“คนเมียนมา รอก่อนนะ

“ถ้าสถานการณ์บ้านเราดีขึ้นแล้ว

“ฉันจะเป็นแนวหน้าดันสมรสเท่าเทียมเอง” 

การพิจารณาสมรสเท่าเทียมวาระ 2 ของสมาชิกวุฒิสภาจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อีกเพียงไม่กี่ก้าว กฎหมายแห่งความเท่าเทียมนี้จะฝ่าด่านครบจบทุกกระบวนการในรัฐสภา ตามด้วยการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ การลงพระปรมาภิไธย และท้ายที่สุดคือประกาศใช้เป็นกฎหมายทั่วราชอาณาจักร ผองไทยทั่วหล้าจะได้สมรสในนาม ‘บุคคล’ นิยามใหม่แทนที่ ‘สามี-ภรรยา’ ตอบสนองความรักไร้ขีดจำกัด

อย่างไรเสีย สมรสเท่าเทียมที่ว่านับเป็นกฎหมายที่ไทยทำ ไทยใช้ ไม่แปลกที่คนไทยจะส่งเสียงโห่ร้อง ดีใจ ต้อนรับวิวัฒน์ใหม่ของกฎหมายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่โอบรับผู้คนมากกว่าเดิม

ทว่าเสียงโห่ร้องปีติยินดีในทุกย่างก้าวของความเท่าเทียมไม่ได้เกิดเฉพาะกับชาวไทยเท่านั้น ชาวเมียนมารายหนึ่งในย่านมีนบุรีกำลังดีอกดีใจที่ได้เห็นข่าวสมรสเท่าเทียมผ่านตาเช่นกัน

  “เราเป็นคนเมียนมา แต่เราดีใจที่ได้เห็นสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในไทย แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ก็ตาม”

ไมค์ สมาทานรสนิยมของตนว่าเป็น ‘G’ หรือเกย์ หรือชายรักชาย

เหตุที่คำว่า ‘แม้’ ปรากฏอยู่ในบทสนทนาเริ่มต้นของไมค์ นั่นเพราะเขายินดีกับความสำเร็จของการผลักดันกฎหมายในวาระที่ตนมิได้เกี่ยวข้อง แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเปิดทางให้คู่รักระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติสมรสกันได้ ทว่าสมรสเท่าเทียมไม่ได้มอบสิทธิ หรือนำมาซึ่งสวัสดิการใดแก่คนข้ามชาติที่วิวาห์กับคนไทย รวมทั้งกรณีการย้ายสัญชาติตามคู่รักที่กฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม

อะไรคือความหวังของไมค์ในกระแสความก้าวหน้าทางเพศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย The Momentum พูดคุยกับ ไมค์ เพื่อชวนเขาแบ่งปันประสบการณ์ และภาพฝันของความเท่าเทียมในสายตาเพื่อนบ้านริมน้ำสาละวิน

“จริงๆ มันเริ่มต้นมาจากคุณแม่ของเราคนหนึ่ง เขาเป็น LGBTQIA+ กำลังจัดงานสมรสให้คู่รักเพศเดียวกัน เขาจัดทุกปี เราก็ตามไปแต่งหน้าให้เขาทุกปีที่จัด มันเหมือนกับว่า เราจับต้องบรรยากาศแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”

หลายปีที่แล้ว อีเวนต์หนึ่งถือกำเนิด เป็นการจัดงานจดทะเบียนสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน จัดขึ้นโดยมีแม่งานเป็นสาวข้ามเพศรายหนึ่งซึ่งถูกนิยามว่าเป็น ‘คุณแม่’ สำหรับไมค์ ตัวไมค์ถูกเรียกมาแต่งแต้มสีสันบนใบหน้าของแขกเหรื่อ ทำหน้าที่ของตัวเองภายใต้บรรยากาศที่อบอวลด้วยความยินดีกับคู่รัก

