไม่ต้องกังวลนะ)

แรกสุด Minimal ไม่ได้เริ่มต้นมาจากค่ายเพลง แต่เริ่มมาจากร้านนั่งดื่มบวกแกลลอรีที่คุณอยากเปิด เล่าให้ฟังหน่อยว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ย้อนกลับไปตอนที่เรียนจบใหม่ๆ เราเคยไปนั่งร้านเหล้ากับเพื่อนในเชียงใหม่ แล้วรู้สึกว่ามีแต่ร้านที่เสียงดัง ไม่ค่อยมีร้านที่นั่งคุยกันได้ ถ้ามีก็จะเป็นร้านอาหาร หรือร้านที่คนมีอายุอีกรุ่นหนึ่งไปกัน ตอนนั้นเราทำออฟฟิศเกี่ยวกับกราฟิก พอเลิกงานก็ต้องนั่งกินที่ออฟฟิศแทน แต่มันเบื่อ ก็เลยคุยกับเพื่อนว่าทำไมไม่เปิดร้านกันเอง แต่เป็นการคุยกันในส่วนของคนที่อยู่ในวงการเดียวกันคือวงการกราฟิก ดังนั้นเรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่ก็คือเรื่องกราฟิก ภาพถ่าย หนัง เพลง ที่พวกเราสนใจ แต่คิดว่าถ้าเปิดร้านเหล้าปกติก็ดูไม่เท่อีก (หัวเราะ)

ช่วงนั้นกระแสแกลเลอรีกำลังมา มันเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล เริ่มมีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้น ก็เลยคิดว่าจะทำร้านเหล้าและเป็นแกลเลอรีไปด้วย ไม่ใช่แกลเลอรีที่เข้าไปดูงานแบบสงบนิ่ง แต่เป็นร้านที่มานั่งคุยกันเรื่องของดนตรี เพลง แล้วก็มีงานศิลปะสมัยใหม่ มีทั้งวิชวล ทั้งฉายหนัง ทั้งภาพดิจิทัลอาร์ต หรือภาพเพนต์สไตล์วัยรุ่น

พอได้คอนเซ็ปต์เป็น Alternative Space เราก็คิดชื่อกันนานมาก จนได้คำว่า Minimal เพราะว่าพวกเราเป็นคนที่ไม่ได้มีฐานะ แต่พวกเราอยากทำแบบมีเท่าไรก็เอาเท่าที่มี ให้พออยู่ได้ ไม่ต้องอะไรเยอะ ผนังก็ทาสีขาวเลย ประหยัดเงิน (หัวเราะ) อยู่กันสบายๆ สนุกกันไป เน้นจัดอีเวนต์เฮฮาปาร์ตี้ มีงานแสดง แรกสุด Minimal จึงกลายเป็นร้านเหล้าบวกแกลเลอรีที่เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ

บรรยากาศ Minimal ตอนนั้นเป็นอย่างไร

ก็จะมีทั้งศิลปิน ช่างภาพ มาเที่ยว เพราะบางทีก็มีงานนิทรรศการภาพถ่าย บางวันจัดงานกราฟิกก็จะมีคนสายกราฟิกมา บางวันเป็นงานสักก็มี บางวันมีงานหนังสือ มันเริ่มใหญ่ขึ้น ทุกคนเริ่มมองว่าตรงนี้เป็น Alternative Space ที่ใครๆ ก็อยากมา แล้วได้มาคุยกัน ไม่เหมือนเวลาไปร้านเหล้าปกติ กลายเป็นคอนเนกชันระหว่างกัน เราได้รู้จักคนเยอะขึ้น คนที่มาร้านก็ได้รู้จักคนอื่นเยอะขึ้น

ถามว่ามีกำไรไหม ช่วงแรกไม่เคยมีเลย (หัวเราะ) เพราะว่ายุคนั้นมันใหม่มาก ตอนแรกเราขายเบียร์ขวดเล็กด้วย ต้องถือขวดเบียร์เดินดูงานศิลปะ ซึ่งมันเป็นไอเดียแบบเมืองนอกที่เอามาใช้กับเมืองไทย แต่ใช้ไม่ได้ว่ะ (หัวเราะ) ก็ต้องค่อยๆ ปรับ เป็นเบียร์ขวดใหญ่ ตอนแรกแสงโสม ไม่มีแบน ไม่มีกลม คีพคอนเซปต์ให้ทุกอย่างเล็กหมด เบียร์ก็มีแค่ 2-3 ยี่ห้อ เหล้าก็มีแค่ 2-3 ยี่ห้อ ประมาณนั้น