สิ่งที่น่าสนใจ คือในช่วงเวลาเดียวกันที่คู่รักภายในงานต่างจรดปากกาลงสนธิสัญญารักในทะเบียนสมรส เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่กฎหมายไทยยังไม่มีการรองรับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

“ตอนนั้นกฎหมายยังไม่ยอมรับในความเป็นเราเลยนะ งานที่จัดๆ กัน มีการจดทะเบียนระหว่างคู่รักต่างๆ นานา เป็นทะเบียนสมรสที่เขาทำขึ้นมากันเองเท่านั้นแหละ”

กระแสธารการแก้กฎหมายเพื่อโอบรับคู่รักเพศเดียวกันในไทย เริ่มมีแนวคิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจากการเสนอของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และมาเป็นรูปเป็นร่างในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในชื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. 2556 ทว่าสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักในกฎหมายกลับไม่ครอบคลุม รวมถึงด้อยกว่าคู่รักชาย-หญิง สุดท้ายเป็นอันต้องพับเก็บไปด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงนั้น

สมรสเท่าเทียมในไทย เกิดขึ้นในยุคหลังรัฐประหารปี 2563 จากการเรียกร้องของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทุกครั้งที่มีการเปิดพื้นที่เสวนาในพื้นที่ชุมนุมและในหน้าสื่อ ประกอบกับการเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกล ซึ่งขอแก้ไขสำนวนกฎหมายการสมรสใหม่ ในนามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือเรียกโดยย่อว่าสมรสเท่าเทียม

“จริงๆ แล้วช่วงนั้นก็มีกระแสสมรสเท่าเทียมแล้วนะ เราไปเดินพารากอนครั้งหนึ่ง มีคนเดินมาถามความเห็นว่า เราเห็นด้วยไหมถ้าประเทศไทยจะมีสมรสเท่าเทียม เราคนเมียนมาแต่ก็ตอบไปว่าเห็นด้วย ไม่เผื่อใจเลย”

นั่นเป็นช่วงแรกที่ไมค์เข้าใกล้สมรสเท่าเทียมในฐานะผู้เห็นด้วยกับกฎหมาย แม้จะมองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาว่า ความเท่าเทียมที่ว่านั้นจะออกมาเป็นอย่างไร LGBTQIA+ ข้ามชาติจะถูกขมวดรวมในตัวบทกฎหมายหรือไม่ ด้วยอยากเห็นสังคมที่ดีกว่า เป็นเหตุผลให้ชาวเมียนมารายนี้สละเวลาแสดงความเห็นสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม แม้เจ้าตัวจะไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดทั้งหมดของกฎหมายก็ตาม

“ย้อนกลับไปก่อนหน้าการมาถึงของสมรสเท่าเทียม เราไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายหรอก มันไม่มีใครสนใจความเป็นเรา เราจะรักก็เรื่องของเรา ไม่มีใครสนว่าจะต้องมีอะไรมารองรับความรักของคู่รักเพศเดียวกันหรอก”

ก่อนหน้านี้ไมค์มีคู่รักเป็นชาวไทย อยู่กินกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย การคบกันระหว่าง 2 คน จึงเสมือนยาแก้เหงาชั่วคราว แม้ว่าไมค์อยากสานสัมพันธ์แบบลงหลักปักฐานก็ตาม ขณะที่คนรอบกายซึ่งเป็น LGBTQIA+ ต่างพากันโยกย้ายหันหน้าเข้าหาการยอมรับจากกฎหมายที่เท่าเทียมในประเทศที่ฐานคิดเรื่องสิทธิและความเสมอภาคพัฒนาไปไกลกว่าไทย

“เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ตอนเพื่อนเราขอให้เราจัดการเอกสารให้ เพราะจะเดินทางไปแต่งงานกับชาวอังกฤษที่ประเทศของแฟนเขา ตอนเราทำเอกสารให้เพื่อน มันมีคำถามที่ตีขึ้นมาเลยคือ ทำไมประเทศอื่นเขาให้คนแบบเราแต่งงานกันได้นะ ทำไมประเทศแถบบ้านเรามันทำไม่ได้”

ไมค์คิดกับตัวเองและลองตั้งโจทย์ใหม่ “หรือจะต้องหาแฟนฝรั่งแบบเพื่อนถึงจะได้แต่งงาน มีสิทธิอย่างคนอื่นเขา” เป็นเพียงคำถามวูบหนึ่งที่เขาอดคิดไม่ได้ แม้ไร้เสียงตอบกลับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็จัดแจงเอกสารเป็นบันไดส่งมิตรสหายไปอยู่ในสังคมที่เพศหลากหลายถูกนับว่าเป็นมนุษย์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

“ช่วงนั้นเราเริ่มมองเพศแบบเราเป็นชนกลุ่มน้อย คนแบบเราไม่ต้องมีใครสนใจก็ได้ ไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรเลย เพราะเราเองก็ไม่ใช่คนไทย พูดมากไปก็ไม่ได้ ขนาดคนไทยยังเท่าเทียมกันไม่ได้ แล้วเราจะมาเรียกร้องอะไร จริงไหม” ไมค์ลดความคาดหวัง 

ในสังคมที่ความหลากหลายทางเพศไม่ถูกขมวดเป็นสารบบทางกฎหมาย กีดกันความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ไร้การมองเห็นและการยอมรับจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังผลักไสให้ไมค์ ผู้มีอัตลักษณ์ซับซ้อนทั้งการเป็นแรงงานข้ามชาติและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ไร้ความเป็นมนุษย์เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน 

“ประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว หลังมาอยู่ไทยได้ระยะหนึ่ง เราก็เริ่มหางานทำ จำได้ว่าไปสมัครร้านอาหารไทยร้านหนึ่ง พอเราเข้าไปสมัครเราสัมผัสได้ทันทีว่า ถ้าเขาเห็นเราตุ้งติ้งเขาจะไม่รับเข้าทำงานแน่นอน

“บางร้านบอกเหตุผลมาว่า ไม่รับเรา เพราะไม่อยากให้เราเข้าใกล้พนักงานชายในร้าน กลัวเขามีปัญหา ส่วนบางร้านก็พูดต่อหน้าเราเลยว่า ไม่เอาพวกเกย์ ไม่เอาพวกกะเทย” 

การตระเวนหางานดำเนินไปด้วยแรงหวัง ท้ายที่สุด ไมค์เข้าทำงานที่ร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งด้วยค่าแรงเดือนละ 6,000 บาท แลกมากับเงื่อนไขการทำงานตั้งแต่บ่ายจรดเที่ยงคืนในทุกวันหรือกระทั่งลูกค้ากลับจนหมดร้าน พนักงานเงินเดือนน้อยๆ รายนี้จึงเริ่มใช้ชีวิตอีกครั้งในตอนกลางดึก 

ทว่านี่กลับกลายเป็น ‘นรกขุมใหม่’ ของไมค์

“เราโดนทำร้ายในที่ทำงาน

“ช่วงนั้นเรายังพูดไทยได้ไม่มาก ระหว่างทำงานในร้านหมูกระทะ หัวหน้างานเขาชอบตบตีเรา เพราะมองว่า เราทำงานไม่ได้ มองว่าเราตุ้งติ้ง แกล้งเราให้ไปยกของหนัก แล้วก็ด่าเราไปด้วย พอเรายกไม่ไหวก็ตีเรา เราทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมให้เขาทำไปแบบนั้น

“เขาทำกับพนักงานคนอื่นด้วยไหม” เราถาม 

“ไม่นะ เขาเป็นหัวหน้างาน ทำงานกับหลายคน แต่ก็ไม่เคยตีใครเลยนอกจากเรา คนอื่นๆ แค่โดนบ่น กับด่านิดหน่อย แต่กับเรา เขาลงไม้ลงมือเพราะเราตุ้งติ้งอยู่คนเดียว”