จากร้าน Minimal ขยายมาเป็นค่ายเพลง Minimal Record ได้อย่างไร

เราเป็นคนชอบฟังเพลง ทำวงดนตรีกับเพื่อนๆ จุดเด่นของร้าน Minimal คือเรื่องของการเปิดเพลง เราไม่ได้เปิดเพลงตลาด แต่เปิดเพลงอินดี้ เราเปิด Two Door Cinema Club ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเลย เราเอาเพลงใหม่ๆ มาเปิดบ้าง บางวันก็เปิดโพสต์ร็อก แต่จะไม่เปิดเพลงไทยเลย เพราะฉะนั้น ที่ร้านก็จะมีคนชอบดนตรีมานั่งพัก มานั่งคุยกัน เมื่อก่อนนักดนตรีมาเล่นงานแถวนั้นเยอะ มีร้านวอร์มอัพ และอีกหลายร้านในละแวกนั้น บางคนก็จะพาเพื่อนมาด้วย ได้รู้จักกันเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะมีสังคมดนตรีเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง

หลังจากนั้นที่ร้านก็มีงานเปิดเพลง เปิดแผ่นดีเจแบทเทิลกัน แล้วมีนิทรรศการภาพถ่าย ดนตรี ซึ่งก็จะรวมอยู่ในนั้นหมด ที่สำคัญคือช่วงนั้นเผอิญว่า Fat Radio มาจัดงานที่เชียงใหม่ครั้งแรกปี 2555 เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ต้องทำอะไรสักอย่าง เลยคุยกับเพื่อนว่าเราทำอัลบั้มไหม ไหนๆ พวกมึงก็เป็นนักดนตรีกัน มีเพลงกัน กูก็มีเพลง ซึ่งเราทำเพลงมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่ทำกันเล่นๆ สุดท้ายเราเลยรวมกันใช้ชื่อว่า Mini Sound Project ชื่อโคตรเห่ยเลย (หัวเราะ)

ตอนนั้นเรามีรุ่นพี่ที่ออฟฟิศคนหนึ่งชื่อพี่เด๋อ (Derdamissyou) เขาถามว่าทำไมไม่ใช่ชื่อ No Signal Input เพราะย้อนกลับไปก่อนที่จะมีงาน Fat Radio หลายปี ประมาณปี 2546 มันเคยมีโปรเจ็กต์ทำเพลงรวมศิลปินเชียงใหม่ที่ชื่อ No Signal Input มาแล้วหนึ่งอัลบั้ม พี่เด๋อเลยแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ เพราะมันเป็นชื่อกลาง ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราเลยโอเค เปลี่ยนจาก Mini Sound Project มาเป็น No Signal Input แล้วเริ่มทำผลิตภัณฑ์แผ่นซีดี หลังจากวันนั้น ทุกคนก็จะเริ่มมองว่า Minimal คือฐานทัพของ No Signal Input หรือกลุ่มนักดนตรี

 

พอผ่านงาน Fat Radio กับการทำอัลบั้มรวมศิลปิน No Signal Input มาแล้ว ช่วงไหนที่คุณคิดว่าต้องเริ่มทำ Minimal ให้เป็นค่ายเพลงแบบจริงๆ จังๆ

พอ Minimal เริ่มเป็นฐานทัพคนดนตรีแบบสนุกๆ ได้ประมาณ 2 ปี กลุ่มเพื่อนก็เริ่มอยากมีอัลบั้มกัน เมื่ออยากมีอัลบั้ม มันก็เกิด pain point ว่า เราไม่มีเงินทำอัลบั้ม ก็ต้องไปขอสปอนเซอร์ ซึ่งสปอนเซอร์เมื่อก่อนก็ขอยาก เดี๋ยวนี้ก็ขอยากเหมือนเดิมแหละ (หัวเราะ) เพราะว่าไม่มีใครรู้จัก นักดนตรีอะไรวะ กลุ่มอะไรวะ ฟังก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง มาขอเงินกูอีก สุดท้ายเลยต้องไปขอเพื่อนๆ ที่ประกอบธุรกิจ เพื่อนที่อยู่ร้านทอง เพื่อนที่เปิดร้านขนม คนละพันสองพัน แล้วก็เอามาทำอัลบั้ม