‘ตุ้งติ้ง’ กลายเป็นข้อหาร้ายแรง ยังผลให้ไมค์กลายเป็นกระสอบทนแรงทุบตีจากหัวหน้างาน สิ่งนี้แม้ดูหนักหนามากเพียงพอแล้วสำหรับคนคนหนึ่งที่ต้องเผชิญ แต่สิ่งที่ไมค์พบเจอมีมากกว่านั้น

“ผู้ชาย-ผู้หญิงมาสายเขาก็หักแบบนิดๆ หน่อยๆ กะเทย เกย์ โดนหักเงินเดือนมากกว่าผู้ชาย-ผู้หญิง 3 เท่าเลยนะ หักไปเกือบ 1,000 บาท เทียบกับเงินเดือนละ 6,000 บาทมันเป็นจำนวนที่เยอะมาก ส่วนเอาง่ายๆ คือเขาจะจ้องหักเงินเดือนของเรานั่นแหละ เล็งไว้แล้วว่าเพราะเราเป็นกะเทย”

ไร้คำจากลา ความอดทนสิ้นสุดลงในระยะ 2 ปี และไร้คำขอโทษจากหัวหน้าร้าน ตลอดเวลาไมค์ฝืนทนไม่กระทำสิ่งใดสนองต่อความรุนแรงที่เผชิญ ด้วยมองว่าตนเป็นแรงงานต่างด้าวในสายตาคนไทย ไม่ควรมีเรื่องกับชาวไทยจนอาจกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตหมดหนทางทำกิน

เมื่อไม่โทษผู้กระทำผิด ไมค์เลือกโทษความเป็นตัวเอง ความตุ้งติ้งกลายเป็นจำเลยตัวเอก ของเหล่าเจ้านายที่ใช้เป็นข้ออ้างในการเอาผิดแรงงานข้ามชาติอย่างไมค์

“พอเขาเห็นว่าเราตุ้งติ้งหน่อย เขาก็พร้อมจะหาเรื่องเราอยู่แล้ว ทำร้ายเรา เพราะหมั่นไส้ เพราะไม่ชอบความเป็นเรา เรามองว่าความไม่เข้าใจในความเป็น LGBTQIA+ มีส่วนทำให้เราเจออะไรแบบนั้น ” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมองไม่เห็นถึงศักดิ์ศรีที่เท่ากันในกฎหมาย การศึกษา กระทั่งสื่อ และวาทกรรมหลักในสังคม ที่ทำให้เพศซึ่งหลุดออกจากระนาบชายหญิงจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก บ้างตีความกันว่าไม่ปกติ ทำให้หลายคนพยายามปกป้องอุดมการณ์ที่ว่า โลกนี้มีแค่ชาย-หญิงไว้ และไม่แม้แต่จะเปิดประตูทำความเข้าใจกับรสนิยมที่มากกว่าไบนารี ที่มนุษย์ยุคเก่าเป็นผู้สร้าง ดังที่ไมค์หยิบเรื่องราวของเพื่อนสาวข้ามเพศข้ามชาติรายหนึ่ง ที่ถูกปฏิบัติเหมือน ‘ไม่ใช่มนุษย์’ มาบอกกับเรา 

“เพื่อนเราที่เป็นสาวข้ามเพศเคยโดนผู้ชายไทยข่มขืน เป็นพวกวัยรุ่นที่ไปดื่มกันมา เรากล้าพูดได้เลยว่า เพื่อนเราไม่ได้ยินยอมให้ผู้ชายทำแบบนั้น แต่สุดท้ายก็ทำอะไรผู้ชายกลุ่มนั้นไม่ได้ ฟ้องก็ไม่ได้ แจ้งความก็ไม่ได้ สิ่งที่เพื่อนของเราทำได้คือยอม”

สภาวะนิ่งเฉยเกิดขึ้นทันทีหลังหญิงข้ามเพศรายนี้ถูกข่มขืน เพราะไม่รู้ว่าวิธีใดจึงจะสามารถต่อสู้ทวงคืนศักดิ์ศรีตนคืนได้ 

“ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไงหลังโดนข่มขืน ก็ปล่อยไว้แบบไม่ทำอะไร เราห่วงอย่างเดียวคือกลัวติดโรค เพราะแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว”

ภายใต้ความหวาดกลัวจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยาก ด้วยอุปสรรคการเข้าถึงการรักษา การเยียวยาตัวเองในพื้นที่ปิดเป็นสิ่งเดียวที่หญิงข้ามเพศรายนี้จะทำได้ และหากคิดไปถึงการไปโรงพยาบาล ก็ต้องเจอหมอและพยาบาลที่จ้องจับผิดเสื้อผ้าอาภรณ์คนไข้ ดังที่ไมค์ว่า “โดนเหยียดเพราะแต่งตัวมอมแมม” อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คนข้ามชาติเลือกเมินเฉย และเก็บตัวออกห่างจากการให้บริการที่พ่วงด้วยการถูกเหยียดหยามอันมีต้นกำเนิดจากความไม่เข้าใจ 

นับจากวันที่ก้าวเท้าออกจากการถูกกดขี่ กว่า 8 ปีแล้วที่ไมค์กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรช่วยเหลือคนข้ามชาติที่มีเชื้อเอชไอวี ดูเหมือนว่าประสบการณ์อันโหดร้ายจะกลายเป็นพลัง ผลักดันให้ไมค์ก้าวข้ามประสบการณ์เก่า และสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่กับตัวไมค์ แต่เพื่อ LGBTQIA+ ข้ามชาติทุกคน

“ถ้าถามว่าอะไรคือแรงจูงใจให้มาทำงานนี้ คำตอบคงเป็นตัวเรา ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยมีความรู้ ไปทำงานที่ไหนก็โดนเอารัดเอาเปรียบ โดนทำร้าย โดนดุด่าตลอดเวลา แรงงานข้ามชาติที่ล้มป่วย สิ่งที่เขาจะเจอแน่ๆ คือความยุ่งและความยาก พวกเขาจะเสียเงินมากกว่าคนอื่นๆ เรามีโอกาสได้เจอกับองค์กรแบบนี้ และเข้าไปทำงาน เมื่อเรามีความรู้ เราก็จะมอบมันผ่านความช่วยเหลือคนอื่น บอกในสิ่งที่เขาไม่รู้ เราเลยตัดสินเข้ามาทำงานนี้” 

สองมือพยายามควานหาหลักฐาน ปริญญาบัตรพยาบาลอยู่ที่ไหนสักแห่งในแฟลตแห่งนี้ ไม่กี่อึดใจ ไมค์ยื่นถุงผ้าบรรจุเอกสารมากมายให้ เราหยิบอย่างทะนุถนอม แล้ววางเรียงบนที่นอน สัก 1 นาทีผ่านไป กว่าจะรู้ว่าสิ่งที่วางอยู่บนที่นอนชมพูนุ่ม ไม่ได้มีเฉพาะด้านพยาบาลเท่านั้นที่ไมค์ร่ำเรียน

“เราเรียนจบพยาบาลมา จะไปรับปริญญาช่วงเดือนตุลาคม” 

“แต่บนเตียงไม่ได้มีแค่วุฒิพยาบาลนะ” เรากลั่นกรองภาพตรงหน้าเป็นคำพูด

“เราเรียนแต่งหน้า ทำผมด้วย เป็นงานที่เราทำบ่อยๆ อีกอย่างเรียนไว้จะได้ทำหลายๆ อย่างไง”