ตอนแรกดีใจนะ เพื่อนๆ สนับสนุน มีเงินทำ พอทำวงหนึ่ง อีกวงนึงก็อยากทำด้วย เราก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว เพราะพอขอสปอนเซอร์ไม่ได้ก็ต้องไปขอเงินเพื่อนเพื่อเอามาเป็นสปอนเซอร์ มันไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่าการทำเพลงใช้เงินเท่าไร เราเลยมองว่า หรือว่าจะทำเป็นค่ายดี ก็แค่ใช้ No Signal Input เปลี่ยนเป็นค่าย แต่ก็คิดว่าไม่น่าได้ เพราะว่าพี่เด๋อเคยบอกว่าชื่อนี้ไม่มีเจ้าของ มันเป็นชื่อที่เอาไว้ให้เพื่อนๆ มารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมทางด้านดนตรี เราเลยคิดว่า No Signal Input เกิดมาจากความเป็นเพื่อน ถ้ากลายเป็นค่ายมันจะกลายเป็นธุรกิจเกินไป แล้วอาจจะไม่มีคำว่าเพื่อน ไม่มีคำว่ามิตรภาพ สุดท้ายเราคิดว่า No Signal Input ก็ทำของตนเองต่อไป ส่วนเราก็ใช้ชื่อ Minimal ซึ่งเป็นชื่อร้านเราเลยก็แล้วกัน

ระบบค่ายที่วางไว้ในตอนแรกเป็นแบบไหน คุณวางการทำงานในค่ายเพลงเล็กๆ ค่ายนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ตอนนั้นไม่ได้มีระบบเลย คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เพื่อนทำอัลบั้มได้โดยไม่ต้องไปขอเงินคนอื่น เราก็เลยลงทุนให้ สมมติลงไว้ 50,000 บาท แล้วก็บอกวงว่าเอาไปทำซีดีมาขาย ขายเสร็จก็คืนมา แล้วหลังจากนั้นก็แบ่งกำไรกัน คิดกันแค่นี้เลย เราคิดง่ายๆ ว่าขายซีดีแผ่นละ 200 บาท ขาย 200 กว่าแผ่นก็ได้ทุนคืนแล้ว หรือเอาไปขายให้เพื่อนสัก 100 แผ่น ก็ได้ครึ่งหนึ่งแล้ว (หัวเราะ) ช่วงแรกๆ มันขายได้ ได้เงินคืนมา เราก็เอาเงินไปทำวงถัดไปต่อ เหมือนเป็นสหกรณ์ดนตรี

เราทำแบบนี้อยู่ 3 ปี เพราะวงส่วนใหญ่เป็นวงเพื่อนกัน หลังจากนั้นพอเริ่มมี No Signal Input สอง สาม สี่ ห้า แปลว่ากลุ่มนักดนตรีเริ่มเป็นน้องๆ เราแล้ว เขาก็จะเริ่มมีความคาดหวังว่า ทำ No Signal Input เสร็จแล้ว เราชวนไปอยู่ค่าย เพราะฉะนั้นก็เริ่มมีการฟอร์มวงกัน ค่าใช้จ่ายก็เยอะขึ้น วงก็เยอะขึ้น แปลว่าเราทำทีละวงไม่ได้แล้ว อาจจะต้องทำพร้อมกันไปสองวงสามวง ดังนั้นก็ต้องใช้เงินเยอะขึ้น แปลว่าเราต้องหาเงินให้เยอะขึ้น เพราะวงเยอะขึ้นไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จทุกวง เราก็เริ่มรู้สึกว่าโมเดลเดิมใช้ไม่ได้แล้ว มันเริ่มมีปัญหา โมเดลเดิมจะทำได้ก็ต่อเมื่อวงหนึ่งประสบความสำเร็จ เพราะเราจะได้เงินคืนเต็ม

ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นร้านเหล้าใหม่ๆ เริ่มเกิดขึ้นเยอะ เป็นร้านที่เกิดจากวัยรุ่นที่เพิ่งจบแล้วมาเปิดร้าน ซึ่งแปลว่าเขาจะต้องฟังเพลงใกล้เคียงกับเรา ดังนั้นเขาสามารถฟังเพลงอินดี้ได้ แปลว่างานโชว์ของวงก็เริ่มมี ยังพอถูไถไปได้ ไม่ได้มีรายได้จากการขายซีดีอย่างเดียว แต่ว่าโชว์ก็ไม่ได้เยอะ เพราะว่าเราก็ไม่ได้ดัง หนึ่งเดือนอาจงานเดียว ถือว่าน้อยอยู่ดี

หลังจากค่ายขยายกลุ่มนักดนตรีเพิ่ม การคาดหวังก็เยอะขึ้น คุณเปลี่ยนระบบการทำงานของ Minimal อย่างไร

พอโมเดลเดิมไม่เวิร์ก เราต้องบริหารจัดการใหม่ คือพออัลบั้มแรกออกแล้ว อัลบั้มที่ 2 ต้องเริ่มคิดให้เป็นธุรกิจมากขึ้น หมายความว่าเพลงอัลบั้มแรก เราทำเพื่อสนอง need เสียเงินเท่าไหร่ไม่รู้ช่างมัน เราก็คุยกับน้องๆ ว่า มึงรู้แล้วใช่ไหม ว่าได้เงินเท่าไร อย่างไร เราสนุกกับมันแล้วหนึ่งอัลบั้ม หลังจากนี้หากจะทำอัลบั้มสอง ก็ต้องมาคิดกันใหม่ ต้องมาจริงจังกับการทำเพลงให้คนยอมรับกว้างมากขึ้น ฉะนั้นแปลว่าเพลงจะเริ่มฟังง่ายขึ้นบ้าง เพื่อความอยู่รอด

ในระบบการจัดการ ตัวศิลปินก็เริ่มเข้าใจ ดังนั้นเขาจึงยังไม่รีบทำอัลบั้มสอง แต่เลือกปล่อยเป็นซิงเกิล เพื่อลดต้นทุน เพราะว่าความฝันเราคือการมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง เรามีอัลบั้มแรกแล้ว ความฝันต่อไปคือทำอย่างไรให้อยู่ได้ ถ้าจะลงทุนทีเดียว เราไม่มีเงินขนาดนั้น อย่างนั้นเราค่อยๆ ปล่อยไปทีละซิงเกิล ถ้าวงไหนดังแล้วอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็ค่อยคุยเรื่องทำอัลบั้มกันอีกที

คุณมองคาแรกเตอร์ของ Minimal เป็นแบบไหน แล้วใส่ความเป็นตัวตนของคุณให้กับ Minimal มากน้อยแค่ไหน

ความจริง Minimal ไม่ได้มีอิทธิพลต่อศิลปินเลย Minimal เป็นเพียงพื้นที่ที่ศิลปินได้ทำงานที่ตัวเองต้องการ แล้ว Minimal แค่คอยซัพพอร์ตให้สำเร็จ จะสังเกตว่าศิลปินของเราจะมีเพลงที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นคาแรกเตอร์มันชัด สมมติเป็นร็อกเหมือนกัน แต่ทุกวงจะมีลายเส้นของตนเอง เวลาเราฟังจะรู้เลยว่าเป็นวงไหน นี่คือสิ่งที่เราว่าน่าจะเป็นคาแรกเตอร์อยู่ระดับหนึ่ง หรือถ้าคุณเป็นฮิปฮอป คุณก็จะเป็นฮิปฮอปแบบของคุณ ไม่ใช่แบบของตลาด เหมือนเราเป็นที่ที่ทำให้ทุกคนสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา แต่ถามว่ามันประสบความสำเร็จไหม ก็อาจจะไม่ใช่ในวงกว้าง ที่เห็นในวงกว้างก็จะมีแค่ Solitude Is Bliss ที่เรารู้สึกว่าพวกเขาเปลี่ยนกระแสดนตรีได้บ้าง

อย่างที่คุณบอกว่าไม่ใช่ทุกวงในค่ายจะประสบความสำเร็จ แต่กับ Solitude Is Bliss จะเห็นว่าพวกเขาได้รับความนิยมมากในหมู่คนฟังเพลงอินดี้ทั้งในต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ ได้รางวัลจากเวทีใหญ่ ในฐานะเจ้าของค่าย คุณคิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Solitude Is Bliss ประสบความสำเร็จ

ย้อนกลับไปตอนทำค่ายครั้งแรก วัตถุประสงค์ของเราคือทำซีดีให้เสร็จ ต่อมา วัตถุประสงค์ของเราก็คือทำอย่างไรก็ได้ ให้เราอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วให้คนจ้างเราไปเล่น วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้คือต้องให้วงดังก่อน พอมีโจทย์แบบนั้น เราก็ต้องมาหาวงใหม่ๆ เพราะว่าวงของเราทำมานานแล้ว เรารู้ว่ามันไม่ดังหรอก ถ้าจะดัง มันดังตั้งแต่แรกแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นเรารู้กันอยู่แล้วว่าเชียงใหม่เป็นที่ที่มีคนเก่งๆ เยอะ ซึ่งเราเชื่อว่าที่กรุงเทพฯ ก็มี แต่เผอิญว่าเชียงใหม่มีเวลาเยอะกว่า เมื่อมีเวลาเยอะกว่าคนก็จะมีเวลาให้กับดนตรีมากกว่า คือความเก่งเท่ากัน แต่พอเชียงใหม่ได้ใช้เวลากับดนตรีเยอะกว่า ก็เลยทำให้งานสร้างสรรค์ มีมิติที่แปลกกว่า เราคิดประมาณนี้