หนึ่งกาย สองหน้าที่ เป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของไมค์ งานหนึ่งทำไปเพราะความชื่นชอบหลงใหลศิลปะบนเรือนร่าง ส่วนอีกงานมีที่มาจากความเข้าใจว่า คนข้ามชาติต้องพบเจอสิ่งใด นั่นทำให้ไมค์เลือกอ้าแขนให้กว้าง โอบรับทั้งความชอบส่วนตัว และการทำงานเพื่อบรรเทาความยากลำบากของคนอื่น

“รางวัลประกวดพวกนี้เราภาคภูมิใจมากนะ เราเรียนแต่งหน้า ทำผมเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ชอบไปด้วย ขณะเดียวกันเราก็ทำงานช่วยคนไปด้วย นับไม่ไหวแล้วว่าช่วยไปกี่คน อาจจะเป็นร้อยหรือเป็นพัน คนที่เข้ามาหาเราก็เป็น LGBTQIA+ ข้ามชาติเหมือนกันกับเรา”

คงจะดีกว่านี้ หากกฎหมายเปิดรับผู้มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพลเมืองชาติใด แล้วนิยามให้เป็น ‘มนุษย์’ เช่นเดียวกันทั้งหมด 

“ในเมื่อกฎหมายรองรับ LGBTQIA+ และคนไทยเปิดกว้างแล้ว เราเองก็อยากให้ไทยมอบสิทธิการย้ายสัญชาติผ่านการจดทะเบียนกับคนไทย สมมติว่าเราที่เป็นชาวต่างชาติแต่งงานกับคนไทย เราก็อยากที่จะโอนสัญชาติได้ มันเป็นสิ่งที่เรามองว่ามันดีมากนะ เพราะเราเองมีแฟนเป็นคนไทย”

ความในใจจากชาวเมียนมาตรงหน้าเรา เป็นภาพฝันถึงอนาคตที่ประมาณเวลาไม่ได้ 

สำหรับไมค์ การมีบ้านสักหลัง รถสักคันไว้ขับไปยังสถานที่ใกล้ไกล โดยมีคู่รักชาวไทยนั่งอยู่ข้างกายเป็นสิ่งที่เขาปรารถนา แต่ในวันนี้ไมค์ยังทำเช่นนั้นไม่ได้ จากพันธะความเป็นคนข้ามชาติ ที่ไม่มีสถานะมากพอให้หยัดยืนทัดเทียมกับคนไทย แม้จะจดทะเบียนสมรสได้ แต่สิทธิและ สวัสดิการของไมค์จะถูกแช่แข็งในฐานะคนต่างชาติเท่านั้น 

“เราไม่ได้ใช้กฎหมายนี้ร่วมกับคนไทย เพราะเราเป็นคนข้ามชาติ กฎหมายให้สิทธิและสวัสดิการหลังสมรสเฉพาะชาวไทยด้วยกัน เราจดทะเบียนกับคนไทยได้ก็จริง แต่สวัสดิการ สิทธิต่างๆ เราจะไม่ได้แบบคนไทย มันเลยไม่เกี่ยวกับเรา” 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ไมค์ยังทิ้งเศษความหวังไว้ในเมียนมาบ้านเกิดของตนอยู่หรือไม่ เราก็สงสัยและถามไมค์ไปเช่นเดียวกัน คำตอบที่ได้จากชาวเมียนมาคือเขาไม่เคยสิ้นหวัง แม้เมียนมาจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ในสายตาของเขามันจะดีขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว

 ที่สำคัญ ไมค์เตรียมการไว้แล้วว่า หากสถานการณ์ในประเทศของตนลงเอยด้วยดี ก้าวต่อไปของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

“เราสัญญากับตัวเองนะ อนาคตถ้าสถานการณ์ที่เมียนมาดีขึ้น เราจะกลับไปสอนแต่งหน้าที่นั่นเหมือนที่เคยทำ และกลับไปทำประเด็นความเท่าเทียมโดยเฉพาะ เราอยากให้เมียนมามีสมรสเท่าเทียม เราคิดว่า LGBTQIA+ ที่เมียนมามีเยอะ พวกเขาต้องการความเท่าเทียม

“เราจะเอากฎหมายความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในไทยวันนี้ ไปเกิดที่เมียนมาให้ได้”

แม้สมรสเท่าเทียมของไทย ไม่ได้สมานแผลในประสบการณ์ของไมค์ และไม่ได้การันตีว่าคนข้ามชาติอีกมากมายที่เป็น LGBTQIA+ จะห่างไกลจากภัยร้ายอันมีเหตุจากความไม่เข้าใจทางเพศ แต่ในวันนี้คนไทยต่างรู้โดยทั่วกันว่า ความหลากหลายทางเพศ ‘มีอยู่’ แม้การมีอยู่อาจไม่หมายถึงการยอมรับเสมอไป แต่สมรสเท่าเทียมอาจเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้สังคมขยับขยายไปในทิศทางอื่นที่ดีขึ้น 

การเดินทางล้ำเขตแดนน้ำสาละวินมายังฝั่งไทยของชาวเมียนมา ไม่ได้แปลว่าความเป็นมนุษย์สิ้นสุดลงที่ริมน้ำ และคนไทยจะปฏิบัติอย่างไรกับเขาก็ได้ การถกเถียงเพื่อพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมคนข้ามชาติ ฟันเฟืองหลักของประเทศนี้ควรเดินหน้าต่อ และเรื่องมนุษยธรรมควรเป็นประเด็นสำคัญพอๆ กับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไมค์ยังคงมองคนไทยเป็นเพื่อนร่วมโลก และพร้อมยินดีกับทุกความสำเร็จ ไม่ว่าตนจะมีส่วนได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดก็ตาม

“เราดีใจที่คนไทยจะได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แม้ว่าเราจะเป็นคนเมียนมา ถ้าอนาคตเรามีโอกาสไปทำสมรสเท่าเทียมที่เมียนมา เราขอให้คนไทยเป็นกำลังใจให้กับเราด้วยนะ เพราะคนไทยได้สิ่งนี้ไปก่อนแล้ว

“สุดท้าย เราอยากบอกคนเมียนมาว่า ไม่ต้องห่วงนะ อนาคตหากว่าเรามีโอกาส สู้เพื่อความเท่าเทียมขอให้ช่วยๆ กันหน่อยนะ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องได้ ทำคนเดียวมันสำเร็จยากจริงๆ กะเทยเมียนมาที่ได้มาอ่านบทความนี้ ขอให้เราร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในบ้านของเรานะ”

ขอขอบคุณ

Mr. Saw Khin Maung Htwe (ไมค์)

Fact Box

  • ไมค์เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เขายังเด็ก 
  • ไมค์สมาทานตนว่าเป็นเกย์ 
  • เขาชื่นชอบการทำผมและการแต่งแต้มใบหน้าด้วยเฉดสีต่างๆ จากเครื่องสำอาง นั่นทำให้ไมค์คร่ำหวอดในงานแขนงนี้ และรับจ้างแต่งหน้าทำผมอยู่บ่อยครั้ง
  • สิ่งที่ไมค์ภูมิใจคือการได้รางวัลมากมาย จากเวทีประกวดหรือแข่งขันแต่งหน้าทำผม ไมค์ผ่านมาหลายเวที นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมห้องของเขาจึงมีรางวัลทั้งตั้งและแขวนอยู่รอบห้อง
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไมค์ ทั้งการโดนทำร้าย โดนใช้งานหนัก และหักเงินเดือนในจำนวนที่มากกว่าคนอื่น มีเพียงไมค์ที่ประสบพบเจอ ผู้ชาย และผู้หญิงคนอื่นๆ น้อยครั้งที่จะโดนดุด่ารุนแรงเท่าไมค์
  • ไมค์ทำงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีกับองค์กรระหว่างประเทศ​ นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ไมค์พบมิตรสหายจำนวนมาก
Tags: , , , , , ,