ถามว่า Solitude Is Bliss เป็นเพลงอะไร เรามองว่าเป็นเพลงป็อป เราเจอพวกเขาครั้งแรกคือเพลงโคตรป็อป เพลงเชียงใหม่เมื่อก่อนจะเป็นเพลงตามใจฉัน กูจะขึ้นท่อนนี้ กูจะลงท่อนนี้ กูจะกระโดดท่อนนี้ กูจะจบท่อนนี้ นึกภาพออกไหม แต่ว่า Solitude Is Bliss เป็นเพลงป็อปที่ลงตัว แต่มีดนตรีร็อกที่มีความซับซ้อนอยู่ในนั้น จึงไม่ใช่เพลงป็อปทั่วไป แล้วเรารู้สึกว่าวงมีภาษาที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะนักร้องนำอย่าง เฟนเดอร์ (ธนพล จูมคำมูล) ที่มีคาแรกเตอร์ชัด ด้วยเสียง ด้วยเพลงที่เขียน มันเหมือนเรากำลังเจอภาษาใหม่ของดนตรี

คุณบอกว่า โจทย์คุณคือจะทำค่ายอยู่เชียงใหม่เท่านั้น เพราะอะไร ทำไมถึงเลือกปักหลักอยู่เชียงใหม่

เมื่อก่อนเวลาเราทำเพลง ข้อเสียหนึ่งคือเราไม่สามารถส่งเพลงไปที่กรุงเทพฯ แล้วคาดหวังให้เพลงมันโดนได้ เพราะที่กรุงเทพฯ จะมีตลาดอีกแบบหนึ่ง เราเห็นจากน้องหลายๆ วงที่ส่งเดโมไปค่ายต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่ผ่านการพิจารณาไม่ค่อยเยอะ หมายถึงว่าต้องแก้แล้วแก้อีก ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันก็ดีแล้วนะ คือมาตรฐานเขาอาจจะสูงกว่าเรา อีกเรื่องคือเชียงใหม่มีวงเยอะ สมมติ 10 วง จะมีสักวงที่ไปอยู่ค่ายใหญ่ แล้ววงที่เหลือก็ไม่รู้จะทำอะไร เราเลยคิดว่าทำไมต้องไปที่กรุงเทพฯ ทำไมเราไม่อยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่สร้างงานกันที่นี่ ที่นี่คือบ้านของเรา สร้างงานเลย ทำเลย แล้วก็ให้เขามาจ้างเราสิ พูดแบบเกรี้ยวกราด (หัวเราะ) ตอนนั้นคิดอย่างนี้ด้วย แล้วน้องๆ บางคนก็อุดมการณ์เดียวกัน เหมือนสร้างกำลังรบ พยายามจะเป็นเมืองหลวงอีกเมืองหนึ่งของดนตรี

ในมุมหนึ่งเชียงใหม่ก็ถือเป็นเมืองดนตรีและมีศักยภาพ เพราะมีศิลปินเก่งๆ เยอะ มีงานเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ มีค่ายเพลง มีสถานที่รองรับอย่างบาร์หรือร้านเหล้าดีๆ คุณคิดว่ามันยังสามารถไปต่อไกลกว่านี้ได้ไหม Minimal จะมีส่วนร่วมส่งต่อหรือสร้างอะไรให้แวดวงดนตรีในเชียงใหม่ให้เติบโตกว่านี้บ้าง

เรื่องที่จะสร้างอะไรให้เชียงใหม่ เราคิดว่าเราทำมานานแล้วนะ เราไม่อยากให้คิดว่ามาเชียงใหม่แล้วคิดถึงแต่ค่าย Minimal เราพยายามทำให้เห็นว่าอยู่เชียงใหม่ก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีค่ายอื่นอีก 3-4 ค่าย พอมีค่ายเยอะ ก็ต้องถ่ายเอ็มวี เดี๋ยวก็ต้องมีโปรดักชันเฮาส์ ซึ่งเราก็พยายามจะเอาคนเชียงใหม่ทำ มีจัดคอนเสิร์ต ก็ต้องมีพวกงานฝ่ายเวที เครื่องเสียง ที่สุดก็จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเชียงใหม่ได้ ดังนั้นเราอยากให้คนอื่นทำบ้าง หมายถึงว่ามันควรต้องมีส่วนอื่นที่ต้องไปด้วยกัน

อีกไกลไหมกว่าอุตสาหกรรมดนตรีในเชียงใหม่จะไปถึงตรงนั้นได้

มันไม่ไกล ถ้ามีคนทำ (หัวเราะ) แต่ก็ดูย้อนแย้งนะ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครอยากทำค่ายเพลงหรอก แต่ถ้าพูดถึงศิลปินมันมาเรื่อยๆ ศิลปินเชียงใหม่เกิดขึ้นเยอะ ทำเองบ้าง ที่เราไม่รู้จักก็เยอะ เพราะยุคนี้มันเป็นยุคที่คนฟังเพลง ไม่ใช่ยุคที่คนดูเพลง ไม่ค่อยมีใครดูการเล่นสด เพราะโควิดด้วย แล้วก็เป็นยุคที่ไม่ต้องมี performance มากก็ได้ คือมันแยกเป็น 2 สาย สายเราจะเป็นสาย perform อยากเล่นร้าน แต่อีกสายหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเยอะมากในช่วงนี้ คือสายเพลงฟัง เน้นยอดวิว ซึ่งเชียงใหม่ก็มีเยอะ เพียงแต่ว่ามันไม่มีใครรวบรวมให้เห็นว่า เฮ้ย คนนี้มาจากเชียงใหม่ วงนี้มาจากเชียงใหม่ อะไรแบบนี้

สำหรับคุณ ค่ายเพลงยังจำเป็นไหม

ถ้าคิดในแบบที่ว่าค่ายไม่จำเป็น มันคือการทำเพลงไปแล้วรอถูกหวย แต่ถ้าคิดว่าค่ายจำเป็น คือทำเพลงไป แล้วค่ายเป็นตัวช่วยซัพพอร์ตให้เปอร์เซ็นต์การถูกหวยเยอะขึ้น เช่น ค่ายมีสื่อในมือ ค่ายสามารถทำแล้วให้งานไปตรงทิศทางได้มากกว่า นี่คือความจำเป็นของค่ายในยุคนี้ ส่วนเรื่องโปรดักชัน เราว่าศิลปินทำเองได้ ไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าเขาก็จะรู้ว่าเทรนด์เป็นอย่างไร เขาจะทำเพลงอะไรอย่างไรได้หมด แต่ช่องทางอย่างอื่นที่เขาเข้าไม่ถึง ค่ายจะสนับสนุนได้ ดังนั้น ค่ายต้องหาในสิ่งที่ศิลปินไม่มีให้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็อาจต้องมีสื่อในมือ เราเองเลยมีโปรเจ็กต์ทำสื่อเกี่ยวกับดนตรีในเชียงใหม่ด้วย อยากให้รอติดตาม

เรายืนยันว่าทำเพลงให้ดังที่เชียงใหม่ได้ เพียงแต่ว่าโอกาสในการสื่อสารอาจจะน้อยกว่าเฉยๆ เอาง่ายๆ คือเปอร์เซ็นต์ถูกหวยน้อยกว่ากรุงเทพฯ อีกอย่างคือกรุงเทพฯ เขามีตาที่ใหญ่ จับจ้องได้ แล้วเขาเลือกได้เยอะ พวกเราไม่ได้เลือก พวกเรามาจากสิ่งที่เราเป็น แต่เขาสามารถเลือกได้ เขาดูทั่วประเทศ แต่เราดูแค่เชียงใหม่

แวดวงดนตรีก็เหมือนเรื่องอำนาจอื่นๆ ในสังคมที่ส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่กรุงเทพฯ หรือเปล่า

ใช่ แต่เราว่าไม่นานนะ ถ้าสังเกตตั้งแต่ทำ No Signal Input หรือทำค่าย Minimal มา ระยะหลังเริ่มมีหัวเมืองต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ที่อุดรธานีมีวง Anatomy Rabbit นะ ที่มหาสารคามมีวง Plasui Plasui สิบปีที่ผ่านมา เพิ่งเห็นว่าเริ่มมีการกระจายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ว่าเป็นเรื่องที่ดี อีกสิบปีอาจจะมีบริษัทหรือค่ายเพลงที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดเยอะขึ้น เมื่อเยอะขึ้นแล้วสามารถทำให้ตาเราใหญ่ขึ้นเรี่อยๆ ตาใหญ่หมายถึงว่าเรามีพาวเวอร์เยอะขึ้น เราสามารถดึงศิลปินกรุงเทพฯ ให้มาอยู่เชียงใหม่ได้ (หัวเราะ) อาจจะเป็นอย่างนั้น

ทำค่ายเพลง Minimal มา 9 ปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในหมู่คนทำเพลงของเชียงใหม่มากน้อยแค่ไหน

เราแยกเป็นหัวข้อ ข้อแรกเป็นเรื่องของทัศนคติ ซึ่งเปลี่ยนไปแน่นอน เมื่อก่อนมีนักดนตรีที่เล่นกลางคืนเยอะ แต่ไม่กล้าที่จะทำเพลงตัวเอง ไม่รู้ทำไม หรือว่าอาจจะเพราะเก่งเกินไป เลยกลัวว่าเพลงตัวเองจะไม่ดี แต่จนแล้วจนรอด ตอนนี้เขาสามารถทำเพลง รังสรรค์งานตัวเองได้แล้ว ไม่ได้เป็นแค่นักดนตรี เขาเป็นนักสร้างสรรค์ เป็นศิลปิน ในขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กยังเหมือนเดิม หมายความว่ายังพยายามอยากทำเพลงเหมือนเดิม รวมถึงเด็กที่ไม่ใช่นักดนตรีด้วยนะ เนื่องจากเทคโนโลยีมันเยอะ ดังนั้นทัศนคติของคนที่ไม่ใช่นักดนตรีแต่อยากเป็นศิลปินยังเหมือนเดิม คืออยากทำเพลงมาก

ข้อสอง เรื่องเทคโนโลยี เมื่อก่อนเราว่าง่ายแล้ว คือมีคอมพิวเตอร์ก็ทำเพลงได้ แต่คุณภาพยังไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ง่ายกว่าเดิม มีคอมฯ ทำเพลงได้ คุณภาพก็ดี ตอบโจทย์การทำเพลงขึ้นอีกเยอะ มีกีตาร์หนึ่งตัว อัดเครื่องดนตรีที่บ้านก็ได้ อัดเสียงร้องที่บ้านก็ได้ แต่เมื่อก่อนมีคอมฯ อย่างเดียวไม่พอ อยากได้คุณภาพดีต้องไปอัดที่ห้องอัด เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เรามีปลั๊กอิน มีซาวด์การ์ดที่ดี มีไมค์ที่ดี ซื้อมาใช้ได้เลย มันทำเพลงง่ายขึ้น

ข้อสาม เรื่องของเทรนด์ เปลี่ยนแน่นอน และเปลี่ยนอยู่ตลอด ในยุคเรา ถ้ามองย้อนกลับไป 10-20 ปีที่แล้ว จะเป็นยุคสายร็อก เราจะเห็นไทม์ไลน์ของมัน ไม่ค่อยมีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไร แล้วหลังจากนั้นมันก็จะเป็นสายแบบวง Two Door Cinema Club อารมณ์แบบเวิ้งว้างผสมกับพวกโพสต์ร็อก เทรนด์ก็จะเปลี่ยนตามกระแสดนตรี เชียงใหม่ก็เหมือนกัน ในยุคนี้จะเป็นเพลงแนวฮิปฮอปเยอะ อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นดนตรีแบบ Surf Music, New wave, Chillwave, Shoegaze หรือ Post-punk ซึ่งเราเข้าใจว่ามันเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ยุคนี้ไม่มีใครเล่นแบบ Two Door Cinema Club แล้ว ยุคนี้ต้องเล่นแบบวง Cigarettes After Sex, Mac Demarco, Boy Pablo หรือ FOLK9 อะไรแบบนี้

คุณมองการเติบโตของ Minimal 9 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

ยากเลย (หัวเราะ) เราไม่ได้เริ่มจากการเป็นธุรกิจขนาดนั้น เราเริ่มจากสิ่งที่เราชอบ แล้วค่อยปรับมาเป็นธุรกิจ การเติบโตในแง่ธุรกิจอาจไม่ได้มีกำไรเยอะขึ้นมากเท่าไร แต่มันมีเพิ่มขึ้นมาอยู่แล้วจากสตรีมมิงหรือจากอะไรต่างๆ แต่เรื่องหนึ่งคือเรามีระบบที่ชัดเจนขึ้น มีการจดทะเบียนบริษัท มีอำนาจในการต่อรองกับดนตรี มีการทำสัญญาที่ชัดเจนขึ้น นี่คือเรื่องระบบ

ส่วนเรื่องเพลง เราเข้าใจกระบวนการมากขึ้น แปลว่าเรามีความรู้ในการทำเพลงมากขึ้น แล้วเพื่อความอยู่รอดของค่าย ก็ควรมีวงที่หน้าใหม่ด้วย ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ สิ่งนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเริ่มเป็นค่ายที่ชัดเจนขึ้น พอมีศิลปินเยอะ เราเริ่มมีฝ่าย AE ที่ดูแลศิลปิน มีการพาศิลปินเช่ารถตู้ไปเล่นที่นั่นที่นี่ มีการจ้างซาวด์เอนจิเนียจากกรุงเทพฯ เราเห็นว่ามันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เรื่องนี้ไม่ถามก็ไม่ได้ สถานการณ์ของค่ายในช่วงโควิดเป็นอย่างไร ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

รายรับเราน้อยลง เพราะว่าวงก็ไม่ได้โชว์ ทุกอย่างเงียบเลย เราต้องเซฟค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เพราะว่ารายได้อีกทางคือการเล่นโชว์ ซึ่งเราไม่มีงานเลย มีแค่รอสตรีมมิง แต่ก็ได้ไม่เยอะ เพราะว่าเราไม่ใช่วงแมสที่ยอดวิว 50 ล้าน 100 ล้านวิว (หัวเราะ) ก็ดิ้นได้เท่าที่ดิ้น แต่ยิ่งดิ้นเยอะก็เสียเงินเยอะ

แล้วคุณมองทิศทางอนาคตของค่ายไว้อย่างไร ในยุคที่โควิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกวงการให้ทำงานยากขึ้น

เราจะตั้งวัตถุประสงค์ขึ้นมา และทำให้สำเร็จไปทีละเรื่อง ทิศทางแรกสุดคืออยากทำซีดี เราก็ทำสำเร็จแล้ว อยากให้ที่อื่นมาจ้างเราไปเล่น เราก็ทำสำเร็จแล้ว คนเริ่มรู้จัก ต่อมาคืออยากให้มีการจ้างงานวงดนตรีที่มากกว่าวงใดวงหนึ่ง ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็น Solitude Is Bliss หลังๆ ก็มี Yonlapa มี Sirimongkol ดังนั้นวัตถุประสงค์นี้ก็สำเร็จ

ตอนนี้วัตถุประสงค์เราคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เราอยู่ในยุคนี้ให้ได้ คือหนึ่ง เรื่องสถานการณ์โลกในปัจจุบัน มันมีโรคเยอะ เช่น โควิด เราต้องอยู่ให้รอดก่อนภายใน 3-5 ปีนี้ วัตถุประสงค์เราจะไม่ยาว สอง การจะให้อยู่ได้คือต้องเกาะเทรนด์ดนตรีด้วย แปลว่าค่ายต้องมีศิลปินใหม่ เพื่อให้แบรนด์ของเราอยู่ได้ ไม่อย่างนั้น พอคิดถึง Minimal ก็จะมีแต่วงเดิมๆ จะให้วงเดิมๆ ไปทำซาวด์แบบยุคนี้ก็ไม่ได้ (หัวเราะ) เขาก็มีเอกลักษณ์ของเขา เด็กเดี๋ยวนี้โตทุกวัน ก็ต้องมีคนที่ไปดึงเด็กส่วนนั้นมารู้จักกับเราด้วย ไม่งั้นเราไม่รอด ใครจะมาฟัง Solitude Is Bliss ได้ตลอดไป ก็ต้องมีเพลงอีกแบบหนึ่งที่มาซัพพอร์ตด้วย ไม่อย่างนั้นค่ายเราก็จะมีคนฟังแต่ Solitude Is Bliss ฟังแต่ สภาพสุภาพ ซึ่งไอ้พวกนี้มันก็จะแก่เรื่อยๆ (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้น Minimal มองหาศิลปินที่มีคุณสมบัติแบบไหน เผื่อคนที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้อาจจะสนใจอยากสมัคร

อันดับแรก ทำเพลงเองได้ แต่งเพลงเองได้ อันนี้จะดี เพราะว่าเราไม่มีคนแต่งเพลงให้ แล้วอาจจะต้องเป็นเทรนด์ในช่วงนี้ และเทรนด์ของอนาคต หมายความว่า ฟังแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย อีก 5 ปียังไม่เชย หรือว่าฟังแล้ว โห เป็นภาษาใหม่เลย ซึ่งคิดว่าหายากในยุคนี้ แต่ตอนนี้ค่ายเราก็กำลังพยายามลองหาทีมแต่งเพลงโดยเฉพาะเลย แล้วหานักร้องมาร้อง เหมือนแกรมมี่หรืออาร์เอสในยุคหนึ่ง อยากลองพัฒนาระบบตรงนี้ไปอีกแบบหนึ่ง แล้วลองดูว่าจะทำได้หรือเปล่า

Fact Box

  • สุเมธ ยอดแก้ว เป็นเจ้าของค่ายเพลง Minimal Records นักดนตรีแห่งวง Migrate To The Ocean และยังเป็นอาจารย์สอนแอนิเมชัน วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปัจจุบันธุรกิจในเครือ Minimal มีสามกลุ่ม ได้แก่ ค่ายเพลง Minimal Records, Minimal Bar และบริษัทรับทำกราฟิก
Tags: , , ,